วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

ธรรมะจาก facebook


กาลามสูตร มีอยู่ 10 ประการ ได้แก่
...
1.มา อนุสฺสวเนน - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา
อย่างนี้เช่น การเรียนเวทย์มนต์จะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้น จะต้องสอบสวนข้อมูลก่อน เพราะบ้างก็แต่งเติมไปมากฯ

2.มา ปรมฺปราย - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา
คนทุกวันนี้ถือประเพณีจนลืมข้อวินัยที่ควรปฏิบัติต่อพระสงฆ์ไปหลายอย่างฯ

3.มา อิติกิราย - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
ข่าวลือ ไม่ได้กรอง ก็ย่อมเป็นผลเสีย

4.มา ปิฏกสมฺปทาเนน - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
แม้จะยกพระไตรปิฎกมาทั้งตู้ หากเราต้องการรู้จริง จะต้องปฏิบัติเองให้เห็นผล จึงจะรู้เอง

5.มา ตกฺกเหตุ - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเดาว่าเป็นเหตุผลกัน
เช่น เราต้มฟักให้สุกได้ คิดว่าปลูกฟักอยู่พอมันออกผล จะเอาน้ำร้อนๆไปรดให้มันสุกเร็วๆ

6.มา นยเหตุ - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมานคาดคะเน
เช่นปีนี้ฝนจะมากน้ำจะท่วม ก็เร่งปล่อยน้ำในเขื่อนให้หมดก่อน

7.มา อาการปริวิตกฺเกน - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเดาจากอาการที่เห็น
ถ้าเห็นข่าวพระเสื่อม พอเห็นพระที่ไหน ก็ว่าเสื่อมไ ปหมด

8.มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
แรงโน้มถ่วงของโลก ก็อาจพลิกได้เสมอๆ เช่นเนินพิศวง.

9.มา ภพฺพรูปตา - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อถือ
ปัจจุบันนี้ชอบกันจัง เช่นพระภิกษุถีบพระพุทธรูป คนก็ยังชื่นชม เป็นต้น และอีกหลายๆสำนักฯ ที่คารมดีๆ

10.มา สมโณ โน ครูติ - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา
อันนี้ละเอียด เช่นอุปัชฌาย์ อาจารย์ เราต้องเคารพ แต่ถ้าท่านปฏิบัติผิด เราทราบว่าผิด ก็ไม่พึงทำตาม เช่นพระสารีบุตร ออกจากอาจารย์สัญชัยปริพาชกเป็นต้นฯ

