วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ธรรมเทศนา หลวงพ่อเคลม

ปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร แสดงโดย พระครูเกษมคุณารักษ์ (เคล็ม ปิยธโร) วัดป่าอุดมธรรม จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๖ -------------------------------------- ให้ญาติโยมทุกคนตั้งใจ เมื่อกี้เราก็ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อพุธท่านได้อธิบายไปอย่างละเอียดละออแล้ว ญาติโยมทุกคนก็ลงมือปฏิบัติได้เลย ลงมือทำแล้วก็ฟังธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรมไปในตัว สำหรับเสียงที่ได้ยินนั้น เราไม่สนใจ ให้สักแต่ว่าได้ยิน ถ้าจิตเราไม่สนใจจิตเราไม่กังวลกับเสียง แต่ถ้าเราไปสนใจ จิตเราจะกังวลกับเสียงนั้น ฉะนั้นเสียงทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง เสียงดนตรี เสียงหนัง เสียงอะไรก็แล้วแต่ ให้เรากำหนดรู้อยู่ที่จิตของตนเอง เสียงนั้นเกิดดับเหมือนกับที่มันเกิดขึ้น เมื่อจิตของเราไม่สนใจแล้ว มันเกิดดับของมันนั่นแหละ เมื่อเราฟังดู สักแต่ว่าได้ยินเฉย ๆ แต่เราไม่ส่งกระแสจิตไปสู่เสียงนั้น เรามาดูจิตของเราเอง ทำอย่างไรให้รู้ถึงจิตถึงใจของเราให้ได้ ให้เข้าถึงที่นั่งของเรา จิตของเรา พุทโธ จิตพุทธะ จิตพุทโธ จิตผู้รู้อยู่นั่นแหละ เป็นที่พึ่งของเราที่แน่นอนในชีวิตนี้ ลองพิจารณาดู เราเกิดมาชาติหนึ่งนี้ เราจะเอาอะไรเป็นสาระเป็นแก่นสารในชีวิตถ้าตรวจดูในร่างกายของเรา ที่เรานั่งอยู่คนละก้อน ๆ นี้ ตั้งแต่เส้นผมบนศีรษะ ตลอดจนถึงพื้นเท้า ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมาบนเส้นผมบนศีรษะตรวจดูข้างหน้า ข้างหลัง ซ้ายขวารอบตัวเอง ถ้าพิจารณาดูในรูปอัตภาพร่างกายที่เรานั่งคนละก้อนนี่ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นที่อาศัยได้แน่นอน ผู้รู้ทั้งหลายท่านก็แสดงไว้แล้วว่าเพียงแต่เราอาศัยชั่วคราวเท่านั้น สังขารร่างกายนี่ ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กายของเราทั้งหมด เป็นที่อาศัยเพียงชั่วชีวิต เมื่อเราได้อัตภาพร่างกายมาอันนี้แหละ เป็นทรัพย์มรดกตกทอดมาจากบิดามารดาปู่ย่าตายาย เมื่อเราได้ทรัพย์มรดกแล้ว ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าเราไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เดี๋ยวก็ทิ้งไปหมด ฉะนั้นในขณะนี้ เราใช้ให้เป็นประโยชน์ เรารีบขวนขวาย รีบสะสม รีบฝึกหัดปฏิบัติ สร้างประโยชน์ไว้ในจิตใจของตน จิตนี้ต้องอาศัยกายนี้แหละในการสร้างบารมี สร้างความดีให้เกิดขึ้นในจิตของตนเอง เราสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ฉะนั้นการฝึกหัดปฏิบัติอบรมจิตใจของตนนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นการสร้างประโยชน์มหาศาลสะสมไว้ในจิตของตน เป็นการสะสมอริยทรัพย์ในจิตของตนเอง