วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

วินัย​มุข





เพลงยาวถวายโอวาท

Play my music.... -----------------------------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------


-------------------------------------------------------------------------------- Listen to 01.ธรรมะโอวาท 104 ปี หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ตอนที่ 1 by fungdhamma #np on #SoundCloud https://soundcloud.com/fungdhamma/01-104-1a

๏ ควรมิควรจวนจะพรากจากสถาน
จึงเขียนความตามใจอาลัยลานขอประทานโทษาอย่าราคี
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรักเหมือนผัดพักตร์ผิวหน้าเป็นราศี
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎีดังวารีรดซาบอาบละออง
ทั้งการุญสุนทราคารวะถวายพระวรองค์จำนงสนอง
ขอพึ่งบุญมุลิกาฝ่าละอองพระหน่อสองสุริย์วงศ์ทรงศักดา
ด้วยเดี๋ยวนี้มิได้รองละอองบาทจะนิราศแรมไปไพรพฤกษา
ต่อถึงพระวะษาอื่นจักคืนมาพระยอดฟ้าสององค์จงเจริญ
อย่ารู้โรคโศกเศร้าเหมือนเขาอื่นพระยศยืนยอดมนุษย์สุดสรรเสริญ
มธุรสชดช้อยให้พลอยเพลินจะต้องเหินห่างเหทุกเวลา
ไหนจะคิดพิศวงถึงองค์ใหญ่ทั้งอาลัยองค์น้อยละห้อยหา
มิเจียมตัวกลัวพระราชอาชญาจะใส่บ่าแบกวางข้างละองค์
พาเที่ยวชมยมนามหาสมุทรเมืองมนุษย์นกไม้ไพรระหง
ต่อรอนรอนอ่อนอับพยับลงจึงจะส่งเสด็จให้เข้าในวัง
แต่ครั้งนี้วิบากจากพระบาทใจจะขาดคิดหมายไม่วายหวัง
มิสูญลับดับจิตชีวิตยังจะเวียนบังคมบาทไม่ขาดปี
แม้นไปทัพจับศึกก็นึกมาดจะรองบาทบงกชบทศรี
สู้อาสากว่าจะตายวายชีวีด้วยภักดีได้จริงทุกสิ่งอัน
ขอฉลองสองพระองค์ดำรงรักษ์ช่วยฉุดชักชุบย้อมกระหม่อมฉัน
ให้ยืนเหมือนเดือนดวงพระสุริยันเป็นคืนวันเที่ยงธรรมไม่ลำเอียง ฯ
๏ นิจจาเอ๋ยเคยรองละอองบาทโปรดประภาษไพเราะเสนาะเสียง
แสนละม่อมน้อมพระองค์ดำรงเรียงดังเดือนเคียงแข่งคู่กับสุริยา
จงอยู่ดีศรีสวัสดิ์พิพัฒน์ผลให้พระชนม์ยั่งยืนหมื่นพรรษา
ได้สืบวงศ์พงศ์มกุฎอยุธยาบำรุงราษฎร์ศาสนาถึงห้าพัน
เหมือนสององค์ทรงนามพระรามลักษณ์เป็นปิ่นปักปกเกศทุกเขตขัณฑ์
ประจามิตรคิดร้ายวายชีวันเสวยชั้นฉัตรเฉลิมเป็นเจิมจอม
จะไปจากฝากสมเด็จพระเชษฐาจงรักพระอนุชาอุตส่าห์ถนอม
พระองค์น้อยคอยประณตนิ่งอดออมทูลกระหม่อมครอบครองกันสององค์
อุตส่าห์เรียนเขียนอ่านบุราณราชไสยศาสตร์สงครามตามประสงค์
ลำดับศักดิ์จักรพรรดิขัตติวงศ์อุตส่าห์ทรงจดจำให้ชำนาญ
ด้วยพระองค์ทรงสยมบรมนาถบังคับราชการสิ้นทุกถิ่นฐาน
กรมศักดิ์หลักชัยพระอัยการมนเทียรบาลพระบัญญัติตัดสำนวน
อนึ่งให้รู้สุภาษิตบัณฑิตพระร่วงโคลงเพชรพวงผิดชอบทรงสอบสวน
ราชาศัพท์รับสั่งให้บังควรทราบให้ถ้วนถี่ไว้จะได้ทูล
ทั้งพุทธไสยไตรดาทวายุคให้ทราบทุกที่ถวิลบดินทร์สูรย์
พระยศศักดิ์จักเฉลิมให้เพิ่มพูนได้พึ่งทูลกระหม่อมของฉันสององค์
แม้นออกวังตั้งใจจะไปอยู่สำหรับปูเสื่อสาดคอยกวาดผง
ขอพึ่งบุญพูนสวัสดิ์เหมือนฉัตรธงได้ดำรงร่มเกล้าทั้งเช้าเย็น
แต่ยามนี้มีกรรมจะจำจากด้วยแสนยากยังไม่มีที่จะเห็น
เพราะพระเจ้าเยาว์นักต้องรักเร้นจึงจำเป็นจำพรากจำจากไป
ขอพระองค์จงเอ็นดูอย่ารู้ร้างให้เหมือนอย่างเมรุมาศไม่หวาดไหว
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัยน้ำพระทัยทูลเกล้าจงยาวยืน
ถึงร้อยปีมิได้มาก็อย่าแปลกให้เหมือนแรกเริ่มตรัสไม่ขัดขืน
เช่นงางอกออกไปมิได้คืนจึงจักยืนยืดยาวดังกล่าวคำ
ของพระองค์ทรงยศเหมือนคชบาทอย่าให้พลาดพลั้งเท้าก้าวถลำ
ระมัดโอษฐ์โปรดให้พระทัยจำจะเลิศล้ำลอยฟ้าสุราลัย ฯ
๏ หนึ่งนักปราชญ์ราชครูซึ่งรู้หลักอย่าถือศักดิ์สนทนาอัชฌาสัย
