หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ประวัติท่านเจ้าคุณอุบาลี


พระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจันโท) เดิมท่านเป็นคนชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิดท่านชื่อ จันทร์ สุภสร บิดาชื่อ สอน มารดาชื่อ แก้ว นามสกุล สุภสร ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นบุตรคนโต (หัวปี) ท่านเกิดเมื่อเดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ วันศุกร์ ปีมะโรง เวลา ๒๓.๐๐ น. ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๙๘ ที่บ้านหนองไหล ตำบลหนองไหล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
.. พื้นเพของครอบครัวเป็นชาวนา ท่านเจ้าคุณอุบาลี เป็นเด็กที่มีความคิดพิจารณามาแต่อายุ ๗ ขวบ บิดามารดาเป็นคนใจบุญสุนทาน มีความใกล้ชิดกับวัดวา กับครูบาอาจารย์มากครอบครัวหนึ่ง ยังผลให้บุตรคือ…ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ผู้ติดตามบิดามารดา มีความแน่นแฟ้นในศีลในธรรม มีสัจจะวาจา มีความเลื่อมใสศรัทธาตามบิดาของตนเป็นอันมาก
.. พออายุได้ ๑๓ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคต โดยเป็นธรรมเนียมของชาวไทยทุกคน ต้องโกนผมไว้ทุกข์แด่องค์พระมหากษัตริย์ และต้องรักษาศีล เจริญภาวนาเพื่อเป็นการบูชาพระคุณ แต่บุคคลที่รักรูป รักกายสังขาร ก็มีอยู่บางคนถึงกับร้องไห้เสียใจเพราะตนต้องเ ป็นคนหัวโล้นโดยเฉพาะเป็นสตรีที่เสียใจกันมาก แต่ท่านท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ (สมัยเป็นเด็ก) กลับมองตรงกันข้าม ท่านคิดในใจว่า “ศีรษะโล้นนี่เป็นของดีงาม วิเศษกว่ามีผมที่รุงรังบนหัว” ตั้งแต่ถูกโกนผมหมดหัวไปแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ (สมัยเป็นเด็กเล็กอยู่นั้น) เกิดความชอบอกชอบใจเป็นที่สุด จิตใจเบิกบานอย่างผิดสังเกต…บิดาเห็นเช่นนั้นก็ได้ถามขึ้นว่า… “ถ้าจะให้บวชเป็นสามเณร จะอดข้าวเย็นได้บ่” สิ้นเสียงที่บิดาถาม บุญบารมีเก่าได้มาหนุนนำชีวิตให้รุ่งโรจน์ ต่อไป ท่านตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า “อดได้”ต่อมาบิดามารดาได้นำบุตรชายที่อยากบวชเณร มาฝากบวชกับท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองไหล และได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร จันทร์ สุภสร ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้นเอง
..ต่อมาอายุครบบวช บิดาจึงหาอุบายที่จะให้บุตรของตนได้บวชพระ โยมบิดาของท่านได้เล่าไว้ดังนี้…“บุตรชายของท่าน คือท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นเด็กเลี้ยงยากที่สุด และเป็นเด็กที่แสนซน อีกทั้งยังเป็นเด็กขี้ร้องไห้ ใจน้อย ถ้าร้องไห้แล้วละก็ จะต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลยทีเดียวถึงจะหยุด ไม่ยอมหยุดร้องง่ายๆ” ด้วยอุบายนี้ โยมบิดาจึงนำไปกล่าวแก่บุตรชาย (จันทร์) ได้ฟังว่า“บิดามารดาได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ถ้าไม่บวชให้ก็เห็นทีเจ้าจะไม่พ้นโทษ ต้องบวชให้บิดามารดาจึงพ้นโทษจากความเลี้ยงยาก ซนและขี้ร้องไห้”ด้วยเหตุนี้ จึงรับปากบิดามารดาว่า “จะบวชให้สัก ๓ ปี บิดามารดาจะพอใจหรือไม่ บิดาจึงตอบไปว่า “ลูกจะบวชให้สักปีหรือสองปีก็ไม่ว่า แต่ขอให้บวชเป็นพระก็แล้วกัน”
..งานอุปสมบทได้จัดขึ้น ณ วัดศรีทอง เมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ ท่านอุปสมบทสำเร็จเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. โดยมีท่านพระเทวธัมมี (ม้าว) เป็นพระอุปัชฌาย์ท่านพระอธิการสีโห (วัดไชยมงคล) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในระหว่างเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้น ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้อยู่จำพรรษากับพระอธิการสีโห ณ วัดไชยมงคล และได้รับภาระจากพระอาจารย์มาทำอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ส่วนทางด้านพระธรรมวินัยนั้น ท่านได้มาศึกษาอยู่กับพระเทวธัมมี (ม้าว) ที่วัดศรีทอง จนเป็นที่รักและไว้วางใจอย่างยิ่ง ต่อมาท่านพระอุปัชฌาย์ เทวธัมมี (ม้าว) ได้สอนกรรมฐานภาวนา และให้พิจารณาอยู่เป็นนิจในธรรม ๔ ประการ คือ “อารักขกรรมฐาน ๔” ได้แก่
 1.พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
 2.เมตตานุสสติ แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
 3.อสุภะ การพิจารณากายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม
 4.มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน

..ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ท่านได้มานะพยายามศึกษาวิชาการต่าง ๆ อย่างชนิดทุ่มเทจิตใจ จนมาเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดในวงการ พระอริยะสงฆ์ไทย คือทางด้านศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านสอบได้มหาเปรียญ ๓ ประโยค จนได้รับพระราชทานตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
..การปฏิบัติธรรม ท่านมีความเชี่ยวชาญ รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมขณะออกปฏิบัติ “ธุดงค์กรรมฐาน” จนมีความเข้าอกเข้าใจภูมิธรรมปฏิบัติ และได้สนับสนุนให้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก่อตั้งกองทัพธรรมเพื่อออกเผยแพร่ธรรมอันบริสุทธิ์แก่ประชาชนด้วยดีตลอดมา
.. การเผยแพร่ธรรม ท่านได้ออกไปเผยแพร่ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังต่างแดน เช่น นครจำปาศักดิ์และนครเชียงตุง เป็นต้น
..ส่วนทางด้านพัฒนาศาสนาวัตถุ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านได้ดำเนินการสร้างและปฏิสังขรณ์ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ให้เป็นวัดที่เจริญไพบูลย์ เป็นที่ยึดจิตใจของประชาชนตั้งแต่ระดับสูง จนมาถึงผู้หาเช้ากินค่ำอย่างวิเศษยิ่ง และยังได้สร้างวัดเขาพระงามหรือวัดสิริจันทร์นิมิต จังหวัดลพบุรี ให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน อนึ่งสายจิตสายใจอันเป็นหนึ่งของท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านได้อุทิศกายถวายชีวิตแก่พระศาสนาจนหมดสิิ้น
...พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระสงฆ์องค์สำคัญ
ท่านมีชีวิตอยู่ถึง ๔ แผ่นดิน คือตั้งแต่รัชกาลที่ ๔-๗
เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร
ท่านได้กอปรคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล
ทั้งในด้านการปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ
และการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ

ท่านยังเคยกล่าวยกย่องท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ในที่ประชุมว่า “ท่านมั่นเป็นกัลยาณมิตร ควรสมาคม”
ในยุคสมัยนั้นพระป่าที่ไม่ได้ศึกษาทางปริยัติ
ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ล้วนมีการศึกษาสูง
แต่ด้วยการสนับสนุนของท่านเจ้าคุณฯ
ทำให้ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่รู้จักของพระสงฆ์ระดับผู้ใหญ่ ในธรรมยุติกนิกาย
จากคำบอกเล่าของ หลวงปู่จาม มหาปุญโญว่า..
..ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เอาเพิ่นครูอาจารย์มั่นขึ้นไปยับยั้งอยู่วัดเจดีย์หลวง ในตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ และเจ้าอาวาสว่าการวัด ยังได้สั่งกำชับว่า “ท่านมั่นเห็นตัวเองแล้วแต่ไม่แจ้งในตัวเองแล้วอย่าได้กังวลกับผม เพราะผมอายุมากแล้ว ผมรักษา กาย วาจา ใจ ของตนได้แล้ว" ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ดำริแล้วท่านก็กลับลงวัดบรมนิวาส
..เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) ก็อยู่กับท่านอาจารย์ลี (ธมฺมธโร) จำพรรษาเจดีย์หลวง ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์บวชให้หลวงตาปลัดเกตุ (วณฺณโก) ก็เป็นอันสนองเจตนาของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ เต็มแบบสมบูรณ์
.. พอออกพรรษาก็หนีขึ้นไปเมืองพร้าว ท่านอาจารย์ลีตามไม่ทัน เสาะหาไม่ปะไม่เห็น ท่านอาจารย์แหวน (สุจิณฺโณ) ลงไปเฝ้าพยาบาลท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ที่อาพาธแข้งหัก ตามคำของเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต)
.. โดยปกติ ธรรมของเพิ่นครูอาจารย์มั่นนั้น และตามคำของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ก็แสดงว่าเพิ่นครูอาจารย์มั่นยังไม่จบแจ้งในธรรมชั้นยอด อีกอย่างเพิ่นครูอาจารย์มั่นนั้นชอบสงบ ไม่ต้องการงานอันยุ่งยาก ไม่ต้องการคลุกคลีกับหมู่คณะ จึงได้หนีขึ้นเมืองพร้าว หลบตัวอยู่ ป่าฮิ้นผายอง ห้วยงู แม่ดอกคำ ป่าเมี่ยง ไม่เอาท่านอาจารย์ลีไปด้วย
.. ท่านอาจารย์แหวน เล่าให้ฟังอีกว่า เพิ่นครูอาจารย์มั่นหลบหลีกไปแก้ไขตนเอง แต่ยังติดอยู่กับคู่บำเพ็ญบารมีที่เคยร่วมสร้างดีชั่วด้วยกันมา ยังติดขัดอยู่ในใจ ต้องเสาะหาแล้วสงเคราะห์ปลดเปลื้องสิ่งนี้ก่อนจึงจะหลุดไปได้ สมกับคำที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ว่า เห็นตัวเองแล้วแต่ยังไม่เห็นแจ้งในตัว
..แม้ว่าท่านเจ้าคุณฯ จะเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติปฏิบัติชอบเพียงใด
ก็ไม่อาจจะพ้นไปจากโลกธรรม ๘ อันเป็นสิ่งธรรมดาของโลกได้
ดังตัวอย่างของการ “ได้ยศ-เสื่อมยศ” ซึ่งท่านได้เล่าไว้ว่า...