นี่แหละเป็นชีวิตที่ไม่เปล่าจากประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าเราได้ฝึกฝนอบรม ได้สะสมไว้แล้ว ก็เป็นทรัพย์สมบัติของเราโดยตรง โจรลักไม่ได้ ไฟไหม้ไม่ได้ น้ำท่วมไม่ได้ แม้แต่ลมพายุแรงขนาดไหนก็พัดไม่ได้ นี่เรียกว่าอริยทรัพย์อัดไว้ในจิต เมื่อเราได้ฝึกแล้วปฏิบัติแล้วก็อัดไว้ในจิต สะสมไว้ในจิตของตน ไม่ว่าจะเป็นธรรมะชนิดไหนก็ตาม ที่เราปฏิบัติแล้ว สะสมแล้ว เช่น ทาน ศีลก็ดี สมาธิก็ดี สติก็ดี สัมปชัญญะก็ดี ปัญญาความรู้รอบก็ดี ได้สะสมไว้ในจิต แม้แต่กำลังทั้งห้า เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ หรือปัญญา เมื่อเราได้ฝึกแล้วก็เป็นการสะสมไว้ในจิตนี่ญาติโยมลองกำหนดดูสิ เหมือนที่อาตมาฝึก ศรัทธาได้แล้ว มีอยู่แล้วที่จิต เมื่อมีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาทำอีกเล่า เพราะอะไร ก็เพราะว่ายังไม่พอ ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่บริบูรณ์ เราจะต้องมาเพิ่มพูนอีกให้มากขึ้น เปรียบภายนอกเหมือนเราหาเงินหาทอง มีบ้างแล้วแต่เราก็หาอีกทำอีก สะสมไว้อีก เพื่อใช้ให้ได้นาน ๆ อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ทรัพย์ภายในก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องทำ ต้องสะสมไว้ในจิตของตนเอง นี่แหละเป็นอริยทรัพย์ที่ประเสริฐที่สุด จิตนี้เป็นผู้นำไปได้ ทรัพย์ภายในนี่แหละมันอัดไว้ในจิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปไม่มีร่าง ไม่มีตัวไม่มีตนที่เราจะจับให้ตั้งอยู่ได้ไม่เหมือนวัตถุภายนอก เพราะฉะนั้นเมื่อเราปฏิบัติแล้ว สะสมไว้ในจิต จิตเป็นผู้จับเอาไว้ หรืออัดเอาไว้นั่นแหละ มันได้ที่จิตของเราเอง ให้เราทำลงไป ฝึกลงไป ปฏิบัติลงไป เหมือนที่ญาติโยมได้ฝึกมาแล้วติดต่อกันเมื่อกี้ เราก็กำหนดพิจารณาลงไปพยายามประคับประคองจิตของตนให้อยู่ในเอกัคคตารมณ์ที่เรากำหนดนั้น หรือ ที่เราพิจารณานั้น ไม่ให้จิตส่งซ้ายส่งขวา ส่งหน้าส่งหลัง ส่งอดีตส่งอนาคตให้เรากำหนดรู้อยู่ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ว่าขณะนี้เรากำลังฝึกอยู่ กำลังปฏิบัติอยู่ กำลังสำรวมอยู่ กำลังระวังอยู่ด้วยสติ ระลึกรู้ลงไป เป็นการฝึกสติปัญญาให้เกิดขึ้น เป็นการสะสมในจิตของตน นี่แหละเป็นการสร้างประโยชน์ไว้ในจิตของตนเองเมื่อเราได้ฝึกแล้ว ปฏิบัติแล้ว เกิดคุณธรรมขึ้น เช่นมีศีลธรรม หรือสมาธิธรรม ปัญญาเกิดขึ้นที่จิตของตน มีความรู้ ความฉลาด มีความสามารถที่เราจะช่วยกันเผยแพร่ศาสนาธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ให้กว้างขวางต่อไป เช่น เราเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นพ่อเป็นแม่ หรือเป็นที่พึ่งอะไรอย่างนี้ เมื่อเราฝึกหัดปฏิบัติมีความรู้ความเข้าใจแล้ว ก็ช่วยกันชี้แนะแนวทางให้ญาติพี่น้อง หรือพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตัวเอง หรือญาติโยมเพื่อนมิตรสหายต่าง ๆ ให้เขาได้รู้จักการประพฤติปฏิบัติ รู้จักการเข้าวัดเข้าวา ฟังเทศน์ฟังธรรมอบรมจิตใจของตน รู้จักทำบุญให้ทาน รักษาศีล เป็นการสร้างบารมี สร้างความดีไว้ในจิตของตน อันนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลของเราอีกทีหนึ่ง ถ้าเรายังไม่สามารถชี้แนะเขาได้ เราก็ฝึกตัวเองให้ได้ก่อน เพราะการที่เราจะชี้แนะเขาได้ เราต้องฝึกตัวเอง ปฏิบัติตัวเอง ให้มีสติปัญญา ความรู้ความฉลาดความสามารถในจิตของตน อีกทั้งเราต้องมีความกล้าหาญที่จะช่วยเผยแพร่ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระองค์นั้นให้กว้างขวางต่อไป ฉะนั้นอาตมาก็ขอฝากให้ญาติโยมทุกคน เพราะพวกเราก็เป็นผู้ใหญ่กันทั้งนั้น มีความรู้ความฉลาดมาด้วยกันทั้งนั้น ยังอยู่ที่เราจะปฏิบัติทำให้เกิดให้มีขึ้น ในจิตของตน ให้รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริงให้ได้ เราสามารถเอาไปเผยแผ่ได้ มีลูกมีหลานมีญาติพี่น้องสามีภรรยา ถ้ายังไม่เคยเข้าวัด เราก็พยายามชี้แนะเขาให้รู้จักเข้าวัดเข้าวา ปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรม ให้เกิดให้มีที่จิตของตนอย่างนี้ทีนี้ญาติโยมลองกำหนดดูสิ กำหนดจิตดู ญาติโยมที่เคยฝึกมาแล้วนี่ เราฝึกมาแล้ว เรากำหนดลงไป กำหนดอย่างไร อาศัยสติเราควบคุมจิตของตนเอง อยู่ในกรรมฐานที่เรากำหนดนั้น ปล่อยวางอารมณ์ภายนอกก่อน อารมณ์ภายนอกไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น ปล่อยละวางความกังวลในจิต ไม่ต้องกังวลเรื่องลูก ไม่ต้องกังวลเรื่องหลาน ไม่ต้องกังวลเรื่องสามีภรรยา ไม่ต้องกังวลเรื่องทรัพย์สมบัติ ไม่ต้องกังวลเรื่องการไปการมา ไม่ต้องกังวลเรื่องอะไรทั้งหมด ปล่อยวางใจเราให้ปกติ ปล่อยวางจิตใจของเราให้อยู่ด้วยอาการปกติธรรมดา ให้รู้อยู่ในขณะนี้ปัจจุบันเราไม่ได้ทำอะไร งานภายนอกเราก็ไม่ได้ทำ กิจอื่น ๆ เราก็ไม่ได้ทำ เราปล่อยวางไว้ก่อน อย่าเพิ่งคิดไป ให้เราคิดอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน หรือคิดที่จะพิจารณา หรือปฏิบัติธรรมนี่เราสอนจิตสอนใจของเราอย่างนี้ แล้วก็ประคับประคองจิตของเราให้อยู่กับอารมณ์นั้น พิจารณาลงไปดูจิตเราสงบอยู่กับอารมณ์ไหม มันคิดไปที่ไหนบ้าง ถ้าคิดไปที่อื่นก็พยายามน้อมมา เรียกว่า โอปนยิโก ให้น้อมมา ๆ ดูธรรมะ ปัจจุบันในขณะนี้ก็คือรูปกับนาม หรือว่ากายกับใจนี่ หรือกายกับจิต อันนี้เป็นธรรมะที่เราปฏิบัติอยู่เดี๋ยวนี้ เรากำหนดจิตนั้นพิจารณาดูไปในกายของตน เหมือนที่กล่าวแล้วเบื้องต้นนี่ให้รู้ว่าในกายของเราทั้งหมดนี้ เราอาศัยอะไรได้บ้าง ทุกส่วนในร่างกาย ตั้งแต่อาการสามสิบสอง ดินน้ำลมไฟลม ธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นสิ่งที่เราอาศัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น ให้เรารู้อยู่อย่างนั้นชัดเจน