วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กลอนธรรมะ หลักธรรมนำชีวิต ควรคิดปฏิบัติ

..หลักชีวิต คิดปฏิบัติ..


แม้นจะอยู่ เหนือฟ้า ใต้บาดาล

ยมบาล ก็มองเห็น อยู่เช่นนั้น

ไม่ว่าไพร่ ผู้ดี มิเลือกวัน

เมื่อตามทัน ไม่มีรอด ทอดกายา

วันที่เกิด รู้ได้ วันไหนแน่

แม้จะแก่ ไปกี่ปี มีวันหา

แต่วันตาย ใครรู้ได้ วันไหนนา

คิดไปมา พาสังสัย ให้ทายเอย


ยามกำเนิด เกิดจาก รากบุญเก่า

ก่อนไปเผา กระทำช่วย ด้วยบุญเหวย

แม้นไม่สร้าง ไม่ก่อ พอคุ้นเคย

วันล่วงเลย หมดโอกาส ก็ขาดทุน

อย่ามัวแต่ นั่งนอน ถอนบุญเก่า

ให้น่าเศร้า มอดมลาย หายหมดสูญ

ไม่เร่งหา สะสมไว้ ให้เพิ่มพูน

คงอาดูล น่าเสียดาย เพราะตายฟรี


เกิดเป็นคน นั้นแสนยาก อยากให้รู้

มีเต่าอยู่ ใต้สุด สมุทรศรี

ตาก็บอด กว่าคนเห็น เป็นร้อยปี

โผล่มาที สู่ผิวน้ำ แล้วดำลง

มีห่วงคอ ลอยล่อง ผิวท้องน้ำ

หากเต่าตำ ทะลุห่วง ไม่ล่วงหลง

คือโอกาส เป็นมนุษย์ สุดมั่นคง

ถ้าไม่ตรง คงเป็น เล็นแมลง


เมื่อเป็นคน ให้รู้ อยู่ดีชั่ว

อย่าเมามัว ตามกิเลส วิเศษแสง

มัวเห็นยักษ์ เป็นนางฟ้า มาจำแลง

ไม่เคลือบแคลง ก็วิบัติ สมบัติพัง

เพราะบุญบาป ที่พาให้ ไปข้างหน้า

จิตนั้นหนา นั่งบนแคร่ แต่หนหลัง

สี่คนหาม สามคนแห่ แน่หรือยัง

ยามกายพัง ยังพึ่งคุณ บุญบาปเรา


หากรู้ความ จงหามิตร มาคิดคบ

ให้รู้จบ ควรคบไหม ให้เฉลา

อย่าไปคว้า มิตรชั่วๆ พามัวเมา

มิตรจะเผา ทรัพย์หมด จนอดตาย

มิตรที่ดี มีมาก ไม่ยากหา

ใช้เวลา ดูถ้วนถี่ มีสุขหลาย

มีเพื่อนกิน มากเป็นมอด พาวอดวาย

มีเพื่อนตาย เพียงหนึ่งคน ล้นเกินพอ


ว่าถึงคน โง่เขลามี สี่พวกหนา

หนึ่งชีวา มีเหมือนไร้ ใกล้ตายหนอ

ใช้ชีวิต โดยประมาท ขาดดีพอ

ไม่สร้างทอ บุญกุศล ผลอันใด

สองมีตา เหมือนไม่มี ดีไม่เห็น

หลงประเด็น ยึดมั่นตัว ของตัวไว้

สามมีทรัพย์ เหมือนคน ยากจนไป

ทานไม่ให้ หวงมาก จึงยากนาน

สี่ศาสนา มีอยู่ ไม่รู้ค่า

ไม่เสาะหา แก่นแท้ แก้สงสาร

หากรู้ว่า ตัวยังหลง จงแก้การณ์

ให้พ้นผ่าน เป็นคนเขลา เข้าสู่ทาง


อีกสี่พวก คนหลง จงตระหนัก

พวกหนึ่งรัก แต่คนอื่น ตื่นเคว้งคว้าง

พวกหนึ่งไม่ หาของไว้ ใช้กลางทาง

พวกหนึ่งสร้าง ของไม่ดี มีติดตัว

พวกหนึ่งทาง เตียนมี หนีเข้ารก

จึงหยิบยก มาไว้ ให้ทูลหัว

ใช้แก้ไข อย่าไป ใช้แก้ตัว

หลงเมามัว ไม่ดีหรอก บอกให้เอย


จะอรรถา ธิบาย ขยายความ

บุคคลตาม ที่กล่าว เล่าเฉลย

ว่าคนมี ชีวิต คิดละเลย

ทำเมินเฉย ดีไม่คิด ชีวิตตาย

ไม่รู้จัก บุญกุศล ผลอันเลิศ

ถึงจะเกิด เหมือนไม่เกิด ประเสริฐหาย

ดั่งคนมี ชีวิต แต่จิตตาย

ชีวาวาย ทั้งที่ มีชีวิต

ส่วนคนมี ดวงตา เหมือนตาบอด

พวกนี้กอด ยึดกาย ไม่หน่ายคิด

ด้วยปัญญา หามีไม่ ไปยึดติด

มองชีวิต ว่าของเรา ไม่เข้าใจ

อีกพวกมี ทรัพย์มาก เหมือนยากแค้น

พวกนี้แสน แหนหวง ปวงทรัพย์ไว้

ไม่คิดเสีย สละ ให้กะใคร

ถึงรวยได้ ไร้ประโยชน์ โปรดคิดตรอง

อีกพวกนั้น ได้ประสบ พบศาสนา

ไม่ศึกษา เข้าใกล้ธรรม ทำจองหอง

จึ่งเป็นคน นอกศาสนา พาตรึกตรอง

นี่จำจอง คนโง่หลง จงอย่าเป็น

กับอีกสี่ จำพวก ผนวกลง

พวกหนึ่งหลง คนอื่นนัก ต้องรักเร้น

ตัวของตัว ใยรัก ไม่ยักเป็น

ติดขี้เหม็น ของคนอื่น ชื่นหัวใจ

อีกพวกหนึ่ง ไม่ขวายขวน ของควรหา

ใช้พึ่งพา ทางกันดาร ทรมานได้

ขวนขวายหา แต่สิ่ง ต้องทิ้งไป

เอาไปใช้ ไม่ยักได้ ในยามตาย

อีกพวกหนึ่ง หาแต่บาป สิ่งหยาบช้า

ที่นำพา ไปแล้ว แคล้วสลาย

ทำแต่บาป อกุศล จนวอดวาย

ครั้นยามตาย ได้ติดตัว ชั่วบาปกรรม

พวกสุดท้าย ทางเตียนมี ที่เรียบเรียบ

หากจะเทียบ กุศลหนา พางามล้ำ

ถ้าเผลอไผล ไหลออก นอกทางธรรม

คงระยำ เข้ารก นรกไป


อันว่าทาง อย่างที่เตียน จะเขียนบอก

กุศลดอก สิบอย่าง สร้างเอาไว้

เรียกกุศล กรรมบท ทศสิบไง

ป้องกันภัย เป็นทางเตียน เพียรจดจำ

แบ่งได้เป็น สามหมวด ขมวดให้

ทั้งทางใจ ทางวาจา กายากรรม

ทางกายนั้น มีสาม ห้ามล่วงล้ำ

วจีกรรม มีสี่ ที่ควรเป็น

ส่วนมโน มีสาม ตามท่านว่า

คือโลภา อยากได้ ไม่วายเว้น

อีกพยาบาท ปองร้ายใคร ให้เป็นเวร

ทั้งความเห็น ให้ถูกต้อง ตามคลองทาง

กายกรรม สามอย่าง ต่างควรเห็น

ฆ่าสัตว์เป็น จากชีวิต ปลิดชีพล้าง

ลักขโมย จี้ปล้นใคร ไม่ละวาง

ละเมิดทาง ต่างเพศ เหตุไม่ควร

วจีกรรม มีสี่ ให้หนีห่าง

โกหกวาง หน้าตาย ให้หน่ายหวน

พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ละเมอครวญ

ด่ากลับสวน ด้วยคำหยาบ บาปอย่าทำ

ทั้งสิบนี้ หากละเว้น เป็นกุศล

เป็นทางคน เดินเรียบ เปรียบงามขำ

ส่วนตรงข้าม ตามที่กล่าว ฉาวระยำ

ทางรกตำ หนามเหน็บ เจ็บจนตาย


อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งยก ตกต่อมา

ควรรู้ว่า ดีชั่ว ทั่วความหมาย