====<<<《《《||》》》>>>====

เมื่อไม่นานมานี้ราว 4-5 ปีที่ผ่านมา มีข่าวของพระที่วิปลาส ถีบพระพุทธรูปออกข่าวดัง!
ขณะนั้นอาตมาเห็นข่าว ก็มิได้ขุ่นเคืองที่จะต้องไปว่าเขาให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามใจเรา แต่ก็รู้ว่านั่นทำผิด ใครถามก็ว่าผิด! และให้ความเห็นแต่เพียง เขาผิดก็ต้องไปทางของเขา กรรมของเขา เท่านั้น..
สุดท้าย สิ่งเป็นธรรมก็ย่อมแสดงตัว เพราะเรากราบไหว้ตัวแทนพระพุทธเจ้า มิได้งมงายอย่างกราบเทวรูป แล้วขอให้เรามีแต่สุขสมหวัง..
อาตมากราบพระพุทธรูป ก็ขอให้เห็นจริงในธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ จะได้พ้นๆตามพระองค์ให้ไวๆสักที!
ก็มิใช่แต่อาตมาเท่านั้น ที่เคารพ.. มาดูหลักฐานคำเทศนาชองหลวงตามหาบัว เมื่อ 1 ม.ค. 2519 ดังนี้
....
เมื่อธรรมชาตินี้จริงขึ้นมาล้วนๆ ที่ใจแล้ว ตำราธรรมของพระพุทธเจ้า แม้ที่เขียนเป็นเศษกระดาษซึ่งตกอยู่ตามถนนหนทางยังไม่กล้าเหยียบย่ำ เพราะนั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เหยียบไม่ลง เพราะลงได้เคารพหลักใหญ่แล้ว ปลีกย่อยก็เคารพไปหมด พระพุทธรูปก็ตาม จะเป็นอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ “พุทธ ธรรม สงฆ์” แล้ว กราบอย่างถึงใจเพราะเชื่อหลักใหญ่แล้ว
        หลักใหญ่คืออะไร? คือหัวใจเราถึงความบริสุทธิ์ เพราะอำนาจแห่งธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องชี้แจงแสดงบอกแนวทางให้รู้ทั้งเหตุและผล จึงเคารพไปหมด ดังท่านอาจารย์มั่นเป็นตัวอย่างในสมัยปัจจุบัน
         ในห้องนอนใดที่ถูกนิมนต์ไปพัก ถ้ามีหนังสือธรรมะอยู่ต่ำกว่าท่าน ท่านจะไม่ยอมนอนในห้องนั้นเลย ท่านจะยกหนังสือนั้นไว้ให้สูงกว่าศีรษะท่านเสมอ ท่านจึงยอมนอน
         “นี่ธรรมของพระพุทธเจ้า เราอยู่ด้วยธรรม กินด้วยธรรม เป็นตายเรามอบกับธรรม ปฏิบัติได้รู้ได้เห็นมากน้อยเพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เราจะเหยียบย่ำทำลายได้อย่างไร! ท่านว่า “เอาธรรมมาอยู่ต่ำกว่าเราได้อย่างไร!” ท่านไม่ยอมนอน ยกตัวอย่างที่ท่านมาพักวัดสาลวันเป็นต้น ในห้องนั้นมีหนังสือธรรมอยู่ ท่านไม่ยอมนอน ให้ขนหนังสือขึ้นไว้ที่สูงหมด นี่แหละ! ลงเคารพละต้องถึงใจทุกอย่าง” เพราะธรรมถึงใจ
