วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ภิกษุผู้มีศีลในจิตใจ สีย่อมเป็นอันเดียวกัน


บทสรุปของศีลทีพระพุทธองค์ทรงประทานไว้คือ ... สี เล นะ สุ ขะ ติง ยัน ติ... ศึลนำมาซึ่งความสุข..
การปฏิบัติตัวของพระภิกษุ ในศาสนานี้ พึงปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมาย...
แต่ว่า ด้วยปัญญาของสัตว์โลกที่สะสมมา เมื่อเป็นมนุษย์ย่อมเป็นสัตว์ที่มีความคิด มีปัญญามากกว่าสัตว์ทั้งปวง แต่ว่า ความคิด กับความรู้ ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ปัญญา เพราะ ความคิดเป็น สัมมาสังกัปโป และ ความรู้เป็นสัมมาทิฏฐิ  ...
มนุษย์โดยทั่วไป ที่ขาดการภาวนา คือ ขาดการเจริญ ใน อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา ย่อมจะแยก ความคิดกับความรู้ของตนไม่ออก หากเรามีสติ ที่ถูกต้องเป็นสัมมาสติ แล้ว สติตนจะต้องทันกับความรู้ หรือ ความรู้สึกขณะที่ตนรับรู้และแสดงออกได้ทันที เช่น ยุงกัด ชวน(ชะ วะ นะ) ที่เป็นความชำนาญของจิตจะนำเอามือไปตบยุงให้ตายทันที สติเราไม่ทันสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็ใช้คำพูดว่าขาดสติ...
พระพุทธองค์ ตรัสสอน สัมมาอริยมรรคไว้ เพื่อเป็นแนวทางให้เราเจริญในสิ่ง 8 อย่าง ผู้ที่กระทำให้มาก ทำอย่างถูกทางแล้ว ย่อมพบ นิโรธ อริยสัจอย่างแน่นอน
ดังนั้น สำนักสงฆ์ฯนี้ จึงขอต้อนรับพระคุณเจ้าที่มีความมั่นคงในทางเส้นเดียวกันนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติความเพียร โดยไม่กำหนดว่า จะนุ่งห่มจีวรสีใดๆ ขอให้จิตใจเป็นผู้มีปัญญา มีความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เพราะหากท่านใดมิได้ตั้งใจจริงเพื่อจะปฏิบัติแล้ว สถานที่นี้จะมีเหตุทำให้ไม่สามารถอยู่พักอาศัยได้ โดยเฉพาะ ผู้ที่ต้องการมาหาสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า เช่น มาหา โชค ลาภ สักการะ หวังสร้างศรัทธาว่าเราสามารถอยู่ลำพังในป่าได้ หรือผู้ที่ต้องการมาสร้างสถานที่ให้เจริญเป็นแหล่งท่องเที่ยว จะได้มีคนเข้ามามากๆ นโยบายหลักของสำนักสงฆ์นี้ ต้องการสร้างจิตใจของผู้ที่ต้องการมาฝึกจิต มาเสาะหาสถานที่ที่เหมาะกับการ สงบจิต ขาดจากการวุ่นวายจากสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้กิเลสพองตัว คับจิตใจเรา
การก่อสร้างทั้งหลาย ที่นี่จะก่อสร้างเพื่อสร้างความบริสุทธิใจ ว่าได้นำเงินตามปัจจัยที่ญาติโยมนำมาถวายไว้แล้ว เรามิได้นำออกไปใช้จ่ายที่อื่นเท่านั้น แต่จุดประสงค์ให้ใหญ่โต หรืออำนวยความสะดวกทั้งหลาย ของดไว้มิให้มี
ขณะนี้ สถานที่มีพระประจำอยู่เพียงรูปเดียว การบริหารจัดการก็เป็นไปอย่างสะดวก เพราะสามารถกระทำได้ตามนโยบายนี้ หากแม้ว่าในอนาคต จะมีการเปลี่ยนแปลงพระที่มาอยู่ในภายหน้า ก็ขอแสดงนโยบายหลักที่ได้เริ่มต้นเป็นสำนักสงฆ์ไว้ให้ทราบก่อน เพราะอนาคต เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนไปแน่นอน แต่จะเปลี่ยนไปตามนโยบายนี้หรือไม่ ขณะนี้ไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้
ฉะนั้นจึงได้แสดง จุดมุ่งหมายเริ่มแรกไว้เพียงเท่านี้

[273] สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน, หลักการอยู่ร่วมกัน — states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้
       1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in deed, openly and in private)
       2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in word, openly and in private)
       3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน — to be amiable in thought, openly and in private)
       4. สาธารณโภคี (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน — to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้
       5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)
       6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

       ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความกลมกลืนเข้าหากัน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non—quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เรื่องของผีฝากทำบุญ

... ประสบการณ์เรื่องหนึ่ง ที่ต้องถ่ายทอดเก็บเอาไว้เป็นหลักฐานว่า พระพุทธองค์และพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ได้รู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องของโลก ท่านกล่าวไว้เรื่องของภพภูมิต่างๆ แต่คนในสมัยปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์มองไม่เห็น จึงไม่เชื่อถือ ว่าเป็นเรื่องงมงาย แต่หากว่าผู้ที่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าภพภูมิอื่นมี แต่ว่าไม่ใช่เป็นผู้งมงายว่าเขาจะมาช่วยทำให้เราดีหรือเลว หลงไหลไปเพื่ออิทธืปาฏิหารย์ต่างๆ ทำให้ศักดิ์สิทธ์ ทำให้ร่ำรวย มีชื่อเสียง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นของภายนอก ที่ควรจะสละออกทั้งสิ้น ... สิ่งที่จะนำมาเล่ากล่าวนี้ จะนำมาเพื่อเป็นอุธาหรณ์สำหรับ ผู้ไม่กลัวสวรรค์นรก เหมารวมไปเสียทั้งหมดว่างมงาย ทั้งๆที่ตนยังงมงายกับความเมามันกับกามคุณทั้งหลาย ไม่มีโอกาสมาศึกษาธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง แยกแยะไม่ออกว่า ความสุขทางกาย ทางเนื้อหนังมันไม่เที่ยง มีแล้วหายไป มีแล้วหมดไป ไม่แน่นอน ... เริ่มเรื่อง ข้าพเจ้าเป็นพระภิกษุได้เดินทางไปพักในงานนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่เขาคิชกุฎจันทบุรี ในปี ๒๕๕๕ เป็นปีที่หลวงพ่อเขียน ท่านมรณะภาพหลังงานไม่นานนัก ในการเดินทางในครั้งนี้ ข้าพเจ้าเดินทางคู่ไปกับพระอาจารย์อ๊อด ซึ่งท่านพรรษามากกว่า ๕ พรรษาแล้ว เมื่องานนมัสการเสร็จลง ข้าพเจ้าและพระอาจารย์อ๊อด ก็ได้เดินทางด้วยเท้าจากวัดพลวงเพื่อไปเกาะช้าง ตามที่ได้วางแผนกันไว้แล้วบนเขาคิชกุฏ
... เมื่อการเดินทางเริ่มขึ้น เช้าวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕ ตามแผนที่แล้ว ต้องเดินออกมาทาง อ.มะขาม เพื่อต่อไป อ.ขลุง เรื่องที่เกิดขึ้นก็ที่อ.ขลุงนี่แหละ เมื่อมีผู้ที่ต้องการนำเงินใส่ซองปัจจัยมาถวาย แต่ว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่รับปัจจัยทำให้โยมเกิดอาการต้องเปลี่ยนเป็นการขอไปส่งให้ถึงทางสุขุึมวิทแทน เพราะโยมผู้นั้นขับรถตู้รับส่งนักเรียน ในระหว่างทางข้าพเจ้าก็ได้คุยกับโยมผู้นั้นไปเรื่อยๆ มีข้อน่าสังเกตุใดก็สอบถามไป เช่นเห็นว่าหน้าซองปัจจัยเขียนถึง เด็กชาย เพ็ชรรัตน์ (นุ๊ก) จึงได้สอบถามว่าเป็นลูกชายของเขาหรือเปล่า ก็ได้คำตอบว่า "ไม่ได้เป็นครับ" ก็สอบถามต่อว่า "คงเป็นเด็กนักเรียนที่เขาขับรถรับส่งละมั้ง?" คำตอบก็เหมือนเดิมคือ "ไม่ได้เป็นครับ" จึงต้องสอบถามความเป็นมาว่าเป็นเช่นไร? ทำไมต้องทำบุญส่งไปให้เด็กคนนี้ด้วย?
คำตอบที่ได้รับฟังคือ ... เขาออกตัวก่อนว่า ตัวเขาไม่ใช่คนที่เคยทำบุญมาก่อน ทำไปตามประเพณีเฉยๆ แต่ว่าเหตุการณ์ที่เขาขอใช้คำว่า "ผมคงฝันไป" แต่มันเหมือนมากเลยครับ ผมฝันว่าผมหมดชีวิตลงไปแล้ว เหมือนผมได้ตายจากโลกมนุษย์ไปแล้วจริงๆ ผมเห็นสิ่งที่เคยได้ยินคำเล่าลือถึงเมืองนรกว่ามีลักษณะแบบใด ผมได้เห็นสิ่งเหล่านั้นหลายๆสิ่งเช่นกัน ผมได้เห็นผู้ทีตายจากมนุษย์แล้วหลายๆคน ที่เคยเป็นญาติ เป็นเพื้อน เป็นคนรู้จัก ต่างก็ทักว่า "แกตายแล้วหรือ? ถึงได้มาอยู่ที่นี่้" เขาเล่าต่อไปว่า เขาตกใจมาก และมั่นใจว่าตนเองได้ตายไปแล้วจริงๆ จึงคิดต่อไปว่า จะมีทางใดบ้างที่จะช่วยให้กลับบ้านได้ พอได้คำตอบในตนเองว่า "ต้องให้ทาน" เขาจึงได้ควักเอากระเป๋าสตางค์ออกมา หยิบเงินออกจากกระเป๋า ให้กับผู้คนที่เดินผ่านเขาไป ให้ไปๆๆๆๆ จนมาถึงเด็กชายคนหนึ่ง พอดีว่า "เงินหมด" หมดกระเป๋าไปแล้ว เขาคงทำสีหน้าให้เด็กนั้นพอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น... ..เด็กชายนุ๊ก ได้กล่าวคำที่ทำให้เขารู้สึกพอโล่งใจได้บ้างว่า "น้าเงินหมดแล้ว ไม่เป็นไร ผมจะให้น้าเอง ไว้น้าเอาไปทำบุญต่อเถิดนะ !! " ..เขารู้สึกตื้นตัน แต่ก็เกรงใจ จึงได้พูดคุยต่อรองกันซักนิด แต่ว่า"มันจำเป็น" จึงได้สอบถามชื่อ นามสกุล และชื่อเล่นไว้ เพื่อจะได้นำมาชดใช้คืนให้ในภายหลัง ..เมื่อเขารับเงินจากเด็กนั้นแล้ว เขาก็ได้เดินมาพบกับพระภิกษุรูปหนึ่ง เขาดีใจมากสอบถามและขอความช่วยเหลือจากท่านทันที พอจำได้คร่าวๆว่า พระท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ฟัก จ.จันทบุรี เมื่อท่านรับเรื่องแล้ว พระท่านคงพิจารณาซักนิดนึง ก่อนจะรับปากว่าจะช่วย เมื่อพระท่านได้หายไปสักครู่หนึ่ง ได้เดินกลับมาแจ้งแก่เขาว่า โยมกลับไปได้แล้ว ให้เดินไปตามทางที่อาตมาชี้แล้วจะกลับไปถึงบ้านได้ เขาดีใจมาก ได้ถวายปัจจัย และกล่าวขอบพระคุณต่อพระคุณท่านแล้วรีบออกเดินทางกลับทันที... ..จนได้มาตื่นอยู่ที่ที่นอนของตนเอง ญาติต่างพากันดีใจที่เขาฟื้นกลับมา เขารีบจดชื่อนามสกุล และชื่อเล่นไว้ทันที เพื่อกันลืม เมื่อตนเองได้ไปทำบุญที่ไหน ก็ไม่ลืมจะทำบุญถึงน้องนุ๊กด้วย และเมื่อวันที่ข้าพเจ้าและพระอาจารย์อ๊อดได้เดินจาริกผ่านมา เขาก็ไม่ลืมที่จะต้องทำบุญส่งไปถึงน้องนุ๊กนี้อีก...
.. ได้สนทนากันพอคร่าวๆ เพียงเท่านี้รถก็ถึงถนนสุขุมวิท เขาจอดส่งข้าพเจ้าเพียงเท่านี้ แล้วพระอาจารย์อ๊อด ก็กล่าวคำอนุเคราะห์ว่า จะรับซองที่โยมตั้งใจถวายนั้นไปถวายที่วัดอื่นที่จะผ่านไปให้ ไม่ขอรับมาใช้เอง ... เขามีความสุขมากที่พระอาจารย์อ๊อดสงเคราะห์เขา ..หากจะถามว่า ข้าพเจ้าทราบหรือไม่ว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน? ตอบได้เลยว่า "ไม่รู้" เพราะรับเรื่องแล้วก็รับฟัง และรับสงเคราะห์ให้เท่านั้นเอง เบอร์โทรก็อยู่หลังรถ ใครจะคิดไปจำว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในภายหน้า.. .. เมื่อถึงถนนสุขุมวิทแล้ว เราทั้งสองก็เดินหน้าต่อไป ผ่านวัดไปหลายๆวัดก็มิได้แวะกัน ต่างพากันเดินเลยไปเรื่อยๆ เย็นมากแล้วต้องหาที่พัก ก็คิดว่าจะหาพักวัดที่ใกล้ๆแถวๆนั้น แต่ว่ากลับกลายเป็นไปพักที่ ศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ ซึ่งก็ได้รับการอุปัฏฐากดูแลเป็นอย่างดีก็ขอขอบคุณในความมีน้ำใจในครั้งนี้
.. วันต่อมาหลังที่เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันถวายภัตตาหารเช้าแล้ว จึงเดินทางต่อด้วยเท้า มาทางแหลมงอบ ต้องขอบอกตามตรงว่าตั้งแต่เช้าจนจะเย็นแล้ว ไม่มีรถจอดนิมนต์รับเราทั้งสองท่านเลย ต้องเดินไปแวะไปเมื่อเวลาร้อนจัดๆ แต่เรื่องน้ำและอาหารต่างๆที่โยมนำมาถวายนั้น ต้องคอยสละให้เด็กบ้าง ผู้ที่สมควรบ้างไปเรื่อยๆ เพราะเดินไม่พอกิโล(เมตร)น้ำหนักของสัมภาระคือน้ำและของกินต่างๆ มากกว่าสัมภาระที่เราติดตัวมาเสียอีก.. .. ราวสี่โมงเย็นได้ มีรถกระบะที่วัยรุ่นสองคนขับมาได้จอดรับ เมื่อได้ขึ้นรถแล้ววัยรุ่นทั้งสอง รับทราบว่าเรากำลังจะไปเกาะช้าง ก็ยินดีที่จะไปส่งให้ แต่ว่าจะไปพักวัดไหน ก็ไม่รู้ เพราะไม่รู้จักเกาะช้างเลย ด้วยความหวังดีของวัยรุ่นทั้งสอง จึงนิมนต์ให้พักที่วัดบ้านของเขาก่อน คือ วัดเขาดินแดง อ.แหลมงอบ เพราะว่าบ้านเขาอยู่ข้างวัด รู้จักเจ้าอาวาสเป็นอย่างดี เขาเองก็พึ่งจะสึกออกมาเช่นกัน เป็นอันว่า เราก็ต้องยอมรับเงื่อนไข เพราะว่าวันพรุ่งนี้เขาจะได้มารับเราไปส่งได้ง่ายกว่า หาวัดได้ง่ายกว่าด้วย .. เป็นอันว่าข้าพเจ้ากับพระอาจารย์อ๊อดก็ได้มาพักที่วัดเขาดินแดงนั่นเอง หลังจากที่เราเข้าจัดเก็บสัมภาระที่กุฏิตามที่พระอาจารย์สมชาย เจ้าอาวาสวัดเขาดินแดงจัดให้แล้ว ก็มานั่งคุยเล่นกับท่าน พระอาจารย์อ๊อดก็ได้นำซองปัจจัยเพื่อจะหาตู้ปัจจัยใส่ลงในตู้ แต่ว่าที่วัดนี้หาไม่พบจึงได้สอบถามพระอาจารย์สมชาย ว่าต้องการจะนำเอาปัจจัยที่โยมถวายมา ใส่ตู้รับบริจาค พระอาจารย์สมชาย ว่า"ที่นี้ไม่มีตู้รับบริจาค" พระอาจารย์อ๊อดจึงได้นำซองนั้นถวายไว้กับพระอาจารย์สมชาย.. .. เมื่อพระอาจารย์สมชาย รับซองปัจจัยนั้นแล้ว อ่านหน้าซอง จึงพูดว่า "นี่เขานำปัจจัยมาถวายทำบุญให้ ไอ้นุ๊กนี่" .. "อ้าว!! ... พระอาจารย์รู้จักนุ๊ก !! ด้วยหรือครับ????" .. พระอาจารย์สมชายกล่าวตอบว่า "ก็นี่ไงล่ะ เขาเขียนชื่อ นามสกุล ชื่อเล่นมาถูกทั้งหมดเลย"... .. "แล้ว นุ๊ก นี่อยู่ที่ไหน? ละครับ , แล้วพระอาจารย์รู้จักนุ๊ก ได้ยังไงละครับ?" .. "ก็อยู่ที่หมู่บ้านถัดไปนี่เองแหละ" "ก็รู้จักซิ เพราะไอ้นุ๊กมันเป็นลูกศิษย์ผม... ผมเป็นคนไปสวด,ไปเทศน์หน้าศพให้มันเองแหละ.." "มันเป็นเด็กวัยรุ่น ผมสอนธรรมะให้เด็กๆใน รร.แถวๆนี้ มันก็ตามผมมาที่วัด มาเป็นลูกศิษย์.. แต่เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้ว ไอ้นุ๊กมันขี่รถเครื่องตามกันไปสองคัน คันแรกมันผ่านรถสิบล้อที่กำลังถอยหลังออกจากซอยได้ แต่ไอ้นุ๊กขี่ตามมาพอดีเสียบเอาตูดรถสิบล้อพอดี ตายคาที่เลย"... .. นี่แหละข้าพเจ้า ขอนำเอาเรื่องที่ได้ประสบมาด้วยตนเอง มาเผยแผ่ให้กับผู้ที่ต้องการนำไปเป็นสติเตือนใจว่า ภพภูมิอื่นมีมาให้รับทราบกัน ว่า แม้แต่ผี ก็ยังมีจิตคิดจะทำบุญกับอาจารย์ของตัว โดยฝากส่งมาผ่านข้าพเจ้ากับพระอาจารย์อ๊อด มาจากโยมที่อ.ขลุง ไปถึงยังอาจารย์สมชายเป็นที่เรียบร้อย..ทุกประการ