แม้คนดี ให้รู้ดี ที่สบาย

คนใดร้าย รู้ว่าร้าย คลายกังวล

หากไม่รู้ พาพิกล อลมาน

คนดีพาน ไปด่าว่า น่าสับสน

คนชั่วช้า สรรเสริญ เพลินวกวน

ไม่รู้คน ใดมีคุณ ขาดทุนจริง

คนมีคุณ น่าเลื่อมใส ไม่เลื่อมใส

แต่กลับไป ศรัทธาล้น คนผีสิง

ผิดเช่นนี้ พาหลงแน่ สิ่งแท้จริง

ไม่เป็นมิ่ง ทางเจริญ เมินเถิดเรา

หลงเช่นนี้ จึงพลาด ขาดที่พึ่ง

ตนเองซึ่ง ควรพึ่งตน ให้พ้นเขลา

พึ่งกุศล ก่อร่าง สร้างใจเรา

เป็นหลักเสา ที่ปลอดภัย ให้ตนเอง


เกิดเป็นคน ตั้งตนไว้ ในความชอบ

อันประกอบ ด้วยศรัทธา ไม่พาเคว้ง

อยู่ในศีล มีสุตตะ จาคะเอง

ปัญญาเบ่ง บริสุทธิ์ ดุจดารา

หากไม่ตั้ง ตนไว้ ในทางถูก

เป็นดั่งถูก ราชทัณฑ์ นั้นแลหนา

เกิดเป็นคน ก็เสียชาติ พบศาสดา

ไม่นำพา ผลประโยชน์ ได้โทษแทน


เพราะเกิดได้ ยากเย็น เป็นมนุษย์

บุญบริสุทธิ์ นำให้เกิด บรรเจิดแสน

เกิดมาแล้ว ต้องต่อเติม เพิ่มบุญแทน

จึงถึงแดน เกษมสุข ปราศทุกข์ภัย

อย่างน้อยน้อย สิ่งควรถือ คือศีลห้า

เป็นของพา นำคน ไม่จนไร้

กุศลกรรม บทสิบ รีบสร้างไป

ทรัพย์ของใคร ก็ของมัน หมั่นสร้างเอา


เกิดเป็นคน สิ่งควรมั่น นั้นคือสติ

อย่าไปริ ตามลมปาก มากของเขา

จงตรึกตรอง ตามธรรม นำจิตเรา

พ้นมัวเมา สิ่งสมมุติ พบพุทธจริง

พระพุทธเจ้า ทรงตรัส ดำรัสแจ้ง

ผู้ใดแทง เห็นธรรม ล้ำทุกสิ่ง

เหมือนได้เห็น พระองค์ ดังองค์จริง

นี่คือสิ่ง พระองค์ ทรงรับรอง

คนบนโลก น้อยคนนัก จักเห็นธรรม

จึงพูดงำ ออกนอกทาง ต่างทั้งผอง

เราได้ฟัง ควรพินิจ พิจไตร่ตรอง

จึ่งจะครอง สติตน พ้นอาลัย

หากเห็นทาง สู่นิพพาน ต้องหาญสู้

ตั้งศีลสู่ สมาธิ สติอาศัย

ทำปัญญา วิปัสสนา พาวิจัย

ดูภายใน กายให้แจ้ง แจงให้ดี

อย่าไปหลง กลสังขาร ที่ผลาญสัตว์

สร้างบัญญัติ ให้ยึดถือ คือวิถี

ทั้งความรัก ความชัง ขังชีวี

เพลิงโลกีย์ เผาจิตมอด จนวอดวาย

อวิชชา สร้างให้หลง คงมีสี่

ดูให้ดี หลงรัก มักสลาย

หากหลงชัง พังได้ ให้ทลาย

หลงตัวหลาย หลงกลัวภัย ให้คิดดู

แหวกความหลง ตรงที่ มีไตรลักษณ์

คือประจักษ์ ความไม่เที่ยง เพียงให้รู้

สรรพสิ่ง ล้วนเป็นทุกข์ ฉุกคิดดู

ไม่ทนอยู่ เหลืออะไร ไร้ตัวตน

หากคิดได้ ทันสมมุติ สุดประเสริฐ

ปัญญาเกิด แจ่มใส ไม่สับสน

นั่นแลหนา ที่พึ่งพา ปัญญาตน

จึงจะพ้น สงสาร พากันเพียร


ความวิบัติ ของคน ด้นหกอย่าง

คติอ้าง คือกำเนิด เกิดหันเหียน

พ้นจากชาติ มนุษย์แล้ว แคล้วได้เรียน

ไม่อาจเพียร ตามรอยบาท พระศาสดา

อีกวิบัติ กาลเวลา มาไม่ตรง

เกิดไม่ลง ช่วงพอดี มีศาสนา

แม้เกิดทัน แต่ประเทศ อาเพศพา

อดศึกษา ก็วิบัติ ขัดเคืองไป

หากเกิดใน ประเทศ เพศถือพุทธ

แต่สะดุด เกิดในบ้าน เป็นพาลไซร้

เขาจะพา กีดกั้น กันเราไป

นี่จึงไม่ มีโอกาศ ก็ขาดทุน

แม้เกิดใน ตระกูล พูนกุศล

แต่ว่าตน เป็นบ้าใบ้ ไร้บุญหนุน

ปฏิบัติ ไม่ได้ ใกล้หมดบุญ

อุปธิคุณ วิบัติ เคืองขัดจริง

แม้เกิดมา ได้ครบ จบที่กล่าว

แต่จิตฉาว ด้วยทิฎฐิ สติทิ้ง

ไม่เข้าใกล้ ไม่ศึกษา พาพึ่งพิง

ทั้งหกสิ่ง ทำวิบัติ ตัดมรรคา

หากเราพ้น วิบัติได้ ในทั้งหมด

จิตใสสด บริสุทธิ์ ดุจเวหา

ดำรงศีล มั่นกุศล ดลนำพา

พระศาสดา คงได้พบ ประสบเอย


จะสรุป ความให้ เก็บไปคิด

แก้หลงผิด สุขใจ ได้เสวย

ก็สมบัติ ทั้งปวง อย่าห่วงเลย

มันแค่เคย ผ่านมา พาผ่านไป

มันไม่ใช่ ของเรา เอาแท้แท้

มันก็แปร ผันอยู่ คู่โลกไซร้

เราเพียงแค่ อาศัยมัน วันวันไป

ของเพียงใช้ ใช่เจ้าของ ของของมัน

หากละได้ เพียงนี้ มีคุณค่า

เป็นโสดา ปฏิมรรค จักรังสรรค์

หากยึดอยู่ ไปดูหา ป่าช้านั่น

ของใครกัน ถามดู อยู่ที่เมรุ

ถามบ้านนี้ รถนั้น นั่นของใคร

เสียงข้างใน เตาตอบมา ของตาเถร

คนถามอยู่ ข้างนอกว๋าย เป็นมายเกรน

ทั้งพระเณร คงแตกตื่น ไม่ชื่นใจ

ยามชีวิต ยังไม่ละ เร่งสะสม

รีบระดม สร้างกุศล ผลบุญไว้

สิ่งเป็นบาป ปราบพยศ ให้หมดไป

เราจึงได้ สมบัติแน่ ของแท้จริง

สมบัติโลก สมบัติธรรม นำไปต่าง

คนละทาง ยามชีพม้วย ช่วยหรือทิ้ง

สมบัติโลก หนีหายไป ไม่ได้อิง

กุศลสิ่ง ติดใจ ไปทุกทาง

เมื่อเกิดมา เป็นมนุษย์ พบพุทธะ

ในกาละ ศาสนา พากว้างขวาง

บ้านเมืองมี คำสอน ขจรกว้าง

ควรเร่งสร้าง ทิฏฐิ ผลิให้ตรง

ร่างกายเรา ยังสมบูรณ์ จำรูญหนา

ทั้งหูตา ก็ยังดี ไม่มีหลง

คบคนดี มีศีลธรรม ใจดำรง

เราก็คง งอกงาม ตามมรรคา

ขอฝากไว้ ประดับให้ ใจทั้งผอง

ลงในคลอง แห่งธรรม นำสุขหา

ขออวยพร ให้พ้น ดลนฤพา

ด้วยบุญญา บารมีนั้น นิรันดร์เถิดฯ

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

โคลง​โลก​นิติ​ แปล​ความ​จากท่านเจ้าคุณ​อุปาลี​คุณ​ูปมาจารย์​(จันทร์​ สิริจันโท)



โลกนิติ  แปลความจากคำกาพย์ภาษาลาวแปลของท่านเจ้าคุณ​อุบาลี​คุณูปมา​จารย์​ จันทร์​ สิริจันโท วัดบรมนิวาส

.. 