อุตส่าห์ถามตามประสงค์จำนงในจึงจักได้รู้รอบประกอบการ
หนึ่งบรรดาข้าไทที่ใจซื่อจงนับถือถ่อมศักดิ์สมัครสมาน
หนึ่งคนมนตร์ขลังช่างชำนาญแม้พบพานผูกไว้เป็นไมตรี
เขาทำชอบปลอบให้น้ำใจชื่นจึงเริงรื่นรักแรงไม่แหนงหนี
ปรารถนาสารพัดในปัถพีเอาไมตรีแลกได้ดังใจจง
คำบุราณท่านว่าเหล็กแข็งกระด้างเอาเงินง้างอ่อนตามความประสงค์
จงทราบไว้ใต้ละอองทั้งสององค์อุตส่าห์ทรงสืบสร้างทางไมตรี
แต่คนร้ายหลายลิ้นย่อมปลิ้นปลอกเลี้ยงมันหลอกหลอนเล่นเหมือนเช่นผี
อย่าพานพบคบค้าเป็นราคีเหมือนพาลีหลายหน้าระอาอาย
อันคนดีมีศีลสัตย์สันทัดเที่ยงช่วยชุบเลี้ยงชูเชิดให้เฉิดฉาย
เอาไว้ใช้ใกล้ชิดไม่คิดร้ายเขารักตายด้วยได้ด้วยใจตรง
อันโซ่ตรวนพรวนพันมันไม่อยู่คงหนีสู้ซ่อนมุ่นในฝุ่นผง
แม้นผูกใจไว้ด้วยปากไม่จากองค์อุตส่าห์ทรงทราบแบบที่แยบคาย
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซากแต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลายเจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
จะรักชังทั้งสิ้นเพราะลิ้นพลอดเป็นอย่างยอดแล้วพระองค์อย่าสงสัย
อันช่างปากยากที่จะมีใครเขาชอบใช้ช่างมือออกอื้ออึง
จงโอบอ้อมถ่อมถดพระยศศักดิ์ถ้าสูงนักแล้วก็เขาเข้าไม่ถึง
ครั้นต่ำนักมักจะผิดคิดรำพึงพอก้ำกึ่งกลางนั้นขยันนัก ฯ
๏ อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกในฮึกฮักจึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย
จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอดช่วยให้รอดรักให้ชิดพิสมัย
ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใดเพียรจงได้ดังประสงค์ที่ตรงตี
ธรรมดาว่ากษัตริย์อัติเรกเป็นองค์เอกอำนาจดังราชสีห์
เสียงสังหารผลาญสัตว์ในปัถพีเหตุเพราะมีลมปากนั้นมากนัก
เหมือนหน่อเนื้อเชื้อวงศ์ที่องอาจย่อมเปรื่องปราชญ์ปรากฏเพราะยศศักดิ์
ผู้ใหญ่น้อยพลอยมาสามิภักดิ์ได้พร้อมพรักทั้งปัญญาบารมี
ถ้าคร้านเกียจเกียรติยศก็ถดถอยข้าไทพลอยแพลงพลิกออกหลีกหนี
ต้องเศร้าสร้อยน้อยหน้าทั้งตาปีทูลดังนี้กลัวจะเป็นเหมือนเช่นนั้น
ด้วยไหนไหนก็ได้มาสามิภักดิ์หมายจะรักพระไปกว่าจะอาสัญ
จึงทูลความตามจริงทุกสิ่งอันล้วนสำคัญขออย่าให้ผู้ใดดู ฯ
๏ พระผ่านเกล้าเจ้าฟ้าบรรดาศักดิ์แม้นไม่รักษายศจะอดสู
ซึ่งยศศักดิ์จักประกอบจำรอบรู้ได้เชิดชูช่วยเฉลิมให้เพิ่มพูน
อันเผ่าพงศ์วงศาสุรารักษ์สามิภักดิ์พึ่งปิ่นบดินทร์สูรย์
ที่สิ่งไรไม่ทราบได้กราบทูลจึงเพิ่มพูนภาคหน้าปรีชาชาญ
ประเพณีที่บำรุงกรุงกษัตริย์ปฏิพัทธิ์ผ่อนผันตามบรรหาร
ต่างพระทัยนัยน์เนตรสังเกตการตามบุราณเรื่องราชานุวัติ
จงพากเพียรเรียนไว้จะได้ทราบทั้งกลอนกาพย์การกลปรนนิบัติ
หนึ่งแข็งอ่อนผ่อนผันให้สันทัดตามกษัตริย์สุริย์วงศ์ดำรงดิน
อนึ่งแยบยลกลความสงครามศึกย่อมเหลือลึกล้ำมหาชลาสินธุ์
เร่งฝึกฝนกลการผลาญไพรินให้รู้สิ้นรู้ให้มั่นกันนินทา
อันข้าไทได้พึ่งเขาจึงรักแม้นถอยศักดิ์สิ้นอำนาจวาสนา
เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวาแต่วิชาช่วยกายจนวายปราณ ฯ
๏ ซึ่งเปรียบปรายหมายเหมือนเตือนพระบาทให้เปรื่องปราชญ์ปรีชาศักดาหาญ
แม้นหากว่าฝ่าละอองไม่ต้องการโปรดประทานโทษกรณ์ที่สอนเกิน
ด้วยรักใคร่ได้มาเป็นข้าบาทจะบำราศแรมร้างไปห่างเหิน
เป็นห่วงหลังหวังใจให้เจริญใช่จะเชิญชวนชั่วให้มัวมอม
พระมีคุณอุ่นอกเมื่อตกยากถึงตัวจากแต่จิตสนิทสนอม
จะจำไปไพรพนมด้วยตรมตรอมทูลกระหม่อมเหมือนหนึ่งแก้วแววนัยนา
พระองค์น้อยเนตรซ้ายไม่หมายร้างพระองค์กลางอยู่เกศเหมือนเนตรขวา
ความรักใคร่ไม่ลืมปลื้มวิญญาณ์ได้พึ่งพาพบเห็นค่อยเย็นทรวง
สามิภักดิ์รักใคร่จะไปเฝ้าพระทูลเกล้าก็ยังอยู่ที่วังหลวง
