วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เรื่องของสีมา


ปิดทองฝังลูกนิมิต
ฝังลูกนิมิต...งานงอกในพุทธศาสนาฯ
หลายคนที่ถูกกระแสแห่งวัฒนธรรมทางสังคมชักพาไป จนไม่ทราบถึงต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง
ในกาลามสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเตือนให้ อย่าเชื่อเพราะทำตามกันมา, หรือเพราะเป็นไปตามเหตุแห่งตรรกะ(คาดว่าน่าจะเป็น) สุดท้าย แม้แต่ครูบาอาจารย์เราเอง ก็อย่าปลงใจเชื่อฯ
แต่สิ่งที่ควรเชื่อคือ ศึกษาแล้ว ทำแล้ว เห็นผล เช่นน้ำร้อนเดือดๆ ไม่ว่าคนชาติใดภาษาใด จะเรียกกันว่าอะไรที่แตกต่างไปสารพัด แต่ถ้าไปโดนน้ำลวกเข้า ก็มีเวทนาเกิดขึ้นเหมือนกันหมด คือเนื้อพอง หนังพอง อันนี้แหละ ที่เรารู้ชัดในอันตรายแห่งสิ่งต่างๆ เราก็ควรเชื่อว่าเป็นของจริง
ลูกนิมิตที่เรามีพิธีกรรมชวนแก่การเสียเงินให้วัดก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่า ไม่ได้บุญ ขอตอบว่า ทำบุญนี้แล้วย่อมได้บุญแน่นอน คือ บุญเกิดจากทานมัย แต่ไม่เกิดปัญญา นั่นคือ ไม่มีบุญอันเกิดจากภาวนา ซึ่งจะพาไปสู่พระนิพพานนั้นไม่ได้ทำ เพราะแค่เอาทองไปปิดใส่หินลูกกลมๆ แล้วหวังเอาอานิสงส์มากๆ
แล้วหินกลมๆ สำคัญอย่างไร? ไม่ศึกษา ปิดทองแล้ว บุญจะมายังไง? อันนี้ถามไปแล้ว ไม่ค่อยมีใครให้คำตอบ????
ลูกนิมิต คือเครื่องหมายบอกเขต(สีมา)ของ พระสงฆ์ที่จะมาประชุมทำกิจร่วมกัน เช่นจะบวชพระใหม่, ฟังพระปาฎิโมกข์ในวันอุโบสถ, กรานผ้ากฐินที่ทายกนำมาถวายให้ตัดเย็บเป็นผ้าครอง หรือแม้เวลาพระที่ต้องอยู่ปริวาสกรรม เวลาจะขออัพภาน คือขอความบริสุทธิ์ เป็นภิกษุตามปกติหลังอยู่กรรมครบกำหนดเป็นต้น
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระสงฆ์ต้องร่วมกันประชุมทำกิจในเขตที่กำหนด ฉะนั้น เขตก็ต้องมีเครื่องหมายเป็นหลัก เหมือนรั้วเขตแดน
พระองค์ทรงเป็นผู้สมถะ และบัญญัติให้ละความฟุ่มเฟือย จึงให้พระภิกษุร่วมกันสวดทักนิมิต คือ จะกำหนดอะไรใช้เป็นเขตแดนให้ชัดเจน เช่น ป่านี้ แม่น้ำนี้ เส้นทางนี้ ต้นไม้นี้ สระน้ำนี้ ก้อนหินก้อนนี้ ภูเขาลูกนี้ เป็นเขตด้านทิศเหนือ-ตะวันออก-ใต้-ตะวันตก เป็นต้น ให้สามารถร่วมกันนั่งฟัง และเป็นสักขีพยานร่วมกัน ออกความเห็นร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง เป็นเช่นนี้
แน่นอนว่า คงไม่มีชาวบ้านในยุคสมัยพุทธกาลพากันไปปิดทอง ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ สระน้ำ ทางสัญจร ที่พระท่านร่วมกันไปกำหนดเป็นเครื่องหมายเขตแดนนั้นแน่ๆ
แล้ว ทำไมปัจจุบันจึงทำกันใหญ่โตเอิกเริกแท้????