น้อมวันทา มาไหว้ ไตรรัตนะ

ขอเดชะ บุญญา บารมีช่วย

ทั้งพรหมา อีกเทวา พาอำนวย

คุณครูด้วย ช่วยชี้ ศรีวาจา


คุณพ่อแม่ ขอระลึก ให้ลึกล้ำ

เป็นลำนำ คำสอนเลิศ​ ประเสริฐ​สา

ทั้งอินทร์​พรหม ยมยักษ์​ รักบูชา​

รุ่นพี่ยา มาช่วย อำนวยพร


ด้วยคาถา บาลี มีมานาน

เป็นโบราณ ธรรมเนียม​ ได้เสี่ยมสอน

จะดัดแปลง แต่งทำ เป็นคำกลอน

มิให้คลอน คงความรู้ อยู่ไปนาน


สัจจธรรม​ สิ้นซาก จากดวงจิต

กระทำผิด นักปราชญ์​ ฉลาดขาน

จึงได้ทุกข์ ระทมใจ ไปอีกนาน

อย่าเป็นพาล ผลาญกุศล ตราบจนตาย


จะขอเอา คำโคลง โลกนิติ

ชุบชีวิต แปลงคำลง คงความหมาย

ใครได้ฟัง ทำตาม ความสบาย

จะเกิดไป ทุกภพ จบสกนธ์​


จะเจริญ สุขล้ำ ในคำสอน

จะว่านอน สอนง่าย สบายล้น

จะสืบไป ได้อีกนาน ลูกหลานตน

จะเป็นคน รุ่งเรือง​ เปรื่องปัญญา​


อันผู้แต่ง เรียกขาน ญาณรักขิต

อยู่สถิต บรมนิวาส ศาสนา

ปัจจุบัน​ รู้จัก​ดี มีชื่อว่า

พระอุปบา ลีคุณู ปมาจาร


อันตำแหน่ง​ นี้รับ กับกษัตริย์​

เฉลิมพัตร ยศไว้ ได้กล่าวขาน

ลำดับห้า ตราไว้ ในรัชกาล

จะสืบสาน คำบัณทิต​ ให้ติดใจ


อันบ้านเกิด อยู่ลือเลื่อง​ เมืองอุบล

ชื่อแห่งตน มหาจันทร์ บ้านหนองไหล

คิดถึง​ชน ภายหน้า สายตาไกล

จึงตั้งใจ ประกอบความ ตามปัญญา


แต่งคำสอน เป็นสมบัติ คงสัตย์​ไว้

ลูกหลานได้ มั่นคงไป ในภายหน้า

มิได้จด ลิขสิทธิ์​ ติดราคา

ทำถูกหนา ค่าคงอยู่ คู่ฟ้าดิน​


ใฝ่ประโยชน์​ ให้จำ ในคำสอน

อย่าพึงถอน อย่าลบหลู่​ อย่าดูหมิ่น

เพราะความรู้ มีคุณค่า กว่าทรัพย์สิน​

ใช้ไม่สิ้น รู้ให้จำ ทำให้เป็น


จะขอกล่าว ตามบท ให้จดจำ

จะขอนำ คำบาลี ที่ได้เห็น

มาแปลออก ขยายความ ตามจำเป็น

ให้ร่มเย็น ผู้ปราดเปรื่อง​ เรืองปัญญา​


 ๑. ท่านผู้แต่ง แต่โบราณ​ ท่านริเริ่ม

บาลีเดิม เริ่มแรกสุด  พุทธโฆษา

ท่านน้อมไหว้ พระพุทธะ จะบูชา

น้อมนำมา อาศัยใน ใจของตน

พุทโธเป็น บรมปราชญ์​ ฉลาดสอน

คัดตัดตอน นำธรรมะ ประเสริฐ​ล้น

พระองค์​ผู้ รู้ซึ้ง​ใน น้ำใจคน

ทศพล พาพ้นภัย ไปนิพพาน​


 ๒. สัจจธรรม​ เหนือโลก เหนือโศกเศร้า​

ช่วยกล่อมเกลา​ จิตใจ​ ให้สืบสาน

มิให้ตก ไปในชั่ว มัวซมซาน​

ขอลูกหลาน​ หมั่นเพียร เรียนจดจำ


 ๓. คนที่ดี แต่ปาก มากอวดรู้

พูดลบหลู่​ คำประเสริฐ​ ที่เลิศล้ำ

มิเข้าใจ ไกกล ผลของกรรม

ว่ากระทำ สิ่งใด ได้ร่มเย็น

มักนำเอา ความเห็นตน พ่นออกปาก

ทำปากมาก ปากเต่าปลา ตาไม่เห็น

พูดไปแล้ว ต้องระกำ ต้องลำเค็ญ​

เปรียบ​ดั่งเช่น เล่นกับไฟ ไม่รู้เลย


 ๔. อันผู้ปราชญ์​ ฉลาดพูด สูตร​สำเร็จ​

เพราะรู้เสร็จ​ รู้รอบ ครอบเฉลย

พูดลึกซึ้ง​ ถึงทาง อย่างคุ้นเคย​

รู้เปรียบ​เปรย ให้ได้คิด ปิดอบาย


 ๕.ของไม่งาม ไม่ดี มีหลายอย่าง

สระน้ำว่าง น้ำแล้ง แห้งสูญหาย

นครใหญ่ ไร้ผู้นำ ทำลายง่าย

ต้นไม้ร้าย ใบหายหด หมดร่มเย็น

เลี้ยงวัวใหญ่ ไร้นม ระทมลูก

สาวไม่ปลูก ศักดิ์ศรี​ มีแต่เข็ญ

กล่าววาจา มุสาคำ ต้องลำเค็ญ​

ให้พูดเป็น เห็นโทษ โปรดจดจำ


 ๖. เป็นบัณฑิต​ คิดเพียร เร่งเรียนเถิด

ทำให้เกิด ผลเลิศ ประเสริฐ​ล้ำ

อย่าประมาท​ รู้จักไว้ ใช้ประจำ

ด้วยเพราะธรรม ร่มเย็น เป็นอาภรณ์


 ๗. สิ่งที่เย็น เย็นไหน ไหนจะเท่า

เย็นร่มเงา คำปราชญ์​ ฉลาดสอน

เย็น​แสงดาว เงาไม้ ไม่แน่นอน

เพราะคำสอน เย็นใจ ไปนิรันดร์​


 ๘. อันรสหวาน หวานอ้อย สาวน้อยหวาน

กินสำราญ​ มิยักอิ่ม ยิ้มกระสัน​

แต่มันไม่ เที่ยงแท้ แน่นิรันดร์​

เสื่อมทุกวัน​ แล้วก็ดับ ลาลับไป

รสคำสอน หวานจิต ไม่คิดเบื่อ

ศรัทธา​เชื่อ ถือมั่น ไม่หวั่นไหว

แก้ปัญหา​ สารพัน นั้นหวานใจ

สงบได้ รสธรรม ใจดำรง​


 ๙. อันรสทุกข์​ ในสงสาร นานอักโข

ต้องอดโซ​ เจ็บตาย ไม่หน่ายหลง

ขาดคำสอน ไม่รู้จัก ที่จักปลง

ท่านสอนตรง ช่องชี้ ที่นิพพาน​


 ๑๐. อันเจ็ดอย่าง ท่านว่าไว้ เรียนไม่ขึ้น

1.เป็น​สัตว์อื่น 2.คนประมาท 3.คนขลาดคร้าน

4.คนป่วยไข้ 5.คนมักง่าย ไม่ได้​การ

6.คนชอบค้าน 7.คนเห็นผิด คิดไม่เป็น


 ๑๑. คุณ​สมบัติ​ แห่งศิษย์​ เร่งคิดอ่าน

หนึ่งอย่าด้าน ดื้อไป ให้ขุกเข็ญ

สองตื่นก่อน นอนหลัง ทั้งเช้าเย็น

สามอย่าเป็น คนผิดเถียง ทำเสียงดัง

สี่อย่าเบี่ยง บ่ายงาน อาจารย์​สอน

ห้าถาวร ใจหมั่น ขยันมั่ง

หากทำได้ ทั้งห้า ดูน่าชัง

ในอุรัง ให้ครูรัก ประจักษ์​ทรวง


 ๑๒. เร่งคิดเรียน เรียนให้จริง ทุกสิ่งสิ้น

อย่าตีกิน เรียนพอผ่าน ผลาญเงินหลวง

แก้ปัญหา ไม่ได้​ ให้เจ็บทรวง

เหมือนคนลวง ทำข้าวเม่า(ข้าวอ่อน) แทนข้าวกิน(ข้าวแก่) 


