วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระมหากัสสปะเถระคาถา

เถรคาถา จัตตาฬีสนิบาต 
๑. มหากัสสปเถรคาถา 
คาถาสุภาษิตของพระมหากัสสปเถระ
 [๓๙๘] ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะเป็นเหตุทำใจให้ ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก การสงเคราะห์ชนต่างๆ เป็นความลำบาก ดังนี้ จึงไม่ชอบใจหมู่คณะ นักปราชญ์ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูล ทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก ผู้ที่เกี่ยวข้อง กับตระกูลนั้น ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มักติด รสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้ นักปราชญ์ ได้กล่าวการกราบไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลาย ว่าเป็นเปือกตม และเป็นลูกศรที่ละเอียดถอนได้ยาก บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ ยากยิ่ง เราลงจากเสนาสนะแล้วก็เข้าไปบิณฑบาตยังนคร เราได้เข้าไป หาบุรุษโรคเรื้อน ผู้กำลังบริโภคอาหารด้วยความอ่อนน้อม บุรุษโรคเรื้อน นั้น ได้น้อมเข้าซึ่งคำข้าวด้วยมือโรคเรื้อน เมื่อเขาใส่คำข้าวลง นิ้วมือ ของเขาก็ขาดตกลงในบาตรของเรานี้ เราอาศัยชายคาเรือน ฉันข้าวนั้น อยู่ ในเวลาที่กำลังฉันและฉันเสร็จแล้ว เรามิได้มีความเกลียดชังเลย ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นปัจจัยทั้งสี่ คือ อาหารบิณฑบาตที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ ๑ บังสุกุลจีวร ๑ เสนาสนะคือโคนไม้ ๑ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑ ภิกษุ นั้นแล สามารถจะอยู่ในจาตุรทิศได้ในเวลาแก่ ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นเขา ย่อมลำบาก แต่พระมหากัสสปะผู้เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ แม้ในเวลาแก่เป็นผู้แข็งแรงด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ย่อมขึ้นไปได้ ตามสบาย พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่ พระมหากัสสปะผู้หมด อุปาทานเมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่ เป็นผู้ดับไฟได้แล้ว กลับจาก บิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่ พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌาน อยู่ ภูมิภาคอันประกอบด้วยระเบียบแห่งต้นกุ่มทั้งหลาย น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์ ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำให้เรา ยินดี ภูเขามีสีเขียวดุจเมฆงดงาม มีธารน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษไป ด้วยหญ้ามีสี เหมือนแมลงทับทิมทอง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขา อันสูงตระหง่านแทบจดเมฆเขียวชะอุ่ม เปรียบปานดังปราสาท กึกก้อง ด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์นัก ย่อมยังเราให้ยินดี ภูเขาที่ฝนตกรด แล้ว มีพื้นน่ารื่นรมย์ เป็นที่อาศัยของเหล่าฤาษี เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ สถานที่เหล่านั้นเหมาะสำหรับเราผู้ยินดีในการเพ่ง ฌาน มีใจเด็ดเดี่ยว มีสติ เหมาะสำหรับเราผู้ใคร่ประโยชน์ รักษาตน ดีแล้ว ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนาความผาสุก มีใจเด็ดเดี่ยว เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนา ประกอบความเพียร มีใจ แน่วแน่ ศึกษาอยู่ ภูเขาที่มีสีดังดอกผักตบ ปกคลุมด้วยหมู่เมฆบน ท้องฟ้า เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาอัน ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน มีแต่หมู่เนื้ออาศัย ดารดาษด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาที่มีน้ำใสสะอาด มีแผ่นหินเป็นแท่งทึบ เกลื่อนกล่นด้วยค่างและมฤคชาติ ดารดาษไปด้วยสาหร่าย ย่อมยังเรา ให้รื่นรมย์ เราผู้มีจิตตั้งมั่น พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ ย่อมไม่มี ความยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนั้น ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นคนผู้มิใช่กัลยาณมิตรเสีย ไม่ควรขวนขวายในลาภผล ท่านผู้ ปฏิบัติเช่นนั้น ย่อมจะต้องขวนขวายและติดในรสอาหาร ย่อมละทิ้ง ประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้ ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เสีย เมื่อภิกษุขวนขวายในการงานมาก ก็จะต้องเยียวยาร่างกายลำบาก ผู้มีร่างกายลำบากนั้น ย่อมไม่ได้ ประสบความสงบใจ ภิกษุไม่รู้สึกตนด้วยเหตุสักว่าการท่องบ่นพุทธ วจนะ ย่อมท่องเที่ยวชูคอ สำคัญตนประเสริฐกว่าผู้อื่น ผู้ใด บิณฑบาตไม่ประเสริฐ เป็นพาล แต่สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขาเสมอเขา นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้มีใจกระด้างเลย ผู้ใด ไม่หวั่นไหวเพราะมานะ ๓ อย่าง คือ ว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑ นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญผู้นั้นแหละ ว่า เป็นผู้มีปัญญา มีวาจาจริง ตั้งมั่นดีแล้วในศีลทั้งหลาย และว่าประกอบ ด้วยความสงบใจ ภิกษุใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน ฉะนั้น ภิกษุเหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้ชอบทุกเมื่อ มีพรหมจรรย์อัน งอกงาม ภิกษุเหล่านั้นมีภพใหม่สิ้นแล้ว ภิกษุผู้ยังมีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก ถึงจะนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ภิกษุนั้นย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น เหมือน กับวานรคลุมด้วยหนังราชสีห์ ฉะนั้น ส่วนภิกษุผู้มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ กลับกลอก มีปัญญา เครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ ย่อมงดงามเพราะ ผ้าบังสุกุล ดังราชสีห์ในถ้ำ ฉะนั้น เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์ มีเกียรติยศเป็นอันมาก ประมาณหมื่นและพรหมทั้งปวง ได้พากันมายืนประนมอัญชลี นอบน้อม ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ผู้มีฌานใหญ่ มีใจตั้งมั่น เปล่งวาจาว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้าแต่ ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ขอนอบน้อมแด่ท่าน ท่านย่อมเข้าฌานอยู่ เพราะ อาศัยอารมณ์ใด ข้าพเจ้าทั้งหลาย ย่อมรู้ไม่ถึงอารมณ์เหล่านั้นของท่าน น่าอัศจรรย์จริงหนอ วิสัยของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ลึกซึ้งยิ่งนัก ข้าพเจ้า ทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ นับว่าเป็นผู้เฉียบแหลม ดุจนายขมังธนู ก็ยังรู้ไม่ถึง ความยิ้มแย้มได้ปรากฏมีแด่ท่านพระกัปปินเถระ เพราะ ได้เห็นท่านพระสารีบุตร ผู้ควรแก่สักการะบูชา อันหมู่ทวยเทพบูชาอยู่ เช่นนั้น ในเวลานั้น ตลอดทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นแต่สมเด็จพระ มหามุนีองค์เดียวเท่านั้น เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในทางธุดงคคุณ ไม่มี ใครเทียบเท่าเลย เราเป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา เราทำคำสอนของ พระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำ ไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว พระสมณโคดมผู้ทรงพระคุณหาปริมาณมิได้ มีพระทัย น้อมไปในเนกขัมมะ ทรงสลัดภพทั้ง ๓ ออกได้แล้ว ย่อมไม่ทรง ติดอยู่ด้วยจีวรบิณฑบาตและเสนาสนะ เปรียบเหมือนบัวไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉะนั้น พระองค์ทรงเป็นจอมนักปราชญ์ มีสติปัฏฐานเป็นพระศอ มีศรัทธาเป็นพระอรหัตถ์ มีปัญญาเป็นพระเศียร ทรงพระปรีชามาก ทรงดับเสียแล้วซึ่งกิเลสแลกองทุกข์ตลอดกาลทุกเมื่อ...
