วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

จีวรถวายพระ



ผ้าไตร....
เสร็จสิ้นงานกฐินสำหรับปีนี้ไปแล้ว สำหรับท่านใดยังไม่ได้ทำบุญกฐิน ก็ต้องรอไปปีหน้า เพราะกฐินเป็นกาลทาน คือ มีได้เฉพาะกาล หรือ มีช่วงกำหนดเวลาไว้ ซึ่งกาลทานก็รวมถึง พระภิกษุและผู้อื่นป่วย, หรือได้รับผลจากภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆ ต้องได้รับการช่วยเหลือที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ
อานิสงส์ผู้ให้ในกาลทาน ย่อมมีผลมากกว่า อกาลทาน(ให้ได้ทั่วไปไม่มีเวลาจำกัด) เช่นผ้าป่า ทอดได้ทั้งปี, สังฆทาน ถวายได้ตลอด เป็นต้น
กฐิน(แปลว่า สะดึงขึงผ้าผืนใหญ่เพื่อเย็บ) ดังนั้นย่อมเกี่ยวข้องกับผ้าไตรจีวร เจ้าภาพก็มักหาซื้อไตรสำเร็จรูปมาถวายตามความสะดวก คราวนี้พระผู้รับจะเป็นอย่างไรบ้าง?
ตามคำกล่าวถวายว่า .. เมื่อรับแล้ว ขอจงกรานกฐินด้วยผ้านี้...
หากพระภิกษุผู้ศึกษาพระวินัยมา ย่อมต้องตรวจสอบผ้าก่อนนำมากรานว่า ถูกต้องหรือไม่ประการใด? คือ ใช้ได้จริงหรือไม่? เพราะ
ผ้าที่พระจะห่มครองนั้น ต้องเลือกตามพระวินัย เช่น ด้านกว้าง ด้านยาว เหมาะกับตัวผู้ครองหรือไม่?
ปัจจุบัน ที่ถวายผ้ามาให้นั้น ถ้าอาตมาห่มแล้ว ผ้าจีวรจะดูว่า ขาลอย เพราะคิดว่าอาตมาใส่จีวร 1.90 ม. คราวนี้ลองคิดดูว่า เวลาบิณฑบาตนั้น บาตรจะรั้งผ้าขึ้นไปอีกเท่าไร? สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ห่มเข้าบ้านไม่เป็นปริมณฑล คือคลุมไม่ครบตามที่พระพุทธเจ้ากำหนด!
ต่อไป ด้านการตัดเย็บ ผ้าที่พระภิกษุควรครองให้อยู่ในพระวินัย คืออธิษฐานได้ ต้องถูกตัดเป็นชิ้นแยกจากกันแล้วนำมาเย็บติดกัน ที่โบราณเรียกสดึงขึงผ้าว่า"กฐิน" ด้วยเช่นนี้ เพราะแต่ก่อนไม่มีจักรเย็บผ้า วินัยนี้พระพุทธเจ้ากำหนดไม่ให้ภิกษุใช้ผ้าผืนเดียว ซึ่งสมัยก่อนผ้าผืนเดียวมีค่ามาก โจรชอบมาลักขโมย เวลาล่วงเลยมาในปัจจุบัน มันกลับเป็นว่า ผ้าผืนเดียวเย็บง่ายราคาจึงถูก ถ้าเอามาตัดแล้วจึงเย็บใช้เวลามาก ค่าแรงก็เพิ่ม
แต่อาตมาเอาตามพระพุทธเจ้าดีกว่า เพราะพระที่ท่านตัดเย็บเองยังมีอยู่ ค่าแรงวันละบาตร
ต่อไป ก็การเย็บเป็นขันธ์เป็นกระทง รูปคันนา ไตรสำเร็จเน้นถูกตังค์ จะถูกวินัยไหม? ขอให้ขายได้ คนซื้อก็ง่ายๆ สบายๆ แต่พระที่ศึกษามา ก็ได้แค่นำไปถวายต่อเท่านั้น!