จะสั่งใครไปเล่าเขาก็ลวงต้องนิ่งง่วงเหงาอกตกตะลึง
ครั้นหาของต้องประสงค์ส่งถวายก็สูญหายเสียมิได้เข้าไปถึง
ทุกค่ำเช้าเศร้าจิตคิดรำพึงด้วยลึกซึ้งสุดจิตจะติดตาม
จะร่ำลักษณ์อักษรเป็นกลอนกาพย์ทูลให้ทราบสิ้นเสร็จก็เข็ดขาม
กตัญญูสู้อุตส่าห์พยายามไม่ลืมความรักใคร่อาลัยลาน
ถึงลับหลังยังช่วยอวยสวัสดิ์ให้สมบูรณ์พูนสมบัติพัสถาน
คอยถามข่าวชาววังฟังอาการได้ทราบสารว่าเป็นสุขทุกพระองค์
พลอยยินดีปรีดาประสายากเหมือนกาฝากฝ่าพระบาทดังราชหงส์
ไม่หายรักมักรำลึกนึกจำนงไม่เห็นองค์เห็นแต่ฟ้าก็อาวรณ์
จึงพากเพียรเขียนความตามสุภาพหวังให้ทราบเรื่องลักษณ์ในอักษร
จะได้วางข้างพระแท่นแทนสุนทรที่จากจรแต่ใจอาลัยลาน
ซึ่งทูลเตือนเหมือนจะชูให้รู้รอบขอความชอบตราบกัลปาวสาน
อย่าฟังพ้องสองโสตจงโปรดปรานด้วยลมพาลพานพัดอยู่อัตรา
จงสอดส่องตรองตรึกให้ลึกซึ้งเป็นที่พึ่งผ่อนผันให้หรรษา
ถึงแม้นมาตรขาดเด็ดไม่เมตตากรุณาแต่หนังสืออย่าถือความ ฯ
๏ อนึ่งคำนำถวายหมายว่าชอบแม้นทรงสอบเสียวทราบว่าหยาบหยาม
อย่าเฉียวฉุนหุนหวนว่าลวนลามเห็นแต่ความรักโปรดซึ่งโทษกรณ์
แม้นเห็นจริงสิ่งสวัสดิ์อย่าผัดเพี้ยนเร่งร่ำเรียนตามคำที่พร่ำสอน
ดูดินฟ้าหน้าหนาวฤๅคราวร้อนเร่งผันผ่อนพากเพียรเรียนวิชา
ซึ่งประโยชน์โพธิญาณเป็นการเนิ่นพอจำเริญรู้ธรรมคำคาถา
ถือที่ข้ออรหัตวิปัสสนาเป็นวิชาฝ่ายพุทธนี้สุดดี
ข้างฝ่ายไสยไตรเพทวิเศษนักให้ยศศักดิ์สูงสง่าเป็นราศี
สืบตระกูลพูนสวัสดิ์ในปัถพีได้เป็นที่พึ่งพาเหล่าข้าไท ฯ
๏ ซึ่งทูลความตามซื่ออย่าถือโทษถ้ากริ้วโกรธตรัสถามตามสงสัย
ด้วยวันออกนอกพรรษาขอลาไปเหลืออาลัยทูลกระหม่อมให้ตรอมทรวง
เคยฉันของสองพระองค์ส่งถวายมิได้วายเว้นหน้าท่านข้าหลวง
จะแลลับดับเหมือนดังเดือนดวงที่แลล่วงลับฟ้าสุธาธาร
ถึงมาเฝ้าเล่าที่ไหนจะได้เห็นด้วยว่าเป็นขอบเขตนิเวศน์สถาน
จะตั้งแต่แลลับอัประมาณเห็นเนิ่นนานนึกน่าน้ำตากระเด็น
ต่อโสกันต์วันพระองค์ทรงสิกขาจะได้มานอบนบได้พบเห็น
ให้ใช้สอยคอยเฝ้าทุกเช้าเย็นมิให้เต้นโลดคะนองทั้งสององค์
ด้วยเหตุว่าฝ่าพระบาทได้ขาดเสร็จโดยสมเด็จ[๑]ประทานตามความประสงค์
ทูลกระหม่อมยอมในพระทัยปลงถวายองค์อนุญาตเป็นขาดคำ
ในวันนั้นวันอังคารพยานอยู่ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ[๒]
ขอละอองสองพระองค์จงทรงจำอย่าเชื่อคำคนอื่นไม่ยืนยาว
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่วถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาวเขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศฝากพระเชษฐา[๓]นั้นให้ฉันสอน
สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทรฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม
หากสมเด็จเมตตาว่าข้าเก่าประทานเจ้าครอกฟ้าบูชาเฉลิม
ไม่ลืมคุณทูลกระหม่อมเหมือนจอมเจิมจะขอเพิ่มพูนพระยศให้งดงาม
เผื่อข้าไทไม่มีถึงที่ขัดกับหนูพัดหนูตาบ[๔]จะหาบหาม
สองพระองค์จงอุตส่าห์พยายามประพฤติตามแต่พระบาทมาตุรงค์
รักพระยศอตส่าห์รักษาสัตย์พูนสวัสดิ์สังวาสตามราชหงส์
เห็นห้วยหนองคลองน้อยอย่าลอยลงจะเสียทรงสีทองละอองนวล
สกุลกาสาธารณ์ถึงพานพบอย่าควรคบคิดรักศักดิ์สงวน
เหมือนชายโฉดโหดไร้ที่ไม่ควรอย่าชักชวนชิดใช้ให้ใกล้องค์
อันนักปราชญ์ราชครูเหมือนคูหาเป็นที่อาศัยสกุลประยูรหงส์
จงสิงสู่อยู่แต่ห้องทองประจงกว่าจะทรงปีกกล้าถาทะยาน
ขึ้นร่อนเร่เวหนให้คนเห็นว่าชาติเช่นหงสาศักดาหาญ
ได้ปรากฏยศยงตามวงศ์วานพระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร
ควรมิควรส่วนผลาอานิสงส์ซึ่งรูปทรงสังวรรัตน์ประภัสสร
ให้สี่องค์ทรงมหาสถาวร[๕]ถวายพรพันวษาขอลาเอย ฯ