         ความเคารพ ไม่ว่าจะฝ่ายสมมุติไม่ว่าอะไรท่านเคารพอย่างถึงใจ ถึงเรียกว่า “สุดยอด” กราบพระพุทธรูปก็สนิท ไม่มีใครที่จะกราบสวยงามแนบสนิทยิ่งกว่าท่านอาจารย์มั่นในสมัยปัจจุบันนี้ เห็นประจักษ์ด้วยตากับใจเราเอง ความเคารพในอรรถในธรรมก็เช่นเดียวกัน แม้แต่รูปพระกัจจายนะ ที่อยู่ในซองยาพระกัจจายนะ พอท่านได้มา “โอ้โห ! พระกัจจายนะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านี่! ท่านรีบเทยาออก เอารูปเหน็บไว้เหนือที่นอนท่าน ท่านกราบ “นี่องค์พระสาวก นี่รูปของท่าน” นั่น! “มีความหมายแค่ไหนพระกัจจายนะ จะมาทำเป็นเล่นอย่างนี้ได้เหรอ?” แน่ะ! ฟังดูซิ
         นี่แหละเมื่อถึงใจแล้ว ถึงทุกอย่าง เคารพทุกอย่าง บรรดาสิ่งที่ควรเป็นของเคารพท่านเคารพจริง นั่น ท่านไม่ได้เล่นเหมือนปุถุชนคนหนาหรอก เหยียบโน่นเหยียบนี่เหมือนอย่างพวกเราทั้งหลาย เพราะไม่รู้นี่ คอยลูบๆ คลำๆ งูๆ ปลาๆ ไปในลักษณะของคนตาบอดนั้นแล ถ้าคนตาดีแล้วไม่เหยียบ อันไหนจะเป็นขวากเป็นหนามไม่ยอมเหยียบ สิ่งใดที่จะเป็นโทษเป็นภัยขาดความเคารพ ท่านไม่ยอมทำ นักปราชญ์ท่านเป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนคนตาบอดเหยียบดะไปเลย โดยไม่คำนึงว่าควรหรือไม่ควร (เสียงเครื่องบินดังไม่หยุด ท่านเลยหยุดเทศน์)

~~~~~~~~~
ชีวิตยังมีอยู่.. จิตวิญญาณและสังขารก็ต้องมี..
เมื่อชีวิตมี ความเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไป ก็มีอยู่ตลอดเวลา..
เหมือนมีรถ มีล้อ ล้อก็หมุนทุกครั้งที่รถวิ่ง.. เราอยู่บนรถ อาจดูเหมือนว่าทุกอย่างบนรถมันคงเดิม.. แต่ล้อกำลังทำงาน ข้างทางก็เปลี่ยน.. ระยะทางจากจุดเริ่มต้นก็ไกลออกไปๆ จุดมุ่งหมายก็ใกล้เข้ามา..
ยางเป็นส่วนที่เราต้องเปลี่ยนอยู่บ่อย ถ้าเราสังเกตุ เพราะเหมือนเท้า เหมือนขา เมื่อเดินหรือวิ่งบ่อยๆก็เจ็บ ก็ล้า!
...
ธรรมนี้ ใครเห็นอนิจจะสัจจะธรรมบ้าง?
ใครเห็นทุกขะสัจจะธรรมบ้าง?
ใครเห็นอนัตตะสัจจะธรรมบ้าง?
...
ทุกครั้งที่ล้อหมุน... นั่นคือความเปลี่ยนแปลง!
การที่ล้อหมุน พลังงานที่บีบครั้นให้เคลื่อน คือทุกข์ ทำหน้าที่ให้ทนต่อสภาพเดิมไม่ได้!
การที่ล้อหมุนออกจากจุดเริ่มต้นๆก็เปลี่ยนไปจนลับตา
จุดเริ่มต้นที่หายไปแล้ว คืออนัตตา หมดจากความเป็นตัวตนไปแล้ว กลายเป็นอดีตที่ไม่มีในปัจจุบัน!
...
ขันธ์ทั้งหลายเป็นทุกข์ เราไปยึดก็ทุกข์ ปล่อยวางที่ใจ ใช้มันตามสมมุติ อย่าไปปล่อยวางแบบควาย! ไม่รับผิดชอบอะไร..
ทุกอย่างแสดงสภาพไตรลักษณ์อยู่ตลอด.. ถ้ามีปัญญาฯ