================
สรีระสังขาร ของ พระมหากัสสปะ 
พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล เป็นภาพที่ถ่ายได้จริงของชาวต่างชาติ(ฝรั่ง)เข้าไปถ่ายในเขาพระกัสสปะ ณ เมืองเชียงตุง ...หลายคนคิดว่าเหตุใดพระกัสสปะถึงมามรณะภาพที่เมืองเชียงตุงแต่ไม่ไปมรณะภาพที่ เมืองราชคฤห์ อินเดีย เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านมอบงานให้เผยแพร่ศาสนาในบริเวณนี้ตั้งแต่ เชียงราย ถึง เชียงตุง และ จีน คือเขตที่พระมหากัสสปะอยู่ ส่วนตั้งแต่เชียงรายลงมาเป็นของ พระมหากัจจาย และ พระโมคคลา จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อพระราชพรหมยานท่านบอกว่า ที่ตำแหน่งของสังขารท่านนั้นยังมีดอกไม้ที่สดอยู่และธูปเทียนที่เขาบูชาอยู่ในสมัยก่อนนั้นยังคงอยู่เพราะ ท่านอธิฐานไว้ก่อนมรณะภาพ และที่ีจริงหุบเขาที่มีสรีระของพระกัสสปะเป็นเขาเล็กๆที่จริงเข้าไปไม่ได้ แต่เมื่อถึงปีกึ่งพุทธกาล จะปรากฏช่องเล็กสำหรับเดินเข้าไปดูได้จริงและฝรั่งคนนั้นก็ไปถ่ายรูปไว้ได้ เหตุที่ท่านพระมหากัสสปะท่านไม่ให้เผาร่างกายท่านเพราะท่านต้องการให้พระศรีอริยเมตไตร มาทำการเผาเพลิงศพท่านเมื่อถึงยุคของพระองค์และพระองค์จะเสด็จมาด้วยพระองค์เอง..
....
และในส่วนการบันทึกของหลวงปู่จาม มหาปุญโญ ที่มีหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม เป็นองค์รับรอง มีข้อความดังนี้..
 “เมื่อขึ้นไปอยู่ริมน้ำแม่งัด บ้านช่อแล ได้ ๔ - ๕ ปี แต่อยู่บ้านแม่แต วันหนึ่งนึกถึงตาผ้าขาวสุกว่า “เอ ตาเฒ่านี้จะไปเกิดที่ไหนแล้วหนอ เดี๋ยวนี้ ”
พอเรานึกได้เท่านั้น ก็มีเทวดา ๒ ตนผู้ชายหนุ่มน้อยอายุ ๑๘ - ๑๙ ปี นั่งเครื่องยนต์รูปร่างคล้ายกับเรือสุพรรณหงส์มารับ
“นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าเถ๊อะ จะพาไปหาตาผ้าขาวสุก อยู่ป่าหิมพานต์”
“จะไปนานไหม จะได้เอาผ้าครองไปด้วย”
“ไม่นานหรอก ตี ๔ ก็กลับมาแล้วครับ”
“เอ้า... ไปก็ไป” พอเราพูดอย่างนี้ กายก็นั่งอยู่ ใจก็เดินขึ้นยนต์สุพรรณหงส์ จากนั้นก็ลอยไปตามอากาศ ช้าก็ได้เร็วก็ได้เหมือนกับคนเขาขับรถ แต่ยนต์นี้ไม่ต้องขับไปได้เองตามอานุภาพของบุญ ลอยไปผ่านไปแม่ฮ่องสอน เข้าเขตพม่า เลยพม่าเข้าแคชเมียร์ เข้าเขตภูเขาหิมะ เครื่องยนต์นั้นก็ลอยต่ำลงสูงกว่าปลายไม้นิดหน่อย เมื่อเข้าใกล้ที่อยู่ของพ่อขาวสุกแล้วก็ลงจอดยนต์ไว้ เดินเท้าเข้าไป มีหมู่เทวดามาต้อนรับ แล้วเดินกันเป็นกระบวนไป ลึกเข้าไปอีกก็มีพวกสัตว์ป่าหิมพานต์ รูปร่างเป็นตัวสัตว์ต่างๆ มาต้อนรับ สัตว์ที่เหมือนกับในเมืองมนุษย์ก็มี เช่น หมูป่า กวาง เก้ง เสือ ช้าง หมี  ๔ เท้า ๒ เท้า เลื้อยคลานมีหมด
สัตว์ที่รูปร่างเหมือนกับรูปที่เขาเขียนว่า สัตว์หิมพานต์ อย่างนั้นก็มีอยู่มาก ต่างก็มาชื่นชมยินดีต้อนรับเป็นหมู่เป็นคณะ
“ทำไม สัตว์ป่าทั้งหลายที่แถบนี้จึงมีมาก” ผู้ข้าฯ ถามเทวดา
“โอ... พระผู้เป็นเจ้า ก็แถบถิ่นนี้ อยู่ในวงล้อมของภูเขา ๓ ลูกในนี้นั้นใต้ภูเขา ลูกกลางนี้เป็นที่ประดิษฐานพระศพของพระมหากัสสปเถรเจ้า หมู่หิมพานต์เหล่านี้ก็มากราบไหว้ ทำความยินดีต่อพระเถรเจ้า แต่ก็ไม่มีใครเข้าไปกรายใกล้ได้ เพราะมีเทพเจ้าผู้ศักดิ์ใหญ่ทั้งหลายรักษาไว้อยู่ หมู่หิมพานต์ทั้งหลายก็อาศัยกระทำความยินดีนี้เองแหละที่เป็นบุญเป็นกุศลมหาศาลของตนได้ ”
ผู้ข้าฯ รู้ทิศทางที่เขาชี้ให้ดูว่า ศพของพระมหากัสสปเถรเจ้าอยู่ทางนั้นตรงนั้น ก็ยกมือไหว้ ยืนวันทาอยู่ว่า นะโม ๓ จบ อิติปิโสฯ สฺวากฺขาโตฯ สุปฏิปนฺโนฯ แล้วก็อุกาสะฯ ไหว้พระธาตุ เจริญเมตตาไหว้จบแล้วหมู่เทวดา หมู่สัตว์ที่แห่ล้อมอยู่นั้นสร้องสาธุการ สนั่นป่า ว่า “สาธุ” ๓ ครั้ง
จึงถามเขาว่า “ตาผ้าขาวสุกล่ะ อยู่ทางไหน ? ”