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความเปลี่ยนแปลงไปของสำนักสงฆ์

กุฏิพักหน้าเขา ทางเข้าถ้ำ

ศาลาทำบุญด้านล่างตอนแรกเริ่ม



แรกเริ่มที่เข้ามาอยู่ ยังไม่ได้ทำการสะสางป่าบริเวณด้านล่าง ทางเข้าอุ่งเขา

สภาพโขดหิน ก่อนทำการถมลูกรัง

ได้นำเอาลูกรังเข้ามาถมทางเข้า บริเวณทางขึ้นเขา

ขณะทำการถมดินลูกรังด้านล่างที่พัก วันวิสาขะ ปี ๒๕๕๖

สภาพด้านหน้าทางขึ้น

การเตรียมการก่อนวันทอดกฐิน ปี ๒๕๕๖

สภาพทางเข้าอุ่งเขา จากทางแยกจากเส้นลูกรัง

สภาพทางเข้าเมื่อยามหน้าฝนในพรรษา ๒๕๕๖
อยู่จำพรรษาเหมือนกับถูกปล่อยเกาะ
เพราะขาดการติดต่อกับชาวบ้านโดยปริยาย

สภาพทางเข้าก่อนปรับถมลูกรัง

เมื่อทำการถมลูกรังทางเข้าด้วยเงินกฐินปี ๒๕๕๖

ขณะเริ่มทำการก่อสร้างศาลาทำบุญ ปี ๒๕๕๖
ศาลาพักที่ยอดเขา
ศาลาที่ยอดเขา(ภาพจากด้านหน้า)

กุฏิหลังแรกที่เริ่มทำ

เมื่อทำเสร็จหลังออกพรรษา
เข้ามาอยู่พักอาศัยครั้งแรก วันลอยกระทง ๒๕๕๕
ซึ่งคราวนั้นยังมุงหลังคาไม่เสร็จ ใช้กลดกางนอน


สภาพศาลาทำบุญในปัจจุบัน

สภาพที่พักบนเขา มีกุฏิ ศาลา และ อุโบสถ

พระมหาวินัย ได้เมตตามาผูกสีมาให้ เมื่อ ปี ๒๕๕๖

ภาพการตีตารางเพื่อทำการสวดถอนสีมาเก่า

ภาพศาลาทำบุญ ก่อนสร้างอุโบสถ

ภาพศาลาอุโบสถที่สร้างแล้ว

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รับพระบรมสารีริกธาตุเพื่อไว้บูชาที่สำนักฯ

7 มิ.ย. 56 สมเด็จพระสังฆราชฯ จากประเทศศรีลังกา ได้เสด็จมาที่วัดพระยาสุเรนทร์ คลองสามวา มีนบุรี เพื่อนำพระเขี้ยวแก้ว อันเป็นพระบรมสารีริกธาตุ คู่บ้านคู่เมือง ประจำประเทศ อันเชิญมาให้คนไทยได้มีโอกาสกราบไหว้บูชา
ในโอกาสนี้ ที่พักสงฆ์อุ่งเขาตะกุด ได้รับโอกาสอันดีคือ ได้รับ ประทานพระบรมสารีริกธาตุจากพระหัตถ์พระองค์ และพระองค์ท่านยังเมตตานำพระเขี้ยวแก้วมาครอบศรีษะ เพื่อความเป็นศิริมงคล
ในนามที่พักสงฆ์อุ่งเขาตะกุด ขอกราบน้อมนมัสการคาราวะในพระกรุณาของพระองค์ด้วยความเคารพสักการะ และจะนำเอาพระบรมสารีกธาตุที่ได้รับมอบนี้ นำให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาต่อไป..ุ






วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มุตโตทัย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

 รวมธรรมบรรยายของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


คำนำ
ของดีมีอยู่กับตัว
ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ
มูลกรรมฐาน
ศีล
ปาฏิโมกขสังวรศีล
ธรรมคติวิมุตติ
อัจฉริยะ - อัพภูตธรรม
วาสนา
สนทนาธรรมตามกาล
การทำจิตให้ผ่องใส
วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก
ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ
ได้ฟังธรรมทุกเมื่อ
ปริญเญยฺยธรรม
บั้นต้นโพธิสัตว์
โสฬสกิจ
สำคัญตนว่าได้บรรลุอรหัตตผล
อุณหัสสวิชัยสูตร
มุตโตทัย
สาเหตุของการต้องตั้งนโม
อุบายแห่งวิปัสสนา


มุตโตทัย
แนวทางการปฏิบัติให้ถึงความหลุดพ้น มุตโตทัย
บันทึกโดยพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร
ณ วัดป่าบ้านนามน กิ่ง อ. โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร พ.ศ. 2486
ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อธรรมดังต่อไปนี้

