วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

การอบรมพระวิปัสสนาจารย์ รุ่นที่ ๗ ประจำปี ๒๕๕๙ คณะธรรมยุต

การอบรมพระวิปัสสนาจารย์ 
คณะธรรมยุต รุ่นที่ ๗ 
จัดอบรม ณ วัดสระกะเทียม อ.เมือง จ.นครปฐม 
ในวันที่ ๑-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๙
มีพระภิกษุตัวแทนจาก ๓๘ จังหวัด จำนวน ๗๓ รูปเข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้
ภาพวีดีทัศน์ถูกรวบรวมจัดทำและถ่ายทอดภาพกิจกรรมที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวันในแต่ละวัน ตลอดระยะเวลา ๒๐ วัน จนจบหลักสูตร



ในส่วนของเนื้อหาวิชาการที่มิได้มีในเนื้อหาของวีดีทัศน์นั้น จะขอกล่าวสรุปไว้ดังนี้คือ
การอบรมพระวิปัสสนาจารย์ เป็นโครงการผลิตพระภิกษุให้มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ด้านวิปัสสนาธุระ เพื่อเป็นพระอาจารย์สอนการทำวิปัสสนาได้อย่างถูกต้อง ตรงแนวทางคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ดังนั้นเนื้อหาสาระในทางด้านวิชาการ คือด้านคันถะธุระ จึงเน้นเนื้อหาเรื่อง อริยสัจจ์ ๔, มรรคมีองค์ ๘ , สติปัฎฐาน ๔, ปฏิจจสมุปบาท และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นหลัก อันเป็นหัวข้อธรรมที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ หรือการบรรลุธรรมคือพระนิพพานเป็นหลัก
แต่การอบรมก็มิได้ขาดเครื่องประกอบ เช่น จริต ๖, กรรมฐาน ๔๐, ธุดงค์ ๑๓ , วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ เพราะถ้าเรารู้จักทางเดิน คือมรรค แต่ไม่รู้จักตนเองคือ จริต ก็ไม่อาจแก้ไขตนเองได้ แม้รู้จริตตน แต่ไม่รู้จักกรรมฐานที่เป็นที่สบายแก่การแก้ไขตน ก็ยากจะแก้ไขได้ แม้ได้แนวทางแล้ว แต่ไม่รู้จักข้อธุดงค์ กิเลสอันละเอียด ก็ไม่สามารถจะถ่ายถอนออกได้ เนื้อหาหลักสูตรจึงต้องจัดสรรให้ครอบคลุม 
และหากมีแต่ปริยัติ คือการฟังเนื้อหาการบรรยายอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักการปฏิบัติภาวนา ผลอันคือ ปฏิเวธ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้
โครงการฯ จึงจัดให้ภาคเช้า เป็นการฝึกปฏิบัติ โดย อาราธนาพระผู้ปฏิบัติตนอย่างเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของประชาชนมานำการปฏิบัติในภาคเช้าทุกวัน
เมื่อพระวิปัสสนาจารย์ทุกรูปได้รับการถ่ายทอดเนื้อหาสาระในหลักสูตรนี้แล้ว จึงเหมาะควรแก่การปฏิบัติหน้าที่เป็นครูอาจารย์สั่งสอนทั้งพระภิกษุฆารวาสญาติโยม ตามสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ อย่างตรงตามแนวเนื้อหาที่มีมาในพระไตรปิฎก..
......
เหตุผลในการจัดอบรมของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ คือ..
นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถวายรายงานการจัดงานว่า สืบเนื่องจากคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม มีนโยบายสนับสนุนการสร้างและพัฒนาพระวิปัสสนาจารย์  ให้มีเอกภาพในการสอนและให้มีสถานที่ผึกปฏิบัติธรรมกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงได้ออกระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พุทธศักราช ๒๕๔๓ ขึ้น เป็นระเบียบควบคุมเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิปัสสนาธุระหรือการปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานให้เป็นไปตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งปัจจุบันมีสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดที่ได้รับการจัดขึ้นตามระเบียบดังกล่าวแล้ว  จำนวน ๑,๐๐๑ แห่ง แต่จากการสำรวจผลดำเนินงานของสำนักปฏิบัติธรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมา พบว่าปัญหาซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานของสำนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การขาดพระวิทยากรที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน จึงทำให้การดำเนินงานของสำนักปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามจุดหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ได้ผลแห่งการปฏิบัติเต็มที่ เพราะการจะประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานของสำนักปฏิบัติธรรมแต่ละแห่งนั้น นอกจากจะมีเจ้าอาวาสหรือเจ้าสำนักเป็นผู้บริหารจัดการทีดี มีสถานที่ที่มีความเป็นรมณียสถานแล้ว ต้องมีพระวิทยากรผู้ฝึกอบรมปฏิบัติธรรมเพียงพอและประจำอยู่ ซึ่งวิยากรผู้อบรมปฏิบัติธรรมแก่ประชาชนชาวบ้านที่ดีที่สุดนั้น ต้องเป็นพระภิกษุผู้ได้ผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชากัมมัฏฐานโดยตรง ซึ่งพระวิทยากรที่ว่านี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนดเรียกว่า พระวิปัสสนาจารย์ ดังนั้น สำนักปฏิบัติธรรมและพระวิปัสสนาจารย์ จึงนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปฏิบัติธรรม และเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม เพื่อแก้ปัญหาโรคทางใจของสังคมไทยให้สำเร็จผลตามที่มุ่งหมาย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ พระวิปัสสนาจารย์ จึงเป็นบุคลากรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่คณะสงฆ์และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจำต้องปรารถนา และต้องเร่งระดมส่งเสริมสนับสนุนสร้างให้เพิ่มจำนวนและพัฒนาให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับในการแก้ปัญหาความทุกข์ทางใจของคนในสังคมไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงจัดตั้งโครงการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ขึ้น โดยมีเป้าหมายเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้ผ่านการฝึกอบรม ปีละ ๕๔๐ รูป

