หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ภิกษุผู้มีศีลในจิตใจ สีย่อมเป็นอันเดียวกัน


บทสรุปของศีลทีพระพุทธองค์ทรงประทานไว้คือ ... สี เล นะ สุ ขะ ติง ยัน ติ... ศึลนำมาซึ่งความสุข..
การปฏิบัติตัวของพระภิกษุ ในศาสนานี้ พึงปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์เป็นเป้าหมาย...
แต่ว่า ด้วยปัญญาของสัตว์โลกที่สะสมมา เมื่อเป็นมนุษย์ย่อมเป็นสัตว์ที่มีความคิด มีปัญญามากกว่าสัตว์ทั้งปวง แต่ว่า ความคิด กับความรู้ ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ปัญญา เพราะ ความคิดเป็น สัมมาสังกัปโป และ ความรู้เป็นสัมมาทิฏฐิ  ...
มนุษย์โดยทั่วไป ที่ขาดการภาวนา คือ ขาดการเจริญ ใน อธิศีล อธิจิต และ อธิปัญญา ย่อมจะแยก ความคิดกับความรู้ของตนไม่ออก หากเรามีสติ ที่ถูกต้องเป็นสัมมาสติ แล้ว สติตนจะต้องทันกับความรู้ หรือ ความรู้สึกขณะที่ตนรับรู้และแสดงออกได้ทันที เช่น ยุงกัด ชวน(ชะ วะ นะ) ที่เป็นความชำนาญของจิตจะนำเอามือไปตบยุงให้ตายทันที สติเราไม่ทันสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็ใช้คำพูดว่าขาดสติ...
พระพุทธองค์ ตรัสสอน สัมมาอริยมรรคไว้ เพื่อเป็นแนวทางให้เราเจริญในสิ่ง 8 อย่าง ผู้ที่กระทำให้มาก ทำอย่างถูกทางแล้ว ย่อมพบ นิโรธ อริยสัจอย่างแน่นอน
ดังนั้น สำนักสงฆ์ฯนี้ จึงขอต้อนรับพระคุณเจ้าที่มีความมั่นคงในทางเส้นเดียวกันนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติความเพียร โดยไม่กำหนดว่า จะนุ่งห่มจีวรสีใดๆ ขอให้จิตใจเป็นผู้มีปัญญา มีความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เพราะหากท่านใดมิได้ตั้งใจจริงเพื่อจะปฏิบัติแล้ว สถานที่นี้จะมีเหตุทำให้ไม่สามารถอยู่พักอาศัยได้ โดยเฉพาะ ผู้ที่ต้องการมาหาสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า เช่น มาหา โชค ลาภ สักการะ หวังสร้างศรัทธาว่าเราสามารถอยู่ลำพังในป่าได้ หรือผู้ที่ต้องการมาสร้างสถานที่ให้เจริญเป็นแหล่งท่องเที่ยว จะได้มีคนเข้ามามากๆ นโยบายหลักของสำนักสงฆ์นี้ ต้องการสร้างจิตใจของผู้ที่ต้องการมาฝึกจิต มาเสาะหาสถานที่ที่เหมาะกับการ สงบจิต ขาดจากการวุ่นวายจากสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้กิเลสพองตัว คับจิตใจเรา
การก่อสร้างทั้งหลาย ที่นี่จะก่อสร้างเพื่อสร้างความบริสุทธิใจ ว่าได้นำเงินตามปัจจัยที่ญาติโยมนำมาถวายไว้แล้ว เรามิได้นำออกไปใช้จ่ายที่อื่นเท่านั้น แต่จุดประสงค์ให้ใหญ่โต หรืออำนวยความสะดวกทั้งหลาย ของดไว้มิให้มี
ขณะนี้ สถานที่มีพระประจำอยู่เพียงรูปเดียว การบริหารจัดการก็เป็นไปอย่างสะดวก เพราะสามารถกระทำได้ตามนโยบายนี้ หากแม้ว่าในอนาคต จะมีการเปลี่ยนแปลงพระที่มาอยู่ในภายหน้า ก็ขอแสดงนโยบายหลักที่ได้เริ่มต้นเป็นสำนักสงฆ์ไว้ให้ทราบก่อน เพราะอนาคต เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนไปแน่นอน แต่จะเปลี่ยนไปตามนโยบายนี้หรือไม่ ขณะนี้ไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้
ฉะนั้นจึงได้แสดง จุดมุ่งหมายเริ่มแรกไว้เพียงเท่านี้

[273] สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน, หลักการอยู่ร่วมกัน — states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้
       1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in deed, openly and in private)
       2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in word, openly and in private)
       3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน — to be amiable in thought, openly and in private)
       4. สาธารณโภคี (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน — to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้
       5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)
       6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

       ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความกลมกลืนเข้าหากัน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non—quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น