1. การปฏิบัติ เป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์
2. การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า
2. การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า
4. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ
5. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ
6. มูลการของสังสารวัฏฏ์
7. อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคนิพพาน
8. สติปัฏฐาน เป็น ชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน
9. อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส
10. จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส
11. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย
12. มูลติกสูตร
13. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้
14. อกิริยาเป็นที่สุดในโลก - สุดสมมติบัญญัต
15. สัตตาวาส 9
16. ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา
17. พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ
1. การปฏิบัติ เป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์
           สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมของพระตถาคต เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร้ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติถ่ายเดียว จึงยังใช้การไม่ได้ดี ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจกำจัดเหล่า กะปอมก่า คือ อุปกิเลส แล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย
2. การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า
           ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา
สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทรมานฝึกหัดพระองค์จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็น พุทฺโธ ผู้รู้ก่อนแล้วจึงเป็น ภควา ผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ สตฺถา จึงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้มีอุปนิสัยบารมีควรแก่การทรมานในภายหลัง จึงทรงพระคุณปรากฏว่า กลฺยาโณ กิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคโต ชื่อเสียงเกียรติศัพท์อันดีงามของพระองค์ย่อมฟุ้งเฟื่องไปในจตุรทิศจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าท่านฝึกฝนทรมานตนได้ดีแล้ว จึงช่วยพระบรมศาสดาจำแนกแจกธรรม สั่งสอนประชุมชนในภายหลัง ท่านจึงมีเกียรติคุณปรากฏเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลใดไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษ ปรากฏว่า ปาปโกสทฺโท คอเป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ เพราะโทษที่ไม่ทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าในก่อนทั้งหลาย
3. มูลมรดกอันเป็นต้นทุนทำการฝึกฝนตน
           เหตุใดหนอ ปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นโม ก่อน จะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกขึ้นพิจารณา ได้ความว่า น คือธาตุน้ำ โม คือ ธาตุดิน พร้อมกับบาทพระคาถา ปรากฏขึ้นมาว่า มาตาเปติกสมุภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกัน จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้ น เป็นธาตุของ มารดา โม เป็นธาตุของ บิดา ฉะนั้นเมื่อธาตุทั้ง 2 ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ถือปฏิสนธิในธาตุ นโม นั้น เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละ ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น อัมพุชะ คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆนะ คือเป็นแท่ง และ เปสี คือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา คือ แขน 2 ขา 2 หัว 1 ส่วนธาตุ พ คือลม ธ คือไฟ นั้นเป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาปสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง 2 คือ นโม เป็นเดิม
           ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย น มารดา โม บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาส เป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า บุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ทำ
           ให้กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิมทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลยเพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น "มูลมรดก" ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่ เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อนแล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตนไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ
4. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ
           นโม นี้ เมื่อกล่าวเพียง 2 ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะจากตัว น มาใส่ตัว ม เอาสระ โอ จากตัว ม มาใส่ตัว น แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจเต็มตามส่วน สมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้ มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ได้ในพระพุทธพจน์ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจาก ใจ คือมหาฐาน นี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก มโน แจ่มแจ้งแล้ว มโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมมติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมมติบัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะจนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราไปหมด
5. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ
           พระอภิธรรม 7 คัมภีร์ เว้นมหาปัฏฐาน มีนัยประมาณเท่านั้นเท่านี้ ส่วนคัมภีร์มหาปัฏฐาน มีนัยหาประมาณมิได้เป็น "อนันตนัย" เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรอบรู้ได้ เมื่อพิจารณาพระบาลีที่ว่า เหตุปจฺจโย นั้นได้ความว่า เหตุซึ่งเป็นปัจจัยดั้งเดิมของสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุนั้นได้แก่ มโน นั่นเอง มโน เป็นตัวมหาเหตุเป็นตัวเดิม เป็นสิ่งสำคัญ นอนนั้นเป็นแต่อาการเท่านั้น อารมฺมณ จนถึงอวิคฺคต จะเป็นปัจจัยได้ก็เพราะมหาเหตุคือใจเป็นเดิมโดยแท้ ฉะนั้น มโนซึ่งกล่าวไว้ในข้อ 4 ก็ดี ฐีติ ภูตํ ซึ่งจะกล่าวในข้อ 6 ก็ดี และมหาธาตุซึ่งกล่าวในข้อนี้ก็ดี ย่อมมีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ดี รู้อะไรๆ ได้ด้วย ทศพลญาณ ก็ดี รอบรู้ สรรพเญยฺยธรรม ทั้งปวงก็ดี ก็เพราะมีมหาเหตุนั้นเป็นดั้งเดิมทีเดียว จึงทรงรอบรู้ได้เป็นอนันตนัย แม้สาวทั้งหลายก็มีมหาเหตุนี้แลเป็นเดิม จึงสามารถรู้ตามคำสอนของพระองค์ได้ด้วยเหตุนี้แลพระอัสสชิเถระผู้เป็นที่ 5 ของพระปัญจวัคคีย์จึงแสดงธรรมแก่ อุปติสฺส (พระสารีบุตร) ว่า เย ธมฺมา เหตุปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ...เพราะว่ามหาเหตุนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเดิม เมื่อท่านพระอัสสชิเถระกล่าวถึงที่นี้ (คือมหาเหตุ) ท่านพระสารีบุตรจะไม่หยั่งจิตลงถึงกระแสธรรมอย่างไรเล่า? เพราะอะไร ทุกสิ่งในโลกก็ต้องเป็นไปแต่มหาเหตุถึงโลกุตตรธรรม ก็คือมหาเหตุ
           ฉะนั้น มหาปัฏฐาน ท่านจึงว่าเป็น อนันตนัย ผู้มาปฏิบัติใจคือตัวมหาเหตุจนแจ่มกระจ่างสว่างโร่แล้วย่อมสามารถรู้อะไรๆ ทั้งภายในและภายนอกทุกสิ่งทุกประการ สุดจะนับจะประมาณได้ด้วยประการฉะนี้
6. มูลการของสังสารวัฏฏ์
           ฐีติภูตํ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโว ชาติ
คนเราทุกรูปนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติปัจจยาการแต่เพียงว่า อวิชฺชา ปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไรฯ ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดาอวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจากฐีติภูตํเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อฐีติภูตํกอปรด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วยวุฏฐานคามินี วิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า "มูลตันไตร" (หมายถึงไตรลักษณ์) เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏฏ์ให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชารู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะหายหลงแล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้
7. อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคนิพพาน
           อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺตวิสุทธิยา
ฐานะอันเลิศมีอยู่ในมนุษย์ ฐานะอันดีเลิศนั้นเป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ โดยอธิบายว่าเราได้รับมรดกมาแล้วจาก นโม คือ บิดามารดา กล่าวคือตัวของเรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีคือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ แลมโนสมบัติบริบูรณ์ จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสมเอาสมบัติภายในคือมรรคผลนิพพานธรรมวิเศษก็ได้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติแก่ ช้าง มา โค กระบือ ฯลฯ ที่ไหนเลย มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนาน้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้วทำให้ยิ่งได้สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดาว่า ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ เมื่อได้ทำกองการกุศล คือ ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแล้ว บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์ บางพวกทำมากและขยันจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีแต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์ดิรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้ จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีสามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล
8. สติปัฏฐาน เป็น ชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน
           พระบรมศาสดาจารย์เจ้า ทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่า พระองค์ทรงตั้งมหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ
           อุปมาในทางโลก การรบทัพชิงชัย มุ่งหมายชัยชนะจำต้องหา ชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อมสามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้นสามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่า ชัยภูมิ คือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคงฉันใด
           อุปไมยในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอามหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิก็โดยผู้ที่จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส ต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นก่อน เพราะคนเราที่จะเกิด กามราคะ เป็นต้น ขึ้น ก็เกิดที่กายและใจ เพราะตาแลไปเห็นกายทำให้ใจกำเริบ เหตุนั้นจึงได้ความว่า กายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำให้ใจสงบได้ ณ ที่นี้พึง ทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียว ในเมื่ออุคคหนิมิตปรากฏ จะปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะคิดว่าที่นี่เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่ ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกายออกมาเป็นส่วนๆ ทุกๆอาการอันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างละเอียด ที่เรียกว่าปฏิภาคก็ตาม ก็ให้พิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคคหนิมิตนั้นจนชำนาญ ที่จะชำนาญได้ก็ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั้นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์ เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่าไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสียไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใด การพิจารณากายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคคหนิมิตในที่ใดแล้ว ไม่พิจารณาในที่นั้นให้มากปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาทก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน
           การพิจารณากายนี้มีที่อ้างมาก ดั่งในการบวชทุกวันนี้ เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน 5 ก็คือ กายนี้เอง ก่อนอื่นหมดเพราะเป็นของสำคัญ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทขุทฺทกนิกายว่า อาจารย์ผู้ไม่ฉลาด ไม่บอกซึ่งการพิจารณากาย อาจทำลายอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน 5 ก่อน
อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าจะไม่กำหนดกาย ในส่วนแห่ง โกฏฐาส (คอการพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ) ใดโกฏฐาสหนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ 500 รูปผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พหิทฺธา แผ่นดินภายนอกให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายในกล่าวคืออัตตภาพร่างกายนี้ จงพิจารณาไตร่ตรองให้แยบคาย กระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการวิสัชชนาปัญหานี้ ภิกษุทั้ง 500 รูปก็บรรลุพระอรหันตผลเหตุนั้นการพิจารณากายจึงเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรกก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาเป็นต้น จึงชื่อว่า "ชัยภูมิ" เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า
9. อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส
           ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี อุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้น เมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นอีกเลย ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่ง สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือตัวเรานี้เอง ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครกคือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตรคูถ) ทั้งปวง สิ่งที่ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่า ขี้ ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขเล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้น
           เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นลงสู่อาหาร มีแกงกับ เป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้ง กินไม่ได้ และร่างกายนี้ต้องชำระอยู่เสมอจึงพอเป็นของดูได้ ถ้าหาไม่ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาป เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่างๆ เมื่ออยู่นอกกายของเราก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็กลายเป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆ เข้าไม่ซักฟอกก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ ดั่งนี้จึงได้ความว่าร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายจึงพิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญด้วย โยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว
            คือขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจนก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแก่จริตจนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคหนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก การเจริญทำให้มากนั้นพึงทราบอย่างนี้ อันชาวนาเขาทำนาเขาก็ทำที่แผ่นดิน ไถที่แผ่นดินดำลงไปในดิน ปีต่อไปเขาก็ทำที่ดินอีกเช่นเคย เข้าไม่ได้ทำในอากาศกลางหาว คงทำแต่ที่ดินอย่างเดียว ข้าวเขาก็ได้เต็มยุ้งเต็มฉางเอง เมื่อทำให้มากในที่ดินนั้นแล้ว ไม่ต้องร้องเรียกว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงมาเต็มยุ้งเน้อ ข้าวก็จะหลั่งไหลมาเอง และจะห้ามว่า เข้าเอ๋ยข้าว จงอย่ามาเต็มยุ้งเต็มฉางเราเน้อ ถ้าทำนาในที่ดินนั้นเองจนสำเร็จแล้ว ข้าวก็มาเต็มยุ้งเต็มฉางเอง ฉันใดก็ดีพระโยคาวจรเจ้าก็ฉันนั้น จงพิจารณากายในที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัยหรือที่ปรากฏมาให้เห็นครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด
           การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอจึงจะชื่อว่า ทำให้มาก เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้ว ให้พิจารณาแบ่งส่วนแยกส่วนออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการตลอดจนกระจายออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และพิจารณาให้เห็นไปตามนั้นจริงๆ อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว
           พระโยคาวจรเจ้าเมื่อพิจารณาในที่นี้ พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือน ตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็น อนุโลม ปฏิโลม คือเข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมาพิจารณากาย อย่างพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิตแต่อย่างเดียว พระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว คราวนี้แลเป็นส่วนที่จะเป็นเอง คือ จิต ย่อมจะรวมใหญ่ เมื่อรวมพึ่บลง ย่อมปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกันคือหมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น นิมิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่า ป่าไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์ แม้ที่สุดตัวของเราก็ต้องลบราบเป็นที่สุดอย่างเดียวกัน
พร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ คือรู้ขึ้นมาพร้อมกัน ในที่นี้ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย จึงชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสสนวิปัสสนา คือทั้งเห็นทั้งรู้ตามความเป็นจริง
           ขั้นนี้เป็นเบื้องต้นในอันที่จะดำเนินต่อไป ไม่ใช่ที่สุดอันพระโยคาวจรเจ้าจะพึงเจริญให้มาก ทำให้มาก จึงจะเป็นเพื่อความรู้ยิ่งอีกจนรอบ จนชำนาญเห็นแจ้งชัดว่า สังขารความปรุงแต่งอันเป็นความสมมติว่าโน่นเป็นของของเรา โน่นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยงอาศัยอุปาทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แลธาตุทั้งหลาย เขาหากมีหากเป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไปอยู่อย่างนี้มาก่อน เราเกิดตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็เป็นอยู่อย่างนี้ อาศัยอาการของจิต ของขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ
           นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณมาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ ไม่ใช่สมมติมาติดเอาเรา เพราะธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้ จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เมื่อว่าตามความจริงแล้ว เขาหากมีหากเป็น เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว โดยไม่ต้องสงสัยเลยจึงรู้ขึ้นว่า ปุพฺเพสุ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ ธรรมดาเหล่านี้ หากมีมาแต่ก่อน ถึงว่าจะไม่ได้ยินได้ฟังมาจากใครก็มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว ฉะนั้นในความข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใครเพราะของเหล่านี้มีอยู่ มีมาแต่ก่อนพระองค์ดังนี้ ได้ความว่าธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็นย่อมมีอยู่อย่างนั้น
           อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติด้วยอาการของจิตเข้าไปยึด ฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้ามาพิจารณา โดยแยบคายลงไปตามสภาพว่า สพฺเพ สฺงขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารความเข้าไปปรุงแต่ง คือ อาการของจิตนั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยง คือมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาโดย อริยสัจจธรรมทั้ง 4 เป็นเครื่องแก้อาการของจิตให้เห็นแน่แท้โดย ปัจจักขสิทธิ ว่า ตัวอาการของจิตนี้เองมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงหลงตามสังขาร เมื่อเห็นจริงลงไปแล้วก็เป็นเครื่องแก้อาการของจิต