จากวิชาพระพุทธศาสนา ม.๖ เรื่องหน้าที่ของชาวพุทธ
.....
ชาวพุทธคือ ผู้ที่เลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ประกอบด้วย นักบวช คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา โดยเรียกรวมๆว่า พุทธบริษัท 4 ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
                        1. กลุ่มสงฆ์ แยกเป็น พระภิกษุสงฆ์ และพระภิกษุณีสงฆ์
                        2. กลุ่มคฤหัสถ์ แยกเป็นอุบาสก และอุบาสิกา
                        ชาวพุทธทั้ง 2 กลุ่ม ต่างมีหน้าที่และบทบาทต่อพระพุทธศษสนาแตกต่างกัน ดังนี้


1. หน้าที่และบทบาทของพระภิกษุในฐานะเป็นพระนักเทศน์ พระธรรมฑูต พระธรรมจาริก พระวิทยากร พระวิปัสสนาจารย์ และพระนักพัฒนา
                       ทั้งพระภิกษุและสามเณร มีบทบาทและหน้าที่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังนี้
              1.1   การศึกษาตามหลักไตรสิกขา คือ จะต้องศึกษาทั้ง 3 ด้าน
                       (1)  ศีล เป็นการศึกษาด้านพระวินัย (ศีล 227 ข้อ) ธรรมเนียม วัตรปฏิบัติ และมารยาทต่าง ๆ ของพระสงฆ์ เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและด้วยอาการสำรวมระวัง
                       (2)  สมาธิ เป็นการศึกษาด้านสมาธิ ฝึกเจริญวิปัสสนาเพื่อให้จิตสงบ
                       (3)  ปัญญา เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาด้านปัญญา โดยใช้ปัญญาคิดพิจารณาให้เข้าใจถึงสัจธรรมหรือความจริงของชีวิต รวมทั้งเป็ฯเครื่องมือดับทุกข์หรือแก้ไขปัญหาชีวิตต่าง ๆ
              1.2   เป็นพระนักเทศน์ ได้แก่ พระภิกษุที่ปฏิบัติหน้าที่สอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยการแสดงธรรม (เทศน์) และจะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นพระนักเทศน์ตามหลักสูตรของมหาเถรสมาคมแต่งตั้ง มี 2 ประเภท คือ
                       (1)  พระนักเทศน์แม่แบบ หมายถึง พระนักเทศน์ที่ผ่านการอบรมจากคณะกรรมการฝึกอบรมพระนักเทศน์ที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้ง
เพื่อไปจัดอบรมพระนักเทศน์ประจำจังหวัด
                       (2)  พระนักเทศน์ประจำจังหวัด หมายถึง พระนักเทศน์ที่ผ่านการอบรมปฏิบัติหน้าที่เทศน์ภายในจังหวัดที่สังกัดหรือสถานที่ที่ทายกอาราธนา
นอกจากนั้น พระภิกษุทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถ ก็สามารถเป็นพระนักเทศน์ได้ โดยให้การสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และ
ต้องมีความรู้ทางด้านธรรมเป็นอย่างดียิ่ง