 ๑๓. มีเงินทอง ไปกองอยู่ บ้านผู้อื่น

เดือดร้อน​ขึ้น หาไหน ไม่ทันกิน

อันความรู้ เรียนไว้ ใช้ไม่สิ้น

เก็บศาสตร์​ศิลป์​ ใส่ในตู้ รู้ไม่ทัน


 ๑๔. ในโลกนี้ มิรู้ อยู่​สองอย่าง

หนึ่งรักสร้าง ดีให้คู่ ศัตรู​นั้น

หนึ่งด่าทอ ต่อครู ผู้ให้ปัน

ผลกรรมมัน แสบใส้ ไร้ปัญญา​


 ๑๕. คนเห็นทราย ว่าเพชรหิน ได้ยินบ่อย

คบคนถ่อย ว่าเลิศ ประเสริฐ​สา

สัตว์​นรก ไร้ศีล หมิ่นปัญญา​

เหมือนคนหา ทรายแต่ง แข่งเพชรงาม

คนเห็นเพชร ว่าเพชร เด็ดประเสริฐ​

ให้บรรเจิด คบบัณฑิต​ จิตล้นหลาม

มีแต่ได้ คุณค่า​ พยายาม

เหมือนคนงาม เพชรประดับ ดูจับใจ


 ๑๖. อันนักปราชญ์​ รู้ได้ ในสามสิ่ง

หนึ่งไม่อิง เอาของยาก ลำบากไซร้

สองไม่ร้อน ของฉิบหาย มาใส่ใจ

สามไม่ไร้ สติไกล เมื่อใกล้ตาย


 ๑๗. และคนพาล ก็รู้ได้ ในสามสิ่ง

หนึ่งหลงจริง มุ่นแต่กาม ทุกยามร้าย

สองกล้าเกิน กำลังน้อย คอยวันตาย

สามน่าหน่าย เถียงทุกสิ่ง ยิ่งอัปรา


 ๑๘. ดูคนถ่อย สามอย่าง อ้างให้เห็น

หนึ่งหน้าเป็น คันมือ ถือวิสา

เขาไม่เรียก เข้าบ้านเขา ด้านเข้ามา

พวกสองหนา หน้าด้าน ประจานตัว

ชอบอวดรู้​ รู้ไปหมด จนหมดรู้

พวกสามหลู่ ยกตน ไม่พ้นหัว

หลงแต่ตน พูดพล่าม ให้ลามนัว

เห็นพวกชั่ว ทั้งสาม ห้ามใกล้เอย


 
๑๙.หากคบเด็ก สร้างบ้าน โบราณ​ว่า

มันจะพา ล้มเหลว​ไหล ได้เยาะเย้ย​

เพราะเด็ก​มัน ปากเกลี้ยงแท้ แน่ชมเชย​

นี่แหละ​เหวย จงพิเคราะห์​ ให้เหมาะความ


๒๐. อันสำเนียง​ บอกส่อ ต่อภาษา​

กิริยา บอกส่อคุ้น สกุลขาม

มิตรสนิท เข้าขาได้ ไม่เลวทราม​

เนื้อตัว​งาม อ้วนพี บอกมีกิน


 ๒๑. ผลกรรมทำ ชั่วได้ ไปนรก

ท่านหยิบยก เห็นด้วยตา พายลสิ้น

คนยากไร้ ลำบาก ยากหากิน

อยู่ก็ดิ้น เหมือนนรก ตกทั้งเป็น


 ๒๒. เป็นบัณฑิต​ พึงรู้ อยู่ดีชั่ว

ระวัง​ตัว กลัวบาป สาปให้เห็น

ประจักษ์​ชัด ผลกรรม ละทำเวร

ประมาทเป็น​ สัตว์​นรก ตกอบาย


 ๒๓. หาคนดี มีหนา สิบห้าพวก

พวกหนึ่ง​พวก พ่อแม่ แลญาติ​หลาย

พวกที่สอง หมอยา พาสบาย

พวกสามทาย คำนวณ​สร้าง อย่างแม่นยำ

พวกสี่มี ยามรักษ์​อยู่ ผู้ซื่อสัตย์​

พวกห้าถนัด เขียนอ่าน ชำนาญ​แท้

พวกหกพา นิชย์​คล่อง ต้องเรียกแก

พวกเจ็ดแซ่ เศรษฐี​ มีทรัพย์​นอง

พวกแปดดี พ่อบ้านคิด รับผิดชอบ

พวกเก้านอบ วงศา ราชาสร้อง

พวกที่สิบ เสนามาตย์ อำนาจครอง

สิบเอ็ดต้อง นบไหว้ ในราชา

พวกสิบสอง สมณะ พระภิกษุ​

สิบสามจุ มากพระคุณ​ การุญ​หนา

พวกสิบสี่ ดีนักปราชญ์​ ชาติอาชา

พวกสิบห้า อาจารย์​ สานเรามา


 ๒๕. คนจะเป็น บัณฑิต​ ให้คิดคบ

รู้ให้จบ ดีชั่วไหม ให้เสาะหา

คบคนผิด ต้องมืดมัว ชั่วชีวา

พึงตรึกตรา ให้ถี่ถ้วน​ ทบทวนเอา


 ๒๖.สิ่งต่างต่าง บนโลกนี้ มีแปลกแปลก

ปูนาแยก หัวไร้ ไม่อับเฉา

ยังหากิน ใส่ท้องได้ สบายเล่า

คิดแทนเขา ชอบไปคาด ประมาทเอง

อีกงูนั้น ตัวเกลี้ยง หาเลี้ยงท้อง

ไวเป็นกอง​ เหมือนมีขา ไปมาเก่ง

นกกาไก่ เลี้ยงลูกได้ ไร้นมเอง

คนจึงเกรง ความมานะ พยายาม


 ๒๗. ความเมตตา​ พาโลกให้ ได้สงบ

ควรสยบ เวรเคยทำ กรรมทั้งหลาย

ให้อภัย ทุกสิ่งเถิด เพื่อนเกิดตาย

เขาสบาย เราก็วาง ไม่สร้างเวร

อย่าติดใจ เคยทำไว้ ในอดีต

เห็นชีวิต เขาตกยาก ลำบากเข็ญ

อนุเคราะห์​ เกื้อกัน อันจำเป็น

ได้บำเพ็ญ​ บารมี ที่ควรทำ


 ๒๘.คนมีใจ ใหญ่กว้าง​ อย่างแผ่นดิน​

มากทรัพย์สิน​ ในดินเลิศ​ ประเสริฐ​ล้ำ

สัตว์​ได้พึ่ง พักพิง อิงประจำ​

เราควรทำ ใจให้ ได้ดั่งดิน

บางคนอาจ ล้มคว่ำ ขมำหงาย

ถ่มน้ำลาย ด่าโทษ โกรธดินหิน

พสุธา​ ไม่ติงไหว ไม่ยลยิน

ไม่รู้​สิ้น เรื่อ​งบนโลก อย่าโศกไป


 ๒๙. พบคนพาล ระราน​ อย่ารานตอบ

เปรียบโดยชอบ หมาฟัด กัดเข้าให้

ปัญญา​ลด หมดสติ หิริไร้

กลับวิ่งไป กัดกับหมา พาเสียงาม


 ๓๐. เปรียบใจเช่น ทะเลใหญ่ ทำใจกว้าง​

พาลเอาฟาง สุมอย่างไร ไม่เดือดหลาม

เปรียบคำพูด คนถ่อย ถ้อยเลวทราม

ถึงสุมความ มากเพียงใด​ ใจมั่นคง


 ๓๑. เตมีใบ้ ใช้อดทน จนประเสริฐ​

เป็นคนเลิศ​ นักปราชญ์​ ชาติ​ไม่หลง

สะกดจิต กำกับใจ ให้ดำรง​

ผลจึงตรง ทางชี้ นีรพาน


 ๓๒.เห็นคนเพียง​ ภายนอก บอกไม่ถูก

คนพันธ์​ผูก รักแน่ไหม ใช่ลูกหลาน

ช่วยเสมอ ช่วยแท้ แม้ซมซาน

เช่นนี้ท่าน คิดเห็น เป็นเช่นไร

คนเป็นครู ดูลำนำ ฟังคำพูด

ศีลพิสูจน์​ ดูกัน หลายวันได้

กระทบร้อน เห็นนิ่งเป็น บอกเย็น​ใจ

ค่อยดูไป แสดงออก จึงบอกความ


 ๓๓. ขยันไหม ดูที่งาน ​คร้านออกบอก

ญาติ​ขี้ครอก​ ภัยมี หนีไม่ถาม

จวนเจียนตาย สหายหลบ ไม่พบนาม

เมียหนีตาม อื่นไป ในคราวจน

ดูสัจจะ ของคน ยามข้นแค้น​

บอกได้แม่น แท้จริง ทุกสิ่งล้น

อยู่ปกติ มิรู้หรอก ภายนอกคน

เข้าตาจน จึงออกแจ้ง แถลงความ


