วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เรื่องของเขตสีมา

สีมา สีมา แปลว่า เขต, แดน, เครื่องหมายบอกเขต ใช้ว่า เสมา ก็มี สีมา หมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมต่างๆ กำหนดเขตแดนด้วยเครื่องหมายบอกเขตที่เรียกว่า นิมิต ที่เหนือนิมิตนิยมสกัดหินเป็นแผ่นประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างครอบนิมิต ถือเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต เรียกแผ่นหินนั้นว่า ใบสีมา หรือ ใบเสมา เรียกซุ้มนั้นว่า ซุ้มสีมา หรือ ซุ้มเสมา ใบสีมา นิยมทำด้วยแผ่หินสกัดเป็นแผ่นหนาประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร มีรูปทรงเฉพาะ บางแห่งสกัดเป็นลายเส้นรูปธรรมจักรเพิ่มความสวยงาม ประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างคร่อมนิมิตทั้ง 8 ทิศของโบสถ์ คล้ายเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต ถ้าเป็นวัดราษฎร์นิยมทำซุ้มละแผ่นเดียว ถ้าเป็นวัดหลวงนิยมทำซุ้มละสองแผ่นเรียกว่า สีมาคู่ นัยว่าเพื่อเป็นข้อสังเกตให้ทราบว่าเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง สีมา ยังหมายถึงอุโบสถได้ด้วย นิมิต คำสำคัญ "นิมิต" แปลว่า เครื่องหมาย นิมิต (เขตแดน) - เครื่องหมายบอกเขตสีมาที่พระวินัยกำหนด เช่น เขตของวัดวาสมัยนี้ ใช้ลูกนิมิตเป็นเครื่องหมายกำหนด สีมา หมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมของสงฆ์ เป็นเขตชุมนุมสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งพระสงฆ์กำหนดว่าผู้อยู่ในเขตนั้นจะต้องร่วมกันทำสังฆกรรมโดยความพร้อมเพรียงกัน พัทธสีมา พัทธสีมา หมายถึงสีมาหรือเขตแดนที่พระสงฆ์ผูกไว้แล้ว คือพระสงฆ์ร่วมกันกำหนดให้เป็นเขตทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกพิธีกรรมที่กำหนดอย่างนั้นว่า ผูกสีมา โดยทั่วไปเรียกพัทธสีมาว่า โบสถ์ หรืออุโบสถ เขตหรือแดนที่จะผูกเป็นพัทธสีมานั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน เพราะต้องเป็นเขตแยกต่างหากจากเขตแดนบ้าน ซึ่งเรียกว่า วิสุงคามสีมา วิสุงคามสีมา วิสุงคามสีมา (อ่านว่า วิสุงคามะสีมา) แปลว่า เขตแดนส่วนหนึ่งจากแดนบ้าน คือที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ ที่ที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า นิมิต ภายในวิสุงคามสีมานิยมสร้างโรงอุโบสถไว้เพื่อทำสังฆกรรม การที่จะได้เป็นอุโบสถถูกต้องตามพระวินัยนั้นจะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันสวดถอนพื้นที่ทั้งหมดในเขตสีมานั้นเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นสีมาเก่า เรียกว่าถอนสีมา หลังจากนั้นจึงสวดประกาศให้เป็นพื้นที่นั้นเป็นสีมา เรียกว่า ผูกสีมา ทำดังนี้จึงจะเป็นสีมาหรือเป็นอุโบสถถูกต้องตามพระวินัย

 แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม..http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=04&i=154

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น