แล้วเราก็พยายามฝึกไปเรื่อย ๆ ทั้งกลางวันกลางคืน ยืนเดินนั่งนอน เราฝึกให้มีสติระลึกรู้ติดต่อกันไป จนกระทั่งเราใช้ปัญญาพิจารณาคลี่คลายได้นี้ จิตของเราก็จะมีความรู้ความเข้าใจในจิตของตนไปเรื่อย ๆ ความรู้ความเข้าใจซาบซึ้งถึงรสของพระธรรมในจิตของตน จิตของตนนี้เป็นสภาวธรรมที่มีอยู่แล้ว เราก็ระลึกรู้ลงไป ทำความรู้ให้ชัดเจน อันดวงจิตพุทธะ พุทโธผู้รู้นี่เป็นที่พึ่งของเราแล้ว เราก็พยายามให้เข้าให้ถึงให้รู้จัก ถ้าเรายังทำไม่จริงไม่จัง ไม่มีสติระลึกได้เต็มที่ เราทำน้อยไปความเพียรอ่อนไป นี่ละเราเข้าถึงได้ยาก เราจะต้องเร่งความเพียรให้ได้สม่ำเสมอ คือระลึกให้ได้ติดต่อกัน สติระลึกติดต่อกันไม่ขาดสายจิตเราก็ตั้งมั่นเอง ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ทั้งหลายแหล่ เมื่อจิตมั่นคงจิตไม่สั่นสะเทือนจิตไม่ดิ้นรน จิตไม่กระวนกระวายนั่นแหละ สมาธิก็ปรากฏที่จิต จิตเราก็เป็นสมาธิ มันได้สมาธิในตัว เมื่อจิตไม่หวั่นไหวก็รู้ในจิตของเราเอง ถ้าจิตหวั่นไหวก็รู้ในจิตของตนเรากำหนดรู้อยู่ หวั่นไหวก็รู้ ไม่หวั่นไหวก็ให้รู้อยู่ สงบนิ่งก็ให้รู้อยู่ ถ้าสงบนิ่งอยู่แล้วนี่ ก็ให้เรารู้ให้ชัดเจน นิ่งเฉย ไม่ยินดียินร้ายอะไร นั่นแหละคือจิตที่เราปล่อยวางอารมณ์ภายนอก อยู่กับอารมณ์ผู้รู้อยู่ผู้เดียว ไม่เกี่ยวไม่เกาะกับสิ่งอื่น นั่นแหละจิตมันสบายแล้ว ผลของจิตที่เราสำรวมได้สงบได้อยู่อย่างนั้น ก็มีความสุขเกิดขึ้น นี่แหละบุญเกิดขึ้นที่จิตเราสำรวมได้ จิตเราสงบได้ บุญเกิดขึ้นที่จิต บุญก็คือความสุข ความสบาย ใครเป็นผู้เป็น จิตเป็นผู้เป็น จิตเป็นผู้เป็นบุญ เป็นผู้ได้รับบุญ คือจิตสุข จิตสบาย จิตเยือกจิตเย็น จิตเบา จิตไม่เดือดร้อน นั่นคือจิตเป็นบุญแล้ว ทีนี้ใครเป็นผู้รู้ จิตเป็นผู้รู้เอง รู้ว่าจิตเราเป็นบุญ พอจิตสุข จิตสบายเอง ก็รู้เองอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการฝึกหัดปฏิบัติเท่านั้นที่เราจะรู้ได้ที่เราจะเห็นได้ในจิตของตน ผู้ที่ไม่เคยฝึกจิต ไม่เคยสำรวมจิตนั้น จิตเรายังไม่ได้รับบุญในจิตของตน ต่อเมื่อเราฝึกแล้วเราก็ได้รับรสบุญในจิตของตนว่ามีความสุขความสบายขนาดไหน เราก็รู้เองเห็นเองในจิตของตน เมื่อเรารู้เท่าอย่างนี้ เรียกว่าตัวสติและปัญญาทำหน้าที่ในขณะนี้ จิตของเราสบายก็รู้ จิตของเราเป็นบุญก็รู้อยู่ แต่ความสุขความสบายนั้น เขาเรียกว่าเป็นสุขเวทนา สุขเวทนานี้ก็เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่เที่ยงไม่แน่นอน คือมันเกิดแล้วมันตั้งอยู่เพียงชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงแปรปรวน ในที่สุดก็ต้องแตกดับไป อย่างนี้ อยู่ในลักษณะของไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น ฉะนั้นเราฝึกไป ๆ เราก็ค่อยมีสติปัญญา รู้ลึกซึ้งไปเรื่อย ๆ เมื่อจิตเราตั้งมั่นได้แล้วนั่นแหละ เราจะรู้ได้ชัดเจน จิตจะหวั่นไหวไปทางไหนเราก็รู้ จิตคิดไปเรื่องอดีต หรือเรื่องอนาคต เรื่องบุญเรื่องกุศล เรื่องบาปเรื่องอกุศลอย่างไรเราก็รู้ได้ รู้แล้วว่าจิตของเราคิดในเรื่องไม่ดี เราก็อย่าตามมัน นี่ชื่อว่าเราอยู่ได้ด้วยสติ ด้วยปัญญาควบคุมจิตใจของเราอยู่ทุกขณะ จิตของเราก็ไม่หลงใหลไปตามอารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ดีทั้งหลายแหล่ ให้รู้เท่ามันปล่อยมันไปละมันไป บางครั้งจิตเราก็คิดไปเรื่องดี เรื่องบุญเรื่องกุศล อย่างนี้เราก็ให้รู้อีก ไม่หลงใหล เมื่อเราได้มาปฏิบัติมาเข้าวัด มานั่งสมาธิภาวนาเจริญเมตตาอยู่นี้ เป็นการสร้างความดีสร้างบุญสร้างกุศลให้เกิดขึ้น และเราก็ฝึกไป ปฏิบัติไปทำความรู้ให้ชัดเจน เวลาความทุกข์ ความยาก ความลำบาก ความวุ่นวายเกิดขึ้นในจิตของตน ให้เราทำความรู้จักความทุกข์ ความยาก ความลำบากนั้น ซึ่งก็เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน มันเกิดมันดับของมัน ให้เราทำความรู้เท่าทันอย่างนั้น แล้วจิตของเราไม่หวั่นไหวกับความทุกข์ความยากลำบากนั้น เพราะเป็นเวทนา ทุกข์ก็เป็นทุกขเวทนา เป็นของไม่เที่ยงเหมือนกัน มันเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ชั่วคราว มันเปลี่ยนแปลงแปรปรวน แล้วในที่สุดก็แตกสลายดับไปอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นเราควรหรือที่เราจะไปหลงยึดอยู่กับอารมณ์ทุกข์ยากลำบากนั้น ก็ไม่ควรที่จะไปหลงยึดมัน ควรพิจารณาให้รู้เท่าทัน แล้วก็ปล่อยมันไป ไม่ให้จิตเราไปหลงยึดมั่น จิตเราก็จะได้อยู่ท่ามกลางความรู้อยู่กับพุทโธ ผู้รู้ ไม่เป็นทุกข์ จิตเราไม่ยึดจิตเราปล่อยอารมณ์ คือ ตัวทุกข์เวทนานั้นไป แม้แต่สุขเวทนา เราก็กำหนดรู้เท่าดังที่กล่าวแล้วทั้งบุญทั้งบาป หรือทั้งทุกข์ทั้งสุขนี่ ถ้าได้กำหนดรู้เท่าให้หมด แล้วก็ปล่อยวาง อยู่ท่ามกลางผู้รู้อยู่ ให้จิตเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้อยู่ท่ามกลางนั้น จิตเราจะไม่เป็นทุกข์อย่างนี้ นี่เราฝึกหัดปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เราก็ดูที่จิตเรานั้นแหละ จิรเราไปหลงยึดกับทุกข์หรือเปล่า ถ้าเราหลงยึดอยู่ก็เป็นทุกข์อยู่ ท่านให้พิจารณา ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แล้วก็ปล่อยวางไป บางทีจิตเราปรากฏความสุขความสบายขึ้นมานี้ นี่เราหลงยึดหรือเปล่า ให้เรากำหนดรู้เท่าทัน เมื่อเราฝึกหัดปฏิบัติให้เรารู้เท่าทั้งทุกขเวทนา ทั้งสุขเวทนา ว่าทุกข์ก็ดี สุขก็ดี เป็นอารมณ์ที่ไม่เที่ยงไม่แน่นอน เป็นทุกข์ทนไม่ได้ ต้องแตกสลายไป ต้องดับไปเมื่อเรากำหนดรู้เท่าทันอย่างนั้น จิตเราไม่หลงยึด ทุกข์ก็ดี สุขก็ดีให้เราอยู่ท่ามกลางผู้รู้อยู่ นั่นแหละเป็นจิตที่สบายไม่ทุกข์ทีนี้เราปฏิบัติธรรมนี้ เพื่ออะไร ปฏิบัติทำไม เราปฏิบัตินี้ไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออะไรหรอก เราปฏิบัติเพื่อให้ความรู้เท่าทันอารมณ์ทั้งทุกข์ทั้งสุขทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบุญทั้งบาปทั้งคุณทั้งโทษในจิตของตนเอง แม้แต่ในอัตภาพร่างกายเรียกว่ารูปขันธ์อันนี้ เราก็กำหนดรู้เท่าทันเป็นของไม่เที่ยง ไม่แน่นอน เป็นทุกข์ทนไม่ได้ ต้องแตกสลายทั้งนั้น ถ้าเราไปหลงยึดก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ เพราะฉะนั้นการฝึกหัด ปฏิบัติก็เพื่อต้องการให้รู้ให้ชัดเจน แล้วก็ปล่อยละวางไป จิตเราจะไม่เป็นทุกข์กับมันในขันธ์อันนี้ รวมแล้วก็อยู่ในขันธ์อันนี้แหละตัวทุกข์นี่ เวทนาขันธ์ก็เป็นทุกข์ เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นตัวตนทั้งนั้น ถ้าเราไปหลงยึดก็เป็นทุกข์เปล่า ๆ ฉะนั้น เวลาเรานั่งนาน ๆ เราจะปรากฏทุกขเวทนา เมื่อมีความเจ็บความปวดเกิดขึ้นนั่นแหละคือทุกขเวทนาแสดงให้ปรากฏแล้ว ให้เรากำหนดรู้ไม่ต้องหลบไม่ต้องหนี ให้เรากำหนดรู้ลงไปเลยว่านี้ทุกขเวทนา ทุกขเวทนานั้นเป็นของเที่ยงไหม ผู้รู้ทั้งหลายท่านว่าเป็นของไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงแล้วเป็นของที่อยู่ได้ไหม ก็ต้องแตกสลาย ทนอยู่ไม่ได้ต้องแตกสลายต้องดับไป ฉะนั้นท่านให้กำหนดรู้เท่าอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัญญาความจำรูปก็ดี จำเวทนาก็ดีมันเกิดมันดับทั้งนั้น เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น ฉะนั้นญาติโยมวันนี้ ให้เรากำหนดพิจารณาลงไปแก้จิตเราตรงนี้แหละ ถ้าไม่แก้ตรงนี้แล้ว จะไปแก้ตรงไหนแก้ที่อื่นไม่ถูกจุด แก้ที่จิตเรานั่นแหละ เพราะทุกข์ไม่ใช่อะไรทุกข์หรอก จิตเรานั่นแหละไปหลงยึดมั่น จึงเป็นทุกข์อยู่ตลอดแต่ตัวทุกข์ก็คือขันธ์ห้านี่แหละ เหมือนที่เราสวดแล้ว สวดเล่าอยู่ทุกวัน ๆ วัตรเช้านี้แหละ รูปนั่นเป็นตัวทุกข์ เวทนาก็เป็นตัวทุกข์ สัญญาเป็นตัวทุกข์ สังขารก็เป็นตัวทุกข์ แล้วก็วิญญาณก็เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ ๕ นี้เป็นตัวทุกข์ทีนี้ เมื่อเป็นตัวทุกข์นี่ ท่านให้กำหนดรู้เท่า รู้เท่าทุกข์ ไม่ให้จิตหลงยึดกับตัวทุกข์อันนี้ เมื่อเราฝึกหัดปฏิบัติรู้จัก รู้เท่ารู้ทันตัวทุกข์ ขันธ์ชัดเจน ไม่ยึดมันมาไว้ในจิต ไม่เอาจิตไปยึดมันแล้วปล่อยให้มันอยู่ตามเรื่องของมัน เหมือนกับรูปก็อยู่ตามรูป เหมือนกับเรานั่งอย่างนี้ จิตเราก็อยู่ด้วยกันนั่นแหละ แต่จิตเราไม่หลงยึดมัน เปรียบเทียบภายนอกเหมือนกับน้ำกับใบบัว น้ำกับใบบัวนั้นมันอยู่ด้วยกัน แต่มันไม่ติดกัน จิตอยู่กับกาย อาศัยกาย อาศัยรูป อาศัยเวทนา อาศัยสัญญา สังขารวิญญาณนี้ อยู่ด้วยกันแต่ระวังไม่ให้หลงยึดกัน นี่เราทำได้ไหม เราต้องฝึกแล้วฝึกอีก ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีกอยู่อย่างนั้น จนกว่าตัวสติปัญญานี่ ทำหน้าที่ทำความรู้แจ้งประจักษ์ว่า รูปนี่เป็นตัวทุกข์ เราปล่อยวางมันไป อย่าไปยึดมั่น ผู้รู้เท่าทันบอกแล้วว่าอย่าไปยึดมั่น