           จึงปรากฏขึ้นว่า สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายที่เที่ยงแท้ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิตต่างหาก เปรียบเหมือนพยับแดด ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อรู้โดยเงื่อน 2 ประการ คือรู้ว่า สัตว์ก็มีอยู่อย่างนั้น สังขารก็เป็นอาการของจิต เข้าไปสมมติเขาเท่านั้น ฐีติภูตํ จิตตั้งอยู่เดิมไม่มีอาการเป็นผู้หลุดพ้น ได้ความว่า ธรรมดาหรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน จะใช่ตนอย่างไร ของเขาหากเกิดมีอย่างนั้น ท่านจึงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ให้พระโยคาวจรเจ้าพึงพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้จนทำให้จิตรวมพึ่บลงไป ให้เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น โดย ปัจจักขสิทธิ พร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ รวมทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุตติ หรือรวมลงฐีติจิต อันเป็นอยู่มีอยู่อย่างนั้นจนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วยญาณสัมปยุตต์ว่า ขีณา ชาติ ญาณํ โหติ ดังนี้
           ในที่นี้ไม่ใช่สมมติไม่ใช่ของแต่งเอาเดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติอันเข้มแข็งไม่ท้อถอย พิจารณาโดยแยบคายด้วยตนเอง จึงจะเป็นขึ้นมาเอง ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ต่างๆ มีต้นข้าวเป็นต้น เมื่อบำรุงรักษาต้นมันให้ดีแล้ว ผลคือรวงข้าวไม่ใช่สิ่งอันบุคคลพึงปรารถนาเอาเลย เป็นขึ้นมาเอง ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว แต่หาได้รักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน จะปรารถนาจนวันตาย รวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด วิมฺตติธรรม ก็ฉันนั้นนั่นแล มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติมัวเกียจคร้านจนวันตายจะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้
10. จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส
           ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ
ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เสื่อมปภัสสรแจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองเป็นอาคันตุกะสัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า "ไม้ชะงกหกพันง่า(กิ่ง) กะปอมก่ากิ้งก่าฮ้อย กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อๆ" โดยอธิบายว่า คำว่าไม่ชะงก 6,000 ง่านั้นเมื่อตัดศูนย์ 3 ศูนย์ออกเสียเหลือแค่ 6 คงได้ความว่า ทวารทั้ง 6 เป็นที่มาแห่งกะปอมก่า คือของปลอมไม่ใช่ของจริง กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง 6 นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆ วัน ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้ ธรรมชาติของจิตเป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคืออุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุมจึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบังฉะนั้น อย่าพึงเข้าใจว่าพระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายเมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคายตามที่อธิบายแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาข้อ 9 นั้นเถิด เมื่อทำให้ถึงขั้นฐีติจิตแล้ว ชื่อว่าย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้นหรือว่าของปลอมย่อมเข้าไปถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัวฉะนั้น
11. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย
           นายสารถีผู้ฝึกม้ามีชื่อเสียงคนหนึ่ง มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงวิธีทรมานเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อนถึงการทรมาณม้า เขาทูลว่าม้ามี 4 ชนิด คือ 1. ทรมานง่าย 2. ทรมานอย่างกลาง 3. ทรมานยากแท้ 4. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย พระองค์จึงตรัสว่าเราก็เหมือนกัน 1. ผู้ทรมาณง่าย คือผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่ายให้กินอาหารเพียงพอ เพื่อบำรุงร่างกาย 2. ผู้ทรมานอย่างกลาง คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ค่อยจะลง ก็ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก 3. ทรมานยากแท้ คือผู้ปฏิบัติทำจิตลงยากแท้ ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็น อตฺตญฺญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้สักเพียงไร แค่ไหน 4. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ได้ เป็น ปทปรมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสีย กล่าวคือไม่ทรงรับสั่งสอน อุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น
12. มูลติกสูตร
           ติกแปลว่า 3 มูลแปลว่าเค้ามูลรากเหง้า รวมความว่าสิ่งซึ่งเป็นรากเหง้าเค้ามูลอย่างละ 3 คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เรียก 3 อกุศลมูล ตัณหา ก็มี 3 คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โอฆะและอาสวะก็มีอย่างละ 3 คือ กามะ ภาวะ อวิชชา ถ้าบุคคลมาเป็นไปกับด้วย 3 เช่นนี้ ติปริวตฺตํ ก็ต้องเวียนไปเป็น3 3 ก็ต้องเป็นโลก 3 คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก อยู่อย่างนั้นแล เพราะ 3 นั้นเป็นเค้ามูลโลก 3
           เครื่องแก้ก็มี 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อบุคคลดำเนินตนตามศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นเครื่องแก้ น ติปริวตฺตํ ก็ไม่ต้องเวียนไปเป็น3 3 ก็ไม่เป็นโลก 3 ชื่อว่าพ้นจากโลก 3 แล
13. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้
           อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต
บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นพหิทธาธรรม ทั้งที่เป็น อัชฌัตติกาธรรม สนฺโต จึงเป็นผู้สงบระงับ สันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด มีใจมั่นคงเป็นสัตบุรุษผู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสันตบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึงวิสุทธิเทวา คือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ และ สุกฺกธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้
14. อกิริยาเป็นที่สุดในโลก - สุดสมมติบัญญัติ
           สจฺจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา
สัจธรรมทั้ง 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยา เพราะแต่ละสัจจะๆ ย่อมมีอาการต้องทำคือ ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง มรรค-ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยาเพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่าสัจจะทั้ง 4 เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง 4 เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป 4 พักจึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อกิริยา
           อุปมา ดังเขียนเลข 1 2 3 4 5 6 7 8 9 0 แล้วลบ 1 ถึง 9 ทิ้งเสีย เหลือแต่ 0 (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้นแต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่ เพราะปรากฏอยู่ว่า 0 (ศูนย์) นี่แหละ คือปัญญารอบรู้ เพราะลายกิริยา คือ ความสมมติ หรือว่าลบสมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่าลบ คือทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ มีปัญหาสอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความจริง ซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเองนั่นแลจึงจะเข้าใจได้
           ความแห่ง 2 บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจารณาบำเพ็ยเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลายทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอกิริยาก็ย่อมดับโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น ท่านขีณาสวเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไปนกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียวกัน เมื่อจะดับโลกสาม ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลกสาม คงดับอยู่ที่จิต ทิ่จิตนั้นเองเป็นโลกสาม ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลกสาม พึงดับที่จิตของตนๆ จึงทำลายกิริยา คือตัวสมมติหมดสิ้นจากจิต ยังเหลือแต่อกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรมอันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล
15. สัตตาวาส 9
           เทวาพิภพ มนุสสโลก อบายโลก จัดเป็นกามโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์เสพกามรวมเป็น 1 รูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จรูปฌานมี 4 อรูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จอรูปฌานมี 4 รวมทั้งสิ้น 9 เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผู้มารู้เท่าสัตตาวาส 9 กล่าวคือ พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ ไม่ต้องอยู่ในที่ 9 แห่งนี้ และปรากฏในสามเณรปัญหาข้อสุดท้ายว่า ทส นาม กึ อะไรชื่อว่า 10 แก้ว่า ทสหงฺ เคหิ สมนฺนาคโต พระขีณาสวเจ้าผู้ประกอบด้วยองค์ 10 ย่อมพ้นจากสัตตาวาส 9 ความข้อนี้คงเปรียบได้กับการเขียนเลข 1 2 3 4 5 6 7 8 9 0 นั่นเอง 1 ถึง 9 เป็นจำนวนที่นับได้ อ่านได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วน 10 ก็คือ เลข 1 กับ 0 (ศูนย์) เราจะเอา 0 (ศูนย์) ไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น และ 0 (ศูนย์) นี้เมื่ออยู่โดยลำพังก็ไม่มีค่าอะไร แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งปรากฏอยู่ ความเปรียบนี้ฉันใด จิตใจก็ฉันนั้นเป็นธรรมชาติ มีลักษณะเหมือน 0 (ศูนย์) เมื่อนำไปต่อเข้ากับเลขตัวใด ย่อมทำให้เลขตัวนั้นเพิ่มค่าขึ้นอีกมาก เช่น เลข 1 เมื่อเอาศูนย์ต่อเข้า ก็กลายเป็น 10 (สิบ) จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อต่อเข้ากับสิ่งทั้งหลายก็เป็นของวิจิตรพิสดารมากมายขึ้นทันที แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมจนฉลาดรอบรู้สรรพเญยฺยธรรมแล้วย่อมกลับคืนสู่สภาพ 0 (ศูนย์) คือ ว่างโปร่งพ้นจากการนับการอ่านแล้ว มิได้อยู่ในที่ 9 แห่งอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ แต่อยู่ในที่หมดสมมติบัญญัติคือ สภาพ 0 (ศูนย์) หรืออกิริยาดังกล่าวในข้อ 14 นั่นเอง
16. ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา
           พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน 3 กาลมีความสำคัญยิ่ง อันพุทธบริษัทควรสนใจพิจารณาเป็นพิเศษ คือ
           ก. ปฐมโพธิกาล ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา เรียกว่า ธรรมจักร เบื้องต้นทรงยกส่วนสุด 2 อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นมาแสดงว่า เทว เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด 2 อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกา และอัตตกิลมถา อธิบายว่า กามสุขัลลิกา เป็นส่วนแห่งความรัก อัตตกิลมถา เป็นส่วนแห่งความชังทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นตัวสมุทัย เมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งส่วนทั้งสองนี้ ชื่อว่ายังไม่เข้าทางกลาง เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิ จิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจ ครั้นเมื่อจิตนึกคิดฟุ้งซ่านรำคาญก็เสียใจ ความดีใจนั้น คือ กามสุขัลลิกา ความเสียใจนั้นแล คือ อัตตกิลมถา ความดีใจก็เป็นราคะ ความเสียใจก็เป็นโทสะ ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ ทั้งสองนี้เป็นโมหะ ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกต้องกระทบส่วนสุดทั้งสองนั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน 2 นั้นอยู่ ชื่อว่าผิดอยู่แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียว ต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ก็ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ซ้ำเป็นมิจฉาทิฐิมาก่อนแล้วทั้งสิ้น แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่นๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้น ต่อเมื่อพระองค์มาดำเนินทางกลาง ทำจิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์ ได้ญาณ 2 ในสองยามเบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ 3 กล่าวคืออาสวักขยญาณในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลางอันแท้จริงทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิด กล่าวคือ...ส่วนสุดทั้งสองนั้น พ้นจากสมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยโคตร อริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ และอริยประเพณี ส่วนอริยสาวกทั้งหลายนั้นเล่าก็มารู้ตามพระองค์ ทำให้ได้อาสวักขยญาณพ้นจากความผิดตามพระองค์ไป ส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรกๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าแล้วทำให้ถูก เมื่อยังมีดีใจเสียใจในการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ ก็ตกอยู่ในโลกธรรม เมื่อตกอยู่ในโลกธรรม จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะความดีใจเสียใจนั่นแหละ ชื่อว่าความหวั่นไหวไปมา อุปฺปนฺโน โข เม โลกธรรมจะเกิดที่ไหน เกิดที่เรา โลกธรรมมี 8 มรรคเครื่องแก้ก็มี 8 มรรค 8 เครื่องแก้โลกธรรม 8 ฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาแก้ส่วน 2 เมื่อแก้ส่วน 2 ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรค ตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็นจาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (สละสลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน 2 ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง เมื่อผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง 2 แล้ว ก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโยคะ จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมาก พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไร เพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้ โลกธาตุก็มิใช่อะไรอื่น คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหวเพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นจากส่วน 2 ธาตุของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะจะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล
           ข. มัชฌิมโพธิกาล ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในชุมชนพระอรหันต์ 1,250 องค์ ณ พระราชอุทยานเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ พึงเป็นผู้ทำจิตให้ยิ่ง การที่จะทำจิตให้ยิ่งได้ต้องเป็นผู้สงบระงับ อิจฺฉา โลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ เมื่อประกอบด้วยความอยากดิ้นรนโลภหลงอยู่แล้วจักเป็นผู้สงระงับได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ปฏิบัติคือปฏิบัติพระวินัยเป็นเบื้องต้น และเจริญกรรมฐานตั้งต้นแต่การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำให้มาก เจริญให้มาก ในการพิจารณามหาสติปัฏฐาน มีกายนุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเบื้องแรก พึงพิจารณาส่วนแห่งร่างกาย โดยอาการแห่งบริกรรมสวนะคือ พิจารณาโดยอาการคาดคะเน ว่าส่วนนั้นเป็นอย่างนั้นด้วยการมีสติสัมปชัญญะไปเสียก่อน เพราะเมื่อพิจารณาเช่นนี้ใจไม่ห่างจากกาย ทำให้รวมง่าย เมื่อทำให้มาก ในบริกรรมสวนะแล้ว จักเกิดขึ้นซึ่งอุคคหนิมิตให้ชำนาญในที่นั้นจนเป็นปฏิภาค ชำนาญในปฏิภาคโดยยิ่งแล้วจักเป็นวิปัสสนา เจริญวิปัสสนาจนเป็นวิปัสสนาอย่างอุกฤษฏ์ ทำจิตเข้าถึงฐีติภูตํ ดังกล่าวแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาชื่อว่าปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว โมกฺขํ จึงจะข้ามพ้น จึงพ้นจากโลกชื่อว่าโลกุตตรธรรม เขมํ จึงเกษมจากโยคะ (เครื่องร้อย) ฉะนั้น เนื้อความในมัชฌิมเทศนาจึงสำคัญเพราะเล็งถึงวิมุตติธรรมด้วยประการฉะนี้และฯ
           ค. ปัจฉิมโพธิกาล ทรงแสดงปัจฉิมเทศนาในที่ชุมชนพระอริยสาวก ณ พระราชอุทยานสาลวันของมัลลกษัตริย์กรุงกุสินารา ในเวลาจวนจะปรินิพพานว่า หนฺทานิ อามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ปฏิเวทยามิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เราบอกท่านทั้งหลายว่าจงเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาสังขารที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาเช่นนั้นจักเป็นผู้แทงตลอด พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ก็ปิดพระโอษฐ์มิได้ตรัสอะไรต่อไปอีกเลย จึงเรียกว่า ปัจฉิมเทศนาอธิบายความต่อไปว่า สังขารมันเกิดขึ้นที่ไหน อะไรเป็นสังขาร สังขารมันก็เกิดขึ้นที่จิตของเราเองเป็นอาการของจิตพาให้เกิดขึ้นซึ่งสมมติทั้งหลาย สังขารนี้แล เป็นตัวการสมมติบัญญัติสิ่งทั้งหลายในโลกความจริงในโลกทั้งหลายหรือธรรมธาตุทั้งหลายเขามีเขาเป็นอยู่อย่างนั้น แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ฟ้า แดด เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นนั้นเป็นนี้เลย เจ้าสังขารตัวการนี้เข้าไปปรุงแต่งว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้จนหลงกันว่าเป็นจริง ถือเอาว่าเป็นตัวเรา เป็นของๆ เราเสียสิ้น จึงมี ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นทำจิตดั้งเดิมให้หลงตามไป เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอเนกภพ อเนกชาติ เพราะเจ้าตัวสังขารนั้นแลเป็นตัวเหตุ จึงทรงสอนให้พิจารณาสังขารว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา ให้เป็นปรีชาญาณชัดแจ้ง เกิดจากผลแห่งการเจริญปฏิภาคเป็นส่วนเบื้องต้น จนทำจิตให้เข้าภวังค์ เมื่อกระแสแห่งภวังค์หายไป มีญาณเกิดขึ้นว่า "นั้นเป็นอย่างนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์" เกิดขึ้นในจิตจริงๆ จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์ ก็รู้เท่าสังขารได้ สังขารก็จะมาปรุงแต่งให้จิตกำเริบอีกไม่ได้ ได้ในคาถาว่า อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต เมื่อสังขารปรุงแต่งจิตไม่ได้แล้ว ก็ไม่กำเริบรู้เท่าธรรมทั้งปวง สนฺโต ก็เป็นผู้สงบระงับถึงซึ่งวิมุตติธรรม ด้วยประการฉะนี้
           ปัจฉิมเทศนานี้เป็นคำสำคัญแท้ ทำให้ผู้พิจารณารู้แจ้งถึงที่สุด พระองค์จึงได้ปิดพระโอษฐ์แต่เพียงนี้ พระธรรมเทศนาใน 3 กาลนี้ ย่อมมีความสำคัญเหนือความสำคัญในทุกๆ กาล ปฐมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม มัชฌิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม ปัจฉิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม รวมทั้ง 3 กาล ล้วนแต่เล็งถึงวิมุตติธรรมทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้
17. พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ
           อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ ทิฏเฐว ธมฺเม สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตวา อุปฺปสมฺปชฺช วิหรติ พระบาลีนี้แสดงว่าพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใดย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ...ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน หาได้แบ่งแยกไว้ว่า ประเภทนั้นบรรลุแต่เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุติไม่ ที่เกจิอาจารย์แต่งอธิบายไว้ว่า เจโตวิมุตติเป็นของพระอรหันต์ผู้ได้สมาธิก่อน ส่วนปัญญาวิมุตติเป็นของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ นั้นย่อมขัดแย้งต่อมรรค มรรคประกอบด้วยองค์ 8 มีทั้งสัมมาทิฏฐิ ทั้งสัมมาสมาธิ ผู้จะบรรลุวิมุตติธรรมจำต้องบำเพ็ญมรรค 8 บริบูรณ์ มิฉะนั้นก็บรรลุวิมุตติธรรมไม่ได้ ไตรสิกขาก็มีทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันผู้จะได้อาสวักขยญาณจำต้องบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ทั้ง 3 ส่วน ฉะนั้นจึงว่า พระอรหันต์ทุกประเภทต้องบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติด้วยประการฉะนี้แลฯ





วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

ถาวรวัตถุประจำที่พักสงฆ์อุ่งเขาตะกุด


ตู้พระไตรปิฏกประจำทีพักสงฆ์
(ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย อรรถกถาแปล จำนวน ๙๑ เล่ม)

ห้องน้ำบนที่พัก

กุฏิที่พัก

ศาลายอดเขา


ศาลาการเปรียญ

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความเป็นมาของสำนักสงฆ์


ทีพักสงฆ์นี้พี่งทำการก่อสร้างเมื่อหลังออกพรรษาปี 2555 บนไหล่เขาตะกรุด
คำว่า "อุ่ง" คือ อ่าวบก หรือ เปรียบได้กับอ่าวในทะเล แต่ไม่มีน้ำมีแต่พื้นดิน

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ธรรมเทศนา หลวงพ่อเคลม

ปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร แสดงโดย พระครูเกษมคุณารักษ์ (เคล็ม ปิยธโร) วัดป่าอุดมธรรม จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๖ -------------------------------------- ให้ญาติโยมทุกคนตั้งใจ เมื่อกี้เราก็ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อพุธท่านได้อธิบายไปอย่างละเอียดละออแล้ว ญาติโยมทุกคนก็ลงมือปฏิบัติได้เลย ลงมือทำแล้วก็ฟังธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรมไปในตัว สำหรับเสียงที่ได้ยินนั้น เราไม่สนใจ ให้สักแต่ว่าได้ยิน ถ้าจิตเราไม่สนใจจิตเราไม่กังวลกับเสียง แต่ถ้าเราไปสนใจ จิตเราจะกังวลกับเสียงนั้น ฉะนั้นเสียงทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง เสียงดนตรี เสียงหนัง เสียงอะไรก็แล้วแต่ ให้เรากำหนดรู้อยู่ที่จิตของตนเอง เสียงนั้นเกิดดับเหมือนกับที่มันเกิดขึ้น เมื่อจิตของเราไม่สนใจแล้ว มันเกิดดับของมันนั่นแหละ เมื่อเราฟังดู สักแต่ว่าได้ยินเฉย ๆ แต่เราไม่ส่งกระแสจิตไปสู่เสียงนั้น เรามาดูจิตของเราเอง ทำอย่างไรให้รู้ถึงจิตถึงใจของเราให้ได้ ให้เข้าถึงที่นั่งของเรา จิตของเรา พุทโธ จิตพุทธะ จิตพุทโธ จิตผู้รู้อยู่นั่นแหละ เป็นที่พึ่งของเราที่แน่นอนในชีวิตนี้ ลองพิจารณาดู เราเกิดมาชาติหนึ่งนี้ เราจะเอาอะไรเป็นสาระเป็นแก่นสารในชีวิตถ้าตรวจดูในร่างกายของเรา ที่เรานั่งอยู่คนละก้อน ๆ นี้ ตั้งแต่เส้นผมบนศีรษะ ตลอดจนถึงพื้นเท้า ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมาบนเส้นผมบนศีรษะตรวจดูข้างหน้า ข้างหลัง ซ้ายขวารอบตัวเอง ถ้าพิจารณาดูในรูปอัตภาพร่างกายที่เรานั่งคนละก้อนนี่ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นที่อาศัยได้แน่นอน ผู้รู้ทั้งหลายท่านก็แสดงไว้แล้วว่าเพียงแต่เราอาศัยชั่วคราวเท่านั้น สังขารร่างกายนี่ ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กายของเราทั้งหมด เป็นที่อาศัยเพียงชั่วชีวิต เมื่อเราได้อัตภาพร่างกายมาอันนี้แหละ เป็นทรัพย์มรดกตกทอดมาจากบิดามารดาปู่ย่าตายาย เมื่อเราได้ทรัพย์มรดกแล้ว ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าเราไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เดี๋ยวก็ทิ้งไปหมด ฉะนั้นในขณะนี้ เราใช้ให้เป็นประโยชน์ เรารีบขวนขวาย รีบสะสม รีบฝึกหัดปฏิบัติ สร้างประโยชน์ไว้ในจิตใจของตน จิตนี้ต้องอาศัยกายนี้แหละในการสร้างบารมี สร้างความดีให้เกิดขึ้นในจิตของตนเอง เราสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ฉะนั้นการฝึกหัดปฏิบัติอบรมจิตใจของตนนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นการสร้างประโยชน์มหาศาลสะสมไว้ในจิตของตน เป็นการสะสมอริยทรัพย์ในจิตของตนเอง นี่แหละเป็นชีวิตที่ไม่เปล่าจากประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าเราได้ฝึกฝนอบรม ได้สะสมไว้แล้ว ก็เป็นทรัพย์สมบัติของเราโดยตรง โจรลักไม่ได้ ไฟไหม้ไม่ได้ น้ำท่วมไม่ได้ แม้แต่ลมพายุแรงขนาดไหนก็พัดไม่ได้ นี่เรียกว่าอริยทรัพย์อัดไว้ในจิต เมื่อเราได้ฝึกแล้วปฏิบัติแล้วก็อัดไว้ในจิต สะสมไว้ในจิตของตน ไม่ว่าจะเป็นธรรมะชนิดไหนก็ตาม ที่เราปฏิบัติแล้ว สะสมแล้ว เช่น ทาน ศีลก็ดี สมาธิก็ดี สติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี ปัญญาความรู้รอบก็ดี ได้สะสมไว้ในจิต แม้แต่กำลังทั้งห้า เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ หรือปัญญา เมื่อเราได้ฝึกแล้วก็เป็นการสะสมไว้ในจิตนี่ญาติโยมลองกำหนดดูสิ เหมือนที่อาตมาฝึก ศรัทธาได้แล้ว มีอยู่แล้วที่จิต เมื่อมีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาทำอีกเล่า เพราะอะไร ก็เพราะว่ายังไม่พอ ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่บริบูรณ์ เราจะต้องมาเพิ่มพูนอีกให้มากขึ้น เปรียบภายนอกเหมือนเราหาเงินหาทอง มีบ้างแล้วแต่เราก็หาอีกทำอีก สะสมไว้อีก เพื่อใช้ให้ได้นาน ๆ อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ทรัพย์ภายในก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องทำ ต้องสะสมไว้ในจิตของตนเอง นี่แหละเป็นอริยทรัพย์ที่ประเสริฐที่สุด จิตนี้เป็นผู้นำไปได้ ทรัพย์ภายในนี่แหละมันอัดไว้ในจิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปไม่มีร่าง ไม่มีตัวไม่มีตนที่เราจะจับให้ตั้งอยู่ได้ไม่เหมือนวัตถุภายนอก เพราะฉะนั้นเมื่อเราปฏิบัติแล้ว สะสมไว้ในจิต จิตเป็นผู้จับเอาไว้ หรืออัดเอาไว้นั่นแหละ มันได้ที่จิตของเราเอง ให้เราทำลงไป ฝึกลงไป ปฏิบัติลงไป เหมือนที่ญาติโยมได้ฝึกมาแล้วติดต่อกันเมื่อกี้ เราก็กำหนดพิจารณาลงไปพยายามประคับประคองจิตของตนให้อยู่ในเอกัคคตารมณ์ที่เรากำหนดนั้น หรือ ที่เราพิจารณานั้น ไม่ให้จิตส่งซ้ายส่งขวา ส่งหน้าส่งหลัง ส่งอดีตส่งอนาคตให้เรากำหนดรู้อยู่ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ว่าขณะนี้เรากำลังฝึกอยู่ กำลังปฏิบัติอยู่ กำลังสำรวมอยู่ กำลังระวังอยู่ด้วยสติ ระลึกรู้ลงไป เป็นการฝึกสติปัญญาให้เกิดขึ้น เป็นการสะสมในจิตของตน นี่แหละเป็นการสร้างประโยชน์ไว้ในจิตของตนเองเมื่อเราได้ฝึกแล้ว ปฏิบัติแล้ว เกิดคุณธรรมขึ้น เช่นมีศีลธรรม หรือสมาธิธรรม ปัญญาเกิดขึ้นที่จิตของตน มีความรู้ ความฉลาด มีความสามารถที่เราจะช่วยกันเผยแพร่ศาสนาธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ให้กว้างขวางต่อไป เช่น เราเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นพ่อเป็นแม่ หรือเป็นที่พึ่งอะไรอย่างนี้ เมื่อเราฝึกหัดปฏิบัติมีความรู้ความเข้าใจแล้ว ก็ช่วยกันชี้แนะแนวทางให้ญาติพี่น้อง หรือพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตัวเอง หรือญาติโยมเพื่อนมิตรสหายต่าง ๆ ให้เขาได้รู้จักการประพฤติปฏิบัติ รู้จักการเข้าวัดเข้าวา ฟังเทศน์ฟังธรรมอบรมจิตใจของตน รู้จักทำบุญให้ทาน รักษาศีล เป็นการสร้างบารมี สร้างความดีไว้ในจิตของตน อันนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลของเราอีกทีหนึ่ง ถ้าเรายังไม่สามารถชี้แนะเขาได้ เราก็ฝึกตัวเองให้ได้ก่อน เพราะการที่เราจะชี้แนะเขาได้ เราต้องฝึกตัวเอง ปฏิบัติตัวเอง ให้มีสติปัญญา ความรู้ความฉลาดความสามารถในจิตของตน อีกทั้งเราต้องมีความกล้าหาญที่จะช่วยเผยแพร่ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระองค์นั้นให้กว้างขวางต่อไป ฉะนั้นอาตมาก็ขอฝากให้ญาติโยมทุกคน เพราะพวกเราก็เป็นผู้ใหญ่กันทั้งนั้น มีความรู้ความฉลาดมาด้วยกันทั้งนั้น ยังอยู่ที่เราจะปฏิบัติทำให้เกิดให้มีขึ้น ในจิตของตน ให้รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริงให้ได้ เราสามารถเอาไปเผยแผ่ได้ มีลูกมีหลานมีญาติพี่น้องสามีภรรยา ถ้ายังไม่เคยเข้าวัด เราก็พยายามชี้แนะเขาให้รู้จักเข้าวัดเข้าวา ปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรม ให้เกิดให้มีที่จิตของตนอย่างนี้ทีนี้ญาติโยมลองกำหนดดูสิ กำหนดจิตดู ญาติโยมที่เคยฝึกมาแล้วนี่ เราฝึกมาแล้ว เรากำหนดลงไป กำหนดอย่างไร อาศัยสติเราควบคุมจิตของตนเอง อยู่ในกรรมฐานที่เรากำหนดนั้น ปล่อยวางอารมณ์ภายนอกก่อน อารมณ์ภายนอกไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น ปล่อยละวางความกังวลในจิต ไม่ต้องกังวลเรื่องลูก ไม่ต้องกังวลเรื่องหลาน ไม่ต้องกังวลเรื่องสามีภรรยา ไม่ต้องกังวลเรื่องทรัพย์สมบัติ ไม่ต้องกังวลเรื่องการไปการมา ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไรทั้งหมด ปล่อยวางใจเราให้ปกติ ปล่อยวางจิตใจของเราให้อยู่ด้วยอาการปกติธรรมดา ให้รู้อยู่ในขณะนี้ปัจจุบันเราไม่ได้ทำอะไร งานภายนอกเราก็ไม่ได้ทำ กิจอื่น ๆ เราก็ไม่ได้ทำ เราปล่อยวางไว้ก่อน อย่าเพิ่งคิดไป ให้เราคิดอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน หรือคิดที่จะพิจารณา หรือปฏิบัติธรรมนี่เราสอนจิตสอนใจของเราอย่างนี้ แล้วก็ประคับประคองจิตของเราให้อยู่กับอารมณ์นั้น พิจารณาลงไปดูจิตเราสงบอยู่กับอารมณ์ไหม มันคิดไปที่ไหนบ้าง ถ้าคิดไปที่อื่นก็พยายามน้อมมา เรียกว่า โอปนยิโก ให้น้อมมา ๆ ดูธรรมะ ปัจจุบันในขณะนี้ก็คือรูปกับนาม หรือว่ากายกับใจนี่ หรือกายกับจิต อันนี้เป็นธรรมะที่เราปฏิบัติอยู่เดี๋ยวนี้ เรากำหนดจิตนั้นพิจารณาดูไปในกายของตน เหมือนที่กล่าวแล้วเบื้องต้นนี่ให้รู้ว่าในกายของเราทั้งหมดนี้ เราอาศัยอะไรได้บ้าง ทุกส่วนในร่างกาย ตั้งแต่อาการสามสิบสอง ดินน้ำลมไฟลม ธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นสิ่งที่เราอาศัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น ให้เรารู้อยู่อย่างนั้นชัดเจน แล้วเราก็พยายามฝึกไปเรื่อย ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน ยืนเดินนั่งนอน เราฝึกให้มีสติระลึกรู้ติดต่อกันไป