 ๓๔. อันสิ่งดี มีคู่กัน นั้นใกล้​ชิด

แน่สนิท เห็นแล้วรู้ คู่อร่าม

รถที่นั่ง มีธงชัย ให้ครั่นคร้าม

ราชางาม เป็นยอดทอง ของแผ่นดิน​

ควันมีก่อน บอกให้ ไฟจะเกิด

หญิงจะเลิศ ผัวแก้ว แผ้วถวิล

ของคู่กัน เกิดศรี ที่ได้ยิน

ทั่วทุก​ถิ่น ได้ยล ผลจำเริญ​


 ๓๕. นกกาหว่า มีเสียงใส ให้รู้จั​ก​

หญิงทรามพักตร์​ งามจรรยา พาสรรเสริญ​

ชายรูปชั่ว ความรู้ล้น คนไม่เมิน

นักบวชเพลิน ไม่สงบ ก็จบกัน


 ๓๖. ดอกไม้งาม สีใส แต่ไร้กลิ่น

ตาบอดหมิ่น ไม่ได้ความ​ งามไหนนั่น

เปรียบ​คนหนุ่ม น่าลุ่มหลง สูงพงศ์​พันธ์​

อาจจบกัน​ ด้วยไร้รู้ คู่อารี


 ๓๗. เปรียบแสงแดด แสงจันทร์​ มันต่างอยู่

จะเกิดคู่ พร้อมกัน​ไป ได้หรือนี่

สุขแลทุกข์​ เกิดพร้อมกัน​ มันไม่มี

ในโลกนี้ มีไว้ ให้เลือกทำ

เป็นนักปราชญ์​ ลำบาก จากการเรียน​

ลำบากเพียร จนจบไป ได้สุขล้ำ

แต่คนพาล สุขเที่ยวเตร่ เล่ประจำ

สุดท้ายทำ อะไร ก็ไม่เป็น​

อยู่กันใน สังคม ข่มแข่งขัน

เขาประชัน ด้วยความรู้ จึงรู้เห็น​

ใครมากความ สามารถ​ อาจได้เป็น

คนยืนเด่น ในสังคม สุขสมใจ


 ๓๘.ท่านรวบรวม คำสอน เป็นกลอนกล่าว

ใครยินข่าว จดจำ นำไปใช้

ของเป็นบุญ ภายหน้า พกพาไป

เดินทางไกล ปรโลก​ ไม่โศกเลย

รัตนคุณ น้อมไหว้ ได้บุญหนัก

ทานศีลหลัก ภาวนา พางามเหวย

มีความรู้ ผู้วิเศษ​ เพศคุ้นเคย

มาชมเชย ชิดเช่น เพราะเห็นคุณ


 ๓๙.พาลกับปราญช์​ ผิดกัน นั้นพึงรู้

พาลลบหลู่​ ดูหมิ่น ถิ่นเคยคุ้น

จะไปอยู่ หนไหน ไร้เกื้อกูล​

ใครการุญ​ หาได้ยาก ไม่อยากเจอ

พ่อบัณฑิต​ อยู่ไหน ใครใคร่ชิด

อยากสนิท ชิดใกล้ ไม่เขินเก้อ

เหมือนเพชรนิล จินดา ใครมาเจอ

หลงละเมอ อยากได้ ไว้ครอบครอง​


 ๔๐. ผู้เป็นปราชญ์​ คิดวาง ทางเดินหน

จรดล แต่ละ​แห่ง แจ้งทั้งผอง

ทำอะไร​ ท่านนึก และตรึกตรอง​

มิบกพร่อง​ เช่นนี้​จึง ถึงสมใจ


 ๔๑. ผู้ใดละ ถิ่นเก่า ด้นเดาหา

ที่ใหม่ว่า คงจะดี มีหวังไว้

คบต่างด้าว ร่วมอยู่ ไม่รู้​ใจ

เขาผลักไส​ กลับเมื่อใด​ ไม่รู้​เลย


 ๔๒.ย้ำคำสอน สาวสด หมดความสวย

ก็เพราะด้วย รูปแก่เฒ่า เผาละเหย

บ้าตัณหา ฆ่าสุข ทุกข์​มาเชย

ใช้ถ่อยเหวย ทำเสียงาน การสำคัญ​

เมื่อหมดทาง ขอทานได้ หมดอายเขา

โอ้อวดเผา คุณตน จนหดสั้น

กังวลมาก เผาคิด จิตพัลวัน​

รูปกายนั้น ก็หดหู่​ ดูไม่งาม

ยิ่งคิดมาก ยิ่งระแวง คนแหนงหน่าย​

จนกลับกลาย เป็นชังไป ไม่อยากถาม

กล่าวเตือนไว้ สะกิดใจ ในข้อความ​

ขอจิตงาม จงบังเกิด เลิศ​ทุกคน


 ๔๓. 1.เกิดเป็นคน ไม่เรียน เขียนอ่านไว้

2.ไม่เข้าใกล้ บัณฑิต​ สถิต​ผล

3.สอดสายตา ล็อกเล็กไป ไม่ควรยล

สามอย่างดล พาโศกแท้ จนแก่ตาย


 ๔๔. เป็นกษัตริย์​ ต้องระวัง​ พังหลายเหตุ

ไม่สมเพช​ ผิดลงโทษ​ จนโหดร้าย

ไม่ลดหลั่น​ ผันผ่อน หย่อนบางราย

จึงหนีหาย กำลัง​ลด ถดถอยงาน

อีกหนึ่งติด เหล้ายา จนบ้าใบ้

ทำอะไร ไม่ไหว ให้เขาต้าน

ทั้งติดฝิ่น กินกัญชา บ้าบ่อนบาน

นางบริการ หลงใหล​ ให้เมามัว

อีกวาจา ว่าไว้ ไม่เป็นสัตย์​

วาจาจัด พลิกแพลง​ เขาแหนงหัว

จึงจัดการ งานล่ม จมมิดตัว

เพราะรักชั่ว คำเตือน ไม่เชือนฟัง

เป็นนักบวช ไม่ฝักใฝ่​ ในสิกขา

นี่แหละ​พา ฉิบหาย​ มาหลายหลั่ง

เป็นเจ้าเมือง บ้ากามซ้ำ ทำเมืองพัง

ลูกเมืองยัง ลืมได้ ไม่อาวรณ์​

เป็นหญิงหม้าย ไม่อาย ขายศักดิ์​ศรี

ทางตรงมี ไม่เดินตรง หลงสิงขร

ผู้สูงศักดิ์​ ไร้ยางอาย ครูหน่ายจร

ตามบทกลอน สอนว่า น่าอัปรีย์​


 ๔๕. อันเมืองใด ราชา กล้าอำมาตย์​

คนฉลาด ปะปน จนล้นลี้

มัวแบ่งแยก แตกต่าง ต่างชิงดี

มานะมี ทำกระด้าง ข้างจะซวย

ด้วยระเบียบ​ เมืองไร้ คุมไม่ได้​

เอาแต่ใจ ผิดยังเถียง เกี่ยงหน้าที่

ต่างโยนผิด หากัน โรมรันตี

เพราะไม่มี ผู้​นำกล้า มารวมใจ


 ๔๖. อันเมืองใด ลงอาญา​ อย่างบ้าบิ่น​

คนกลัวสิ้น ชีพง่าย ย้ายหนีหาย

เมืองจะร้าง ประชากร ย่อมอ่อนไป

พลเมืองไร้ ผลผลิต​ขาด ชาติ​ล่มจม

ดั่งดอกบัว​ ไม่ได้บาน พานสลาย

ตะวันฉาย รัศมี​เปล่ง เบ่งแสงข่ม

มีถึงเจ็ด​ ดวงจ้า น่าระทม

ปทุมล่ม วอดวาย พ่ายตะวัน​


 ๔๗.  บ้านใดทั้ง ราชา กล้าอำมาตย์​

คนฉลาด สามัคคี​ ดีเฉิดฉันท์​

ข้าศึกขลาด ไม่กล้า มาประจัน

เหมือนมดมัน กินมั่ง ช้างทั้งตัว


๔๘. ความปรองดอง​ กลมเกลียว​ เกี่ยวเป็นแก่น

หญ้าฝั่นแทน เชือกใหญ่​ อย่าไปหัว

สามารถ​คล้อง ช้างใหญ่​ ได้ทั้งตัว

คนรู้ทั่ว พลังรัก สามัคคี​


ช้างใหญ่​แสน คล้องด้วยหญ้า ดูน่าหัว

หากฝั้นหญ้า ให้แน่น แสนน่ากลัว

ช้างทั้งตัว หนีไม่ออก บอกสามัคคี​


 ๔๙. ผู้องอาจ​ สามารถ​ ขาดพวกพ้อง​

คิดตรึกตรอง​ ทำการใด ได้หรือนี่

แม้ทำศึก คงวอดวาย คงตายฟรี

ให้สามัคคี​ อย่าแยก อย่าแตกวง


 ๕๐. ดั่งลมไฟ ให้เข้ากัน มันก็โหม