ให้ละอุปาทาน ความยึด ไม่ให้จิตเราไปหลงยึดมั่น ปล่อยให้มันอยู่ตามเรื่องของมัน เวลามันเจ็บ เอ้า! เจ็บตามเรื่องของมัน เพราะตัวเจ็บตัวปวด ตัวทุกขเวทนานั้น ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นของเรา มันเป็นตามเรื่องของมัน แต่ถ้าจิตเราไปหลงยึด เมื่อใดแล้ว นั่นแหละจิตมันเป็นทุกข์ละ อย่างนี้เราแยกไม่ออก ฉะนั้นต้องพยายามพิจารณาให้ได้นะโยม พิจารณาได้ ไม่ใช่พิจารณาไม่ได้ แยกได้ แยกดูได้เลย รูปเราก็นั่งอยู่นี่ เวทนาความรู้สึกทุกข์สุขเฉย ๆ ก็มีอยู่ ท่านให้กำหนดรู้เท่า พิจารณาปล่อยมันไป มันเกิดมันดับของมัน ความจำก็เกิดดับ แม้แต่สังขารความคิดนึกปรุงแต่งมันก็เกิดดับ ความรู้อารมณ์ต่าง ๆ มันก็เกิดดับเป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น เมื่อเราพิจารณาให้รู้เท่าทันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน ยืนเดินนั่งนอน จิตเราก็รู้แจ้งประจักษ์ อยู่อย่างนั้นตลอดจิตก็ไม่หลงไปยึดมัน จิตก็ไม่เป็นทุกข์กับมัน ปล่อยให้มันทุกข์ตามเรื่องของมัน ทุกข์แต่รับรู้ แต่จิตเราไม่เป็นทุกข์กับมัน นี่สบาย อยู่กับทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์ อยู่กับขันธ์แต่ไม่เป็นทุกข์กับขันธ์ สบาย โยมลองสังเกตดูเวลาเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมานี่ เราจะวางจิตอย่างไร จะปล่อยจิตอย่างไร จะละจิตอย่างไรไม่ให้เป็นทุกข์กับทุกขเวทนานั้น เหมือนสมัยที่อาตมาป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรี สมัยที่ไปอินเดียตอน พ.ศ. ๒๕๓๓ ไปป่วยอยู่ที่อินเดีย ความเจ็บปวดก็มีธรรมดาของมันนั่นแหละ แต่ทำอย่างไร อาตมาก็ไม่ทำอย่างไร ก็กำหนดรู้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับจิตผู้ร้อยู่ เรื่องเจ็บเรื่องปวดมันก็มีอยู่ตามเรื่องของมันนั่นแหละ แต่กำลังนั้นไม่มี ความเจ็บความปวด ไม่มีกำลัง เดินไม่ไหวแล้ว โซเซ ๆ ก่อนจะขึ้นเครื่องบิน เดินไม่ได้แล้วต้องประคับประคอง มีพระพี่ชายท่านประคับประคองขึ้นเครื่องบิน พอขึ้นได้นอนอยู่บนเครื่องบิน เขาผูกมัดทั้งคอทั้งเอวทั้งเท้าหมดไม่ให้กระดุกกระดิก ไม่ให้กลิ้งไปไหนได้ ก็กำหนดจิตเหมือนกับตายแล้วนั่นแหละ ถ้าดูข้างนอกนึกว่าตายแล้ว แต่ก็ไม่กลัวอะไร เพราะกำหนดจิตอยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้ตลอด จนกระทั่งมาถึงเมืองไทยถึงดอนเมือง เดินลงมาจากเครื่องบิน แล้วก็ลงมาขึ้นรถเข็นที่เขาเอามารับ แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ที่ไปที่โรงพยาบาล เลยไปเข้าโรงพยาบาล มีแต่ความรู้อยู่อย่างเดียว ความรู้ที่จิตของเรา ความเจ็บความปวด หรือความเมื่อยความหิวอะไรต่าง ๆ ไม่ปรากฏ แต่ปรากฏว่ากำลังนั้นไม่มีกำลังจะยืนจะเดินจะอะไรไม่มี กำลังน้อยที่สุด จนหมอเขาเช็คดูเพื่อที่จะให้น้ำเกลือ เอาเข็มมาแทงดูในมือซ้ายมือขวา