หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จัตุรารักษ์


จตุรารักษ์ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ๏ อนึ่งเมื่อจะระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พึงระลึกดังนี้ก็ได้ว่า เพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ลุกโพลงรุ่งเรือง ไหม้สัตว์เผาสัตว์ให้รุ่มร้อนอยู่เป็นนิตย์ในภพทั้ง ๓ เพลิงกิเลสนั้น คือ ราคะ ความกำหนัดยินดี และ โทสะ ความเคืองคิดประทุษร้าย และโมหะ ความหลง รู้ไม่จริง ราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นเพลิง เพราะเป็นเครื่องร้อนรนกระวนกระวายของสัตว์ เพลิงทุกข์นั้น คือ ชาติ ความเกิด คือขันธ์และอายตนะ และนามรูปที่เกิดปรากฏขึ้น และชรา ความแก่ทรุดโทรมคร่ำคร่า และ มรณะ ความตาย คือ ชีวิตขาด กายแตก วิญญาณดับ และโสก ความเหือดแห้งเศร้าใจ และ ปริเทวะ ความบ่นเพ้อ คร่ำครวญ ร่ำไร และทุกข์ทนยากเจ็บปวด เกิดขึ้นในกาย และ โทมนัส ความเป็นผู้มีใจชั่ว เสียใจ และอุปายาส ความคับแค้น อัดอั้นใจ ทุกข์มีชาติเป็นต้นเหล่านี้ ท่านกล่าวว่าเป็นเพลิง เพราะเป็นทุกข์ให้เกิดความร้อนรน กระวนกระวายต่าง ๆ แก่สัตว์ เพลิงกิเลส เพลิงทุกข์เหล่านี้ ยกพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งในโลกดับได้ แต่ผู้ที่จะรู้ว่าเป็นเพลิง เครื่องร้อนเท่านั้นก็หายากเสียแล้ว ผู้ที่จะดับเพลิงนั้น จะได้มาแต่ใดเล่า ก็ในโลกหมดทั้งสิ้นไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งดับได้ จึงพากันร้อนรนกระวนกระวายอยู่ด้วยเพลิงหมดทั้งโลก ก็ไม่รู้สึกตัวว่า เพลิงมันไหม้มันเผาเอา ให้เร่าร้อนอยู่เป็นนิตย์ เพราะอวิชชาความหลงไม่รู้จริง สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา พระผู้มีพระภาคที่เป็นที่พึ่งของเรา พระองค์ตรัสรู้ชอบ ตรัสรู้ดีแล้วเอง ตรัสรู้จริงเห็นจริง ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ ทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพานได้ด้วยพระองค์นั้น จึงเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ ประเสริฐกว่าสัตว์ เป็นผู้อัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริง ๆ สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมที่เป็นที่พึ่งของเรา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วดี ทรงคุณ คือดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ของสัตว์ผู้ปฏิบัติชอบ ช่วยให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นได้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคผล นฤพาน พระธรรมนั้น ท่านทรงคุณ คือดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้อย่างนี้ จึงเป็นอัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริง ๆ สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาค ที่เป็นที่พึ่งของเรา ท่านปฏิบัติดีแล้ว ทำให้บริบูรณ์ในศีล สมาธิ ปัญญา บันลุมรรคผล ทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพาน ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ของตนได้ด้วย และเป็นเขตต์ให้เกิดบุญเกิดกุศล แก่เทวดามนุษย์มากมายนัก พระสงฆ์นั้นท่านปฏิบัติดีอย่างนี้ จึงเป็นอัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ควรเลื่อมใสจริง ๆ ฯ ๏ เมื่อนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ รัตนะนี้ ตรึกตรองด้วยปัญญา ครั้นเห็นจริง เกิดความเลื่อมใสขึ้นแล้ว จะนึกแต่ในใจ หรือจะเปล่งวาจาว่า อโห พุทฺโธ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา พระองค์ตรัสรู้จริง เห็นจริง สำเร็จประโยชน์ตน สำเร็จประโยชน์อื่นได้แล้ว ควรซึ่งทักษิณาอันเลิศ เป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริง อโห ธมฺโม พระธรรมเป็นที่พึ่งของเรา ท่านทรงคุณคือ ดับกิเลสเครื่องร้อนใจของสัตว์ได้ นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริง อโห สงฺโฆ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา ท่านปฏิบัติดีแล้ว เป็นเขตต์บุญอันเลิศ หาเขตต์บุญอื่นยิ่งกว่าไม่มี เป็นอัศจรรย์น่าเลื่อมใสจริง ภาวนาดังนี้ ก็ได้ดีทีเดียว ฯ ๏ เมื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ รัตนะนี้เป็นที่พึ่งของตนจริง ๆ เสมอด้วยชีวิตแล้ว ท่านกล่าวว่าถึงสรณะแล้ว มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทานหมดทั้งสิ้น อนึ่งผู้ใดได้ความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓ รัตนะนี้แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าเลื่อมใสแล้วในที่อันเลิศ ผลที่สุกพิเศษ เลิศใหญ่ยิ่งกว่าผลแห่งกุศลอื่น ๆ ทั้งสิ้น ย่อมมีแก่ผู้เลื่อมใสในรัตนะทั้ง ๓ นั้น อนึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ เป็นรัตนะอันเลิศวิเศษยิ่งกว่ารัตนะอื่นหมดทั้งสิ้น ย่อมให้สำเร็จความปรารถนาแก่สัตว์ผู้ที่เลื่อมใสได้ทุกประการ เหตุนั้นเราทั้งหลายจงอุตส่าห์นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เกิดความเลื่อมใสทุก ๆ วันเถิด จะได้ไม่เสียทีประสพพบพระพุทธศาสนานี้ ฯ ๏ นี้วิธีระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ฯ ๏ อนึ่งเมื่อจะเจริญเมตตา พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น อเวรา จงเป็นสุข เป็นสุข เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น อพฺยาปชฺฌา จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีความเจ็บไข้ลำบากกาย ลำบากใจเลย สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น อนีฆา จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด ฯ ๏ เมตตาภาวนานี้ เป็นข้าศึกแก่พยาบาทโดยตรง เมื่อเจริญเมตตานี้ย่อมละพยาบาทเสียได้ด้วยดี เมตตานี้ชื่อว่า เจโตวิมุติ์ เพราะเป็นเครื่องหลุดพ้นจากพยาบาทของใจ มีผลอานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่าทานและศีลหมดทั้งสิ้น อนึ่งเมตตานี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์ ๑๑ ประการ อานิสงส์ ๑๑ ประการนั้น คือ ผู้เจริญเมตตานี้ หลับก็เป็นสุขที่ ๑ ตื่นก็เป็นสุข ที่ ๒ ฝันเห็นก็เป็นมงคล ไม่ลามก ที่ ๓ เป็นที่รักของมนุษย์ ที่ ๔ เป็นที่รักของอมนุษย์ ที่ ๕ เทวดาย่อมรักใคร่รักษาไว้ให้พ้นภัย ที่ ๖ ไฟก็ไม่ไหม้ ไม่ทำให้ร้อนได้ และ พิษต่าง ๆ และสาตราวุธก็ไม่ประทุษร้ายทำอันตรายแก่ชีวิตได้ ที่ ๗ จิตต์กลับตั้งมั่นได้โดยเร็วพลัน ที่ ๘ มีผิวหน้าผ่องใสงาม ที่ ๙ เป็นผู้มีสติไม่หลงตาย ที่ ๑๐ ตายแล้วไปเกิดในพรหมโลกด้วยเมตตาฌานนี้ ที่ ๑๑ เมตตามีอานิสงส์วิเศษมากต่าง ๆ ดังว่ามานี้ เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอย่าได้แระมาทในเมตตาภาวนานี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิดจะได้ประสพอานิสงส์วิเศษต่าง ๆ ซึ่งว่ามานี้เทอญ ฯ ๏ นี้วิธีเจริญเมตตา ฯ ๏ อนึ่งเมื่อจะเจริญอสุภะ พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า อตฺถิ อิมสิมึ กาเย ของไม่งามเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดมีอยู่ในกายนี้ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มํสํ นหารู อฏฺฐี อฏฺฐิมิญฺชํ วกฺกํ คือ เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปิหกํ ปปฺผาสํ คือ เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด อนฺตํ อนฺตคุณํ อุทริยํ กรีสํ คือ ไส้ใหญ่ สายเหนี่ยวไส้ ราก ขี้ ปิตฺตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท เมโท คือ น้ำดี น้ำเสมหะ น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น อสฺสุ วสา เขโฬ สิงฆาณีกา ลสิกา มุตฺตํ คือ น้ำตา น้ำมันเปลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำเยี่ยว ฯ ๏ ผม นั้นงอกอยู่ตามศีรษะ ดำบ้าง ขาวบ้าง ขน นั้นงอกอยู่ตามขุมขนทั่วกาย เว้นไว้แต่ฝ่ามือฝ่าเท้า เล็บ นั้นงอกอยู่ตามปลายมือปลายเท้า ฟัน นั้น งอกอยู่ตามกระดูกคาง ข้างบนข้างล่าง สำหรับบดเคี้ยวอาหาร ชุ่มอยู่ด้วยน้ำลายเป็นนิตย์ หนัง นั้นหุ้มทั่วกายผิวนอก ออกเสียแล้วมีสีขาว เนื้อนั้นมีสีแดงเหมือนกะชิ้นเนื้อสัตว์ เอ็น นั้นรึงรัดรวบโครงกระดูกไว้ มีสีขาว กระดูก นั้นเป็นร่างโครงค้ำแข็งอยู่ในกาย มีสีขาว เยื่อในกระดูก นั้นมีสีขาวเหมือนกะยอดหวายที่เผาไฟอ่อนแล้วใส่ไว้ในกระบอกไม้ฉะนั้น เยื่อในขมองศีรษะ นั้นเป็นยวง ๆ เหมือนกะเยื่อในหอยจุกแจง ม้าม นั้นคือแผ่นเนื้อมีสีแดงคล้ำ ๆ สองแผ่นมีขั้วอันเดียวกัน เหมือนกะผลมะม่วงสองผล มีขั้วอันเดียวกันฉะนั้น อยู่ข้างซ้ายเคียงกับหัวใจ เนื้อหัวใจ นั้นมีสีแดง สัณฐานดังดอกบัวตูม ตั้งอยู่ท่ามกลางอก ตับ นั้นคือแผ่นเนื้อสองแผ่น สีแดงคล้ำ ๆ ตั้งอย่างข้างขวาเคียงเนื้อหัวใจ พังผืด นั้นมีสีขาวเหนี่ยวหนังกับเนื้อ เอ็นกับเนื้อ กระดูกกับเอ็นติดกันไว้บ้าง ไต นั้นเป็นชิ้นเนื้อสีดำคล้ำเหมือนกับลิ้นโคดำ อยู่ชายโครงข้างซ้าย ปอด นั้นเป็นแผ่นเนื้อสีแดงคล้ำ ชายเป็นแฉกปกเนื้อหัวใจอยู่ท่ามกลางอก ไส้ใหญ่ นั้นปลายข้างหนึ่งอยู่คอหอย ปลายข้างหนึ่งอยู่ทวาร ทบไปทบมามีสีขาว ชุ่มอยู่ด้วยเลือดในท้อง สายเหนี่ยวไส้ใหญ่ นั้นมีสีขาว รากนั้นคือของที่กลืนกินแล้วสำรอกออกมาเสียฉะนั้น คูถ นั้นคือของที่กินขังอยู่ในท้องแล้วถ่ายออกมาฉะนั้น น้ำดีนั้นสีเขียวคล้ำ ที่เป็นฝักตั้งอยู่ท่ามกลางอก ที่ไม่เป็นฝักซึมซาบอยู่ในกาย น้ำเสมหะ นั้นมีสีขาวคล้ำ ๆ เป้นมวก ๆ ติดอยู่กับพื้นไส้ข้างใน น้ำเหลือง น้ำหนอง นั้น มีอยู่ในที่สรีระมีบาดแผลเป็นต้น น้ำเลือด นั้นมีอยู่ตามขุมในกายและซึมซาบอยู่ในกาย น้ำเหื่อ นั้นสร้านออกตามขุมขนในกาลเมื่อร้อนหรือกินของเผ็ด น้ำมันข้น นั้นมีสีเหลือง ติดอยู่กับหนังต่อเนื้อ น้ำตานั้นไหลออกจากตาในกาลเมื่อไม่สบาย น้ำมันเปลว นั้นเป็นเปลวอยู่ในพุงเหมือนกับเปลวสุกร น้ำลาย นั้นใสบ้าง ข้นบ้าง น้ำมูก นั้นเหลวบ้างข้นบ้างเป้นยวงออกจากนาสิก น้ำไขข้อ นั้นติดอยู่ตามข้อกระดูก น้ำเยี่ยว นั้นเกรอะออกมาจากรากและคูถฯ ๏ อยเมว กาโย กายคือประชุมส่วน เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดนี้นั่นแหละ อุทฺธํ ปาทตถา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา อโธ เกสมตฺถกา เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป ตจปริยนฺโต มันมีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบ ปูโร นานปฺปการสฺส อสุจิโน มันเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เชตุจฺโฉ ปฏิกฺกุโล แต่ล้วนเป็นของไม่งาม มีกลิ่นเหม็น ปฏิกูลน่าเกลียดหมดทั้งสิ้น ฯ ๏ อสุภกัมมัฏฐาน อสุภสัญญานี้ เป็นข้าศึกแก่ราคะความกำหนัดยินดีโดยตรง ผู้ใดมาเจริญอสุภะเห็นเป็นของไม่งามในกาย เห็นกายเป็นของไม่งาม ปฏิกูล น่าเกลียด จนเกิดความเบื่อหน่ายไม่กำหนัดยินดี ดับราคะโทสะโมหะเสียได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรส คือพระนฤพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรรเสริญกายคตาสติอสุภกัมมัฏฐานนี้ว่า ผู้ใดได้เจริญกายคตาสตินี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าบริโภคซึ่งรสคือนฤพานเป็นธรรมมีผู้ตายไม่มีดังนี้ นฤพานนั้นก็ดับราคะ โทสะ โมหะ นั้นเอง เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอย่าได้ประมาทในกายคตาสตินี้เลย อุตส่าห์เจริญเถิดจะได้ประสพพบพระนฤพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เลิศกว่าธรรมหมดทั้งสิ้น ๏ นี้วิธีเจริญอสุภะ ฯ ๏ อนึ่งเมื่อจะเจริญมรณสติ พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า มรณธมฺโมมฺหิ มรณํ อนตีโต (หญิงว่า มรณธมฺมามฺหิ มรณํ อนตีตา) แปลว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ล่วงความตายไปไม่ได้แล้ว ความตายนั้น คือสิ้นลมหายใจ กายแตกวิญญาณดับ ฯ ๏ อนึ่งพึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า อธุวํ ชีวิตํ ชีวิตของเรามันไม่ยั่งยืน ธุวํ มรณํ ความตายของเรามันยั่งยืน อวสฺสํ มยา มริตพฺพํ เราคงจะตายเป็นแน่ มรณปริโยสานํ เม ชีวิตํ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตํ เม อนิยตํ ชีวิตของเรามันไม่เที่ยง มรณํ เม นิยตํ ความตายของเรามันเที่ยงแล้ว ฯ ๏ อนึ่ง พึงเจริญดังนี้ก็ได้ว่า สพฺเพ สตฺตา มรนฺติ จ สัตว์ที่ตายอยุ่เยวนี้ก็ดี มรึสุ จ มริสฺสเร ที่ตายดับศูนย์ไปแล้วก็ดี จักตายต่อไปข้างหน้าก็ดี ตเถวาหํ มริสฺสามิ เราก็จักตายดับศูนย์ไปเช่นนั้นเหมือนกันนั่นแหละ นตฺถิ เม เอตฺถ สํสโย ความสงสัยในความตายนี้ไม่มีแก่เรา เราไม่สงสัยในความตายนี้แล้ว เหตุนั้นเราจงเร่งขวนขวายก่อสร้างบุญกุศลซึ่งเป็นที่พึ่งของตนเสียให้ได้ทันเป็นมีชีวิตอยู่นี้เถิด อย่าให้ทันความตายมาถึงเข้า