หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

การบรรลุธรรมเบื้องต้นของหลวงพ่อทูล ขิปปัญโญ


ในช่วงที่ข้าพเจ้าใช้ปัญญาพิจารณาในวัตถุสมบัติอยู่นั้น ก็สังเกตใจตัวเองอยู่เสมอว่า ใจเรามีความยินดีกับวัตถุสมบัติอะไรบ้าง ดูผิวเผินปรากฏว่า ใจไม่มีความยินดียึดติดอยู่กับวัตถุสมบัติอะไรเลย แต่ในส่วนลึกของใจนั้นยังมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ฝังอยู่ แต่ก็นึกหาในสิ่งนั้นไม่ได้ว่าหลงติดอยู่ในของสิ่งใด ในวันต่อมา ได้เดินไปดูสิ่งที่ปลูกเอาไว้ บังเอิญไปพบต้นมะม่วงที่ปลูกเอาไว้ พอสายตามองเห็นเท่านั้น ก็เกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า ความดึงดูดกันในระหว่างใจกับต้นมะม่วงนั้นผิดปกติมาก จึงเกิดความยินดีความยึดมั่นในต้นมะม่วงนั้นอย่างเห็นได้ชัด จึงได้อุทานขึ้นในใจว่า วัตถุสมบัติของโลกได้มารวมตัวกันอยู่ที่ต้นมะม่วงนี้แล้ว ความเหนียวแน่นในความยึดติดอยู่กับมะม่วงนั้นรู้เห็นได้ชัดทีเดียว จึงได้ทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ถ้าใจได้ตัดขาดจากต้นมะม่วงเมื่อไร กระแสของโลกก็จะขาดจากใจไปได้ จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาต้นมะม่วงนั้นลงสู่การเกิดดับและไตรลักษณ์อย่างจริงจัง แล้วจึง โอปนยิโก น้อมต้นมะม่วงนั้นเข้ามาหาตัวเอง และพิจารณาตัวเอง คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ว่ามีการเกิดดับเหมือนต้นมะม่วงนี้ และใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกายให้เป็นไปตามสามัญลักษณะธาตุ คือ มีความเสมอภาคกันในอนัตตา เมื่อถึงกาลเวลาแล้วก็ต้องดับไป ทุกอย่างก็ต้องผุพังเน่าเปื่อยทับถมในแผ่นดินนี้ทั้งหมด ไม่มีอะไรจะมาเป็นตนและไม่มีอะไรจะมาเป็นต้นมะม่วงนี้อีกเลย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ ใจก็เกิดความรู้เห็นเป็นไปตามหลักความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและก็ดับไปเป็นธรรมดา เมื่อมารู้เห็นความจริงอย่างนี้ด้วยปัญญาที่เห็นชอบแล้ว กระแสใจที่เคยยึดมั่นในต้นมะม่วงนั้นก็ขาดกระเด็นออกจากใจไปทันที ไม่มีอะไรให้ต่อเชื่อมกันได้เลย จากนั้น นึกขึ้นได้อีกว่า ยังมีมะม่วงอีกต้นหนึ่งเป็นพันธุ์ดีที่สุด จึงเดินไปดู พอสายตากระทบต้นมะม่วงเท่านั้น ก็เกิดความยึดติดกับต้นมะม่วงต้นนั้นอีก และยึดติดอย่างรุนแรงกว่ามะม่วงต้นที่ผ่านมา เหมือนกับความเหนียวแน่นของใจที่มีในต้นมะม่วงนั้นมันมีความผิดปกติอยู่มาก ๆ ทีเดียว จากนั้น ก็เริ่มใช้ปัญญาพิจารณาดังที่ได้เคยพิจารณามาแล้ว อุบายปัญญาที่เคยพิจารณาอย่างได้ผลมาแล้ว แต่บัดนี้ ไม่ได้ผลเสียเลย ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่อย่างนั้นทั้งวัน ก็ไม่ทำให้กระแสใจขาดจากความยึดติดกับต้นมะม่วงนี้ได้ ตกเย็นกลับบ้าน ได้นั่งทำสมาธิ ออกจากสมาธิก็มาใช้ปัญญาพิจารณาต้นมะม่วงนี้อีก แต่ในคืนนั้น ไม่สามารถทำให้ใจเกิดความละถอนปล่อยวางในต้นมะม่วงนั้นเลย ต่อมาในวันที่สอง ก็ใช้ปัญญาพิจารณาอีก ใจยังมีความยึดติดอย่างเหนียวแน่นตามเดิม ในคืนที่สองนี้ก็ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป เมื่อใช้ปัญญานาน ๆ เข้า เหนื่อยจึงหยุดพักในสมาธิไปด้วย เมื่อออกจากสมาธิก็เริ่มใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป หลักการที่ใช้ปัญญาพิจารณาก็เป็นอุบายเดียวกัน และได้สังเกตดูใจ ตัวเองไปพร้อม ๆ กันว่ามีความละเอียดมาก จึงได้รู้เห็นการเกิดดับของต้นมะม่วงและธาตุ ๔ ของตัวเองได้อย่างชัดเจน เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน ก็ได้รู้เห็นเป็นไปตามหลักความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยและสิ่งนั้นก็ย่อมดับไปด้วยเหตุปัจจัยในตัวมันเอง ในขณะนั้น กระแสแห่งความยึดถือของใจ ก็ได้พังทลายสูญหายออกไปจากใจในชั่วพริบตา จึงได้รู้ตัวเองว่าอยู่ในฐานะอย่างไร ฉะนั้น การปฏิบัติในอุบายการใช้ปัญญาพิจารณาในการเกิดดับ ในสรรพวัตถุธาตุทั้งหลาย ทั้งภายนอก ภายใน ใกล้ไกล หยาบ ละเอียด ทั้งสิ่งที่มีวิญญาณครอง และสิ่งที่ไม่มีวิญญาณครอง ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง ไม่มีใครบังคับให้อยู่ในอำนาจของตัวเองได้ไม่ว่าสิ่งนั้นจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ ในคืนนั้น มีแต่ความอิ่มเอิบอยู่กับผลของการปฏิบัติธรรมตลอดคืน และรู้ชัดภายในใจว่านับจากวินาทีนี้ไป ใจเราจะไม่มีภาระในการยึดติดอยู่กับวัตถุสมบัติทั้งหลายตลอดไป เพราะใจได้ละวางในวัตถุสมบัติของโลกนี้ได้อย่างสิ้นเชิง ถึงจะแสวงหาวัตถุสมบัติมาได้ รวมทั้งสิ่งที่มีอยู่ ก็รู้สึกว่าเป็นเพียงวัตถุธาตุเท่านั้น ทุกอย่างเป็นเพียงปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตให้อยู่ได้ในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น แม้ธาตุขันธ์ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา และเป็นของเรา ก็เป็นเพียงสมมติโลกที่พูดกันเท่านั้น ส่วนความจริงก็ยังเรียกกันตามโลกนิยม คำว่า สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นในรูปกายหรือรูปธาตุอื่นๆ ย่อมมีการเกิดดับตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง นี้คือรู้จริงเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงใน สัจธรรมอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ความสงสัยในพระพุทธเจ้า ความสงสัยในพระธรรม ความสงสัยในพระอริยสงฆ์ ความสงสัยในผลของกรรมดีกรรมชั่ว ความสงสัยในบุญและบาป ความสงสัยในมรรคผลนิพพานก็หมดไป เพราะมารู้จริงเห็นจริงในสัจธรรมอย่างสนิทใจ เป็นความรู้เห็นที่ไม่เสื่อมคลายต่อไป ความเข้าใจผิด ความหลงผิด ก็ได้กลายเป็นอดีตไป มีแต่ความรู้เห็นที่เป็นจริงที่มั่นคงสมบูรณ์ภายในใจ เป็น นิตยทิฏฐิ คือ ความรู้เห็นที่แน่นอน ไม่มีความลังเลสงสัยอีกตลอดไป มีแต่ความอิ่มเอิบในธรรมตลอดทั้งวันทั้งคืน จะยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ที่ไหน ใจย่อมมีความเบิกบานอยู่ตลอดเวลา ความลูบคลำในศีล ว่ามีความเศร้าหมองขุ่นมัวด่างพร้อย หรือศีลขาดศีลทะลุอย่างไรก็ไม่มีในใจแม้แต่น้อย นี่คือศีลที่เป็นผลสะท้อนออกมาจากธรรม เมื่อใจมีธรรมและธรรมฝังใจอย่างแนบแน่นแล้ว ผลคือ ความละอายในการทำชั่ว ในการพูดชั่ว และการคิดชั่วจะมีมาจากที่ไหน นี่คือศีลที่เกิดจากธรรมโดยตรง จึงเรียกว่า ปกติศีล เป็นศีลที่ไม่มีความหวั่นไหว เป็นศีลที่ไม่มีความวิตกกังวลในสิ่งใด ๆ เพราะศีลฝังลึกอยู่ที่ใจอย่างสนิทแล้ว คำว่าศีลขาดหรือไม่ขาด จะไม่มีในใจที่เป็นธรรมนี้เลย ฉะนั้น จึงเป็น อธิศีล คือ ศีลที่ยิ่ง อธิจิต ความตั้งมั่นที่แน่วแน่ในธรรม จะไม่มีความหลงผิดอีกต่อไป อธิปัญญา ความรู้รอบและรอบรู้ภายในใจก็เป็นไปในเหตุในผล จะคิดนึกตรึกตรองในสิ่งใด ดำริพิจารณาในเหตุปัจจัยอะไร ย่อมเกิดความแยบคายได้ง่าย อธิปัญญา คือ ปัญญาที่รู้รอบในสรรพสังขารทั้งหลาย ไม่มีสังขารใดที่จะเล็ดลอดหลบหลักปัญญาไปได้เลย เพราะปัญญา จึงให้นามว่าความรู้รอบและรอบรู้อยู่แล้ว ฉะนั้น ความลูบคลำในศีลว่าขาดหรือไม่ขาดนั้นจะไม่มีในใจเลย เพราะใจที่มีศีลนั้นไม่มีเจตนาในทางที่ชั่ว เรื่องการแสดงออกมาภายนอกด้วยกิริยาทางกายและวาจา ในสายตาของคนอื่นอาจเข้าใจผิดได้ว่าต้องผิดศีลข้อนั้น ต้องผิดศีลข้อนี้ ย่อมวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ด้วยภาษาของคนมืดบอด เรื่องเหล่านี้เคยมีมาแล้วในครั้งพุทธกาล เช่น พระจักขุบาลที่เดินจงกรมเหยียบแมลงเม่าตายเป็นกอง ๆ ในทางเดินจงกรม ก็มีพระที่มืดบอดด้วยสติปัญญาไปฟ้องพระพุทธเจ้า ว่าจะเอาโทษทางวินัยให้ได้ ในที่สุด พระพุทธเจ้าก็ได้ตัดสินว่า พระจักขุบาลไม่ผิดเพราะไม่มีเจตนา คือ ความตั้งใจที่จะเหยียบแมลงเม่าให้ตาย ฉะนั้น ความลูบคลำในศีลว่าขาดหรือไม่ขาดจึงไม่มีต่อผู้มีธรรมประจำใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น