จนกระทั่งเราใช้ปัญญาพิจารณาคลี่คลายได้นี้ จิตของเราก็จะมีความรู้ความเข้าใจในจิตของตนไปเรื่อย ๆ ความรู้ความเข้าใจซาบซึ้งถึงรสของพระธรรมในจิตของตน จิตของตนนี้เป็นสภาวธรรมที่มีอยู่แล้ว เราก็ระลึกรู้ลงไป ทำความรู้ให้ชัดเจน อันดวงจิตพุทธะ พุทโธผู้รู้นี่เป็นที่พึ่งของเราแล้ว เราก็พยายามให้เข้าให้ถึงให้รู้จัก ถ้าเรายังทำไม่จริงไม่จัง ไม่มีสติระลึกได้เต็มที่ เราทำน้อยไปความเพียรอ่อนไป นี่ละเราเข้าถึงได้ยาก เราจะต้องเร่งความเพียรให้ได้สม่ำเสมอ คือระลึกให้ได้ติดต่อกัน สติระลึกติดต่อกันไม่ขาดสายจิตเราก็ตั้งมั่นเอง ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ทั้งหลายแหล่ เมื่อจิตมั่นคงจิตไม่สั่นสะเทือนจิตไม่ดิ้นรน จิตไม่กระวนกระวายนั่นแหละ สมาธิก็ปรากฏที่จิต จิตเราก็เป็นสมาธิ มันได้สมาธิในตัว เมื่อจิตไม่หวั่นไหวก็รู้ในจิตของเราเอง ถ้าจิตหวั่นไหวก็รู้ในจิตของตนเรากำหนดรู้อยู่ หวั่นไหวก็รู้ ไม่หวั่นไหวก็ให้รู้อยู่ สงบนิ่งก็ให้รู้อยู่ ถ้าสงบนิ่งอยู่แล้วนี่ ก็ให้เรารู้ให้ชัดเจน นิ่งเฉย ไม่ยินดียินร้ายอะไร นั่นแหละคือจิตที่เราปล่อยวางอารมณ์ภายนอก อยู่กับอารมณ์ผู้รู้อยู่ผู้เดียว ไม่เกี่ยวไม่เกาะกับสิ่งอื่น นั่นแหละจิตมันสบายแล้ว ผลของจิตที่เราสำรวมได้สงบได้อยู่อย่างนั้น ก็มีความสุขเกิดขึ้น นี่แหละบุญเกิดขึ้นที่จิตเราสำรวมได้ จิตเราสงบได้ บุญเกิดขึ้นที่จิต บุญก็คือความสุข ความสบาย ใครเป็นผู้เป็น จิตเป็นผู้เป็น จิตเป็นผู้เป็นบุญ เป็นผู้ได้รับบุญ คือจิตสุข จิตสบาย จิตเยือกจิตเย็น จิตเบา จิตไม่เดือดร้อน นั่นคือจิตเป็นบุญแล้ว ทีนี้ใครเป็นผู้รู้ จิตเป็นผู้รู้เอง รู้ว่าจิตเราเป็นบุญ พอจิตสุข จิตสบายเอง ก็รู้เองอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการฝึกหัดปฏิบัติเท่านั้นที่เราจะรู้ได้ที่เราจะเห็นได้ในจิตของตน ผู้ที่ไม่เคยฝึกจิต ไม่เคยสำรวมจิตนั้น จิตเรายังไม่ได้รับบุญในจิตของตน ต่อเมื่อเราฝึกแล้วเราก็ได้รับรสบุญในจิตของตนว่ามีความสุขความสบายขนาดไหน เราก็รู้เองเห็นเองในจิตของตน เมื่อเรารู้เท่าอย่างนี้ เรียกว่าตัวสติและปัญญาทำหน้าที่ในขณะนี้ จิตของเราสบายก็รู้ จิตของเราเป็นบุญก็รู้อยู่ แต่ความสุขความสบายนั้น เขาเรียกว่าเป็นสุขเวทนา สุขเวทนานี้ก็เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่เที่ยงไม่แน่นอน คือมันเกิดแล้วมันตั้งอยู่เพียงชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงแปรปรวน ในที่สุดก็ต้องแตกดับไป อย่างนี้ อยู่ในลักษณะของไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น ฉะนั้นเราฝึกไป ๆ เราก็ค่อยมีสติปัญญา รู้ลึกซึ้งไปเรื่อย ๆ เมื่อจิตเราตั้งมั่นได้แล้วนั่นแหละ เราจะรู้ได้ชัดเจน จิตจะหวั่นไหวไปทางไหนเราก็รู้ จิตคิดไปเรื่องอดีต หรือเรื่องอนาคต เรื่องบุญเรื่องกุศล เรื่องบาปเรื่องอกุศลอย่างไรเราก็รู้ได้ รู้แล้วว่าจิตของเราคิดในเรื่องไม่ดี เราก็อย่าตามมัน นี่ชื่อว่าเราอยู่ได้ด้วยสติ ด้วยปัญญาควบคุมจิตใจของเราอยู่ทุกขณะ จิตของเราก็ไม่หลงใหลไปตามอารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีทั้งหลายแหล่ ให้รู้เท่ามันปล่อยมันไปละมันไป บางครั้งจิตเราก็คิดไปเรื่องดี เรื่องบุญเรื่องกุศล อย่างนี้เราก็ให้รู้อีก ไม่หลงใหล เมื่อเราได้มาปฏิบัติมาเข้าวัด มานั่งสมาธิภาวนาเจริญเมตตาอยู่นี้ เป็นการสร้างความดีสร้างบุญสร้างกุศลให้เกิดขึ้น และเราก็ฝึกไป ปฏิบัติไปทำความรู้ให้ชัดเจน เวลาความทุกข์ ความยาก ความลำบาก ความวุ่นวายเกิดขึ้นในจิตของตน ให้เราทำความรู้จักความทุกข์ ความยาก ความลำบากนั้น ซึ่งก็เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน มันเกิดมันดับของมัน ให้เราทำความรู้เท่าทันอย่างนั้น แล้วจิตของเราไม่หวั่นไหวกับความทุกข์ความยากลำบากนั้น เพราะเป็นเวทนา ทุกข์ก็เป็นทุกขเวทนา เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน มันเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ชั่วคราว มันเปลี่ยนแปลงแปรปรวน แล้วในที่สุดก็แตกสลายดับไปอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นเราควรหรือที่เราจะไปหลงยึดอยู่กับอารมณ์ทุกข์ยากลำบากนั้น ก็ไม่ควรที่จะไปหลงยึดมัน ควรพิจารณาให้รู้เท่าทัน แล้วก็ปล่อยมันไป ไม่ให้จิตเราไปหลงยึดมั่น จิตเราก็จะได้อยู่ท่ามกลางความรู้อยู่กับพุทโธ ผู้รู้ ไม่เป็นทุกข์ จิตเราไม่ยึดจิตเราปล่อยอารมณ์ คือ ตัวทุกข์เวทนานั้นไป แม้แต่สุขเวทนา เราก็กำหนดรู้เท่าดังที่กล่าวแล้วทั้งบุญทั้งบาป หรือทั้งทุกข์ทั้งสุขนี่ ถ้าได้กำหนดรู้เท่าให้หมด แล้วก็ปล่อยวาง อยู่ท่ามกลางผู้รู้อยู่ ให้จิตเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้อยู่ท่ามกลางนั้น จิตเราจะไม่เป็นทุกข์อย่างนี้ นี่เราฝึกหัดปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เราก็ดูที่จิตเรานั้นแหละ จิรเราไปหลงยึดกับทุกข์หรือเปล่า ถ้าเราหลงยึดอยู่ก็เป็นทุกข์อยู่ ท่านให้พิจารณา ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แล้วก็ปล่อยวางไป บางทีจิตเราปรากฏความสุขความสบายขึ้นมานี้ นี่เราหลงยึดหรือเปล่า ให้เรากำหนดรู้เท่าทัน เมื่อเราฝึกหัดปฏิบัติให้เรารู้เท่าทั้งทุกขเวทนา ทั้งสุขเวทนา ว่าทุกข์ก็ดี สุขก็ดี เป็นอารมณ์ที่ไม่เที่ยงไม่แน่นอน เป็นทุกข์ทนไม่ได้ ต้องแตกสลายไป ต้องดับไปเมื่อเรากำหนดรู้เท่าทันอย่างนั้น จิตเราไม่หลงยึด ทุกข์ก็ดี สุขก็ดีให้เราอยู่ท่ามกลางผู้รู้อยู่ นั่นแหละเป็นจิตที่สบายไม่ทุกข์ทีนี้เราปฏิบัติธรรมนี้ เพื่ออะไร ปฏิบัติทำไม เราปฏิบัตินี้ไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออะไรหรอก เราปฏิบัติเพื่อให้ความรู้เท่าทันอารมณ์ทั้งทุกข์ทั้งสุขทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบุญทั้งบาปทั้งคุณทั้งโทษในจิตของตนเอง แม้แต่ในอัตภาพร่างกายเรียกว่ารูปขันธ์อันนี้ เราก็กำหนดรู้เท่าทันเป็นของไม่เที่ยง ไม่แน่นอน เป็นทุกข์ทนไม่ได้ ต้องแตกสลายทั้งนั้น ถ้าเราไปหลงยึดก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ เพราะฉะนั้นการฝึกหัด ปฏิบัติก็เพื่อต้องการให้รู้ให้ชัดเจน แล้วก็ปล่อยละวางไป จิตเราจะไม่เป็นทุกข์กับมันในขันธ์อันนี้ รวมแล้วก็อยู่ในขันธ์อันนี้แหละตัวทุกข์นี่ เวทนาขันธ์ก็เป็นทุกข์ เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นตัวตนทั้งนั้น ถ้าเราไปหลงยึดก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ ฉะนั้น เวลาเรานั่งนาน ๆ เราจะปรากฏทุกขเวทนา เมื่อมีความเจ็บความปวดเกิดขึ้นนั่นแหละคือทุกขเวทนาแสดงให้ปรากฏแล้ว ให้เรากำหนดรู้ไม่ต้องหลบไม่ต้องหนี ให้เรากำหนดรู้ลงไปเลยว่านี้ทุกขเวทนา ทุกขเวทนานั้นเป็นของเที่ยงไหม ผู้รู้ทั้งหลายท่านว่าเป็นของไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงแล้วเป็นของที่อยู่ได้ไหม ก็ต้องแตกสลาย ทนอยู่ไม่ได้ต้องแตกสลายต้องดับไป ฉะนั้นท่านให้กำหนดรู้เท่าอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัญญาความจำรูปก็ดี จำเวทนาก็ดีมันเกิดมันดับทั้งนั้น เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น ฉะนั้นญาติโยมวันนี้ ให้เรากำหนดพิจารณาลงไปแก้จิตเราตรงนี้แหละ ถ้าไม่แก้ตรงนี้แล้ว จะไปแก้ตรงไหนแก้ที่อื่นไม่ถูกจุด แก้ที่จิตเรานั่นแหละ เพราะทุกข์ไม่ใช่อะไรทุกข์หรอก จิตเรานั่นแหละไปหลงยึดมั่น จึงเป็นทุกข์อยู่ตลอดแต่ตัวทุกข์ก็คือขันธ์ห้านี่แหละ เหมือนที่เราสวดแล้ว สวดเล่าอยู่ทุกวัน ๆ วัตรเช้านี้แหละ รูปนั่นเป็นตัวทุกข์ เวทนาก็เป็นตัวทุกข์ สัญญาเป็นตัวทุกข์ สังขารก็เป็นตัวทุกข์ แล้วก็วิญญาณก็เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ ๕ นี้เป็นตัวทุกข์ทีนี้ เมื่อเป็นตัวทุกข์นี่ ท่านให้กำหนดรู้เท่า รู้เท่าทุกข์ ไม่ให้จิตหลงยึดกับตัวทุกข์อันนี้ เมื่อเราฝึกหัดปฏิบัติรู้จัก รู้เท่ารู้ทันตัวทุกข์ ขันธ์ชัดเจน ไม่ยึดมันมาไว้ในจิต ไม่เอาจิตไปยึดมันแล้วปล่อยให้มันอยู่ตามเรื่องของมัน เหมือนกับรูปก็อยู่ตามรูป เหมือนกับเรานั่งอย่างนี้ จิตเราก็อยู่ด้วยกันนั่นแหละ แต่จิตเราไม่หลงยึดมัน เปรียบเทียบภายนอกเหมือนกับน้ำกับใบบัว น้ำกับใบบัวนั้นมันอยู่ด้วยกัน แต่มันไม่ติดกัน จิตอยู่กับกาย อาศัยกาย อาศัยรูป อาศัยเวทนา อาศัยสัญญา สังขารวิญญาณนี้ อยู่ด้วยกันแต่ระวังไม่ให้หลงยึดกัน นี่เราทำได้ไหม เราต้องฝึกแล้วฝึกอีก ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีกอยู่อย่างนั้น จนกว่าตัวสติปัญญานี่ ทำหน้าที่ทำความรู้แจ้งประจักษ์ว่า รูปนี่เป็นตัวทุกข์ เราปล่อยวางมันไป อย่าไปยึดมั่น ผู้รู้เท่าทันบอกแล้วว่าอย่าไปยึดมั่น ให้ละอุปาทาน ความยึด ไม่ให้จิตเราไปหลงยึดมั่น ปล่อยให้มันอยู่ตามเรื่องของมัน เวลามันเจ็บ เอ้า! เจ็บตามเรื่องของมัน เพราะตัวเจ็บตัวปวด ตัวทุกขเวทนานั้น ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นของเรา มันเป็นตามเรื่องของมัน แต่ถ้าจิตเราไปหลงยึด เมื่อใดแล้ว นั่นแหละจิตมันเป็นทุกข์ละ อย่างนี้เราแยกไม่ออก ฉะนั้นต้องพยายามพิจารณาให้ได้นะโยม พิจารณาได้ ไม่ใช่พิจารณาไม่ได้ แยกได้ แยกดูได้เลย รูปเราก็นั่งอยู่นี่ เวทนาความรู้สึกทุกข์สุขเฉย ๆ ก็มีอยู่ ท่านให้กำหนดรู้เท่า พิจารณาปล่อยมันไป มันเกิดมันดับของมัน ความจำก็เกิดดับ แม้แต่สังขารความคิดนึกปรุงแต่งมันก็เกิดดับ ความรู้อารมณ์ต่าง ๆ มันก็เกิดดับเป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น เมื่อเราพิจารณาให้รู้เท่าทันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน ยืนเดินนั่งนอน จิตเราก็รู้แจ้งประจักษ์ อยู่อย่างนั้นตลอดจิตก็ไม่หลงไปยึดมัน จิตก็ไม่เป็นทุกข์กับมัน ปล่อยให้มันทุกข์ตามเรื่องของมัน ทุกข์แต่รับรู้ แต่จิตเราไม่เป็นทุกข์กับมัน นี่สบาย อยู่กับทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์ อยู่กับขันธ์แต่ไม่เป็นทุกข์กับขันธ์ สบาย โยมลองสังเกตดูเวลาเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมานี่ เราจะวางจิตอย่างไร จะปล่อยจิตอย่างไร จะละจิตอย่างไรไม่ให้เป็นทุกข์กับทุกขเวทนานั้น เหมือนสมัยที่อาตมาป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรี สมัยที่ไปอินเดียตอน พ.