ถ้าความตายมาถึงเข้าแล้ว จะเสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้ทีเดียว ฯ ๏ ผู้ใดได้เจริญมรณสติ นึกถึงความตายได้เห็นจริง ตนเกิดความสังเวชได้ ผู้นั้นย่อมไม่เมาในชีวิต ละอาลัยในชีวิตเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาท รีบร้อนปฏิบัติละบาป บำเพ็ญบุญกุศล ชำระตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์โดยเร็วพลัน เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญมรณสติที่บุคคลเจริญทำให้มากนี้ว่า มีผลานิสงส์ยิ่งใหญ่มากนัก นับเข้าในพระนฤพานเป็นธรรมมีผู้ตายไม่มีดังนี้ มรณสติมีผลานิสงส์มากอย่างนี้ อนึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งไว้ว่า ให้คิดถึงความตายให้ได้ทุก ๆ วัน มาในอภิณหปัจจเวกขณ์ เหตุนั้น เราทั้งหลายจงอุตส่าห์เจริญมรณสติคิดถึงความตายให้เห็นจริง จนเกิดความสังเวชให้ได้ทุก ๆ วันเถิด จะได้ประสพผลอานิสงส์ที่วิเศษ เป็นเหตุไม่ประมาทในอันก่อสร้างบุญกุศลซึ่งเป็นที่พึ่งของตน ฯ ๏ นี้วิธีเจริญมรณสติ ฯ ๏ ที่นึกถึงคุณพระรัตนตรัย และเจริญเมตตาและอสุภและมรณสติ ทั้งสี่อย่างซึ่งว่ามานี้ ท่านกล่าวว่า จตุรารักษ์ เพราะเป็นธรรมป้องกันปกครองรักษาผู้ที่เจริญนั้นให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายวิบัติทั้งสิ้นได้ และเป็นทางสวรรค์และนฤพานด้วย เหตุนั้น เรามั้งหลายจงอุตส่าห์เจริญให้ได้ทุก ๆ วันเถิด อย่าให้ขาดได้เลย จะได้เป็นความดีความชอบอย่างยิ่งของเรา ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้เทอญ ฯ ๏ นี้วิธีเจริญจตุรารักษ์ ต่อนี้ไปวิปัสสนา ๚ ๏ เมื่อเจ็บไข้หรือเมื่อจะตาย พึงศึกษาทำไว้ในใจดังนี้ว่า อาตุรกายสฺส เม สโต เมื่อกายของเราอาดูรกระวนกระวายอยู่ด้วยทุกขเวทนา จิตฺตํ อนาตุรํ ภวิสฺสติ จิตต์ของเราจักไม่อาดูรเดือดร้อนไปตามกาย ภิทุรายํ กาโย กายนี้มันจักแตก วิราคธมฺมํ วิญฺญาณํ วิญญาณจิตต์ผู้รู้แจ้งนี้มันจะดับไป เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ช่างมันเถิด อนิจฺจา สงฺขารา เพราะสังขารคือร่างกายจิตต์ใจนี้มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วแตกดับไปเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง ตงฺกุเตตฺถ ลพฺภา ความเที่ยงยั่งยืนอยู่นั้นจะพึงได้มาแต่ไหน ในสังขารคือร่างกาย จิตต์ใจเหล่านี้เล่า อนึ่ง พึงเห็นจริงแจ้งชัดด้วยปัญญาดังนี้ว่า เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย, รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ห้ามันเกิดขึ้น, ขันธ์ห้ามันแตกไปต่างหาก, ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ขันธ์ห้าต่างหาก ช่างมันเถิด เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ อายตนะหก มันเกิดขึ้น, อายตนะหก มันดับไปต่างหาก, ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน อายตนะหกต่างหาก ช่างมันเถิด เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ธาตุหก มันเกิดขึ้น, ธาตุหกมันแตกไปต่างหาก, ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ธาตุหกต่างหาก ช่างมันเถิด เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย นามรูปมันเกิดขึ้น, นามดับรูปแตกไปต่างหาก, ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน นามรูป ต่างหาก ช่างมันเถิด อนึ่งเมื่อเกิดก็ไม่ได้เอาอะไรมา เมื่อตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป เข้าของที่มีวิญญาณ และไม่มีวิญญาณหมดทั้งสิ้น เป็นของกลางสำหรับแผ่นดิน ไม่ใช่ของใคร ช่างมันเถิด เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาเห็นจริงแจ้งชัดอย่างว่านี้แล้ว จิตต์ก็ไม่อาดูรเดือดร้อนไปตามกาย ที่กระวนกระวายอยู่ด้วยทุกข์เวทนา อนึ่ง ก็ไม่อาลัยพัวพันติดข้องอยู่ในเข้าของเหล่านั้นหมดทั้งสิ้น ด้วยความที่เห็นจริงแจ้งชัดดังนี้ เมื่อปฏิบัติทำใจได้อย่างนี้ ขณะหนึ่ง ครู่หนึ่งนั้นก็ดี ก็ได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรส คือพระนฤพาน เป็นธรรมมีผู้ตายไม่มี เป็นอันได้ประสพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยน้ำใจ ในขณะหนึ่ง ครู่หนึ่งนั้น เพราะพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคตดังนี้ ๏ อนึ่ง พึงพิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นจริงแจ้งชัดดังนี้ว่า รูปํ อนิจฺจํ รูปเป็นของทรุดโทรม ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วแตกทำลายไป ดังฟองก้อนใหญ่ตั้งขึ้นแล้ว แตกละลายเป็นน้ำไปฉะนั้น เวทนา อนิจฺจา ความสบายและไม่สบายและเฉย ๆ อยู่ที่วิญญาณรู้แจ้ง มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป ดังต่อมน้ำตั้งขึ้นใส ๆ แล้วแตกไปโดยเร็วฉะนั้น สัญญา อนิจฺจา ความสำคัญจำหมายไว้มันไม่เที่ยง ขึ้นแล้วหายไป ดังพยับแดด เข้าใกล้แล้วหายไปหมด ไม่ปรากฏฉะนั้น สงฺขารา อนิจฺจา ความคิดเป็นเครื่องตกแต่งจิตต์ที่เป็นบุญและเป็นบาป มันไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วดับศูนย์ไป ไม่มีแก่นสารอันใด ดังต้นกล้วยฉะนั้น วิญฺญานํ อนิจฺจํ จิตต์ผู้รู้แจ้งอารมณ์มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นหลอกลวงให้สัตว์ลุ่มหลงว่าของเรา ว่าเรา ว่าตัว ว่าตน แล้วดับไป ดังมายาหลอกลวงให้ลุ่มหลงเหมือนกะเล่นกลฉะนั้น รูปํ อนตฺตา รูปเป็นของทรุดโทรม ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เวทนา อนตฺตา สุข ทุกข์ อุเบกขา เฉย ๆ ที่มีวิญญาณรู้แจ้ง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน สญฺญา อนตฺตา ความสำคัญจำหมายไว้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน สงฺขารา อนตฺตา เจตนาเป็นเครื่องตกแต่งจิตต์ที่เป็นบุญและเป็นบาป ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ธรรมที่ปัจจัยตกแต่งสร้างขึ้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หมดทั้งสิ้น มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วแปรปรวนแตกดับไป สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งสิ้นไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะว่าตัวตน สัตว์บุคคลไม่มี มีแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวทุกข์ และมีทุกข์ดับหมด คือ พระนฤพาน และมีสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ๆ ไปต่างหาก ไม่มีใครผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาเห็นจริงแจ้งชัดว่า เราเขา สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่มีดังนี้แล้ว ก็ปล่อยวางเสียได้ ไม่ถือว่าของเรา ว่าเรา ว่าตัว ว่าตน ละสักกายทิฏฐิได้ในขณะหนึ่ง ครู่หนึ่งนั้นก็ดี ก็ได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งรสคือพระนฤพานเป็นธรรมมีผู้ตายไม่มี และได้ประสพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยน้ำใจในขณะหนึ่งครู่หนึ่งนั้น เพราะพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคตดังนี้ ๏ อนึ่ง เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาเห็นจริงแจ้งชัดว่า เรา เขา สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่มีดังนี้แล้ว ใจก็บริสุทธิ์เป็นสุขใหญ่ยิ่ง ทุกข์โทมนัสคับแค้นเครื่องร้อนใจก็ดับเสียได้ คุณคือใจบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า และคุณพระธรรมที่ดับเพลิงเครื่องร้อนใจได้ และคุณพระสงฆ์ปฏิบัติดี คือละกิเลสเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ก็ย่อมปรากฏขึ้นในใจของตน เป็นผู้มีความเชื่อความเลื่อมใส หยั่งลงมั่นในคุณพระรัตนตรัย เป็นอันได้ถึงสรณะทั้ง ๓ นี้เป็นที่พึ่งของตนด้วยดี ด้วยปัญญาที่มาพิจารณาเห็นซึ่งสภาวธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตาว่ามานี้ ฯ ๏ ก็วิปัสสนานี้ มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทาน ศีล พรหมวิหาร ภาวนา ย่อมทำผู้ที่เจริญนั้นให้มีสติ ไม่หลงทำกาลกิริยา มีสุคติภาพคือมนุษย์และโลกสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า นี้ว่าโดยไม่บัลลุผลทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพาน ถ้าอุปนิสัยมรรคผลมี ก็ย่อมทำผู้นั้นบัลลุมรรคผล ทำให้แจ้งพระนฤพานได้ในชาตินี้นั่นเทียว อนึ่ง เมื่อเกิดก็ไม่ได้เอาอะไรมา เมื่อตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป ทรัพย์สมบัติเข้าของเงินทองทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ใช่ของเรา