เทวดา ๒ ตนที่พาไปนั้นจึงว่า อยู่ทางนี้เดินจากนี้ไปไม่ไกลหรอกประมาณ ๑ เส้น ขอพระผู้เป็นเจ้า ไปคนเดียวเถิด พวกผมจะรออยู่ตรงนี้ เราก็เดินไปคนเดียว ไปเห็นต้นไม้มุ่นต้นใหญ่ต้นหนึ่งสูง กิ่งก้านสาขาเหมือนกับเวลาเรากางกลดออก อยู่ใกล้ๆ โคนต้น เห็นผู้หญิงสาว ๔ คน
 “สูเจ้ามาอยู่ทำอะไรตรงนี้ ? ”
 “โอ พระผู้เป็นเจ้า มาธุระอันใดหนอ ”
 “มาหาตาพ่อขาวสุก คนเฒ่าอยู่ไหน ? ”
อยู่ในโพรงไม้ตรงใต้คาคบลงมานั่นแหละท่านพระผู้เป็นเจ้า เสวยวิบากเป็นบ่างใหญ่อยู่
แล้วสูเจ้าหล่ะมาอยู่ทำไมตรงนี้
“โอ... มารักษาพ่อผ้าขาวนี้แหละ เมื่อพ้นจากวิบากตรงนี้แล้วจะได้ออกไปเกิดในเมืองมนุษย์ แล้วจะได้เป็นผัวเมียกัน ทำความดีต่อไปได้ ”
“เดี๋ยวนี้สูเจ้าเป็นภูมิใด ? ”
“เวนิมานกเปรต กลางวันเป็นผี กลางคืนเป็นเทวดา”
เรารู้เท่านั้นแล้วก็ลาเขากลับออกมา ไหว้วันทาไปทางศพพระมหากัสสปเถระนั้นอีก เสร็จแล้วก็ลาพวกเทวดาและพวกหิมพานต์สัตว์เหล่านั้น เทวดาสองตนนั้นก็บันดาลเอายนต์เหาะคันเก่านั้นมารับก็ลอยขึ้นอากาศ  วนเลาะดูป่าหิมพานต์  เลาะเขตอินเดีย  ทิเบตต่อเมืองจีน เลาะทางทิศเหนือเรื่อยๆ มา เข้าทางเมืองเชียงแสน ลัดตรงมาถึงแม่แตง     แม่งัด ยนต์เหาะก็ลงจอด เทวดาสองตนก็กราบไหว้ลาไป ขาไปเขาไม่นั่งยนต์นั้น เขาหายไปทันที ยนต์ก็หายไป ตัวเราก็มองร่างกายที่นั่งอยู่ มองดูนาฬิกาพกตั้งไว้ก็ตี ๐๔.๐๐ น. พอดี เดินเข้าสวมรูปกายรู้สึกตัวก็ดูนาฬิกาก็ตี ๐๔.๐๐ น. เหมือนกับในนิมิต เป็นเรื่องแปลกมาก หากไม่ประสบด้วยตนเองก็คงไม่เชื่อ แต่ตนของตนก็เชื่อความมีกำลังของจิตที่ฝึกฝนมานานหลายภพหลายชาติ  ไม่สงสัยไม่อวดตัว
เอานิมิตเรื่องนี้ไปเล่าให้ท่านอาจารย์ตื้อฟัง เพิ่นก็ว่า  “ผู้ข้าฯ ก็ไปมาแล้วล่ะ ท่านจามเอ๊ย ไปกราบไหว้มาแล้ว ที่ตั้งศพพระมหากัสสปเถระ  วงนอกภูเขา ๗ ลูกต่อๆ กันเป็นวงภูเขา วงในมีภูเขา ๓ ลูกซ้อนเหลื่อมกัน อยู่ตรงกลางลึกใต้พื้นภูเขา ๓ ลูกนั้นแหละที่ศพพระมหากัสสปเถระตั้งอยู่ หันหัวไปตะวันออก เอาเท้าไปตะวันตก มีเทพยักษ์รักษาอยู่นอกด่าน ๑
ด่านสอง พวกเทวดากับพวกนาค
ด่านสุดท้ายเป็นพวกเทพครุฑ รักษาอยู่อย่างใกล้ชิด เขาจะรักษาไว้จนกว่าศาสนายุคของพระศรีอาริย์จะมาตรัสเป็นพุทธะเจ้า แล้วเตโชธาตุของท่านจะเผาคราบของท่านเอง”
เรื่องพวกเทวดา พวกสัตว์ป่าหิมพานต์นั้น ท่านอาจารย์ตื้อก็ว่าอย่างที่เราไปเห็นมาแล้ว หากไม่มีพยานกับท่านอาจารย์ตื้อ ผู้ข้าฯ ก็จะไม่เล่าให้ฟังหรอก น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก แปลกแท้ๆ ในโลก”
และหลวงปู่จาม ท่านยังเล่าเพิ่มของ ท่านเจ้าคุณ จันทร์ เขมิโย อีกว่า...
 ในครั้งนั้นเจ้าคุณจันทร์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า “เพิ่นครูอาจารย์เสาร์ได้ว่าไว้ว่า  ท่านพระครูวิโรจน์ฯ ผู้มาบูรณะพระธาตุพนมให้ยุคต้นนั้นเป็นลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะมาแต่ยุคก่อสร้างเริ่มแรก
 เป็นนายช่างผู้ใหญ่รับบัญชาจากพระมหากัสสปะทุกอย่างแล้วสร้างขึ้นได้สูง ๘ วา  ก่อด้วยหินตามดฐานกลมฝังพระธาตุหัวอกก้ำซ้าย ๑๒ ก้ำขวา ๑๒ พร้อมเครื่องบูชาภายในแล้วต่อยอดให้แหลมขึ้นไปอีกครึ่งวา
 ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล  เป็นนายช่างใหญ่ควบคลุมดูแลการก่อสร้าง  เสร็จจากพระธาตุพนมแล้ว ก็ไปก่อพระธาตุอิงฮังฝั่งซ้ายพระธาตุอิงฮังสร้างเริ่มต้นยุคเดียวกันแต่พระธาตุนั้นได้มาจากพระมหากัจจายนะเป็นผู้อัญเชิญมา
 พระอรหันตเจ้า ๒ องค์นี้มาเมืองอีสาน  เมืองลาว  พม่า  ตอนใต้  เมืองเขมร  โปรดผู้คนแถบแถวนี้ เมื่ออายุมากแล้วแยกย้ายกันไป  พระมหากัจจายนะนิพพานอยู่ทุ่งไหหินเมืองลาว  พระมหากัสสปะนิพพานอยู่เขาหิมาลัยเชิงภูเขา ๗ ชั้น ชั้นในภูเขาซ้อนเหมือนกับฉัตร  ส่วนพระศพนั้นอยู่ลึกในถ้ำหิน
 อันนี้เจ้าคุณเมืองนครพนมเล่าให้ฟัง