              1.3   เป็นพระธรรมฑูต เป็นพระภิกษุที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธสาสนาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ในนามคณะสงฆ์ ถ้าเผยแผ่เอง เรียกว่าธรรมกถึก หรือพระนักเทศน์
              1.4   เป็นพระธรรมจาริก ได้แก่ พระภิกษุที่ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ และกรมประชาสงเคราะห์ โดยการปฏิบัติงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขาเผ่าต่างๆ รวม 6 เผ่า ได้แก่ ม้ง เย้า มูเซอ ลีซอ อีก้อ และกระเหรี่ยง ณ สถานที่ต่างๆ ในภาคเหนือ
               1.5   เป็นพระวิทยากร ได้แก่ พระภิกษุผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อบรมให้ความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป และเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชน ตลอดจนถึงการจัดอบรมต่างๆ ตามที่คณะสงฆ์มอบหมาย หรือหน่วยงานนั้นๆ ขอความอนุเคราะห์
นอกจากนั้น พระวิทยากร ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอบรมมาแล้วเป็นอย่างดี มีทักษะความคล่องตัวในการสอนตามเนื้อหาวิชาเฉพาะที่ได้รับมอบหมาย มีการเตรียมการล่วงหน้า มีสุขภาพดีทั้งกายและจิตใจ มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีบุคลิกลักษณะดี และเหมาะสมเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความสุภาพอ่อนโยน และมีศรัทธาในเรื่องการอบรมอย่างแท้จริง มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบดีไม่หลีกเลี่ยง และตรงต่อเวลา
               1.6   เป็นพระวิปัสสนาจารย์ ได้แก่ พระภิกษุผู้ทำการสอนการปฏิบัติกรรมฐานตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ กล่าวคือ ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมโดยผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัด และผ่านการอบรมหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์จากกรมการศาสนา
นอกจากนั้น พระภิกษุที่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็อาจเผยแผ่การปฏิบัติกรรมฐานได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา
               1.7   พระนักพัฒนา ได้แก่ พระสงฆ์ที่ทำงานสงเคราะห์ชุมชนด้วยการให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น เช่น การจัดตั้งศูนย์เด็กในวัด การอบรมเยาวชน การทำโครงการฝึกอาชีพ ธนาคารข้าว หรือการส่งเสริมการแพทย์พื้นบ้าน ให้คำแนะนำด้านสุขอนามัย รวมทั้งการส่งเสริมชาวบ้านในเรื่องเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรกรรมเพื่อการพึ่งตนเอง ซึ่งการทำงานดังกล่าวนี้เกิดจากความคิดริเริ่มของท่านเอง มิใช่เพราะการชักนำของหน่วยงานรัฐหรือเพื่อสนองนโยบายรัฐ

                        พระสงฆ์เหล่านี้ได้ทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า พระนั้นไม่ได้มีบทบาทเฉพาะพิธีกรรมแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านยังมีบทบาทที่สำคัญในพัฒนาชุมชนและสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีอีกด้วย
....

การเข้าใจในกิจของพระภิกษุ 

    เช่น การศึกษา การปฏิบัติธรรม และการเป็นนักบวชที่ดีพระภิกษุเป็นพุทธบริษัทระดับนำ จึงมีภาระหน้าที่ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยทำหน้าที่หลักใหญ่ ๆ 3 ประการคือ

                1. การศึกษา ได้แก่ การทำ “คันถธุระ” หมายถึง พระภิกษุจะต้องศึกษาหลักพระธรรมวินัยตามพระคัมภีร์พระไตรปิฎก
เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย อย่างถูกต้อง สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสมณเพศ 

                  2. การปฏิบัติ ได้แก่การทำ “วิปัสสนาธุระ” หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ให้มีพลัง เพื่อนำไปใช้ในการข่ม
หรือกำจัดกิเลสคือความเศร้าหมองแห่งจิต และให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง จากการทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ส่วนตนทั้ง 2 ประการนั้นก็เพื่อนำไปสั่งสอน ถ่ายทอด และเผยแพร่พระธรรม แก่พุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปการสั่งสอนและเผยแพร่พระธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของพระภิกษุในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พุทธศาสนิกชน และบุคคลทั่วไป ได้เข้าใจในหลักธรรมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเองและสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นการทำประโยชน์แก่สังคมโดยรวม 

             ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 พระพุทธเจ้าได้ตรัสหน้าที่ของพระสงฆ์ในการสั่งสอนเผยแพร่หลักธรรมแก่ประชาชนไว้ 6 ประการคือ

            1) สอนให้ละเว้นความชั่ว คือ การชักจูงใจให้บุคคลพึงละเว้นจากสิ่งที่กระทำลงไปแล้วเกิดโทษ ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น 
ทำให้เกิดเป็นความทุกข์

            2) สอนให้ทำความดี คือ การชักจูงใจให้บุคคลประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สิ่งที่เป็นกุศล เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข 

            3) อนุเคราะห์ด้วยจิตใจอันงาม หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ และแนะนำสั่งสอนด้วยความปรารถนาดี มุ่งประโยชน์ที่บุคคลถึงได้รับเป็นสำคัญ ไม่หวังสินจ้างรางวัล ลาภ ยศ หรือชื่อเสียงใด ๆ เป็นการตอบแทน

            4) สอนสิ่งที่เขาไม่เคยสดับตรับฟังมาก่อน ประชาชนส่วนมากมักวุ่นวายอยู่กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาและสดับพระธรรม พระสงฆ์ผู้ได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติมากกว่าชาวบ้าน จึงต้องนำเอาสิ่งที่ตนเรียนรู้มาถ่ายทอดให้เขาได้รู้ด้วย

             5) อธิบายสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาแล้วให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น บางเรื่องที่เขาฟังมาแล้วเกิดความสงสัยไม่แน่ใจ ก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจแจ่มแจ้งหายสงสัย โดยรู้จักการจับประเด็นที่สำคัญมาขยาย และชี้แจงแต่ละประเด็นให้ชัดเจน

             6) บอกทางสวรรค์ให้ หมายถึง การบอกทางสุข ทางเจริญ โดยการแนะนำทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม และเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชน

          3. การเป็นนักบวชที่ดี พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ศึกษา ปฏิบัติธรรม เผยแผ่คำสอน ดังที่กล่าวมาแล้ว พระภิกษุจะต้องเป็นผู้สืบต่อพระพุทธศาสนา มีคุณธรรมและหลักความประพฤติที่ต้องปฏิบัติมากมาย นอกจากอนุเคราะห์พุทธศาสนิกชนแล้ว พระภิกษุจะต้องหมั่นพิจารณาตนเอง คือ พิจารณาเตือนใจตนเองอยู่เสมอตามหลัก ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ) 10 ประการดังนี้คือ

           3.1 เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์ สลัดแล้วซึ่งฐานะ ควรเป็นอยู่ง่าย จะถือเอาแต่ใจตนเองไม่ได้
           3.2 ความเป็นอยู่ของเราต้องอาศัยผู้อื่นในการเลี้ยงชีพ ควรทำตัวให้เลี้ยงง่าย และบริโภคปัจจัย 4 โดยพิจารณา ไม่บริโภคด้วยตัณหา
           3.3 เรามีอากัปกิริยาที่พึงทำต่างจากคฤหัสถ์ อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ พระภิกษุต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ และยังจะต้องปรับปรุงตนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้
           3.4 ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่
           3.5 เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูชน พิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ 
           3.6 เราจักต้องถึงความพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น
           3.7 เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น
           3.8 วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
           3.9 เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่
           3.10 คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรชิตถามในกาลภายหลัง

2 ความคิดเห็น:

  1. การอบรมวิปัสสนาจารย์ประจำปี 2560 เริ่มเมื่อไรครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ข้อความจากวัดสระกระเทียม
      **ประชาสัมพันธ์ ครับ**
      "กำหนดการโครงการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์คณะธรรมยุต ประจำปี ๒๕๖๐ (รุ่นที่๘)"
      ในวันที่ ๑-๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐ รวม ๒๐ วัน
      ณ วัดสระกะเทียม อ.เมือง จ.นครปฐม ดังเช่นเคยปฏิบัติ
      เริ่มลงทะเบียนในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
      #พระภิกษุท่านใดที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการอีกครั้งทางวัดสระกะเทียมยินดีครับผม ขอบพระคุณครับ

      ลบ