~~~~===~~~~

จิตตก..
นักปฏิบัติ. คงต้องเคยผ่านอาการนี้!
เพราะกิเลสมันคอยรบกวนอยู่อย่างนี้เป็นปกติ..จิตมันจึงตกลงไปหาสิ่งเศร้าหมอง..
คนที่ชอบเก็บกด พอสิ่งภายนอกเข้ามากระทบ มีสติตามไม่ทัน..
จิตมันจะคอยหลบเข้าไปที่เคยซุกเคยซ่อน.. เข้าไปเก็บตัว!
คิดว่ามันจะสงบหรือ?
มันไปซ่อนกับกิเลส จิตมันจะเอาอะไรไปสงบ?
ถ้าจะหลบผู้คนแล้วไปนั่งสมาธิ ให้จิตได้พักจะดีกว่า.. พักเอากำลังก่อน แล้วจึงออกมาพิจารณาสิ่งที่ถูกกระทบ อย่างนี้เรียกว่า..สะสาง!
ฝึกใหม่เสียเน้อ! ผู้ที่เก็บกด เก็บตัว แต่จิตผัวพันกับกิเลสไม่ได้พักได้ผ่อนน่ะ---

~~~~===~~~~

ธรรมดาของคน.. คือ อยู่นิ่ง อยู่เฉยไม่ได้.. แม้แต่คนที่ชอบพูดว่า "อยากอยู่เฉยๆ!"
เพราะจะให้อยู่เฉยๆได้อย่างไร? จะนั่งอยู่, จะนอนอยู่ ก็ต้องหายใจ แล้วเดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง ฟังวิทยุ ฯลฯ สารพัดที่คนอยากอยู่เฉยๆจะทำ...
พอไปดูคนป่วยที่เขาให้นอนพัก ก็นอนนิ่งๆ แต่ภายนอก ถ้าเข้าไปในใจได้ โอย! จะเห็นความวุ่นวายอยู่ไม่สุข สารพัดเรื่อง...
เช่นกัน.. พระอรหันต์ ยามมีสังขารร่างกาย มีความคิด มีลมหายใจ ถึงจะอยู่ผู้เดียว จะอยู่นิ่งจริงๆ ต้องเข้าฌานสมาบัติ ดับสัญญาเวทนา นั่นแหละถึงเรียกว่าอยู่นิ่งจริงๆ หากออกจากฌานแล้ว มันก็ไม่นิ่ง...
แต่ความต่างกันของคนปุถุชนกับพระอรหันต์อยู่ตรงไหน?
อยู่ตรงที่จิตใจ.. ที่ขาดจากอำนาจของตัณหาแล้วทั้งปวง จึงไม่หลงไปอยาก ไปยึด ไปปรุง ไปแต่ง หรือ สำคัญมั่นหมายอะไรๆ ให้วุ่นวาย..
จึงเป็นความสงบ ที่อยู่ภายใน ส่วนภายนอกก็ขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวไปตามแต่เหตุอันควร เพราะมีสติปัญญาอันครอบคลุมอย่างสมบูรณ์แล้ว..
แต่อย่างเราๆแล้ว หลับก็เพ้อฝัน กลางวันก็เพ้อเจ้อ ละเมอไปตามอยาก.. จึงทุกข์ยากอยู่ร่ำไป!
ดูให้ดีๆเถิดเราเป็นอย่างนี้ไหม? สิ่งไหนไม่มี ก็อยากมี อยากได้ ได้แล้ว ก็อยากเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใคร แต่อยากอวดให้คนอื่นรู้ว่ามี.. พอนานเข้ากลับเบื่อ ก็อยากอีก คืออยากเอาไปให้พ้นๆ
สรุปให้ดูอย่างเห็นๆเลยว่า เราทุกข์ เพราะดิ้นรนไปตามความอยาก เช่น ตอนที่ยังหนุ่มยังสาว ก็อยากมีใครมาครอบครองหรือให้มาปกป้อง
คือบางคนชอบเถียงว่า ไม่ได้คิดอยากได้แต่ตกกระไดพลอยโจนไปกับเขา อย่างนี้ ไม่ได้อยากได้เพราะรัก แต่ลองทบทวนดูเถอะ ตัณหามี ๓ อย่างคือ
กามตัณหา, ภวตัณหา และ วิภวตัณหา