“...ส่วนบรรดาศักดิ์ถึงปีขาล วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗
ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งเป็นพระเทพโมลี
ครั้นถึงปี ๒๔๕๘ พรรษาที่ ๓๙ ปลายปี
ถูกถอดลดยศออกจากตำแหน่งพระเทพโมลี...”


หลังจากการถูกถอดสมณศักดิ์ ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนา
อันแสดงถึงความเข้าใจในโลกธรรม อันเป็นสิ่งที่เป็นปกติของโลก

“เวลานี้เราเป็นหลวงตาจันทร์แล้ว
ขณะนี้หลวงตาจันทร์กำลังจะเทศน์
โลกธรรมนั้นเป็นสิ่งธรรมดาโลก
ถ้าใครไปยึดถือมันเข้าก็จะต้องหลง
เกิดความเดือดร้อนกระวนกระวาย อย่าไปถือเลย
หลวงตาจันทร์กับเจ้าคุณมันก็คนคนเดียวกันนั้นเอง
แต่เป็นเรื่องที่เขาสวมหัวโขนให้กันเท่านั้น"


สาเหตุของการถูกถอดยศนั้นเกิดจากการที่ท่านได้แต่งหนังสือ
ชื่อว่า "ธรรมวิจยานุศาสน์" เพื่อแจกในงานศพของหม่อมราชวงศ์หญิงท่านหนึ่ง
เนื้อหาบางส่วนไม่เป็นที่พึงใจของทางราชการ
ท่านจึงถูกถอดจากสมณศักดิ์ แล้วถูกนำตัวไปกักไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหารฯ
แต่ในที่สุดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์คืน
ดังปรากฏในอัตชีวประวัติของท่าน

“...วันที่ ๔ มกราคม ๒๔๕๙ ทรงพระราชทานอภัยให้อัตตโนพ้นจากโทษ
แล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานตำแหน่งสมณศักดิ์
ให้เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี มีตำแหน่งเสมอกับพระราชาคณะชั้นเทพ...” 


ท่านได้กลับมาปกครองวัดบรมนิวาสตามเดิม
และต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระโพธิวงศาจารย์”
และเป็นพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี
มีนามในสัญญาบัตรว่า “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธจริยาปรินายก
ตรีปิฏกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์สาธุการีธรรมาดร สุนทรศีลาทิขันธ์” 

อันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดที่ท่านได้รับ

โลกธรรม ๘ อันประกอบด้วย สุข-ทุกข์ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ
ได้ยศ-เสื่อมยศ ได้รับคำสรรเสริญ-ถูกนินทา
นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญ
การยอมรับในธรรมดาโลกว่าไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้คงทน สรรพสิ่งต้องแปรปรวนไป
ย่อมทำให้มีชีวิตอยู่บนโลกอย่างเข้าใจ ไม่หวั่นไหวเมื่อต้องพบสิ่งที่ไม่ปรารถนา
ดังที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้ปฏิบัติ
ให้เราชาวพุทธผู้เป็นศิษย์พระพุทธเจ้าได้ดำเนินตามแนวทางอันดีงามของท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น