ไฟมันโทรม ลมมันทวน สวนไม่ส่ง

คนกับคน เข้ากันไว้ ให้มั่นคง​

สำเร็จจง ใจหวัง​ ดั่งไฟลาม


 ๕๑. อันเพื่อนฝูง​ พี่น้อง พ้องลูกเมีย

ยามทรัพย์​เสีย เบือนหน้า​ไป ไม่เกรงขาม

เขานับถือ มากมีทรัพย์ นับว่า​งาม

ดูได้ตาม ทุก​วัน​นี้​ มีอย่างไร


 ๕๒. ทรัพย์​ไม่ใช่ ของรัก​ ของนักปราชญ์​

คนฉลาด ถือวิชา หาศาสตร์​ไว้

แก้ปัญหา​ ทั่วได้ ทั้งใกล้ไกล

ของสุขใจ ทานศีล ได้กินนาน


 ๕๓. สิ่งติดตาม ตัวไป ได้ตลอด

หกสิ่งสอด เป็นเพื่อน​ ได้เตือนขาน

หนึ่งกุศล ศีลรักษา การุญ​ทาน

เปรียบ​ด้วยท่าน เป็นแม่ ไม่แชเชือน

หนึ่งปัญญา​ สะสมไว้ ไม่เสื่อมหาย

เปรียบ​ด้วยกาย พ่อได้ ไม่คลาดเคลื่อน​

หนึ่งความดี ทำไว้ ใช้ตักเตือน​

เปรียบดั่งเหมือน พี่ชาย คลายกังวล

หนึ่งเมตตา กรุณาแท้ แก่ผู้อื่น

เปรียบกับชื่น สหายรัก สมัครล้น

หนึ่งแจกทาน จ่ายให้ได้ ในทุกคน

เปรียบเมียตน ที่ดี ศรีภรรยา

หนึ่งขันติ อดทน เป็นผลใหญ่

เปรียบดั่งได้ ลูกดี มีคุณค่า

ทั้งหกสิ่ง เปรียบไว้ ให้ทำนา

เปรียบได้ว่า นี่ของจริง ไม่ทิ้งเรา


 ๕๔. จงเป็นคน รู้จัก หลักบุญคุณ

ผู้​การุญ​ เกื้อกูล​ให้ ได้รู้เขา

ใครทำชอบ ควรยกย่อง พี่น้องเรา

ผู้นำเอา ข้าวปลา มาให้ปัน

ท่านผู้นี้ เปรียบกันได้ ใช่พ่อแม่

ให้สนิท ​วิสาส์ได้ ใครผู้นั้น

ยกเป็นญาติ ได้ทันที มีแป่งปัน

เป็นเมียนั้น ผู้ร่วมเรือน เพื่อนชีวี


 ๕๕. เปรียบคนไกล ใกล้ชิด คิดอย่างไร

อันโรคภัย​ พยาธิร้าย ในกายนี้

มันทำเรา เจ็บไข้ ไม่เปรมปรีด์​

เปรียบดั่งมี พี่น้อง ไม่พ้องกัน

ถึงชิดใกล้ ให้แสลง ทิ่มแทงหลาย

เหนื่อยทั้งกาย ทั้งใจ ไม่คิดฝัน

เช่นนี้ใกล้ เหมือนคนไกล ได้เทียมทัน

อาศัยกัน ไม่ได้ ใกล้แต่ตา

แต่คนอื่น ยื่นให้ น้ำใจช่วย

ไม่เขินขวย ยามเรา เศร้าหนักหนา​

ช่วยปลอบใจ ให้ทรัพย์​ กับปัญญา​

ได้พึ่งพา เขาจน รอดพ้นภัย

คนเช่นนี้​ เหมือนไกลแท้ แต่ว่าใกล้

ดั่งโรคภัย​ รากไม้กิน หายสิ้นได้

ของนอกกาย หายโรค ปลดโศกไป

ร้ายภายใน ดีภายนอก บอกเปรียบ​กัน


 ๕๖.รู้อุตส่าห์ เพ่งเพียร เรียนศึกษา​

ต้องฟันฝ่า ลำบาก ยากก่อนนั่น

ยามสำเร็จ มีความรู้​ จึงรู้มัน

ผลขยัน ออกงดงาม อร่ามเย็น

ผลความรู้ แก้ไข ให้ชีวิต

แก้สิ่งผิด ให้ดี มีคนเห็น

เขาคำนับ รับใช้ ได้พึ่งเป็น

เพราะแก้เย็น​ ทุกปัญหา พาสุขใจ

ถ้าไม่พาก ไม่เพียร ไม่เรียนโง่

ตัวมันโต แต่ปัญญา หามีไม่

ยามศึกษา ว่าลำบาก มันยากไป

สนุกไว้ เล่นซน จนมันสาย

ใหญ่ขึ้นมา ใครจะให้ เป็นนายเขา

มีแต่เอา เป็นขี้ข้า น่าใจหาย

ก็ไม่มี ความรู้ สู้เขาได้

คนแหนงหน่าย ไม่ยกย่อง ไม่ปองมัน


 ๕๗. คนเกียจคร้าน ขยาด ในศาสตร์​ศิลป์​

ไม่รู้​สิ้น เหมือนเกลียด​ทรัพย์​ จะสับสน

หวังพึ่งมิตร วงศ์​ญาติ วาดหวัง​ล้น

ทรัพย์​นอกหล่น มิตรหาย ไม่กลายมา

แต่ทรัพย์​ใน ไม่ขาด คือศาสตร์​ศิลป์​

ออกหากิน แลกทรัพย์​ กลับมาหา

นี่จึงเรียก ว่าผู้นี้ มีปัญ​ญา

จงอุตส่าห์​ เรียนไว้ ให้ได้ดี


 ๕๘. อันความโลภ​ โลภได้ ในหลายสิ่ง

โลภทรัพย์​จริง ข้าวของเห็น เป็นเปรตผี

โลภโหดร้าย​ ไร้กรุณา ไม่ปราณี​

เลี้ยงชีวี สกปรก นรกไป

คนไร้ศีล โลภเงินทอง ของเขาหนา

ไร้เมตตา โลภอาหาร ทานไม่ให้

ไม่ซื่อสัตย์​ โลภเสพติด​ จมมิดไป

ไร้ยางอาย โลภกาม ให้ลามลวน


 ๕๙. กล่าวถึงคน ใจมืด ใจจืดดำ

คนอธรรม เต็มเมือง เลื่องลือล้วน

ผู้เป็นปราชญ์​ ไม่เข้าใกล้ ไม่ชักชวน

พาลจะป่วน หาเรื่อง ให้เคืองใจ

เปรียบช่างย้อม เล่หา ลูกค้าหนอ

บ้านไหนพอ มีฐานะ เขาจะใกล้

บ้านไหนจน เขาจะผละ ละออกไป

เกรงว่าได้ ชอกช้ำ ทำฟรีๆ


 ๖๐. บ้านเมืองมี ห้าสิ่ง ยิ่งล้ำค่า

หนึ่งเงินตรา ทองคำ ล้ำล้นลี้

สองมากปราชญ์​ สมณะ สงบดี

สามดีที่ กษัตริย์​ ทรงสัตยา

สี่มากลำ น้ำสมบูรณ์​ พูนหมากไม้

ห้าไม่ไร้ หมอยา มารักษา

เมืองใดมี อยู่จบ ครบทั้งห้า

บัณฑิต​พา กันอาศัย​ ในนคร


 ๖๑. จะทำบุญ​ ต้องรู้ส่วน ที่ควรค่า

ว่าเสือมซา หรือกำไร ไม่ทุกข์​ร้อน

สงเคราะห์​ปราญช์​ มีกำไร ได้แน่นอน

ให้ถ่อยถอน ทุนก็หาย กำไรหด

ยื่นให้ปราญช์​ ดั่งสลัก หลักหินเขียน

ไม่แปรเปลี่ยน​ ยั่งยืนไป ได้ปรากฏ​

ให้ถ่อยเหมือน​ เขียนบนน้ำ ทำรันทด​

ลบเลือน​หมด อักษร​หาย ลายถูกลืม


 ๖๒. ทำบุญให้ ถ่อยย่อยยับ อัปรา

เหมือนชาวนา กับงูเห่า ให้เศร้า​ซื๋ม

ช่วยเหลือไว้ เลี้ยงเอ็นดู งูมันลืม

ไม่ปราบปลื้ม​ ในพระคุณ​ บุญชาวนา


 ๖๓. สองประการ เงื่อนงำ ทำแตกต่าง

เรื่องสองอย่าง คิดให้ดี มีปริศนา​

หนึ่งทำคุณ​ ได้โทษ โปรดเมตตา​

หนึ่งทำบ้า มีคุณ ให้งุนงง

เหตุ​ฉะนั้น​ ทำสิ่งใด ให้คุ่นคิด

พลาดทำผิด เกิดโทษ ประโยชน์​หลง

ทำอะไร​ ใคร่ครวญ​คิด จิตดำรง