ถึงจะคิดว่าตัวมีครอบครัวแต่ไม่ได้อยากมี จริงๆแล้วปุถุชนย่อมมีความอยากเป็นพื้นฐานของจิตใจทุกดวง แต่อาจมิได้อยากมีเพราะกามตัณหา แต่กลัวภัยที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นวิภวตัณหา หรือคิดว่า มีแล้วจะได้มีคนดูแลเรา พ่อแม่จะได้ไม่ต้องเป็นห่วง อย่างนี้ เป็นภวตัณหา เพราะอยากด้วยความยึดในประเพณีบ้าง อยากให้ถูกตามธรรมเนียมบ้าง ก็อยากอยู่ดี!
ดังนั้น..คนบนโลกนี้จึงได้รับทุกข์อยู่อย่างถ้วนหน้า จะพ้นได้ ก็ต้องมาศึกษาคำสอนในพุทธศาสนาให้ชัดเจนก่อน คือ ไม่ใช่ศึกษาเอาใบประกาศ หรือให้ใครมาชม, มายกยอสรรเสริญ แต่ต้องศึกษาทุกข์ที่เกิดในกายในจิตเราก่อนให้ชัดว่ามันเกิดจากอะไร? เอาให้เห็นเองให้ได้ ให้รู้ ให้ชัดจริงๆ ถ้าชัดแล้ว ก็จะรู้จักเหตุที่ทำให้เราต้องทุกข์..
ถ้าเป็นเช่นนี้ มันจึงจะเบื่อหน่าย มันจึงจะคลายความยึดมั่นลง มันจะเร่งภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนาตามทางแห่งอริยมรรค จนเห็นแจ้งในธรรมที่ควรเห็น ควรรู้ในจิตตน จึงเข้าใจเอง คราวนี้ จิตมันจะเห็นกายก็อันนึง เห็นว่ามันเป็นก้อนแห่งทุกข์ที่ต้องดูแลมันไป จะหลงไปยึดเข้าไว้ในใจเมื่อไร ใจก็จะทุกข์ แต่หากมีสติอยู่ ก็จะบริหารจัดการกายมันไปตามเรื่องตามเหตุเพียงเท่านั้น.. ก็หมดภาระในการแบกมันอีกต่อไป...
พยายามต่อไปเน้อ! ทุกๆคนที่คิดจะออกจากทุกข์ อย่าไปจมกับทุกข์มันมากจนแช่ติดกับมันจนท้อแท้ไปอีก..
ยามใดมีทุกข์ ให้นำทุกข์ที่มีในปัจจุบันมาพิจารณา ให้เห็นจริงๆ มันจึงจะเห็นตัณหาของตนในขณะนั้น ..
ส่วนใหญ่คนเราพอเจอทุกข์แล้ว ถ้าไม่ห่อเหี่ยวใจ ก็กลับไปสู้กับมันแบบทางโลก เอาตัณหาไปสู้กับมัน เหมือนขี่หลังเสืออยู่ จะไปเที่ยวหาเสือมาปราบ????
หลงทางแต่อยู่ในมุ้งแล้ว!!!
ฝึกภาวนาให้สติมั่นคง จิตมั่นคงอยู่เสมอๆ แล้วจึงจะเห็นเสือที่เราขี่หลังมันอยู่ได้ แล้วก็ปราบมันให้อยู่ล่ะ.. ไม่ใช่ลงไปทีไร มันคาบเอาไปกินทุกทีๆ
.. สาธุ เป็นกำลังใจให้ทุกๆคนฯ

|||====》》》《《《====|||

การศึกษา.. แม้จะมีมาก!
แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตั้งมากมาย...
เพราะไปมุ่งเรียนกันแบบออกนอกตัว หมายความว่า พยายามเรียนสิ่งภายนอกตัว เพื่อแสวงหามาบำรุงบำเรอตัวตน
หลงว่า ตนเองมีสิ่งต่างๆแล้วจะมีสุข,
หลงว่าตนเองเป็นอย่างที่คิดหวัง แล้วจะมีสุข
เพราะหลงว่า ร่างกายที่มีอยู่ คือเรา คือตัวเรา, หลงว่าเราชื่อนี้,นามสกุลนี้, ชื่อเล่น-มีฉายาว่าอย่างนี้ๆ
ยึดเอาว่า หน้าตา ท่าทาง รูปร่าง ของเราเป็นอย่างนี้
หลงว่านี่คนที่เรารัก-นี่คนที่เราชัง..
ซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือศาสตร์อื่นๆ ก็ไม่สามารถแก้ไขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจเราได้อย่างถาวร..
แม้คนที่เรียนพุทธศาสตร์มา ได้ระดับฐานะที่โลกยกย่องว่า เป็นผู้มีความรู้สูงก็ตาม ก็เป็นความรู้ที่อยู่ภายนอก ไม่ใช่ความรู้ภายใน ไม่สามารถแก้ไขความทุกข์ใจได้เช่นกัน..
จะสังเกตุได้จากสังคม ที่เห็นข่าวพระระดับนั้นนี้เกิดความเครียดจนฆ่าตัวตายไปเยอะแยะ นั่นเพราะเรียนเอาแค่จำไปสอบให้ได้วุฒิเท่านั้น ไม่ได้นำเอาความรู้มาใช้จริง...
แล้วอีกพวกคือ.. เรียนพุทธศาสตร์มามาก รู้มาก อธิบายได้ สอนคนอื่นได้อย่างละเอียด แต่หลงทางแบบง่ายๆก็มาก เช่น จบเปรียญสูงๆ พอสึกออกมา
1.เมาหัวลาน้ำ..,
2.หรือเขียนบทวิชาการอ้างอิงพุทธศาสตร์ แต่บทวิจารณ์คนอื่นๆ อ่านแล้วผู้รู้ก็รู้เลยว่า มีอารมณ์เครียดแค้น พยาบาท หมดความเมตตาปราณี ทั้งๆก็เขียนเรื่องพรหมวิหาร... แต่คนที่หัวรุนแรงชอบใจบทความที่ท่านเหล่านั้นวิจารณ์
อย่างนี้ หลงมองแต่คนอื่น เอาธรรมะไปว่าคนอื่น ลืมว่าเจ้าตัวก็แย่กว่าเขาอีก...
3.แล้วก็มีพระที่ยังไม่สึกหลายท่าน เรียนมาก เข้าใจมาก มีลูกศิษย์มาก อธิบายเก่ง ชักชวนให้หมู่คณะมาศึกษาธรรมที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นทางพ้นทุกข์.. แต่! พระผู้รู้จริง ทราบว่าสิ่งที่ท่านนั้นเข้าใจ มันวิปลาสคลาดเคลื่อนจากแนวมรรค
อย่างนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่พุทธกาลก็มี ไม่ว่าพระโพธิกะหลงปริยัติ เป็นใบลานเปล่า แต่ตนยังมั่นใจจริงๆว่า ตนรู้ธรรม, และยังมีพระที่เข้าใจว่าผลของสมาธิที่ตนสำเร็จจนเป็นอภิญญา แสดงฤทธิได้ ว่าเป็นนิพพาน..
ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่แตกฉานตำรา มีลูกศิษย์มาก แต่พอเห็นพฤติกรรม,คำพูด, การตอบคำถาม, การกล่าวแก้ปัญหาธรรม ก็มีสิ่งที่แสดงออกได้ว่า ยังเต็มไปด้วยสักกายทิฎฐิ มีการยึดข้อวัตรที่ผิดเพี้ยนไป เป็นสีลพัตตะปรามาส มุ่งการศึกษาแต่ในตำรา เน้นวิชาการ อ้างตำราเหมือนเด็กติดเกมส์ จิตไม่หลุดจากความสงสัย เพราะวิชาการย่อมไม่มีทางสิ้นสุด เป็นวิจิกิจฉา..
...
เพราะธรรมะในพุทธศาสตร์ เน้นให้เรียนแล้วนำมาหาความสว่างในตน พอเห็นตนทะลุปรุโปร่งแล้ว ก็หายสงสัย ถึงจะตอบเป็นภาษาวิชาการไม่ได้ ก็รู้ดีรู้ชั่วในตน ..
เวลาไปปฏิบัติ ความดีความชั่วแจ้งในจิตตนแล้ว เจตนาก็บริสุทธิ์ การรักษาศีลก็ไม่ล่วงเกินไปได้..