เป็นของกลางสำหรับแผ่นดิน ตายแล้วทิ้งเสียหมด เอาไปก็ไม่ได้ อย่าหลงมัวเมาไปเลย แต่ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้เป็นของ ๆ เราแท้ หนีไม่พ้น เหตุนั้นเราจงอุตส่าห์รีบเร่งก่อสร้างบุญกุศลซึ่งเป็นที่พึ่งของตน จงอุตส่าห์บำเพ็ญศีล และเจริญจตุรารักษ์และวิปัสสนา ซึ่งว่ามานี้เป็นทางสวรรค์และนฤพานเถิด ดีกว่าประกอบกิจอื่น ๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน เตรียมตัวไว้ท่าความตายเถิดดีกว่า เพราะเราจะต้องตายเป็นแท้ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร อนึ่งยากนักที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์ คือศีล ๕ และ กุศลกรรมบถ ๑๐ จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้ ชีวิตทีเป็นมานี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะอันตรายของชีวิตทั้งภายในภายนอกกายมีมากต่าง ๆ การที่ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก เพราะกาลที่เปล่าว่างอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบบางสมัยจึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่ง เหตุนั้น เราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้เลย ฯ ๏ ขอท่านผู้สัปบุรุษที่ได้รับหนังสือนี้ไป จงอ่านให้ได้ทุก ๆ วันเถิด เมื่ออ่านจงตรองตามไปให้ได้ความเห็นจริง เมื่อได้ความเห็นจริงแล้ว ก็เป็นอันได้ประสพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยน้ำใจ อนึ่งเป็นอันได้เจริญภาวนามัยกุศล มีผลใหญ่เลิศเกิดขึ้นแก่ตนด้วย เพราะทำความเห็นจริงให้เกิดขึ้นในจิตต์ได้นี้ จึงเป็นภาวนามัยกุศลมีผลเลิศ ถ้ากิจการมีมากไม่มีโอกาสที่จะอ่านแล้ว เมื่อจะนอน พึงอ่านเสียก่อนจบหนึ่งแล้วจึงนอน จะได้เป็นนิพัทธกุศลมีผลเลิศเกิดแก่ตนทุกวัน ๆ เพราะภาวนามัยกุศลนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญว่ามีผลใหญ่กว่าทานและศีล ในสูตรมี เวลามสูตร เป็นตัวอย่างเหตุนั้น ควรที่เราทั้งหลายจะพึงไม่ไประมาท ในภาวนามัยกุศลนี้ อุตส่าห์เจริญให้ได้ทุกวัน ๆ เทอญ ๚ ๏ ต่อไปนี้เป็นปกิรณกกถาซึ่งเป็นสุภาษิต ๚ ๏ ว่าด้วยคนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสติเตียนไว้มีอยู่ ๔ จำพวก พวก ๑ เป็นอยู่เหมือนกับคนตายเสียแล้ว พอกนี้อาศัยคนที่ประมาท ปล่อยสติเสีย ไม่คิดถึงแก่ ถึงเจ็บ ถึงตาย ทิ้งบุญ ทิ้งกุศลเสียหมด พวก ๑ มีตาดีอยู่ เหมือนกับคนตาบอดเสียแล้ว พวกนี้อาศัยตา คือปัญญาที่รู้จริงเห็นจริงไม่มี หลงไปตามสมมติที่ไม่จริง พวก ๑ มีเงินทองทรัพย์สมบัติมาก ก็เหมือนกับคนจน พวกนี้อาศัยอริยทรัพย์ ๗ มีศรัทธาและศีลเป็นต้น ไม่มี เป็นคนจนในธรรมวินัยนี้ พวก ๑ ปฏิบัติอยู่ในพระศาสนานี้ กลับกลายเป็นคนนอกศาสนานี้ไปเสียไม่รู้ตัว พวกนี้อาศัยปฏิบัติผิดจากศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า, เมื่อรู้อยู่อย่างนี้แล้ว จงปฏิบัติให้ดีเถิด อย่าให้เหมือนกับคน ๔ จำพวก ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสติเตียนไว้อย่างว่ามานี้เลย จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้ ฯ ๏ อนึ่ง คนโง่ คนหลงมีอีก ๔ จำพวก พวก ๑ ตัวของตัวไม่รัก ไปหลงรักคนอื่นมากกว่าตัว นี้ก็เป็นคนโง่ คนหลง ไม่รู้ว่าตัวของตัวเป็นที่พึ่งแก่ตัว, พวก ๑ สิ่งของที่จะนำไปได้ไม่ขวนขวายหา หลงขวนขวายหาแต่ของที่ตายแล้วทิ้งเสียหมด เอาไปไม่ได้ นี้ก็เป็นคงโง่ คนหลง, พวก ๑ หาเข้าของที่เอาไปไม่ได้ แต่ไม่เลือกหา ขนเอาแต่ของที่ชั่ว คือบาปอกุศลติดตนไปเสวยทุกข์ภายหน้า นี้ก็เป็นคนโง่ คนหลง, พวก ๑ อยากได้ความสุขสำราญ ทางเตียน ๆ ที่จะเดินไปได้ความสุขมีอยู่ไม่เดิน หลงไปเดินทางรก กลับได้ทุกข์ ไม่ได้สุขตามประสงค์ นี้ก็เป็นคงโง่ คนหลง, ทางเตียนนั้นคือกุศลกรรมบถ ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น คือ บริสุทธิ์กาย ๓ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ฆ่าสัตว์ที่ ๑ ไม่ฉ้อลักเข้าของของเขา ที่ ๒ ไม่ประพฤติผิดในกาม คือ ล่วงประเวณี หรือเว้นเมถุนเสีย ที่ ๓ และ ความบริสุทธิ์วาจา ๔ คือ พูดจริงไม่ปดใคร ที่ ๑ ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าว