นั่นแลคง ได้ประโยชน์​ โปรดจดจำ


 ๖๔. ทรัพย์​ของปราญช์​ แจกทาน ท่านตั้งจิต

เบื้องหน้า​คิด สะสมไว้ ได้มากล้ำ

เดินทางไกล เป็นเสบียง ได้เลี้ยงลำ

ประโยชน์​ทำ สมบัติ​ไว้ ในอริยะ​

พาลสะสม กองสมบัติ​ ยัดไว้แน่น

จ่ายก็แค่น เคืองขุ่น วุ่นจริงนะ

สมบัติ​บ้า ไม่อยากใช้ ไม่สละ

ตามคำพระ ว่าบ่วง ภาพลวงตา

ถึงมีมาก ยากจะใช้ ได้ประโยชน์​

ทะเลโหด น้ำเค็ม​ เต็มจดฟ้า

จะดื่มใช้ อาบก็ไม่ สบายอุรา

ให้ระอา ไร้ประโยชน์​ โหดร้ายเอย


 ๖๕. เปรียบ​อีกอย่าง ถ่อยมีมาก หลากสมบัติ​

เก็บกลัวพัด หนีหาย ไม่เปิดเผย

เหมือนสะเดา ขมหนักหนา ไม่น่าเชย

คบคุ้นเคย​ ให้คุ่นแค้น​ แสนระอา


 ๖๖. คนฉลาด ทรัพย์​มาก หลากประโยชน์​

ออกจ่ายโจด แผ่เผื่อ เพื่อวันหน้า

และวันนี้​ สละได้ ให้ประชา​

ได้พึ่งพา ทรัพย์​สิน จนสิ้นตน

เปรียบได้กับ หนองน้ำ น้ำเต็ม​เปี่ยม​

ใครยลเยี่ยม​ ใช้อาบ หรือหาบขน

หรือดั่งไม้ ลูกดก ดกออกจน

ใช้เลี้ยง​คน อิ่มหนำได้ ดั่งใจจง

หรือเปรียบได้ ดั่งฝน หล่นจากฟ้า

ให้ข้าวกล้า ชุ่มชื่น รื่นระหงษ์​

คนก็ได้ ข้าวสาร เบ่งบานคง

นี่แหละจง ใจปราญช์​ ชาติอาชา


 ๖๗. คนไม่เห็น ภายหน้า มันว่ายาก

พูดลำบาก ผลกรรม ทำไว้หนา

มันยังไม่ เกิดผลเป็น เห็นทันตา

ก็จะว่า มันไม่มี นี่กระไร

ดูที่ไม้ ปลูกไว้ ไม่เห็นออก

คนขี้ครอก​ ใจร้อน ค่อนซักไซร้

เพิ่งจะปลูก​ วันนี้​ นี่ทำไม

มันจึงไม่ ได้ผล ก็จนที

คนรู้หลัก เขารู้ เขาดูออก

เขารองอก ใช้เวลา ไม่หนาหนี

ใส่ปุ๋ย​ดิน พรวนพา รดวารี

สักวันมี ผลออกดก ปรกต้นงาม

เปรียบดั่งกรรม ทำไว้ ในวันนี้​

วันหน้ามี ผลดอก ออกล้นหลาม

ดีไม่ดี วันหน้า มาติดตาม

คนเลวทราม ไม่อาจรู้ ดูบอดใจ


 ๖๘. ข้าวของเรา สะสม ถมเต็มบ้าน

มันจะคลาน ตามเราไป ได้ที่ไหน

ยามเราตาย อยู่กับที่ มิตามไป

มิตรญาติใคร ส่งไกลแท้ ได้แค่เมรุ

แล้วอะไร ไปเล่า กับเราหนอ

บุญบาปก่อ เก็บเอาไว้ ที่ได้เห็น

ใครทำบาป ไปสนอง ต้องลำเค็ญ​

ใครทำเป็น ไปได้ดี มีสุขพา


 ๖๙. อันปัญญา​ คือทรัพย์​ สมบัติ​เลิศ​

สร้างไว้เถิด แล้วเงินทอง ต้องมาหา

แม้เกิดโรค เกิดศึก นึกเยียวยา

ใช้วิชา แก้ไข ได้ทันที

ความรัก​ใด ใครเทียบ เปรียบรักตัว

รักทูลหัว รักพ่อแม่ ก็แพ้หนี

รักตนมาก  เพราะตัณหา​ พาจิตนี้

มันกดขี่​ แผลงฤทธิ์​ กำจิตใจ


 ๗๐. บนโลกนี้ มีของ น่าปองคิด

ทำผิดนิด ปิดดีมาก หลากหลายได้

น้ำพันสาย แพ้ทะเล คะเนไป

หลากดาวใส ก็ไม่ทัน หนึ่งจันทรา

หลายเรือแจว หรือจะทัน เรือบรรทุก

เพชรใสสุก หรือเอาหิน ดินเทียบค่า

ที่ยกไว้ ให้เห็น เป็นอุปมา

ให้เลือกหา ค่าของมัน เลือกสรรทำ


 ๗๑. กิจของคน ที่ทำหนา อย่ารีบเร่ง

หนึ่งเรียนเก่ง ค่อยๆเรียน เพียรจึงล้ำ

หนึ่งต้นไม้ ค่อยๆไล่ ไต่สูงลำ

หนึ่งเขาถ้ำ ขึ้นค่อยๆ คอยระวัง​

หนึ่งชายกล้า เสพสาว อย่าห้าวเร่ง

คู่จะเซ็ง ฝันค้างคา อย่าบ้าคลั่ง​

หนึ่งคนโกรธ ค่อยๆคิด กิจจะพัง

 จงคิดยั้ง อย่าวู่วาม ตามอารมณ์​


 ๗๒. พิจารณา​ คนพาล ท่านว่าไว้

สอนเท่าไร วิชาไร้ ไม่สะสม

ชอบชักชวน โอ้อวดอ้า ท้าคารม

มักพูดข่ม ครูบา อาจารย์​ตัว


 ๗๓. พิจารณา​ บัณฑิต​ คิดว่าไว้

สอนเท่าไร เรียนรู้​ จนรู้ทั่ว

วิชามี หาไว้ ใช้ติดตัว

ท่านนั้นกลัว ทุกข์​ภัย ในสามโลก

ท่านจึงมี สติ มิหลงไหล

ทานก็ให้ จ่ายล้น หวัง​พ้นโศก

โพธิปักษ์​ รักษา ลาวิปโยค​

เป็นโศลก​ เทียบให้คิด บัณฑิต​พาล


 ๗๔. อันคนพาล บัณฑิต​ ไม่คิดใกล้

เพราะเหลวไหล​ กลับกลอก​ หลอกหน้าด้าน

น้ำพร่องหม้อ ยกขึ้นเดิน เทินกระบาล​

กระฉอกฉาน บานเปอะ เลอะเทอะ​นอง

ปากคนพาล เช่นน้ำพร่อง นองรดหัว

ประจานทั่ว แระเล็มหลาก ปากแซ่ซ้อง

ทิ่มแทงใจ​ เฉือดเฉือนพา น้ำตานอง

นี่ปากของ คนพาล ท่านเปรียบเปรย​


 ๗๕. คนสามานย์ ใจนั้น มันชั่วร้าย

พยศหลาย ปราบก็ยาก ลำบากเหวย

เปรียบให้ยศ งูแก้พิษ ผิดนักเอย

พิษไม่เคย หายจากเขี้ยว อย่างเดียวกัน


 ๗๖. แต่พิษงู ว่าร้าย คนร้ายกว่า

เหมือนดั่งว่า แขกกับงู คู่นี้นั้น

เราได้เจอะ ตีอะไร ไหนก่อนกัน

ตอบทันควัน​ ต้องตีแขก ให้แหลกลาญ​


 ๗๗ พาลเรียนธรรม กับนักปราชญ์​ ฉลาดสอน

พาลมันร้อน เรียนยาก ลำบากขาน

แก้สะเดาขม เปรียบ​ลาดลำ ด้วยน้ำตาล

คงไม่หวาน ขึ้นมาได้ เปรียบให้ดู


 ๗๘. คนใจหยาบ แต่เก่า เอามาสอน

แต่เด็กอ่อน เรียนจนแก่ แก้อดสู​

แก้ไม่ได้ ใจมันนี้ ย่ำยีครู

เปรียบ​ให้​ดู​ สะเดารด หมดอ้อยฟรี


 ๗๙. ใจพี่น้อง มีแตกต่าง บ้างอุบาทว์​

ทำลายชาติ ตระกูล​ สูญวิถี​

เปรียบกอบัว ใบบอกเหล่า เหง้ามันซี้

คนจึงรี่ เข้าขุด ดุจเดียวกัน


 ๘๐. แม้ปลาเต่า ดอกบัว​ ทั่วท้อง​น้ำ

สีกลิ่นลำ ตัวดอก ออกต่างนั่น

น้ำที่เกิด มิได้แบ่ง แหล่งเดียวกัน​