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561

สันถัต คืออะไร?

จากสิกขาบท



1. การหล่อสันถัตเจือด้วยไหม


นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ 1
โย ปะนะ ภิกขุ โกสิยมิสสะกัง สันถะตัง การาเปยยะ…
“อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำสันถัตเจือด้วยไหม, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.” 
วิภังค์
สันถัต ได้แก่ ผ้ารองนั่งที่เขาหล่อ ไม่ใช่ทอ.
อนาบัติ
1.ภิกษุทำเป็นเพดานก็ดี เป็นเครื่องลาดพื้นก็ดี เป็นม่านก็ดี เป็น เปลือกฟูกก็ีดี เป็นปลอกหมอนก็ดี 2.ภิกษุวิกลจริต 3.ภิกษุอาิทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องต้นบัญญัติ 
ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาช่างทำไหม ขอให้เขาต้มตัวไหม, และขอใยไหมบ้าง เพื่อจะหล่อสันถัต (เครื่องลาดรองนั่ง, เครื่องปูนั่ง) เจือด้วยไหม, เขาว่าเบียดเบียนเขาและเบียดเบียนตัวไหม พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุหล่อสันถัตเจือด้วยไหม ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.
วิธีหล่อสันถัต ใช้ยางเหนียวเช่นน้ำข้าวเทลงบนพื้นที่เรียบแล้วเอาขนโปรยลาดลงบนยางเหนียว (วิ.อ. 2/542/192)
......
เมื่อผู้เขียนได้อ่านรายละเอียดเท่านี้ ก็ยังคิดแต่ว่า “สันถัต” นี้เป็นอย่างไร?
จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูล ได้รายละเอียดมาตั้งต้นที่
ขอคัดลอกมาดังนี้(จาก http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5561.45)
ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งเจือด้วยไหม

ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาช่างทำไหม ขอให้เขาต้มตัวไหม, และขอใยไหมบ้าง เพื่อจะหล่อสันถัต (เครื่องลาด, เครื่องปูนั่ง) เจือด้วยไหม, เขาหาว่าเบียดเบียนเขาและเบียดเบียนตัวไหม พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุหล่อสันถัต เจือด้วยไหม ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียมดำล้วน 

(จากในบทความ) 
เอาละซีครับพระคุณท่าน ขนเจียมเป็นอย่างไรล่ะนั่น ผมอ่านอรรถกถาจารย์อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ เครื่องปูนั่งทำด้วยขนก็เข้าประเภทสิ่งทอ แล้วไหง๋ถึงผลิตด้วยการหล่อ ซึ่งแปลว่าทำให้ของเหลวเป็นของแข็งในรูปทรงที่กำหนดแม่แบบบังคับ ขนเจียมหมายถึงกรรมวิธีผลิตขน(คล้ายๆคำว่าขนัก ขนทอ)หรือแปลว่าขนของตัวที่ชื่อเจียม ผมก็ไม่เคยทราบ

ต้องตามไปอ่านภาคภาษาอังกฤษที่ฝรั่งแปลจากบาลี เขาใช้คำว่าfelt blanket/rug entirely of black wool ขะรับ เลยพอจะเข้าใจ 
felt คือผ้าสักหลาด(อ่านว่าสัก-กะ-หลาด) ซึ่งคนอินเดียผลิตมานานจนมีความชำนาญ ทำจากขนสัตว์ โดยนำขนสัตว์มาโปรยลงบนแท่น แล้วกระแทกด้วยแผ่นที่มีตะปูปลายแหลมมีเงี่ยงคล้ายเบ็ดถี่ยิบขึ้นๆลงๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนขนสัตว์ขึ้นมาพันกันเป็นผืน ในลักษณะคล้ายๆกับทอเข้าด้วยกัน แต่ไม่ใช่ การทอจะมีลวดลายเป็นระเบียบกว่า ท่านที่มีผ้าสักหลาดลองเอาแว่นขยายส่องดู จะเห็นขนสัตว์ที่ประสานกันเป็นเนื้อเดียวอย่างไม่มีระเบียบ ผิดกับผ้าทั่วไป ภาษาไทยไม่มีบัญญัติศัพท์นี้ ท่านจึงไปใช้ว่าหล่อ

อ่ะ คราวนี้ตัวเจียมคือตัวอะไร ผมก็ตามรอย black wool ของอินเดียไป เจอเจ้าตัวนี้ออกมาเต็มหน้าจอ เขาเรียกว่าตัวyak ไทยเราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจามรี ปกติจะมีขนสีขาว แต่สีดำก็มี และเป็นของหายาก ขนจามรีดำจึงมีราคาแพง

ก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดีว่า เจียมหมายถึงจามรี หรือต้องกล่าวว่าขนเจียม เพราะแปลว่าผ้าสักหลาดที่ส่วนใหญ่ทำจากขนแกะหรือแพะ
แต่เอาเป็นว่าท่านคงเข้าใจแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ขอคงศัพท์เดิมไว้ก็แล้วกัน

ภิกษุฉัพพัคคีย์หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน คนทั้งหลายติเตียนว่า ใช้ของอย่างคฤหัสถ์ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามหล่อเองหรือใช้ให้หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ผู้ล่วงละเมิด

......ได้นำเอาคำว่า จามรี ตรงกับคำว่า “yak” ตรวจดูใน youtube
จึงเห็นว่าตัวเป็นเช่นไร ขนและพวงหางเป็นเช่นไร ซึ่งจามรีนั้น อยู่แถบเมืองหนาว ที่ทิเบต และจีนตอนเหนือ จึงได้ภาพการถอนขนจามรีมาใช้งานตามนี้
และได้เห็นกรรมวิธีของชาวภูฐาน ว่านำมาซัก ย้อมอย่างไรก่อนนำไปทำเป็นสันถัตดังนี้



เมื่อได้ขนเจียมหรือ จามรีมาได้พอที่จะทำแล้วจึงทำตามกรรมวิธีหล่อ คือเอาแบบมาวาง จะจัดทำลวดลายอย่างไร ก็ทำแบบวางลงไปก่อน แล้วจึงนำขนเจียมมาโรยทับ ใช้นมหรือน้ำยาประสานให้ขนเจียมจับตัวกันได้ จากนั้นก็ใช้หนังปิดทับเอาไม้กลิ้งทับโดยแรงคนขึ้นไปทับจนขนเจียมจับตัวกันแน่น นี่คือขั้นตอนที่ได้เห็นดังนี้
และอีกตัวอย่างที่มีคำบรรยาย​


ข้อมูลที่ได้ค้นหามาเป็นแนวทางเท่านั้น มิใช่ว่าจะทราบชัดเจนว่า สันถัต คืออะไรแน่ แต่ระบุว่า คือที่รองนั่ง หรือในปัจจุบันเรียกว่า “อาสนะ” พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้ตามขนาดที่กำหนด และสี, รวมถึงระยะเวลาใช้ ไม่ให้เปลี่ยนบ่อยๆ ไว้แล้ว
ซึ่งผ้านิสีทนะ ก็น่าจะใช้ด้วยกันได้ คือน่าจะปูทับสันถัตได้อีกทีหนึ่ง เหมือนในปัจจุบัน ที่ปูทับอาสนะ
ขอย้ำว่า สิ่งนี้เป็นความรู้ที่หามาได้เบื้องต้น มิได้ตัดสินว่าใช่หรือไม่? หากผู้รู้ท่านใดนำไปตรวจสอบก่อนก็คงดีมาก และจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป..

วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

กายนคร : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์


กายนคร

(เรียบเรียงตั้งแต่ยังเป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี ตรวจพิมพ์ใหม่ 
เมื่อเป็นพระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ. ๒๔๖๘)
กุมฺภูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา
นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา
โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน
ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยาติ.

..........บัดนี้
จะรับประทานวิสัชนาพระธรรมเทศนาในพุทธภาษิต ซึ่งมีมาในคัมภีร์พระธรรมบท 
เพื่อให้สำเร็จประโยชน์การฟังธรรม แด่พุทธบริษัทตามสมควรแก่อารัพภสมัย 
เนื้อความตามพุทธภาษิต ซึ่งได้ยกขึ้นเป็นอุเทศนั้นว่า
 “กุมฺภูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา” 
บุคคลพึงรู้แจ้งซึ่งสกลกายของตนนี้ว่า เป็นของไม่คงทนสักปานใดเปรียบด้วยภาชนะ คือหม้ออันบุคคลทำขึ้นด้วยดินเหนียวฉะนั้น


อธิบายว่า ธรรมดาภาชนะอันบุคคลทำขึ้นด้วยดินเหนียว จะเล็กใหญ่สุกดิบตื้นลึกหนาบางขนาดไหนไม่ว่า 
ย่อมจะมีความแตกความทำลายเป็นที่สุดฉันใด ถึงแม้สกลกายซึ่งนิยมว่าเป็นของ ๆ เรานี้ จะเล็กใหญ่ อ้วน ผอม สูง

ต่ำ ดำ ขาว ปึกแผ่น แน่นหนา หรือบอบบางประการใดก็ตาม คงจะมีความแตกความทำลายเป็นที่สุดฉันนั้น
“นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา” 
แล้วพึงตั้งจิตนี้ไว้ภายในสกลกาย อันประกอบด้วยทวารทั้ง ๙
ซึ่งมีอาการควรเปรียบด้วยพระนครอันมั่นคงพรักพร้อมด้วยประตูหอรบครบบริบูรณ์สมควรจะรับข้าศึกได้ 

อธิบายว่า เจ้าผู้ครองนครก็ดี แม่ทัพก็ดี เมื่อได้พระนครอันมั่นคง พร้อมด้วยค่ายคูประตูหอรบเช่นนั้น
เมื่อมีข้าศึกปัจจามิตรมาติดพระนคร ก็ควรออกรบกับข้าศึก 
ถ้าเสียท่วงทีแก่ข้าศึกลง ก็ให้กลับเข้าพระนครรักษาประตูหอรบไว้ให้มั่นคง แล้วเข้าพักผ่อน
ทแกล้วทหารบำรุงกำลังสุรโยธาให้บริบูรณ์ขึ้นเต็มที่แล้ว ก็ให้ออกรบบ่อย ๆ อย่าปล่อยให้ข้าศึกมีกำลัง 
เมื่อมีชัยได้แว่นแคว้นของปรปักษ์แล้ว ก็ให้ตั้งกองรักษาไว้อย่าให้เสียท่วงทีได้ และอย่ายินดีอยู่แต่เพียงเท่านั้น
ให้เร่งรีบรบชิงชัย จนได้ตลอดอาณาจักรของปัจจามิตร

ข้ออุปมาอันนี้แลมีฉันใด พระโยคาวจรผู้เห็นโทษในวัฏสงสาร เมื่อได้สกลกายบริบูรณ์พรักพร้อม
ด้วยทวารทั้ง ๖ มีจักษุทวารเป็นต้น อันพ้นเสียแล้วจากพิบัติ คือใบ้บ้าบอดหนวก ชื่อว่าเป็นอันได้พระนครอันดี
“โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน” 
เมื่อเห็นว่าตนได้พระนครอันดีเช่นนั้น ก็พึงตั้งหน้ารบกับด้วยมารกิเลส ด้วยอาวุธคือวิปัสสนาญาณ
เมื่อเห็นว่ากิเลสมีกำลังกล้าสู้ไม่ไหว ก็ให้เข้าภายในพระนครพักผ่อนบำรุงตรุณวิปัสสนา คือสมาธิจิตให้มีกำลังกล้า แล้วออกรบบ่อย ๆ
“ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยา” 
เมื่อรบชนะได้เพียงใดก็ให้ตั้งสังวรอินทรีย์ รักษาไว้อย่าให้เสียแก่ข้าศึกอีก แต่อย่ายินดีอยู่แต่เพียงเท่านั้น
ข้อสำคัญคือพระนิพพานเป็นสถานะอันข้าศึกรักษาอยู่โดยรอบ ชื่อว่าอาณาเขตแห่งปรปักษ์ 
เราจะต้องตั้งใจหักเอาให้จงได้ จึงจะเป็นผู้พ้นภัย มีชัยชนะไม่มีข้าศึกที่จะต่อต้าน 
ปานประหนึ่งว่าบรมจักรพรรดิราช มีอุปไมยเช่นเดียวกันกับสุรโยธาอันชนะอาณาจักรของปรปักษ์เช่นนั้น

..........บัดนี้ จักอธิบายที่ว่ากายนคร ซึ่งว่ามีข้าศึกตั้งอยู่โดยรอบ ข้าศึกนั้นใช่อื่น ได้แก่อุปกิเลส ซึ่งเข้าทำใจให้ขุ่นมัว ๑๖ ประการ คือ 

โมโห ความหลงไม่รู้จักดีและชั่ว ๑
อหิริกํ ความไม่ละอายต่อกรรมอันเป็นบาป ๑
อโนตฺตปฺปํ ความไม่สะดุ้งหวาดเสียวต่อกรรมอันเป็นบาป ๑
โลโภ ความละโมบเพ่งอยากได้พัสดุของท่านผู้อื่น ๑
ทิฏฺฐิ ความเห็นวิปลาสผิดจากทางชอบธรรม ๑
มาโน ความถือตนว่าตนดีกว่าผู้อื่น ๑
อิสฺสา ความริษยาไม่อยากให้ผู้อื่นดีกว่าตน ๑
มจฺฉริยํ ความตระหนี่หวงแหนวัตถุ ซึ่งเป็นของมีอยู่แห่งตนเกินประมาณ ๑
กุกฺกุจฺจํ ความรำคาญใจ ๑
ถีนํ ความง่วงเหงา ๑
มิทฺธํ ความหลับ ๑
วิจิกิจฺฉา ความไม่แน่ใจ ๑
มกฺโข ความกลบเกลื่อนคุณของท่าน ๑
ปลาโส ความอวดตน ๑
มายา ความล่อลวงเขา ๑
สาเถยฺยํ ความปิดโทษของตน ๑ เหล่านี้