ที่ ๒ ไม่พูดหยาบช้าด่าว่าผู้ใด ที่ ๓ พูดที่เป็นประโยชน์ เป็นธรรม เป็นวินัย ที่ ๔ และบริสุทธิ์ใจ ๓ ไม่เพ่ง มุ่งเอาแต่ของ ของใคร ที่ ๑ ไม่คิดประทุษร้ายใคร ที่ ๒ เห็นชอบไม่ผิดจากจริง ที่ ๓ นี้เป็นกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นทางเตียนไปยังสุคติ คือ มนุษย์และโลกสวรรค์ ทางรกนั้นคือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ อกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น คือ ความไม่บริสุทธิ์กาย ๓ ไม่บริสุทธิ์วาจา ๔ ไม่บริสุทธิ์ใจ ๓ นี้เป็นฝ่ายอกุศล กรรมบถ ๑๐ เป็นทางรก ไปยังทุคติคืออบาย ๔ เมื่อรู้อยู่อย่างนี้แล้ว ก็อย่าพึงปฏิบัติให้เหมือนกับคนโง่ คนหลง ๔ จำพวกอย่างว่ามานี้เลย จะได้ไม่เสียทีที่ประสพพบพระพุทธศาสนานี้ ฯ ๏ อนึ่ง เกิดเป็นคนให้พึงรู้จักคนดีคนชั่ว ถ้าไม่รู้จักแล้ว ยากอยู่ที่จะได้สุข กลับจะได้ทุกข์เดือดร้อนภายหลังเสียอีก ด้วยความโง่ที่ไม่รู้จักคนชั่วนั้นนั่นแหละ เพราะพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า เหตุที่จะไปอบายของสัตว์ที่โง่ ไม่รู้จักคนชั่วคนดี มีอยู่ ๔ จำพวก จำพวก ๑ คนดี ๆ มีคุณควรสรรเสริญ กลับไปติเตียนเขา พวก ๑ คนชั่วไม่ดี ควรติเตียน กลับไปสรรเสริญเขา พวก ๑ คนที่มีคุณ ควรเลื่อมใส ไม่เลื่อมใส พวก ๑ คนที่มีโทษทุจริตปฏิบัติผิด ไม่ควรเลื่อมใส ไปหลงเลื่อมใส ทั้งนี้ก็เพราะเหตุหลงเป็นคนโง่ ไม่รู้จักคนดีคนชั่ว จึงจะไม่พ้นจากทุกข์ในอบาย เพราะมาประกอบเหตุที่จะไปอบาย ๔ อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้อย่างว่ามานี้ ฯ ๏ อนึ่ง เกิดมาเป็นคน ให้พึงรู้จักที่พึ่งที่อาศัยของตน ถ้าไม่รู้จักที่พึ่งที่อาศัยของตนแล้ว ไม่พ้นทุกข์ ไม่ได้สุขเกษมเลย ที่พึ่งที่อาศัยของตนนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่น คือ บุญกุศลสุจริตความชอบนั้นเอง จำไว้เถิด อย่าประมาทเลย อุตส่าห์ก่อสร้างบุญกุศลสุจริตนั้น ให้เกิดให้มีขึ้นในสันดานของตนเถิด จะได้ความสุขพ้นจากทุกข์กัน สมดังความหวังของตน ฯ ๏ อนึ่ง เกิดเป็นคน พึงตั้งตนไว้ชอบ อย่าพึงตั้งตนไว้ผิด ถ้าตั้งตนไว้ผิด ประพฤติทุจริตความชั่วอยู่แล้ว ไม่แคล้วอบาย ไม่ได้ความสุข ไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย เสียทีที่เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้ทีเดียว ตั้งตนไว้ชอบนั้น คือทำตนให้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา จึงจะได้ความสุข พ้นจากทุกข์ สมดังความหวังของตนได้นั่นแหละ ฯ ๏ อนึ่ง เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยอำนาจธรรมของมนุษย์ที่ตนได้สั่งสมมาแล้ว ถ้าไม่ตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์ได้แล้ว ยากอยู่ที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกในภายหน้า ก็ธรรมของมนุษย์นั้นอย่างน้อยคือศีล ๕ อย่างใหญ่คือกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้เป็นธรรมของมนุษย์แท้ จำไว้เถิด จงอุตส่าห์ปฏิบัติให้ดี ทำให้บริบูรณ์ในศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐ เถิด จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์และได้สุคติโลกสวรรค์เสวยความสุขเกษมสำราญ ฯ ๏ อนึ่ง เกิดมาเป็นคน เมื่อต้องการสุขประโยชน์แก่ตนแล้ว พึงมีสติระวังไว้ให้ดี อย่าหลงไปตามลมปากพูดของคน เพราะว่าลมปากพูดนั้นมันล่อลวงให้ลุ่มหลงเสียคนวุ่นวายไป เขาก็ย่อมว่าอยู่ว่า ลมแรงมันไม่แรงเหมือนลมปากพูด อนึ่ง เมื่อจะใคร่พบพระพุทธเจ้าแล้ว จงตรึกตรองค้นหาของจริงให้ได้เถิด อย่าหลงไปตามสมมติของโลกที่ไม่จริง ถ้าหลงไปตามสมมติของโลกที่ไม่จริงแล้ว ไม่ได้พบพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ไหน อยู่ที่รู้เห็นซึ่งธรรมเป็นของจริงในใจนั้นเอง เพราะพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมของจริง ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคตดังนี้ อนึ่ง เมื่อปรารถนาจะออกจากทุกข์ ทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพานแล้ว ก็จงทำให้บริบูรณ์ในศีลและสมาธิ และเจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารให้เห็นจริงตามลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาเถิด ถ้ารู้ไม่เท่าต่อสังขาร หลงไปตามสังขารแล้ว ไม่พ้นทุกข์ทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพานได้เลย เพราะสังขารเหล่านั้นมันหลอกลวงให้ลุ่มหลงอยู่เป็นนิตย์ สัตว์ที่ลุ่มหลงอยู่เหล่านั้น จึงมีแต่ความรัก ความชัง รุ่มร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสถ่ายเดียวเท่านั้น อนึ่งความหลงของสัตว์มีอีก ๔ อย่าง คือหลงรัก หลงชัง หลงถือตัวถือตน หลงกลัวภัยต่าง ๆ ความหลง ๔ อย่างนี้คือตัวอวิชชา ความหลงที่ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสังขารที่ไม่เที่ยว เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯ ๏ อนึ่ง วิบัติมี ๖ อย่าง คือ วิบัติคติ และวิบัติกาล และวิบัติประเทศ และวิบัติตระกูล และวิบัติอุปธิ คือร่างกาย และวิบัติทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯ ๏ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก แสดงธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ (ตรงนี้ความไม่ชัด น่าจะตกคำว่า แต่บุคคลผู้เกิดมาแล้ว) ได้ไปเกิดเสียในอบาย มีเดียรัจฉานกำเนิดเป็นต้น อย่างนี้ วิบัติคติ มาเกิดในมนุษยโลกนี้แล้ว ไม่มีพระพุทธศาสนา เป็นกาลว่างเปล่า พระพุทธเจ้าไม่เกิดในโลก โลกมืด อย่างนี้ วิบัติกาล พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกแล้ว พระพุทธศาสนาไม่แผ่ไปในประเทศทั้งสิ้น ประเทศในแผ่นดินมีมากนัก ประเทศใดที่ไม่มีพระพุทธศาสนา ไปเกิดในประเทศนั้น อย่างนี้ วิบัติประเทศ มาเกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนาแล้ว ประเทศนั้นมีตระกูลมาก ที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็มี ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็มี ไปเกิดในตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเสีย อย่างนี้ วิบัติตระกูล เกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วเป็นคนหูหนอวกตาบอด เป็นง่อย เป็นเปลี้ย เป็นบ้า เป็นใบ้ เสียจริตไป อย่างนี้ วิบัติอุปธิ คือร่างกาย เกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว บริบูรณ์ด้วยอุปธิ ร่างกายไม่เป็นคนหูหนวก ตาบอด ไม่เป็นง่อย เป็นเปลี้ย ไม่เป็นบ้า เป็นใบ้ บริบูรณ์ด้วยอุปธิร่างกายแล้ว ไปส้องเสพคบคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสีย อย่างนี้ วิบัติทิฏฐิ เห็นผิด เราทั้งหลายพ้นจากวิบัติ ๖ ประการดังว่ามานี้ เป็นลาภของเราแล้ว ความเป็นมนุษย์อันเราได้ด้วยดีแล้ว เพราะบุญกุศลของเรามีได้ก่อสร้างไว้ในชาติก่อนแล้ว จึงได้พ้นจากวิบัติ ๖ ประการนี้ ควรเราทั้งหลายจะพึงยังกุศลสุจริตความชอบที่เป็นที่พึ่งของตน ให้ถึงให้พร้อมบริบูรณ์ด้วยดีเถิด ฯ ๏ อนึ่ง สมบัติเข้าของเงินทองหมดทั้งสิ้น เป็นของกลางสำหรับแผ่นดิน ไม่ใช่ของใคร ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ ใครคิดได้อย่างนี้ ผู้นั้นคล้ายกับพระโสดา คิดไม่ได้ให้ไปดูที่ป่าช้าเถิด อะไร ๆ ทั้งสิ้นทิ้งเสียหมด เอาไปไม่ได้ ศูนย์เปล่า เหลืออยู่แต่กระดูกอย่างเดียวเท่านั้น นี้เป็นของแท้จริงจำไว้เถิด เราทั้งหลายเกิดมามีกรรมอย่างเดียวนั่นแหละเป็นของ ๆ ตัว อย่ามัวเมาหลงทำบาปกรรมความชั่ว เพราะสมบัติเข้าของเงินทองที่ตายแล้วทิ้งเสีย เอาไปไม่ได้ แต่บาปกรรมความชั่วที่ทำไว้นั้น ย่อมติดตัวไปให้ผลได้ทุกข์ภายหน้า อย่างนี้ไม่ดีเลยแก่เราทั้งหลาย เสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้ทีเดียว นี้เป็นสุภาษิตสั่งสอนไว้ด้วยกรุณา หวังจะให้ปฏิบัติให้ได้สุข พ้นจากทุกข์อย่างเดียว พระพุทธศาสนานี้หายาก จะได้ประสพด้วยยากยิ่งนัก เหตุนั้นเราทั้งหลายจงมีสติ อุตส่าห์ก่อสร้างบุญกุศล สุจริตความชอบ ซึ่งเป็นที่พึ่งของตน ให้ถึงพร้อม ให้บริบูรณ์ด้วยดี ด้วยความไม่ไประมาทเถิด ฯ ๏ จบจตุรารักษ์แต่เท่านี้ ๚ ๏ หนังสือพิมพ์เล่มนี้ นามมี ชื่อว่าธรรมเจดีย์ ดั่งอ้าง ทวยชนทั่วคฤหัสถ์ชี เชิญท่าน จำแฮ เป็นกุศลสืบสร้าง ส่างพ้นบาปกษัย ฯ ๏ พึงทำในจิตต์ไว้ นิจจกาล สำหรับเมื่ออวสาน ป่วยไข้ อารมณ์เนื่องชำนาญ จนตลอด ตายแฮ เป็นที่พึ่งตนได้ ดั่งนี้อย่าฉงน ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น