วันนี้มีเวลาเท่านี้ ไปบิณฑบาตก่อน ค่อยต่อวันพรุ่งนี้ฯ สาธุฯ

กาลามสูตร คือ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคมแคว้นโกศล (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตตสูตรก็มี[1]) กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการ ได้แก่
1. มา อนุสฺสวเนน - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา
2. มา ปรมฺปราย - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา
3. มา อิติกิราย - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. มา ตกฺกเหตุ - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเดาว่าเป็นเหตุผลกัน
6. มา นยเหตุ - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมานคาดคะเน
7. มา อาการปริวิตกฺเกน - อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเดาจากอาการที่เห็น
8. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
9. มา ภพฺพรูปตา - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อถือ
10. มา สมโณ โน ครูติ - อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา
เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศลหรือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ


ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน "ลูกนิมิต" หมายถึง ลูกที่ทำกลมๆ ประมาณเท่าบาตร มักทำด้วยหิน ใช้ฝังเป็นเครื่องหมายเขตอุโบสถ ส่วนพจนานุกรมฉบับมติชน ให้ความหมาย "ลูกนิมิต" ว่า ก้อนหินที่วางบอกเขตพัทธสีมาในการทำสังฆกรรม
ทางวิชาการให้คำจำกัดความเช่นนี้
ตามสถานะที่ได้กล่าวเมื่อวาน ลูกนิมิตที่ใช้ในปัจจุบัน มักใช้หินก้อนกลม มาทำเป็นเครื่องหมาย เพื่อความสะดวกในการจัดหา ความสวยงามเรียบร้อย และที่เพิ่มมาคือ การปิดทองเพื่อเพิ่มบารมีของผู้ปิด และมีอานิสงส์ตามแต่ฝอยจะบรรยายของแต่ละโฆษกตามงาน ใครมีฝีปากจะเรียกลูกค้าอย่างไร ก็ใช้ศิลปะการพูดตามลวดลายของตน จนปัจจุบัน ไม่มีใครทราบความเป็นมาที่แท้จริงว่า หินลูกนิมิตนั้น อาจใช้เครื่องหมายอื่นแทนก็ได้ หรือ อาจไม่ใช่หินก้อนกลมๆก็ได้
จะทักต้นไม้ในวัด ใช้เป็นนิมิตตามพระวินัยอย่างถูกต้อง????
หลายคนต้องคิดว่า "ทำไม่ถูก!! อย่าไปทำอะไรผิดประเพณีของเขาสิ!! ปู่ย่าตายายเขาทำมาดีแล้ว ไม่รู้จักรักษาไว้ ไปอุตริทำแผลงๆ!"
รับรองว่า คนต้องคิดเช่นนี้กันเป็นส่วนมาก เพราะอาตมาพบมาแล้วอย่างหนาหู
คราวนี้ สิ่งควรก็กลายเป็นไม่ควร เพราะคนมักยึดติด งมงายตามที่ตนเห็น ตนเคยชิน ไม่ได้ศึกษาตามวินัยแท้จริง ก็เลยเป็นเช่นนี้
การกลายพันธุ์ของธรรมเนียมการฝังลูกนิมิต มาจาก กฎหมายบ้านเมือง ตีความพระศาสนามาแล้วปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันในสมัยเป็นร้อยปี พอผ่านมาก็ยึดตามประเพณีที่เห็น บวกกับ ความโลภของคน ไม่ว่าจะเป็นใครในกระบวนการหาลาภสักการะให้วัด ให้ตน เอาพิธีกรรมว่า ลูกนิมิตทิศนั้น มีพระสีวลี,พระอานนท์ ต่างๆ จนคนฟังควักเงินจ่ายมากๆ
วันนี้ ก็ได้แค่นี้ก่อน ยังไม่ได้เข้าเรื่องของวิสุงคามสีมา ที่เป็นต้นทางของลูกนิมิต ได้แต่กล่าวความหลงทาง ยึดติดแต่ธรรมเนียมประเพณีเท่านั้นฯ

เรื่องของการปิดทองฝังลูกนิมิต…ต่อ
พอเข้าใจเรื่องของลูกนิมิตไปแล้วคร่าวๆ ว่าในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างไร? ต่างจากในสมัยนี้อย่างไร?
ครั้งนี้จะอธิบายว่า ทำไม?ปัจจุบันจึงนิยมปิดทองให้ได้บุญกัน!