หรือจะชี้ อกุศลเจตสิก ๑๔ ก็มีอาการดุจเดียวกันชื่อว่ากิเลสมารทั้งสิ้น
เพราะอกุศลธรรมเหล่านี้ เมื่อเข้าสัมปยุตกับจิตผู้ใดแล้ว ย่อมทำจิตให้เศร้าหมองขุ่นมัว 
เมื่อสงบไม่ได้เพียงจิตแล้ว ก็จะซ่านออกมาภายนอก ทำให้กายวิการบ้าง วจีวิการบ้าง 
แสดงให้โลกเห็นว่าประพฤติตนไม่สมควร จะต้องได้รับโทษต่าง ๆ อย่างต่ำที่สุดมีครหานินทาติเตียน เป็นต้น 
อย่างสูงได้รับราชทัณฑ์มีจำคุกและประหารชีวิตเป็นต้น อาจจักทำบุคคลผู้ลุอำนาจของตนให้เสียหายได้อย่างนี้ จึงชื่อว่า มาโรมาร

กิเลสมารเหล่านี้จะว่าเป็นของมีอยู่ประจำตนทีเดียวก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีในตนทีเดียวก็ไม่ชอบ 
เมื่อจะเกิดต้องอาศัยเหตุ คือ ผัสสะ มีอวิชชาเป็นปัจจัย ส่วนผัสสะนั้น ถ้ามีวิชชาเป็นปัจจัยก็ไม่เกิดอกุศลเจตสิกเหล่านั้นได้ 
เพราะเหตุนั้นถึงท่านผู้ชำนะมารได้แล้วทั้งหลาย ผัสสะทั้ง ๖ มีจักขุสัมผัสเป็นต้นยังมี แต่ว่าวิชชาเป็นปัจจัยเสียแล้ว
อกุศลเจตสิกจะเข้าสัมปยุตกับจิตของท่านไม่ได้ จิตของท่านจึงผ่องใสอยู่เสมอ 
ผู้ตั้งใจจะรักษากายนครให้ราบคาบอยู่เย็นเป็นสุข ก็จะต้องตั้งหน้ารบข้าศึก คือมารกิเลสเหล่านี้ ไม่ให้เข้าอาศัยพระนครได้

วิธีรบนั้นก็ไม่ยาก คือให้ปราบพลมารชั้นต่ำชั้นเลวด้วยอาวุธคือศีล
ให้ปราบพลมารชั้นกลางด้วยอาวุธ คือสมาธิ
ให้ปราบจอมพลของมารคือตัวอุปธิด้วยอาวุธคือปัญญา 
สนามรบ ก็คือประตูพระนครทั้ง ๖ แห่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เอง 
การจะยิงอาวุธทั้ง ๓ ประเภทนั้น ก็เล็งศูนย์ให้ตรง
คือตัวสติสัมปชัญญะ อย่าให้เสียลูกและดินเปล่า คือความไม่แน่นอน เท่านี้ก็จะชนะข้าศึก คือ มารกิเลสได้
เพราะกิเลสเหล่านี้มีกำลังอันน้อยสู้พระอริยมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญาไม่ได้ ถ้า
จะเทียบอีกชั้นหนึ่ง มารกิเลสนี้เท่ากับพวกปล้นก็ว่าได้ เพราะมันข่มเหงได้แต่ชั้นพวกที่โง่เขลาปราศจากสติเท่านั้น 
ถ้าไปถึงท่านที่มีสติสัมปชัญญะแล้วมันก็ไม่มีอำนาจอะไร

.........ยังมีข้าศึกอีกประเภทหนึ่ง อันพวกเราจะพึงน่าวิตกอย่างยิ่ง คือ 
ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิ ความป่วยไข้ มรณะ ความตาย ข้าศึก ๔ กองนี้เท่ากับแวดล้อมเราอยู่โดยรอบ 

นักปราชญ์ทั้งหลายในโลกซึ่งนิยมกันว่า ผู้มีปัญญาแท้จริงมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน 
ที่จะหลีกออกจากเคหะสถานละสุขสมบัติกามารมณ์ประพฤติพรตพรหมจรรย์เสียได้ 
ก็เพราะเห็นโทษว่าตนตกอยู่ในที่ล้อมแห่งข้าศึกทั้ง๔ กองเหล่านี้

ถ้าเราเพ่งดูความจริงให้ชัดใจแล้ว ก็จะเห็นชาติความเกิดเป็นตัวทุกข์ 
เพราะเป็นฐานที่ตั้งแห่งความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย และความเศร้าโศก คร่ำครวญ ทนยาก ลำบาก คับแค้น อัดอั้นตันใจ 
เต็มไปอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็เพราะชาติทุกข์นี้เองเป็นเหตุ

ชราความแก่
นี้เล่าก็เป็นตัวทุกข์สำคัญส่วนหนึ่ง เพราะความแก่เจริญหนักขึ้น ก็แสดงกายวิการต่าง ๆ คือตามืด หูหนัก ฟันหัก แก้มตอบ
มีกำลังอันทุพพลภาพจะประกอบกิจการงานใด ๆ ย่อมข้องขัดตัดความต้องการเสียทั่วไปได้รับทุกข์ โทมนัส อุปายาส ต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เพราะชราทุกข์เป็นเหตุ

..........ส่วนพยาธิความป่วยไข้นี้เล่า ก็เป็นตัวทุกข์สำคัญอีกโสดหนึ่ง เพราะทุกขเวทนาที่
จะปรากฏขึ้นในสกลกาย มีปวดหัวเจ็บท้องและร้อนหนาวเป็นต้น ได้รับทุกข์โทมนัสอุปายาสต่างๆ ก็เพราะพยาธิความป่วยไข้เป็นต้นเหตุ