มันก็ไม่จบเรื่องการเย็บอีก เพราะวินัยกำหนดให้มีลูกดุมกลัดให้ดีก่อนเข้าบ้านเช่นบิณฑบาต ก็กลัดลูกดุมเข้ารังดุมให้เรียบร้อย ส่วนไตรสำเร็จไม่มีให้กลัด มีแต่เชือกติดเลียนแบบไว้เฉยๆ พระก็มีอาบัติติดตัวอีก ถ้าเคารพพระวินัยแล้วไม่กล้าใส่...
เนื้อผ้า สำหรับไตรสำเร็จราคาถูก สบงจะเป็นเครื่องฟ้องมาทันที เพราะเวลาใส่สบงอยู่วัดไม่มีจีวรคลุมทับ เหมือนนางแมวยั่วสวาทก็ว่าได้หากพลาดไปโดนน้ำ โดนเหงื่อด้วยแล้ว คราวนี้ผ้าแนบเนื้อปรากฎเป็นเปรตเดินดินไปเลยทีเดียว ครั้งแรกอาตมาไม่ทราบ คิดว่าเขาถวายอะไรมาก็ใช้ๆไปเถอะ เราเป็นพระไม่ควรจะไปเรื่องมาก พอใส่ไปเปียกน้ำเท่านั้นแหละ ความคิดเปลี่ยนไปเลยคราวนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเลือกตามที่เคยท่องว่า
....ปะฏิสังขา โยนิโส จีวะรัง ปฏิเสวามิ,
เราย่อมพิจารณาโดยแยบคาย แล้วนุ่งห่มจีวร,
ยาวะเทวะ สีตัสสะปฏิฆาตายะ,
เพียงเพื่อบำบัดความหนาว, 
อุณหัสสะ  ปะฏิฆาตายะ, 
เพื่อบำบัดความร้อน, 
ทังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง  ปะฏิฆาตายะ,       
เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย,
ยาวะเทวะ หิริโกปินะปะฏิจฉาทะนัตถัง,
และเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันให้เกิดความละอาย.
... คือถ้าผ้ามันบางจนใส่แล้ว มันละอายที่จะโชว์อวัยวะแล้ว ขอเลือกผ้าไตรดีกว่า!!!
ชี้แจง ในภาพเล็กๆน้อยๆ ว่าทำไม อาตมาจึงต้องเลือกใช้ผ้าไตร ใครจะว่า พระไม่สันโดษมักน้อย ก็ชี้แจงให้ตามที่ควร แต่จะให้เข้าใจกันทั้งหมดนั้น คงไม่ต้องคิด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ สาธุฯ

เลือกจีวรถวายพระอย่างไรให้คุ้มค่า ไม่ผิดพระวินัย
พระสงฆ์ใช้ครองได้จริง
 (ตอน 1 : การสังเกตรอยเย็บ)
 การเย็บจีวร
... จีวร เป็นปัจจัยหรือบริขาร ของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน ๔อย่าง นอกจากคำว่า "จีวร" ยังใช้หมายถึงเฉพาะผ้าห่มของพระสงฆ์อย่างเดียวก็ได้ จีวร ที่ใช้ในความหมายว่าผ้าห่มอย่างเดียว มีชื่อเรียกเฉพาะว่า อุตราสงค์ 
...ปัจจุบันนี้ร้านขายจีวรหลายแห่งเน้นขายราคาถูก แย่งลูกค้ากันโดยมิได้คำนึงถึงพระวินัย รวมทั้งไม่คำนึงว่าพระสงฆ์สามารถนำไปใช้ครองได้จริงหรือไม่ บางครั้งพระสงฆ์ท่านรับมา ท่านมองปุ๊บก็ทราบได้ทันทีว่าจีวรที่โยมนำมาถวายนั้น ใช้ครองไม่ได้จริงเนื่องจากสาเหตุหลาย ๆ ประการ แต่พระท่านก็ไม่บอกกับญาติโยมที่นำมาถวายหรอกว่ามันใช้ครองไม่ได้ เดี๋ยวญาติโยมจะจิตตกเปล่า ๆ ก็คงได้แต่บอกญาติโยมว่าดีแล้วๆ สาธุๆ 
...ลักษณะจีวรส่วนใหญ่ที่พบในท้องตลาดที่เน้นขายราคาถูก
 - ตัดเย็บผิดพระวินัย ใช้ผ้าผืนใหญ่ผืนเดียวแล้วเย็บตะเข็บให้มองดูเหมือนผ้าหลายผืนมาต่อกัน