เริ่มจาก กฎหมายเมืองไทย กำหนดเรื่อง"วัด"ไว้ 3 ระดับ(ขอใช้ภาษาชาวบ้านแทนภาษากฎหมาย) คือ
1.ที่พักสงฆ์ คือ มีพระ มีวัด แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตาม กฎหมาย
2.สำนักสงฆ์ คือ เป็นวัดตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้รับ "วิสุงคามสีมา" คือ ยังไม่มีโบสถ์ถูกต้องตามกฎหมาย
3.วัด คือ มีครบตามกฎหมาย ได้แก่ มีใบตั้งวัดแล้ว มีโบสถ์บวชพระได้ เพราะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเรียบร้อยแล้ว
ขอเน้นว่า อาตมาใช้คำเปรียบเทียบเท่านั้น ใครจะไปกำหนดคำอย่างอาตมาให้วัดต่างๆใช้ เขาจะหัวเราะเยาะเอาได้ล่ะ!
จุดสำคัญที่พยายามโยงให้มาเชื่อมต่อกันคือ "วิสุงคามสีมา" กับ "ลูกนิมิต" เท่านั้น และจะอธิบายรายละเอียดของวิสุงคามฯในช่วงท้าย
ตอนนี้เอาแค่ว่า วัดยื่นขอวิสุงคามฯแล้ว พระราชาทรงอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อสร้างโบสถ์อย่างถูกต้องเรียบร้อย วัดที่ได้รับ ส่วนใหญ่ก็จะพากันจัดงานอย่างใหญ่โต เพราะสร้างวัด 1 วัด ก็มีแค่ 1 โบสถ์เป็นส่วนมาก 
นี่ก็เป็นที่มาของการจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิต เพื่อหาเงินเข้าวัด 
นำมาบำรุงพระศาสนา แต่ว่า นานๆเข้า ความจริงที่เป็นที่มาตามพระวินัยของพระพุทธองค์ ก็ถูกปิดบังจนลบเลือน หาต้นสายปลายเหตุไม่ได้…
วิสุงคามสีมา (อ่านว่า วิสุงคามะสีมา) แปลว่า เขตแดนส่วนหนึ่งจากแดนบ้าน คือที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ
ที่ที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า นิมิต
ภายในวิสุงคามสีมานิยมสร้างโรงอุโบสถไว้เพื่อทำสังฆกรรม
การที่จะได้เป็นอุโบสถถูกต้องตามพระวินัยนั้นจะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันสวดถอนพื้นที่ทั้งหมดในเขตสีมานั้นเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นสีมาเก่า เรียกว่าถอนสีมา หลังจากนั้นจึงสวดประกาศให้เป็นพื้นที่นั้นเป็นสีมา เรียกว่า ผูกสีมา ทำดังนี้จึงจะเป็นสีมาหรือเป็นอุโบสถถูกต้องตามพระวินัย
....…
พัทธสีมา คือ สีมาหรือเขตแดนที่พระสงฆ์ผูกไว้แล้ว คือพระสงฆ์ร่วมกันกำหนดให้เป็นเขตทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกพิธีกรรมที่กำหนดอย่างนั้นว่า "ผูกสีมา" โดยทั่วไปเรียกพัทธสีมาว่าโบสถ์ หรืออุโบสถ ซึ่งคำว่าสีมาหมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมของสงฆ์ เป็นเขตชุมนุมสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งพระสงฆ์กำหนดว่าผู้อยู่ในเขตนั้นจะต้องร่วมกันทำสังฆกรรมโดยความพร้อมเพรียงกัน
เขตหรือแดนที่จะผูกเป็นพัทธสีมานั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน เพราะต้องเป็นเขตแยกต่างหากจากเขตแดนบ้าน ซึ่งเรียกว่า "วิสุงคามสีมา"
สีมา แปลว่า เขต, แดน, เครื่องหมายบอกเขตใช้ว่า เสมา ก็มี
สีมา หมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมต่างๆ กำหนดเขตแดนด้วยเครื่องหมายบอกเขตที่เรียกว่า นิมิต ที่เหนือนิมิตนิยมสกัดหินเป็นแผ่นประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างครอบนิมิต ถือเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต เรียกแผ่นหินนั้นว่า ใบสีมา หรือ ใบเสมา เรียกซุ้มนั้นว่า ซุ้มสีมา หรือ ซุ้มเสมา
ใบสีมา นิยมทำด้วยแผ่นหินสกัดเป็นแผ่นหนาประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร มีรูปทรงเฉพาะ บางแห่งสกัดเป็นลายเส้นรูปธรรมจักรเพิ่มความสวยงาม ประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างคร่อมนิมิตทั้ง 8 ทิศของโบสถ์ คล้ายเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต ถ้าเป็นวัดราษฎร์นิยมทำซุ้มละแผ่นเดียว ถ้าเป็นวัดหลวงนิยมทำซุ้มละสองแผ่นเรียกว่า สีมาคู่ นัยว่าเพื่อเป็นข้อสังเกตให้ทราบว่าเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง
สีมา ยังหมายถึงอุโบสถได้ด้วย
อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำ สังฆกรรมซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของ พระภิกษุสงฆ์จะ ใช้เพียงพื้นที่โล่ง ๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง“สีมา” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายใน พระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ ทำให้มีผู้มาสักการบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้าง ขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมี การประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