11 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณที่ชี้ทางให้ค่ะ

    ตอบลบ
  2. เอ ขัดกัน ตอนบนบอกศพอยู่เมืองเชียงตุง ตอนล่างบอกสรีระของท่านกัสสปะอยู่เขตแคชเมียร์ การอ่านต้องนิ่งและละเอียด
    พระอรหันต์ไม่พลาดเรื่องเห็นไตรลักษณ์ แต่การพยากรณ์หรือเรื่องอื่น จำเพาะพระพุทธเจ้าจะไม่พลาดเลยเพราะเปนสัพพัญญู

    ตอบลบ
  3. เอ ขัดกัน ตอนบนบอกศพอยู่เมืองเชียงตุง ตอนล่างบอกสรีระของท่านกัสสปะอยู่เขตแคชเมียร์ การอ่านต้องนิ่งและละเอียด
    พระอรหันต์ไม่พลาดเรื่องเห็นไตรลักษณ์ แต่การพยากรณ์หรือเรื่องอื่น จำเพาะพระพุทธเจ้าจะไม่พลาดเลยเพราะเปนสัพพัญญู

    ตอบลบ
  4. เก็บข้อมูลมาไว้ให้ทราบ
    เรื่องจริง ถ้าอยากทราบต้องทำจิตให้ถึง แล้วไปพิสูจน์เอง.
    ได้แต่นำหลักฐานที่สามารถค้นเจอ มาลงให้ได้ศึกษาเป็นแนวเท่านั้น.