ส่วนมรณะความตายนั้นเล่าก็เป็นตัวทุกข์สำคัญอีกโสดหนึ่งเหมือนกัน
เพราะชีวิตร่างกายจิตใจเป็นของรัก ความเป็นอยู่ได้เสมอไป ย่อมเป็นที่พอใจทั่วกัน ความตายเป็นสิ่งที่ไม่พอใจอย่างเอก 
เพราะสิ่งที่ไม่พอใจมามีขึ้น ก็เป็นหน้าที่จะต้องทุกข์โทมนัสคับแค้นใจอยู่เอง เพราะเหตุนั้น มรณะคือความตายจึงเป็นตัวทุกข์ส่วนหนึ่ง ดังนี้

..........ถ้าจะว่าไปตามความเป็นจริง ทุกข์ทั้ง ๔ กองนี้ ต้องนับว่าเป็นของมรดกตกมาแต่บิดามารดาตรงทีเดียว

ความจริงบิดามารดาท่านก็ไม่ชอบ ท่านชอบแต่เกิดเท่านั้น ส่วนแก่ ไข้ เจ็บ ตาย ท่านเกลียดที่สุด 
แต่ไฉนจึงต้องมอบให้แก่เราด้วย น่าพิศวงนักหนา ถ้าจะว่าท่านรักเราที่สุดก็ชอบ เพราะท่านทำนุบำรุงเลี้ยงดูเรามาอย่างประณีตที่สุด
ถ้าจะว่าท่านเกลียดเราที่สุดก็ชอบ เพราะท่านรู้อยู่แล้วว่าความแก่ไข้เจ็บตายมีมาเพราะความเกิด
ต่างว่าบุรุษคนหนึ่งเป็นขี้เรื้อนกุฏฐัง รู้อยู่ว่าถ้าเรามีภรรยาเกิดบุตรขึ้น ก็คงจะเป็นขี้เรื้อนกุฏฐังเช่นตัวเราเป็นแน่
เราทนวิบากรับผลของกรรมจำเพาะแต่ตัวคนเดียวให้สิ้นเรื่องไปดีกว่า อย่าให้โรคนี้ไปติดต่อ
กับบุตรอีกเลย คิดอย่างนี้สู้ทนไม่มีภรรยา ไม่ให้โรคนั้นติดต่อได้ ถ้าเช่นนั้นควรชมได้ว่าเป็นผู้คิดชอบมิใช่หรือ

ก็โรคคือ ความแก่ ไข้ เจ็บ ตาย นี้ จะมิร้ายกว่าโรคกุฏฐังอีกหรือ จะว่าบิดามารดาโง่หรือฉลาดก็ตามใจ 
ว่าแต่จำเพาะตัวของเราดีกว่าคือว่าเราจะยอมให้มรดกอันชั่วร้าย ซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้แก่บุตรหรือไม่ 
เพราะส่วนบิดามารดาเป็นอดีตเสียแล้ว ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ แต่ส่วนตัวของเราเป็นปัจจุบันมีทางจะแก้ได้
ข้อนี้ควรผู้มีปัญญาจะพึงตรึกตรองหรือจะเป็นไปว่า ถ้าพร้อมใจกันไม่มีสามีภรรยาเสียด้วยกันหมด จะได้ใครสืบประเพณีต่อไปเล่า 
ข้อนี้ไม่ควรปรารภจะไปตรงกับสุภาษิตโบราณว่า “เกี่ยวหญ้ามุงทุ่ง”

นักปราชญ์ทั้งหลายผู้เห็นภัยในวัฏฏะท่านย่อมคิดจำเพาะตนเท่านั้น ถึงแม้โลกเขาร้องไห้เศร้าโศกทั่วไป 
ท่านไม่ยอมร้องไห้เศร้าโศกคนเดียวก็แต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เองเป็นตัววัฏทุกข์ บัดนี้เราชื่อว่าถูกล้อมอยู่แล้วไม่ใช่หรือ 
ก็ความเกิดเป็นเบื้องต้นเราเกิดมาเสียแล้ว ความตายเป็นเบื้องปลาย ความแก่ ความป่วยไข้ แนบอยู่สองข้าง
เราจะออกทางไหน ท่านทั้งหลายผู้เห็นโทษแห่งวัฏทุกข์นี้ ต่างคนต่างคิดหาทางออก จึงเกิดมีความเห็นต่าง ๆ กัน

พวกหนึ่งชื่อว่าสัสสตาสยะ เห็นว่าความเกิดเป็นของเที่ยงเคยเกิดเป็นอะไรก็จะต้องเกิดเป็นสิ่งนั้นร่ำไป แต่ตัวก็ไม่พ้นตาย
อีกพวกหนึ่งชื่อว่าอุจเฉทาสยะ เห็นว่าตายแล้วสูญ ความรู้ความคิดที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้เป็นแสงของดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมกันอยู่นี้เท่านั้น 
ถ้าธาตุทั้ง ๔ แตกจากกันเสียแล้ว ความรู้ความคิดก็ดับไปหมด ชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ แต่ตัวก็จะต้องตาย

อีกพวกหนึ่งชื่อว่า อนุโลมิกขันตยาสยะ มีความเห็นไม่แน่นอนตามเขาไปอย่างนั้นเอง จะเห็นว่าตายแล้ว
ต้องเกิดอีกก็ไม่แน่ จะเห็นว่าตายแล้วสูญไปก็ไม่แน่อดทนไปตามเขาอย่างนั้นเอง ชื่อว่าอนุโลมิกทิฏฐิแต่ตัวก็จะต้องตาย
เจ้าทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ออกจากที่ล้อมไม่ได้ต้องยอมตายชื่อว่าตายในที่ล้อม ตายในห่วง ตายในสมมติ จึงชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ


อีกพวกหนึ่งชื่อว่า ยถาภูตญาณาสยะ มีความเห็นตามความเป็นจริง อย่างไร คือในเบื้องต้นเมื่ออวิชชาเป็นปัจจัย เห็นว่าความเกิดเป็นอดีต 