และยังมีอีกมีหลายความหมาย คือ หมายถึง
สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า โบสถ์
การเข้าจำ คือการรักษาศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เรียกว่า รักษาอุโบสถ และรักษาอุโบสถศีล
วันพระหรือวันฟังธรรมของคฤหัส วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่คฤหัสถ์รักษาอุโบสถกัน เรียกว่า วันอุโบสถ
วันที่พระสงค์ลงฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เรียกว่าวันอุโบสถ
การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนหรือทุกวันอุโบสถของพระสงฆ์ เรียกว่า การทำอุโบสถ
โบสถ์ เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ ให้อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่า โบสถ์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนา
โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือ โรงอุโบสถ ถ้าเป็นของพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือ สิม
โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า วิสุงคามสีมา
ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมาก่อน อนึ่ง คำว่าอุโบสถ มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีคือ "อุปะ" แปลว่า การเข้าถึง สนธิกับ "โอสถ" ซึ่งแปลว่า ยาแก้โรค ดังนั้น จึงมีความหมายถึง การเข้าถึงยาแก้โรค อันแสดงให้เห็นว่าการมาอุโบสถก็คือการได้เข้าถึงธรรมะอันเป็นยาแก้โรคกิเลสนั่นเอง

'โบสถ์ อุโบสถ พระอุโบสถ' 'โบสถ์ อุโบสถ พระอุโบสถ' : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์ สถาปัตยกรรมที่ใช้สร้างโบสถ์ ส่วนใหญ่หลังคาสูงแบบบ้านเรือนไทย นิยมสร้างบ้านชั้นเดียวติดกับพื้นยกพื้นสูงขึ้น วิหาร หมายถึง อาคารที่สร้างขึ้นโดยมีหลังคา ๒ ปีก หรือหลังคาที่ลาดลงไป ๒ ข้างอีกนัยหนึ่งคือหลังคาที่มีสันหลังคาหรืออกไก่ หรือหลังคาที่มียอดแหลม อย่างทรงพีระมิดก็ได้ หลังคานี้อาจจะเป็น "หลังคาทรงมลิลา" โดยมีหน้าจั่วหัวท้ายหลังคาก็ได้ หรือจะไม่มีหน้าจั่วแต่เป็นทรงปั้นหยาก็ได้ หรืออาจจะผสมกันทั้ง ๒ แบบก็ได้ อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์จะใช้เพียงพื้นที่โล่งๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง "สีมา" เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายในพระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ทำให้มีผู้มาสักการบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายคำว่า "โบสถ์" ไว้ว่า เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ ให้อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่า โบสถ์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนา โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือโรงอุโบสถ ถ้าเป็นของพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือสิม โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า วิสุงคามสีมา ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่าผูกสีมา หรือผูกพัทธสีมาก่อน ส่วนคำว่า "พัทธสีมา" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า สีมา หมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมของสงฆ์ เป็นเขตชุมนุมสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งพระสงฆ์กำหนดว่าผู้อยู่ในเขตนั้นจะต้องร่วมกันทำสังฆกรรมโดยความพร้อมเพรียงกัน พัทธสีมา หมายถึงสีมา หรือเขตแดนที่พระสงฆ์ผูกไว้แล้ว คือพระสงฆ์ร่วมกันกำหนดให้เป็นเขตทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกพิธีกรรมที่กำหนดอย่างนั้นว่า ผูกสีมา โดยทั่วไปเรียกพัทธสีมาว่า โบสถ์ หรืออุโบสถ เขตหรือแดนที่จะผูกเป็นพัทธสีมานั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน เพราะต้องเป็นเขตแยกต่างหากจากเขตแดนบ้าน ซึ่งเรียกว่า วิสุงคามสีมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น