ศ. ๒๕๓๓ ไปป่วยอยู่ที่อินเดีย ความเจ็บปวดก็มีธรรมดาของมันนั่นแหละ แต่ทำอย่างไร อาตมาก็ไม่ทำอย่างไร ก็กำหนดรู้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับจิตผู้ร้อยู่ เรื่องเจ็บเรื่องปวดมันก็มีอยู่ตามเรื่องของมันนั่นแหละ แต่กำลังนั้นไม่มี ความเจ็บความปวด ไม่มีกำลัง เดินไม่ไหวแล้ว โซเซ ๆ ก่อนจะขึ้นเครื่องบิน เดินไม่ได้แล้วต้องประคับประคอง มีพระพี่ชายท่านประคับประคองขึ้นเครื่องบิน พอขึ้นได้นอนอยู่บนเครื่องบิน เขาผูกมัดทั้งคอทั้งเอวทั้งเท้าหมดไม่ให้กระดุกกระดิก ไม่ให้กลิ้งไปไหนได้ ก็กำหนดจิตเหมือนกับตายแล้วนั่นแหละ ถ้าดูข้างนอกนึกว่าตายแล้ว แต่ก็ไม่กลัวอะไร เพราะกำหนดจิตอยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้ตลอด จนกระทั่งมาถึงเมืองไทยถึงดอนเมือง เดินลงมาจากเครื่องบิน แล้วก็ลงมาขึ้นรถเข็นที่เขาเอามารับ แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ที่ไปที่โรงพยาบาล เลยไปเข้าโรงพยาบาล มีแต่ความรู้อยู่อย่างเดียว ความรู้ที่จิตของเรา ความเจ็บความปวด หรือความเมื่อยความหิวอะไรต่าง ๆ ไม่ปรากฏ แต่ปรากฏว่ากำลังนั้นไม่มีกำลังจะยืนจะเดินจะอะไรไม่มี กำลังน้อยที่สุด จนหมอเขาเช็คดูเพื่อที่จะให้น้ำเกลือ เอาเข็มมาแทงดูในมือซ้ายมือขวา แทงเท่าไรก็ไม่เข้า มันเหนียวแล้ว มันจะหมดสภาพแล้ว มันเหนียวแทงเท่าไรก็ไม่เข้า เอ! ทำอย่างไร หมอก็เกือบจะปล่อยแล้ว แต่พอดีสักพักหนึ่งแทงไปแทงมาก็เจอเข้าที่เส้นเลือดแล้วก็ใส่น้ำเกลือไปได้ พอใส่น้ำเกลือไปได้แล้ว ค่อยมีกำลังมานิดหน่อย วันหนึ่งผ่านไป เขาให้อดอาหาร ฉันอาหารก็ไม่ได้หรอก ให้อาหารทางจมูก แต่ตอนแรกนั้นไม่ให้อาหารอะไรเลย ให้อด เขาจะผ่าตัด เขาเอาไปเอ็กซเรย์ดู ปรากฏว่าลำไส้นั้นมันอุดตัน มันเน่าเป็นจุด เป็นจุด เพราะตอนที่ไปอยู่อินเดียนั้น ไปฉันยาผิด ไปฉันยาไม่ถูกต้อง ทำให้ลำไส้อุดตันถ่ายไม่ออกสามวันสามคืน ถ่ายไม่ออกเลย ทำให้ลำไส้อุดตัน หมอเขาเช็คตรวจดูโดยเอ็กซเรย์ แล้วก็ว่าต้องผ่าตัด ก็เลยผ่าตัด ในขณะก่อนที่จะผ่าตัดนั้น มันสลบก่อน หมอไม่ได้วางยาสลบมันสลบก่อน ที่ว่าสลบก่อนนั้น คือจิตมันเคลื่อนที่ จิตมันเคลื่อนอยู่ข้างนอกกาย กายนั้นนอนอยู่บนเตียง ผู้รู้ก็อยู่ข้างนอก อย่างนี้ แต่กายนั้นไม่รู้เรื่องหรอกไม่รู้ว่าเจ็บว่าปวดว่าร้อนว่าหนาว ว่าเย็นว่าอะไรไม่รู้ มันอยู่เฉย ๆ เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนอย่างนั้นแหละ แต่จิตผู้รู้นั้นก็รู้อยู่อย่างนั้นแหละ รู้อยู่อย่างนั้นแหละ ใกล้ ๆ กับเตียงที่เรานอนอยู่นั่นแหละ จิตผู้รู้นี่เขาไม่ได้เที่ยวไปดูที่อื่นนะ แต่ถ้าเที่ยวไปดูที่อื่น สงสัยจะรู้จะเห็นอะไรอีกแยอะแยะ แต่จิตผู้รู้เขาไม่ได้ไปเที่ยว เขากำหนดรู้อยู่อย่างเดียว แล้วพอขาผ่าตัดหมดนี่ก็รู้อย่างเดียวไม่มีอะไร มันรู้อย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่เขาทำอะไร ๆ ก็รู้อยู่พวกเสียง เขาพูดอะไรก็สักแต่ได้ยิน ๆ เฉย ๆ รู้อยู่พอจิตผู้รู้ รู้ว่าสังขารร่างกายนี้หมอพอที่จะเยียวยารักษาได้ พอรู้อย่างนั้นเท่านั้นแหละ ความรู้ที่ดูจิตวิญญาณดูให้รู้จิตนี่แหละก็จะมีความรู้สึกคืนมา เหมือนกับเข้ามานั่นแหละ ถ้าพูดภาษาเรา เขาเรียกว่าเข้ามา ทีนี้เกิดปัญหาที่ว่าโยม เขาถามว่า เวลาจิตมันเข้าน่ะมันเข้าตรงไหน เวลามันออกมันออกตรงไหน จิตตัวผู้รู้นี้เขาก็บอกว่า จิตนี้เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม จะเข้าตรงไหนก็ได้ ออกตรงไหนก็ได้ ก็ดูโยมแหละเวลาเราคิดไปไหนนี่ มันมีอะไรบังได้ไหม มันเข้าได้หมด ฉะนั้นจิตนี้เป็นนามธรรม ไม่มีรูป ไม่เหมือนรูปธรรม รูปธรรมเหมือนกายอันนี้ ต้องมีประตูเข้าประตูออก ถ้าไม่มีประตูเข้าประตูออกก็เข้าออกไม่ได้ แต่จิตนี่มันเข้าทางไหนก็ได้ แต่ถ้ามองในรูปธรรมในกายเรา ก็มีตานี่เป็นประตูเข้า ประตูออกของจิต หู จมูก ลิ้น หรือปากแล้วก็กาย แล้วก็จิตของเรานี่แหละ คือจิตของเรานี่เข้าออกมีประตูทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เป็นประตูเข้าประตูออกของจิตที่มองในแง่รูปธรรม แต่ถ้ามองในแง่นามธรรมแล้วนี่ โดยปรมัตถธรรม ไม่มีประตูเข้าประตูออก โยมลองคิดพิจารณาดู มันจริงไหม ฉะนั้นจิตพุทโธผู้รู้นี่ เขาจะรู้ได้ชัดเจนเลยว่า คนตายนั้นไม่มีอะไรเลย เพียงแต่จิตนี่เคลื่อนทีไปเท่านั้นเอง นิ่งอยู่เฉย ๆ ถ้านานไปก็ผุพังเน่าเปื่อยกลายเป็นดิน เป็นน้ำลมไฟไปตามเรื่องของมัน เพราะสังขารร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยงไม่แน่นอน ท่านให้พิจารณาให้รู้ว่า กายกับจิต จิตกับกายนั้นอาศัยซึ่งกันและกันอยู่เพียงชั่วคราว ชั่วชีวิตหนึ่งเท่านั้น ให้เรารู้ก่อนตายอย่างนี้ เมื่อเราปฏิบัติรู้ก่อนตายอย่างนี้ได้นั่นแหละ เราก็ไม่ต้องกลัวตาย ไม่ต้องกลัวแล้ว ตายก็ตายไม่ต้องกลัว ตายวันไหนก็ได้ ให้เรารู้ เราจะรู้ว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นญาติโยมต้องฝึกให้รู้ตายก่อนตาย ว่าตายเป็นอย่างไร ไม่ต้องกลัวตาย อย่าไปกลัวตาย ถ้ากลัวตาย มันก็ไม่รู้จัก ปล่อยให้ตายไปเลย เหมือนกับเรานั่งสมาธิ เวลาเจ็บปวดนิดหน่อย กลัวจะตาย ไม่ต้องกลัว เอ้า! เจ็บไปเลย ปล่อยให้เจ็บ ให้มึน ให้ชาไปเลย เจ็บไปเลย ปวดไปเลย ถ้าเรากำหนดจิตอยู่อย่างนี้ได้ มีขันติบารมีมีความดทนในจิตของตน หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว มีความเพียรอยู่สม่ำเสมอ มีสัจจะความจริงใจในจิตของตนว่าจิตของเราฝึกจริง มีสติระลึกได้จริง มีความรู้จริง มีความอดทนจริง เมื่อสัจจบารมีปรากฏที่จิต จริง ๆ แล้วนี่ไม่กลัว เมื่อความไม่กลัวมีที่จิต ความกล้ามันก็เกิดขึ้นที่จิตอย่างนี้ เมื่อความกล้าหาญองอาจเกิดขึ้นที่จิตแล้วนี่ ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวปวด ไม่กลัวตาย ไม่กลัวอะไรทั้งหมด ตายก็ยอมตาย ถ้าญาติโยมฝึกได้อย่างนี้น่ะ ได้เร็ว แต่ถ้าเรามัวแต่กลัวนั่นกลัวนี่ กลัวเจ็บกลัวปวด กลัวมึนกลัวชา ไม่ยอม อันนั้นแหละได้ยาก ฉะนั้นลองฝึกอดทนหน่อย เจ็บก็เอาเจ็บไปเลย เพราะไม่ใช่เราเจ็บ ใครเจ็บ ธาตุขันธ์มันเจ็บ ทีนี้ทำไมจิตเราไปหลงยึดมันเล่า เราต้องกำหนดรู้เท่าทันให้ชัดเจน ปล่อยมันไป จิตผู้รู้ก็อยู่กับผู้รู้ ไม่ไปยึดกับขันธ์อันนี้ เมื่อไรโยมแยกออกได้ทันทีแล้ว จิตใจเราจะไม่เป็นทุกข์ลองกำหนดดู เวลาเรานั่งสมาธิ ไม่ต้องกระดุกกระดิก วางมือวางเท้าอย่างไร วางอย่างนั้น วางอย่างนั้น แล้วก็ตานี่มองไปข้างไหน ถ้าเรามองไปข้างใน กำหนดรู้อยู่เวลาลมเข้าลมออกให้รู้อยู่จุด ๆ เดียว ถึงเราจะลืมตา ก็มองไปข้างไหนได้ คือลืมแต่ตา แต่ไม่ส่งกระแสจิตไปข้างนอก ให้รู้อยู่ตรงนี้ที่จุดรูปลายจมูกตรงนั้น เหมือนตานี่ เหมือนอาตมามองอยู่ แต่กำหนดรู้อย่างนี้ หรือโยมจะมองอาตมา หรือมองใครก็ได้ ให้เรากำหนดรู้ที่ตัวเรา ใช้ได้ ให้เรากำหนดภายใน ถ้าเราทำอย่างนี้เรื่อย ๆ บ่อย ๆ จิตเราจะไม่ห่างจากตัว แต่ถ้าญาติโยมมัวแต่จะส่งไปดูทางโน้น ดูที่นี่ ดูที่นั่น อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตมันส่งไปตามอารมณ์จิตมันไปจับอยู่กับอารมณ์ข้างนอก จิตมันอยู่แต่ข้างนอก เข้าไม่ถึงข้างในสักที ฉะนั้นอุบายการฝึกจิตที่แน่นอน ที่ได้เร็วที่สุด ท่านจึงให้มองไปข้างใน จำเอาไว้นี่สำคัญมากเลยมองไปเหมือนหลับตามองไป ความรู้อยู่ตรงไหน เราก็ตั้งสติจดจ่ออยู่ตรงนั้น โยมจะกำหนดรู้อยู่ตรงไหนก็ได้ในกายอันนี้ ไม่จำกัดว่าต้องที่ปลายจมูกอย่างเดียว ไม่ต้องจำกัดที่สะดือหรือที่ท้อง หรือที่ตรงไหนก็แล้วแต่ เราไม่จำกัด เรากำหนดตรงไหนก็ได้ที่เราถนัด เราจับจุดตรงไหนก็ได้ที่ง่ายที่สุดสำหรับเรา เรากำหนดลงไปเลย อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติ เป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติของตัวเราเอง ไม่ใช่เราไปเอาจากคนนั้นคนนี้ เราต้องดูตัวเองในการปฏิบัติ จึงจะรู้จึงจะเห็น จึงจะเข้าใจแล้วก็ซาบซึ้งถึงรสของพระธรรมได้ ทีนี้ในขณะที่จิตอยู่รู้อยู่นี่ ไม่หลงไปยึดกับขันธ์ได้เมื่อไร นั่น แหละผลการปฏิบัติของเรา ประจักษ์แล้วเกิดที่จิต เรารู้ได้เลยว่า อ้อ! เราปฏิบัติมานี่มันดีอย่างนี้ ฉะนั้นในวันนี้ท่านกำหนดเวลาเพียง ๓๐ นาทีกว่า ความจริงก็อยากจะให้โยมได้รู้ ได้เข้าใจถึงสภาวะในการปฏิบัติ แล้วโยมจะยอมเลิกตอนนี้ไหม หรือจะเพิ่มไปอีกหน่อย ญาติโยมจะเพิ่มไปอีกไหม หรือจะให้อาตมาหยุดแค่นี้ เพิ่มอีกนะ เพิ่มอีกนิดหน่อย นี่ก็เก้าสิบเอ็ดนาที แต่ท่านมาบอกว่าโยมจะพัก ๐๙.