    ตอบลบ
  5. ข้อความข้างล่าง..
    คงไม่ใช่แคชเมียร์ เพราะไปถึงภูเขาหิมะ น่าจะพ้นไปแล้ว
    ส่วนข้อความด้านบน มี 2 ขยัก
    1.ผู้ถ่ายภาพนี้ ถ่ายในเชียงตุง
    2.หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ กล่าวว่า พระมหากัสสปะมีดอกไม้เคารพศพที่ยังสดอยู่
    ถ้าอ่านไม่ได้คิดอะไรมาก เหมือนกับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ยืนยันภาพ
    แต่คิดอีกมุม ภาพศพนนี้อาจเป็นของพระอรหันต์ท่านอื่นก็ได้ มีมากมายที่ศพไม่เน่าไม่เปื่อย นอนตายตามถ้ำ หรือที่ๆคนไปยังไม่ถึง..
    เราไม่มีคุณวิเศษอะไร ก็ต้องพิจารณาให้มาก

    ตอบลบ
  6. ไม่ใช่อย่างแน่แท้ นี้น่าจะเป็นสังขารของพระนิกายหนึ่ง ที่เดี๋ยสนี้ประกาศให้เลิกทำพิธีกรรมแบบนี้แล้ว นั่นคือการข้งตัวเองเอาไว้ นั่งกรรมฐานจนตัวเองตาย และค่อยๆดื่มน้ำยาที่เป็นสารเดียวกับการเคลือบกระเบื้อง เพื่อไม่ให้ร่งกายเน่าเปื่อย ลองหาดูในกูเกิ้ลได้

    บางบันทึกก็ยังบอกว่าท่ายไปละสังขารที่เขาตีนไก่ที่จีน แม้แต่ในข้อมูลเบื้องต้นยังบอกเลยว่าท่านละสังขารตรงเขาที่ท่านสังฆยานาพระไตรปิฎกครั้งที่1 และอีกบันทึกหนึ้งที่บองท่านละสังขารที่เชียงตุงนี่ เป็นไปไม่ได้

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอนำเอาคำสอนที่พระกัสสปเถระมาไว้ว่า
      " ผู้ใด ไม่หวั่นไหวเพราะมานะ ๓ อย่าง คือ
      ว่าเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ๑
      เสมอเขา ๑
      เลวกว่าเขา ๑
      นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญผู้นั้นแหละ ว่า เป็นผู้มีปัญญา มีวาจาจริง ตั้งมั่นดีแล้วในศีลทั้งหลาย และว่าประกอบ ด้วยความสงบใจ
      ภิกษุใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
      ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน ฉะนั้น "
      เพราะเรื่องศพของท่านนั้น แท้จริงจะอยู่ที่ใด นั้นคงไม่เป็นที่แน่ชัด
      แต่ที่แน่ชัดนั้นคือ คำสั่งสอนที่ท่านได้ฝากไว้อย่างชัดเจน ให้ชนรุ่นหลังหลายต่อหลายรุ่น ได้นำไปปฏิบัติจนพ้นไปจากสังสารวัฏ
      นี่คือประเด็นที่ผู้เขียนบทความ นำเอามานำเสนอให้นำไปพิจารณา และเสริมด้วยเรื่องประกอบที่พอหาข้อมูลได้เท่านั้น
      หากท่านใดมีอภิญญาสามารถไปพิสูจน์สถานที่แท้จริงได้ ก็ขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
      สาธุ

      ลบ
  7. ที่ท่านนิพพาน เหมือนเขาไกรลาศเลย มีเขาล้อมรอบ เป็นชั้นๆ

    ตอบลบ
  8. ที่ท่านนิพพาน เหมือนเขาไกรลาศเลย มีเขาล้อมรอบ เป็นชั้นๆ

    ตอบลบ
  9. ความเชื่อถ้าเชื่อในเรื่องกุศลกราบทองเหลืองก็ถึงพระพุทธเจ้าได้

    ตอบลบ
  10. ข้อความว่าท่านสีหไสยาสน์ แต่ภาพนั่งก็ขัดกันนะครับ

    ตอบลบ