ความเห็นแก่ตัว ความมีทิฎฐิก็เป็นสัมมา คือเห็นอย่างถูกต้อง ว่าตนเกิดมาก็มีทุกข์ จะขนอะไรเข้ามาก็ทุกข์ทั้งนั้น มีอยู่มีใช้ไปวันๆก็พอแล้ว ไม่แบกตำรา ไม่แบกลูกศิษย์ ไม่แบกลาภสักการะ ไม่คิดเอาความดังมีชื่อเสียง เพราะเห็นจริงว่า ต่างคนต่างมีกรรมเป็นของตนๆ ใครขวนขวายแก้ไขตนก็ย่อมพ้นเอง ..
อธิบายธรรมก็เอา ณ ปัจจุบันธรรมไปอธิบาย ไม่ได้แบกเอาตำราอะไรที่ไหนไป กายกับจิตเราเป็นตำราเล่มใหญ่อยู่แล้ว เห็นธรรมในตน ก็เห็นตถาคตแล้วในตน พูดออกไป ก็เปรียบเป็นพุทธวจนได้..ถึงไม่เป็นพุทธวจน พระพุทธองค์ก็รับรองว่า เป็นธรรม
เพราะอะไรจึงว่าอย่างนั้น จะเอาตำรามาเปรียบให้ดู..
พระโกณฑัญญะฟังธัมมจักกัปปะวัตตนะสูตร แล้วอุทานมาว่า"ยังกิญจิฯ.." เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็รับรองว่า ท่านกล่าวธรรมอย่างถูกต้อง แสดงว่า ไม่ใช่พุทธวจน แต่เป็นธรรม
พอพระอัสสชิ เอาธรรมไปกล่าวแก่พระสารีบุตร ก็กล่าวว่า" ธรรมเกิดแต่เหตุ..ฯ" ไปดูทั้งสองสูตรที่พระพุทธองค์สอนพระปัจจัควัคคีย์ ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าสอนว่า ธรรมเกิดแต่เหตุ..
แต่พระพุทธองค์กลับรับรองว่า พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบันแล้ว..
นี่แหละ ธรรมอยู่กับผู้เห็นธรรม เปรียบแล้วพระพุทธองค์ ก็รับรองว่าผู้แสดงธรรมถ้าเห็นธรรมจริง คำที่กล่าวก็เป็นธรรม..
เพราะหากพระพุทธเจ้าจำกัดแต่พุทธวจนแล้ว พระองค์ต้องไม่รับรองคำของพระโกณฑัญญะ และพระอัสสชิ..แน่นอนฯ

......

ทุกข์.. ใครๆก็คงรู้จัก, เคยประสบพบเจอกันมาทั้งนั้น.
ไม่เช่นนั้น เราคงจะไม่ดิ้นรนเวลาได้รับความทุกข์แน่ๆ.
อาตมากำลังจะโยงเข้าสู่ธรรม.. เพราะคนบนโลกนี้ เกือบทั้งนั้น ไม่เข้าใจความทุกข์อย่างถ่องแท้..
ทำไมจึงกล้าบอกเช่นนี้.. เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า สัตว์โลกทั้งหลาย มีแต่พระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันเท่านั้น ที่รู้แจ้ง,รู้จริงในความทุกข์ของจริง ..
เพราะพระองค์ก็ยืนยันที่บทสวดธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสูตตัง.. ว่าพระองค์ก็พึ่งทราบความจริงของทุกข์เมื่อได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว..
ฉะนั้น.. ขอให้ทุกคนจงได้ใช้สติ คอยระวังจิตตนไม่ให้ฟุ้งซ่านได้แล้ว จึงนำปัญญามาพิจารณาความทุกข์ในกายในจิตตนให้ถ่องแท้ให้ได้เอง แล้วจะรู้ใส้รู้พุงของทุกข์จริงๆ ว่ามันต่างจากเดิมที่เคยรู้แต่เปลือกนอกเท่านั้น..แลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น