ดูใครนั้น​ ต้องศึกษา​ อย่าเหมารวม


 ๘๑. คนชั่วดี พี่น้อง ท้องเดียวไซร้

ดั่งปล้องไผ่ ต่างกัน​ไป ไม่เห็น​ร่วม

พี่น้องอาจ เกิดเป็นพาล ประจานจวม

จะปราบน่วม คำปะเหลาะ เคาะให้ดี

เสลดเทียบ ได้กับพาล โบราณ​ว่า​

เสลด​หนา ตันจมูก​ มูกจุกตี่

อัดหายใจ ไม่ได้ ตายทันที

รู้ยาดี พอรักษา​ พาบรรเทา​


 ๘๒. ลมในกาย เสียดแน่น สุดแสนเจ็บ

หมอเก่งเหน็บ ยาป้าย สบายเข้า

พาลจะแก้ ปราญช์​นำ คำคลึง​เคล้า

พอหายเศร้า​ ด้วยอุบาย พอคลายลง


 ๘๓. ผู้ใบ้บ้า เปรียบ​อากาศ​ เพราะขาดหลัก

ใจมันชัก ซวนเซ​ เล่ห์​ลุ่มหลง

โลภอยากได้ ต้องให้ได้ ดั่งใจจง

ใครขวางคง ฆ่าได้ ไปทั้งเมือง​


 ๘๔. มีหนามมาก เต็มพื้น ยืนฟันอยู่

แล้วจะรู้ ตอนไหน ได้ย่างเยื้อง

ใส่รองเท้า เหยียบ​หนามไป ไม่ขุ่นเคือง​

แค่นี้​เรื่อง​ ก็หาย สบายใจ

พบคนพาล รานรบ กระทบอยู่

หากไปสู้ ชนะใคร ได้ที่ไหน

มีแต่ยิ่ง ยุ่งยาก​ ลำบากไป

รองเท้าใส่ ใจไว้ ไม่รู้​เอย


 ๘๕. เห็นหมาขู่ แยกเขี้ยว​ หน้าเบี้ยว​บูด

ยังกับตูด ไม่งาม คำรามเหวย

​จงพินิจ เปรียบ​กับพาล โบราณ​เปรย

ฝึกให้เคย คิดเป็น ก็เย็น​ทรวง


 ๘๖. หมูหมากิน ขี้ได้ ไม่กำหนด​

คนสาหด เปรียบได้ ใจดำล่วง

แต่​คนดี มีศีล กินบุญ​บวง

ดั่งหงส์​หลวง ชอบน้ำเด่น เล่นสบาย


 ๘๗. ชาติแมงวัน ชอบลามก​ ของสกปรก​

หนอนก็ตก ไต่ตามกอง เน่าหนองหลาย

ชอบหาเรื่อง เถียงสับสน นั้นคนร้าย

โทษทุก​ราย ด่ากวาด พิงพาดไป


 ๘๘. อันนักปราชญ์​ ชาติดี ท่านมีเกียรติ​

มิใคร่เครียด​ เบียดให้ ผู้ใดไม่

ทางระงับ​ ท่านรู้จัก​ หักห้ามใจ

มีทรัพย์​ใหญ่ แลกเป็นทุน หนุนนิพพาน​

ดั่งแมลง ภู่ผึ้งมา​ ออกหากิน

ได้พบสิ้น เกษร ซ่อนกลีบสาน

ค่อย​ค่อย​แทรก แหวกกลีบรูด ดูดน้ำตาล

ผกามาลย์​ ไม่ชอกช้ำ นำไปกิน

ปราญช์​ก็เช่น เห็นเทียบ​ เปรียบ​ภู่ผึ้ง​

รักสิ่งซึ่ง หอมสะอาด อาจรู้สิ้น

เมื่อกินก็ ถนอม ย่อมถวิล

ยามยลยิน คำปราชญ์จึง ซาบซึ้งใจ


 ๘๙. บางคนเปรียบ ผลมะเดื่อ เหลือประหลาด​

บังเกิดชาติ แมลงหวี่​ มีในใส้

เหมือนคนพาล หวานนอก ย่อมขมใน

อุปมัย​ เหมือน​มะเดื่อ เหลือระอา​

(นำมาจาก​นิราศ​ภูเขา​ทอง​ ของ​สุนทร​ภู่) 


 ๙๐. บางคนเปรียบ​ ทุเรียน​เงาะ ต้องเจาะออก

ดูภายนอก หนามทั่ว น่ากลัว​หนา

แต่ภายใน เนื้อรส สดโอชา

บัณฑิต​หน้า ตาร้าย แต่ใจดี 


 ๙๑. เอาใบหญ้า​ ห่อปลาร้า พากลิ่นติด

หญ้าไม่ผิด แต่เหม็น เป็นหมื่นลี้

เปรียบการคบ คนพาล ผลาญ​อัปรีย์​

สิ่งไม่ดี จะติดเหม็น​ เช่นเดียวกัน​


 ๙๒. กบเกิดใต้ กอบัว ชั่วชีวิต

กลิ่นไม่ติด ไม่รู้​ อยู่หัวนั่น

ภู่ผึ้งไกล บินตอมกัน พัลวัน

เหมือน​ถ่อยนั้น ปราญช์อยู่​ใกล้ ไร้ปัญญา​

อันบัณฑิต​ อยู่​ไกล ได้ยินข่าว

รีบสาวเท้า เข้าสู่ ผู้ปราญช์​หา

ได้ประโยชน์ ศรัทธา​เสริม เพิ่มปัญญา​

พาลก็หา รู้ไม่ ใช่ความจริง


 ๙๓. อันใจตน สอนยาก มากทิฎฐิ

หาผู้ติ แต่งตรง คงค่ายิ่ง

ต้องหาปราญช์​ ฉลาดดัด หัดให้จริง

ใจจึงนิ่ง ดัง​บรรทัด​ จัดเป็นบุญ​


๙๔.ครูอาจารย์​ คุณมากล้น คนไม่ทราบ

ด้วยกำราบ​ จิตพยศ หมดความวุ่น

พ่อแม่ให้ ชีวิตกาย ได้ค้ำจุน​

แต่ครูหนุน จิตเรา เข้านิพพาน


๙๕.ดอกบัว​มี เปลือกตม รากจมเกิด

ดอกบรรเจิด​ หอมล้ำสม เปลือกตมสาน

บาปแลเวร มีใจ ให้เกิดการ

บาปหยุดบาน ใจบัณฑิต​ คิดถูกทาง

             

๙๖.บทต่อไป บรรยาย ขยายความ

เป็นบทตาม การแต่ง แหล่งปลูก​สร้าง

คุณ​ความดี มีติดตัว ชั่วเบาบาง

ท่านชี้ทาง คำบัณฑิต​ ให้ติดใจ

ผู้ประพันธ์​ พุทธโฆษา มาแต่​ก่อน

แต่งคำสอน ได้ร้อยบท จดเอาไว้

แต่นำมา แปลความแล้ว แคล้วคลาดไป

สี่บทไร้ วี่แวว ขาดแนวลง

ทบทวนแล้ว ของก็เล่า เก่าพันปี

ผู้แปลนี้ แต่งจบ นบเสร็จ​สรง

ขึ้น ๖​ ค่ำ​ เดือน ๕​ ปีวอกตรง

ร.ศ.คง ๑๒๑ เบ็ดเสร็จดี

เทียบวันที่ ๖​ เมษา ว่าวันจันทร์​

พ.ศ.นั้น สองพันสี่ ร้อยสี่สิบสี่

เมื่ออ่านแล้ว แนะนำ คำพลาดที

ขอความดี ประเสริฐ​แท้ แก่ทุกคนฯ

10 กย 2563


ขยายออก เพิ่มเติม เสริมการแต่ง ด้วยถูกแบ่ง ออกทำ ซ้ำหลายหน แต่ไม่ทราบ ผู้แปลไทย ควรได้ยล ต้องรีบขวน ขวายออก บอกความจริง เพราะเพิ่งแปล จากคำ สำนวนลาว นำมากล่าว เป็นกลอน สอนให้ยิ่ง หวังให้สัตว์ ทั้งหลาย ได้พึ่งพิง มีที่อิง อาศัย ในคำโคลง จึงได้แปลง คำศัพท์ จับเปลี่ยนใหม่ เป็นคำไทย ใจความตรง ไม่หลงโขลง เมื่อฟังแล้ว ก็เข้าใจ ให้เชื่อมโยง จิตปลอดโปร่ง กระทำถูก ปลูกศรัทธา ข้าพเจ้า เป็นพระ ควรจะบอก อยู่บ้านนอก ตาคลี ดีหนักหนา นามก็คือ ฐิต วิริยา อยู่กลางป่า เขาตะกุด สุดช่องแค มิใช่อวด ความรู้ ผู้วิเศษ จะเป็นเปรต อยากได้ยศ ถดถอยแท้ จึงบอกไว้ ใช้อ้างอิง จริงๆแล จะขอแผ่ เมตตาไว้ ให้ทุกคนฯ