คือเกิดมาเสียแล้วส่วนความแก่ ความป่วยไข้ ความตายนั้น เป็นอนาคต คือยังไม่มาถึงตัวซึ่งไม่มีเกิด แก่ ป่วย ไข้ เจ็บ ตายนี้เป็นปัจจุบันจึงเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา ๓ 
ความเกิดซึ่งเป็นอดีตเป็นกามตัณหา ตัวที่เป็นปัจจุบันซึ่งไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เป็นภวตัณหา ความแก่ไข้เจ็บตายซึ่งเป็นอนาคตนั้นเป็นวิภวตัณหา
เมื่อตรองได้ความชัดว่า ตัวของเราตกอยู่ในอำนาจของตัณหาทั้ง ๓ แน่นอน ตัณหาทั้ง ๓ นี้ ท่านให้ชื่อว่า สมุทัยอริยสัจ 
เพราะไม่รู้จักเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าเป็นตัวสมุทัยนี้เอง เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงกลายเป็นทุกขอริยสัจขึ้น

เมื่อตรวจตรองจนรู้จักหน้าตาของทุกข์และสมุทัยจนชัดใจแล้วก็จะต้องค้นหาทางละทางวาง หาทางปล่อย หาทางออกจากตัณหานั้น
จะละจะวางจะปล่อยจะออกทางไหน โบราณท่านว่าขึ้นต้นไม้สุดยอดแล้วจะไปทางใด ก็ได้ความว่า ขึ้นทางใดก็ต้องลงทางนั้น มาทางใดก็ต้องกลับทางนั้น
อันตัวของเรานี้มาทางเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฉะนี้แล้วจะออกทางอื่นไม่ได้ ต้องออกทาง เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้เองจึงจะตรงเมื่อความแน่นอนเกิดขึ้นแก่ใจฉะนี้แล้ว 
จะต้องตรวจดูความเกิด คำที่ว่าชาติความเกิดนี้ จะหมายความเอาเป็นแน่ลงในเวลาใด ทำไมจึงจะขีดลงได้ว่านี่แหละชื่อว่าชาติความเกิด
เมื่อไม่เข้าใจ ให้ระลึกถึงปฏิจจสมุปบาทธรรมที่ว่า “ภวปจฺจยา ชาติ” ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติดังนี้
คำที่ว่าภพนั้นก็คือ ความเป็นความมีแห่งสกลกายอันนี้เอง เมื่อสกลกายมีอยู่ก็ชื่อว่ามีภพ เมื่อมีภพเป็นแดนเกิดอยู่แล้ว ชาติก็ต้องหมายเอาที่ภพนี้เอง 
ก็จะเห็นได้ว่าเราเป็นตัวภพตัวชาติ เมื่อภพปรากฏอยู่เพียงใดชาติก็ย่อมปรากฏอยู่เพียงนั้น 
ที่เราบริโภคอาหารหรือผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นต้น ก็คือบำรุงชาติความเกิดนั้นเอง ก็จะเห็นได้ว่าเราเกิดอยู่เสมอทุกขณะลมหายใจเข้าออก 
เมื่อชาติความเกิดที่เป็นปัจจุบันซึ่งเป็นของจริงนี้ปรากฏชัดขึ้นแก่ใจของเราได้ในกาลใด 
ชาติความเกิดที่เป็นอดีต ซึ่งตนเคยเข้าใจมาแต่ก่อนนั้นก็จะดับไปในกาลนั้น 
เมื่อเห็นชาติความเกิดซึ่งเป็นปัจจุบันโดยชัดเจนได้แล้ว 
ก็จะเห็นชราความแก่ พยาธิ ความป่วยไข้ มรณะความตายซึ่งเป็นปัจจุบัน อยู่ด้วยกันมีด้วยกัน พลัดพรากจากกันไม่ได้ 
เมื่อความเห็นอันนี้ชัดใจแล้ว ส่วนชรา พยาธิ มรณะ ซึ่งเคยเข้าใจว่าเป็นอนาคตนั้นก็จะดับไป ยังเหลืออยู่แต่ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ซึ่งเป็นปัจจุบันเป็นตัวมรรค

อาการที่เห็นว่าชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นอดีตบ้าง เป็นอนาคตบ้าง 
และเห็นตัวของเราเป็นปัจจุบัน ว่างจากชาติชราพยาธิมรณะด้วยนั้นแล เป็นทุกข์ด้วยเป็นสมุทัยด้วย 
อาการที่เห็นชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นปัจจุบันธรรม คือเป็นตัวเรา หรือตัวเราเป็นชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ตรงทีเดียว นั่นแลเป็นนิโรธด้วย เป็นมรรคด้วย

เมื่อมรรคภาวนาอันโยคาวจรเจ้าเจริญให้เกิดให้มีขึ้นเต็มที่ เป็นสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ ขึ้นได้ในกาลใด 
ญาณทัสสนะเป็นเครื่องวินิจฉัยว่านี่โลก นี่ธรรม นี่สมมติ นี่บัญญัติ ก็จะปรากฏขึ้นแก่โยคาวจรเจ้าในกาลนั้น คือบรรลุวิมุตติธรรมนั้นเอง 
ชื่อว่าท่านออกจากชาติชราพยาธิมรณะได้โดยดี ด้วยวิชชาและวิมุตติ

ด้วยอาการอย่างนี้ ท่านจึงมีนามว่า เขมี ผู้เกษมจากโยคะ, อเวรี ผู้หาเวรมิได้, อภโย ผู้หาภัยมิได้, 
ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ” นักปราชญ์ในโลกจึงให้เกียรติคุณแก่ท่านจำพวกนั้นว่าบัณฑิต ๆ ดังนี้

ท่านจำพวกนี้ ชื่อว่า ยถาภูตญาณาสยะ คือออกจากที่ล้อมแห่งข้าศึกด้วยญาณทัสสนะ คือตัวยถาภูตญาณ เป็นผู้ออกตัวได้ ไม่ยอมตายในสมมติ
เพราะเหตุฉะนั้น จึงเป็นผู้สมควรนักหนา อันพวกเราทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทจะพึงดำเนินตาม แต่พึงเข้าใจว่าทางหนีทางสู้เหล่านี้จะปรากฏขึ้นได้
ต้องอาศัยกิจจญาณ คือปฏิบัติ ตัวภาเวตัพพธรรมเป็นมรรคภาวนา ได้แก่การทำให้พระอัฏฐังคิกมรรคบริบูรณ์ขึ้นเต็มที่แก่ตนเป็นข้อสำคัญ
..........ได้บรรยายในพุทธภาษิตคาถาแสดงกายนครตามพุทธภาษิตและอัตโนมัตยาธิบายพอเป็นทางแห่งความดำริ 
แก่พุทธบริษัทโดยสังขิตนัยด้วยประการฉะนี้.
................................