๓๐ น. โยมเราเคยนอนมาแล้วตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งบัดนี้น่ะ ไม่มีพอหรอก โยมนอนเท่าไรก็ไม่มีหมด ไม่มีจบ ไม่มีสิ้น นอกจากเราจะฝึกอบรมจิตของเรานี้ ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามเป็นจริงให้ได้ โยมไม่ต้องนอนก็ได้ สบาย จิตเราพอรู้จักปล่อยวางอารมณ์ พักได้ พักทั้งกายทั้งจิต เวลาจิตเรารวมสงบนิ่ง อยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้นเป็นการพักจิตที่ดีที่สุด แล้วก็เป็นการพักกายไปในตัวด้วย โยมลองนั่งดู อาตมาลองนั่งดู พระอาจารย์ถาวรท่านก็เคยพูด นั่งตลอดคืน นั่งตลอดวันอย่างนี้ เคยฝึก ตอนสมัยไปอยู่อินเดีย เคยไปนั่งอยู่ด้วยกัน ตลอดคืนก็มี คือฝึกดูน่ะ ไม่ใช่อวดอ้างอะไร ฝึกดูว่าจิตของเรานั้นมีกำลังขนาดไหน มีความอดทนขนาดไหน มีความเพียรความพยายามขนาดไหนพอหรือยัง หรือยังไม่พอ เราจะได้พิสูจน์ตัวเอง ถ้ายังไม่พอก็เพิ่มอีก ๆ ไปเรื่อย จนกว่ามันพอ มันเต็มที่ของมัน มันจะสลัดของมันเอง เอ้า! โยมลองกำลังดูซิ การปฏิบัติไม่ยากเลย ถ้าว่าไม่ยาก มันก็ไม่ยากเท่าไร แต่ถ้าว่ายากมันก็ยากหน่อย เพราะเรายังไม่เข้าใจยากหน่อย แต่ถ้าเราเข้าใจนี่ง่าย สลัดนิดเดียวเหมือนหลังมือฝ่ามือ เพราะจิตผู้รู้ก็อยู่ในธาตุขันธฺอันนี้ อาศัยอยู่ด้วยกันนี่แหละ เหมือนเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ โยมลองกำหนดดู พุทโธเป็นผู้รู้ตื่นจริงหรือเปล่า รู้หรือเปล่า ตื่นหรือเปล่า เบิกบานหรือเปล่า เราสวดทุกวัน เราแปลทุกวัน เวลาสวดแล้วก็น้อมมาที่จิตของเรา ให้รู้ว่า พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่เรามาปฏิบัติก็เพื่อให้เราเข้าถึงพุทโธ ผู้รู้ที่จิตของตน รู้แล้วก็ตื่น เบิกบานสบายไม่เป็นทุกข์ นี่แหละเราจะต้องฝึกให้ได้ นี่แหละเป็นกำไรชีวิตของเราจริง ๆ เป็นบุญกุศล ถ้าว่าบุญกุศลเป็นบุญกุศลมหาศาล ไม่มีบุญกุศลใดที่จะมหาศาลเหมือนอย่างกับเราปฏิบัตินั่งสมาธิ ภาวนา ฝึกปัญญาให้รู้รอบรู้ รู้ตามความเป็นจริงให้ได้ เพราะว่าพวกเราที่อยู่ทุกวันนี้ก็อยู่ด้วยทุกข์นั่นแหละ อยู่ด้วยทุกข์ ไปก็ไปกับทุกข์นั่นแหละ เหมือนกับเราอยู่กับธาตุขันธ์กับทุกข์ เมื่อพูดถึงทุกข์แล้ว โอ! หาประมาณไม่ได้ นั่งนานก็ทุกข์ ยืนนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ หรือไม่นอนก็ทุกข์ มันทุกข์ทั้งนั้น กินก็ทุกข์ ไม่กินก็ทุกข์ รับประทานก็ทุกข์ ไม่รับประทานก็ทุกข์ ฉันก็ทุกข์ ไม่ฉันก็ทุกข์ พูดก็ทุกข์ ไม่พูดก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ ทำอะไรก็ทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น เมื่อเรากำหนดรู้เท่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจจธรรม ท่านบอกแล้วว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ ควรพิจารณาให้รู้มิใช่เพียงกำหนดรู้แต่ทุกข์อย่างเดียว ให้เตลิดไปกับว่าทุกข์นี่คืออะไรทุกข์นี่เป็นผล เรานี่รับแต่ผล แต่บางท่านไม่รู้จักเหตุ ฉะนั้นท่านจึงให้สาวให้ถึงเหตุ เราได้รับผลอย่างนี้คือ ทุกข์อย่างนี้ คือเจ็บอย่างนี้ ปวดอย่างนี้ ร้อนอย่างนี้ ไม่สบายอย่างนี้ มันมาจากเหตุอะไร นี่ท่านให้พิจารณาลงไปให้เข้าถึงเหตุ ไปดูไปสาวไปดูเหตุ เพราะอะไร ธรรมทั้งหลายมาจากเหตุ เหตุคืออะไร เหตุก็คือตัวสมุทัย เรียกว่า อริยสัจจ์นั้นแหละ สมุทัยคืออะไร ก็คือกิเลสนั่นเอง พูดง่าย ๆ คือกิเลส ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา หรือ โลภ โกรธ หลง นั่นแหละ คือตัณหานั่นเอง ความอยาก ความอยากนั้นอยู่ที่ไหน กิเลสนั่นอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิต ความอยากก็อยู่ที่จิต ความโกรธก็อยู่ที่จิต ความหลงก็อยู่ที่จิต ความรักใคร่ชอบใจก็อยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มาดูที่จิต ให้รู้ว่าความอยากมันเกิดที่จิต ความรักความใคร่ ความยินดีความยึดติดอยู่ที่จิต แล้วก็ความโกรธความหลงอยู่ที่จิต เพราะอะไรจึงรัก เพราะอะไรจึงโกรธจึงชังได้ เพราะความไม่รู้ ความหลง เพราะจิตนี้ไม่รู้จริง ไม่รู้ตามจริง ไม่เห็นตามจริง เขาเรียกว่าอวิชชา หรือความหลงมันครอบงำ มันปกปิด จึงทำให้ดวงจิตดวงใจนี้ไปรักบ้าง ไปชังบ้าง ไปโกรธบ้าง ไปยินดีบ้าง ไปชอบบ้าง ไปยินดียินร้าย ยึดติดในอารมณ์ทั้งหลายในโลก นี่จึงทำให้เกิดทุกข์อยู่ทุกระยะ เพราะจิตหลงนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ผู้รู้ทั้งหลายท่านจึงให้เรามาฝึกหัดปฏิบัติอบรมจติของตน เพื่อต้องการชำระล้างตัวกิเลส หรือตัวที่เป็นสมุทัย ตัวเหตุนี้ออกจากจิตของตน เมื่อเราทำความรู้จักมัน รู้จักกิเลสคือความหลงยึดติดอยู่ในรูปขันธ์อันนี้ ทำความรู้เท่าทันโดยอาศัยสติ อาศัยสมาธิ อาศัยปัญญา อาศัยทาน อาศัยศีล หรืออาศัยกำลังห้า คือ อาศัยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาอย่างนี้ ก็รวมแล้วอยู่ที่หลักศาสนานั้นแหละ เหมือนญาติโยม เรียกว่า ทาน ศีล ภาวนา ก็อยู่ที่เราฝึกให้เกิดสติปัญญาขึ้นที่จิต เมื่อเราฝึกให้เกิดสติปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงตามความจริงในจิตของตน จิตของเราก็ปลดปล่อยละวาง ความโง่ ความหลง ความไม่รู้จริงนั้น มันก็ค่อยจางไป ๆ ดับไป ๆ ในที่สุดหมดไป เมื่อหมดความไม่รู้จริงมันค่อยหมดไป ความรู้แจ้งประจักษ์มันปรากฏขึ้นมาแทนที่ที่จิต นี่เรียกว่าตัวสติ ตัวปัญญาเกิดขึ้นก็เป็นการปราบตัวความหลง ความไม่รู้จริงหรือวิชชา มันปราบไปมันดับไป ๆ ตัวรู้แจ้งปรากฏขึ้น ตัวนั้นมันดับไป เมื่อตัวหลงดับไป ตัวโกรธดับไป ตัวโลภก็ดับไปอย่างนี้ ฉะนั้นกิเลสทั้งหลายแหล่มันอยู่ที่จิต มันหลงที่จิต เราหลงอยู่ไปยึดนี่จึงทำให้เกิดทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ฉะนั้นญาติโยมต้องดูจิต ตัวเราไม่รู้จักจุดที่ว่าจิตของเราตอนนั้น เราควรแก้ตรงไหน ถ้าเราแก้ไม่ถูกจุด เราก็แก้ไม่ได้ ท่านจึงให้กำหนดรู้ ให้พิจารณาใช้การฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกปัญญา พิจารณารู้เท่าเหตุของมัน ตัวปฏิบัติ ตัวฝึกสติ ตัวฝึกปัญญา พิจารณาคลี่คลายเยอะแยะนี่ เรียกว่าตัวมรรค เราเจริญมรรค เราปฏิบัติอยู่ เมื่อมีความรู้แจ้งเห็นจริงตามแล้ว รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งต้นเหตุหรือตัวกิเลสนั่นเอง แจ้งกระจ่างจิต เราก็ปล่อยละวางไป ทุกข์มันก็หมดไปเอง นี่อยู่ในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ถ้าพูดตามหลักก็มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าเราพูดในแง่ปฏิบัติก็ต้องว่ามรรค แล้วก็นิโรธ แล้วก็มรรค ตัวสติปัญญารู้แจ้ง เรามาฝึกให้เจริญมรรค เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงในจิต รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งตัวสมุทัย ตัวเหตุหรือกิเลสแล้วก็ปล่อยละวางไป เรียกว่าตัวนิโรธหรือปล่อยละวาง ไม่ยึดไม่ติดไม่ผูกพัน ตัวทุกข์มันก็ดับไปเองอย่างนี้ ทีนี้ลองโยมกำหนดดู อันนี้เป็นกิริยา ที่อาตมาอธิบายพูดนี่เป็นกิริยา ชี้แนะให้ญาติโยมแล้วโยมก็เอาไปฝึกไปหัดไปปฏิบัติ ไปกำหนดู ไปพิจารณาดู ไปแก้ไขที่จิตของเราเอง เมื่อเราแก้ได้แล้วก็เป็นสมบัติของเราเอง ก็รู้ในจิตของตนเอง ฉะนั้นในวันนี้ก็จะไม่พูดอะไรมากเท่าใดหรอก เพียงแต่เพิ่มไปนิดหน่อยฉะนั้นก่อนที่อาตมาจะหยุดการอธิบาย ก็ขอให้ญาติโยมกำหนดจิตไปสักพักหนึ่ง ให้สำรวมจิตดูจริง ๆ เวลาฝึกดู ให้โยมหลับตา ไม่ต้องดูมาที่อาตมา ไม่ต้องดูไปที่อื่น เรากำหนดรู้อยู่ไปข้างใน หลับตาแล้วมองไปดูซิว่า ลมหายใจเข้าหายใจออกนั้น มันเข้าตรงไหนออกตรงไหนแล้วตั้งสติจดจ่อตรงไหนที่ว่ารู้ แล้วก็เห็นชัดในจิตของตนได้จริง ๆ ปล่อยวางอารมณ์อื่นให้หมด กำหนดรู้อยู่กับพุทโธ ผู้รู้อยู่ภายในอยู่จุดเดียวเท่านั้น ตั้งสติจดจ่อ เพ่งไปที่จุดผู้รู้อยู่ผู้เดียว อยู่กับพุทโธผู้รู้ผู้เดียว ปล่อยวางอารมณ์อื่นให้หมด อันนั้นแหละเราจะเข้าถึงจิตเราได้ จิตนั้นก็ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่คิดไม่พัวพันกับอะไร จิตว่างเปล่า ไม่เอาอะไร ไม่ยินดียินร้ายกับอะไร จิตดวงนั้นจะไม่เป็นทุกข์ จิตดวงนี้จะเป็นจิตที่ไม่เป็นทุกข์ไม่เดือดร้อน ให้โยมรู้และสังเกตที่จิตของเราว่าจิตของเราที่ปล่อยวางอารมณ์ได้นั้น เป็นดวงจิตที่สะอาดผ่องใสขนาดไหน ว่างเปล่าไม่มีอะไรไม่มีตัวไม่มีตนไม่มีเราไม่มีเขา ไม่มีผู้หญิงผู้ชายไม่มีอะไรทั้งสิ้น รู้อยู่อย่างนั้น ปล่อยวางอารมณ์อื่นให้หมด ไม่สำคัญอย่างนั้น สำคัญอย่างนี้ ปล่อยละวางความสำคัญมั่นหมายในจิตให้หมด ให้รู้อยู่จุดเดียว เอ้า! กำหนดดูซิ ญาติโยมกำหนดดูทุกคนปล่อยวางดูสิ ปล่อยวางได้นานขนาดไหนวางได้นิดหน่อยก็ยังดี ยังดีกว่าไม่เคยปล่อยวางเลย กำหนดดูสิความว่างเปล่า คำที่ว่าความว่าง ความว่าง ถ้าเราไม่ปล่อย ไม่ละไม่วาง ฉะนั้นท่านต้องฝึกปล่อยวางอารมณ์ภายนอกให้หมด แล้วกำหนดรู้กับอารมณ์ภายในอย่างเดียว อยู่กับผู้รู้ รู้วาง รู้ละ ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น นี่แหละเป็นการฝึกจิตอยู่บนไม่มีอะไรทั้งสิ้น กำหนดรู้อยู่กับพุทโธ ผู้รู้สักพักหนึ่ง วางมือวางเท้าปกติ ไม่ต้องกระดุกกระดิกวางไว้เฉย ๆ คือเราฝึกปล่อยวางทั้งกาย ทั้งวาจาและจิตใจ ปล่อยวางกาย ปล่อยวางวาจาและจิตใจ ที่ปล่อยวางจิต คือปล่อยวางความคิดนั่นเองไม่ให้จิตคิดอะไร ให้กำหนดรู้อย่างเดียว ไม่ต้องคิดอะไร ให้วางไว้สักพักหนึ่ง แล้วโยมจะดูดดื่มรสของพระธรรมในจิตของตนได้อย่างแนบสนิท เอ้า ! ลองกำหนดดูประมาณสัก ๓ นาที ต่อไปก็ญาติโยมคนไหน อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถก็เปลี่ยนได้ แต่ถ้าญาติโยมคนไนยังนั่งติดอยู่หรือนั่งกำลังเป็นอยู่กำลังสบายอยู่ หรือกำลังพิจารณาได้ดีอยู่ก็นั่งต่อไปก็ได้ อันนี้ไม่มีใครบังคับ นั่งต่อไปก็ได้ แต่สำหรับวันนี้อาตมาก็ขอเพียงแค่นี้ ถ้าญาติโยมมีอะไรสงสัยจะถามปัญหาอีกก็ได้ ---------------------------- คัดลอกจาก:ธรรมกถา หน้า ๒๖๑ - ๒๗๐