 - ตัดเย็บไม่ดีใช้ครองไม่กี่ครั้งก็ขาดตามรอยเย็บ
 - เนื้อผ้าบางเกินไป ไม่สามารถใช้นุ่งหุ่มเพื่อปกปิดความละอายได้
 - เนื้อผ้าหยาบกระด้าง ระบายอากาศไม่ดี อมความร้อน ใช้ครองแล้วผิวหนังแพ้เป็นผื่นแดง
 - ขนาดไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากตอนซื้อไม่มีโอกาสได้คลี่ออกดู จึงเป็นช่องทางให้ร้านค้าที่ชอบเอาเปรียบตัดเย็บขนาดไม่เต็มตามที่บอกไว้
 - จีวรเวียน หรือผ้าไตรเวียน หมายถึงไตรจีวร ที่พ่อค้าหรือร้านค้า ไปซื้อมาจากวัดราคาถูกๆ นำมาขายใหม่เวียนไปเรื่อย ๆ (อันนี้ผิดถูกยังไงไม่ขอวิจารณ์) 
...ฉะนั้นเราชาวพุทธ ในเมื่อจะทำบุญใหญ่ทั้งทีก็ควรทำแล้วให้ได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ ผมเองก็ไม่ได้มีความรู้มากมายนัก ก็ขอหยิบเอาบางส่วนบางเรื่องใกล้ ๆ ตัวมาเล่าสู่กันฟังถึงวิธีการเลือกซื้อจีวรแบบง่าย ๆ ในที่นี้จะว่าถึงเรื่องการสังเกตรอยตัดเย็บของจีวร การตัดเย็บ จีวรของพระสงฆ์ ประกอบด้วยผ้าที่ ตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมองคือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็ก ๆ ที่เย็บต่อกันนั้นปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฏก ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกับทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ...เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่” พระอานนท์ตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า"…. จากข้อความที่ว่า "ตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน" หมายความว่าตอนตัดเย็บจีวร ต้องเป็นจีวรที่นำผ้าผืนเล็ก ๆ มาเย็บต่อกันให้เป็นผืนใหญ่ แต่สมัยนี้โรงงานหรือร้านจีวรหลายร้าน ใช้ผ้าผืนใหญ่ผืนเดียวเลย แล้วเอามาม้วนพับเย็บให้เป็นรอยตะเข็บ ทำให้ให้เหมือนรอยต่อ อันนี้ถือว่าผิดพระวินัย ถามว่าผู้ถวายได้บุญไหม ถวายด้วยเจตนาบริสุทธิ์ก็ได้บุญ ได้อานิสงค์แห่งการถวายอยู่แล้ว แต่ก็ไม่สมบูรณ์ตามที่ควรจะได้รับ พระสงฆ์ที่เคร่งครัดท่านก็จะไม่นำไปครอง เพราะหากนำไปครองก็ผิดพระวินัย เราผู้ถวายก็มีส่วนทำให้พระสงฆ์ทำผิดพระวินัย การสังเกตรอยต่อว่าตัดเย็บดีหรือไม่ดี การตัดเย็บประณีตหรือเย็บไม่ดี ไม่สวย ไม่ทน ข้อนี้ไม่ถือว่าผิดพระวินัย เพียงแต่เหมือนเราเลือกซื้อเสื้อกางเกงสำหรับสวมใส่หากเราซื้อเสื้อโหลตัด เย็บง่าย ๆ ไม่ประณีต ใส่ไม่กี่ครั้งก็ขาด จีวรก็เช่นกัน เราในฐานะผู้บริโภคเสียเงินเสียทองทั้งที ควรจะเลือกสิ่งที่คุ้มค่า พระสงฆ์ผู้รับก็สามารถนำไปครองได้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น