แทงเท่าไรก็ไม่เข้า มันเหนียวแล้ว มันจะหมดสภาพแล้ว มันเหนียวแทงเท่าไรก็ไม่เข้า เอ! ทำอย่างไร หมอก็เกือบจะปล่อยแล้ว แต่พอดีสักพักหนึ่งแทงไปแทงมาก็เจอเข้าที่เส้นเลือดแล้วก็ใส่น้ำเกลือไปได้ พอใส่น้ำเกลือไปได้แล้ว ค่อยมีกำลังมานิดหน่อย วันหนึ่งผ่านไป เขาให้อดอาหาร ฉันอาหารก็ไม่ได้หรอก ให้อาหารทางจมูก แต่ตอนแรกนั้นไม่ให้อาหารอะไรเลย ให้อด เขาจะผ่าตัด เขาเอาไปเอ็กซเรย์ดู ปรากฏว่าลำไส้นั้นมันอุดตัน มันเน่าเป็นจุด เป็นจุด เพราะตอนที่ไปอยู่อินเดียนั้น ไปฉันยาผิด ไปฉันยาไม่ถูกต้อง ทำให้ลำไส้อุดตันถ่ายไม่ออกสามวันสามคืน ถ่ายไม่ออกเลย ทำให้ลำไส้อุดตัน หมอเขาเช็คตรวจดูโดยเอ็กซเรย์ แล้วก็ว่าต้องผ่าตัด ก็เลยผ่าตัด ในขณะก่อนที่จะผ่าตัดนั้น มันสลบก่อน หมอไม่ได้วางยาสลบมันสลบก่อน ที่ว่าสลบก่อนนั้น คือจิตมันเคลื่อนที่ จิตมันเคลื่อนอยู่ข้างนอกกาย กายนั้นนอนอยู่บนเตียง ผู้รู้ก็อยู่ข้างนอก อย่างนี้ แต่กายนั้นไม่รู้เรื่องหรอกไม่รู้ว่าเจ็บว่าปวดว่าร้อนว่าหนาว ว่าเย็นว่าอะไรไม่รู้ มันอยู่เฉย ๆ เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนอย่างนั้นแหละ แต่จิตผู้รู้นั้นก็รู้อยู่อย่างนั้นแหละ รู้อยู่อย่างนั้นแหละ ใกล้ ๆ กับเตียงที่เรานอนอยู่นั่นแหละ จิตผู้รู้นี่เขาไม่ได้เที่ยวไปดูที่อื่นนะ แต่ถ้าเที่ยวไปดูที่อื่น สงสัยจะรู้จะเห็นอะไรอีกแยอะแยะ แต่จิตผู้รู้เขาไม่ได้ไปเที่ยว เขากำหนดรู้อยู่อย่างเดียว แล้วพอขาผ่าตัดหมดนี่ก็รู้อย่างเดียวไม่มีอะไร มันรู้อย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่เขาทำอะไร ๆ ก็รู้อยู่พวกเสียง เขาพูดอะไรก็สักแต่ได้ยิน ๆ เฉย ๆ รู้อยู่พอจิตผู้รู้ รู้ว่าสังขารร่างกายนี้หมอพอที่จะเยียวยารักษาได้ พอรู้อย่างนั้นเท่านั้นแหละ ความรู้ที่ดูจิตวิญญาณดูให้รู้จิตนี่แหละก็จะมีความรู้สึกคืนมา เหมือนกับเข้ามานั่นแหละ ถ้าพูดภาษาเรา เขาเรียกว่าเข้ามา ทีนี้เกิดปัญหาที่ว่าโยม เขาถามว่า เวลาจิตมันเข้าน่ะมันเข้าตรงไหน เวลามันออกมันออกตรงไหน จิตตัวผู้รู้นี้เขาก็บอกว่า จิตนี้เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม จะเข้าตรงไหนก็ได้ ออกตรงไหนก็ได้ ก็ดูโยมแหละเวลาเราคิดไปไหนนี่ มันมีอะไรบังได้ไหม มันเข้าได้หมด ฉะนั้นจิตนี้เป็นนามธรรม ไม่มีรูป ไม่เหมือนรูปธรรม รูปธรรมเหมือนกายอันนี้ ต้องมีประตูเข้าประตูออก ถ้าไม่มีประตูเข้าประตูออกก็เข้าออกไม่ได้ แต่จิตนี่มันเข้าทางไหนก็ได้ แต่ถ้ามองในรูปธรรมในกายเรา ก็มีตานี่เป็นประตูเข้า ประตูออกของจิต หู จมูก ลิ้น หรือปากแล้วก็กาย แล้วก็จิตของเรานี่แหละ คือจิตของเรานี่เข้าออกมีประตูทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เป็นประตูเข้าประตูออกของจิตที่มองในแง่รูปธรรม แต่ถ้ามองในแง่นามธรรมแล้วนี่ โดยปรมัตถธรรม ไม่มีประตูเข้าประตูออก โยมลองคิดพิจารณาดู มันจริงไหม ฉะนั้นจิตพุทโธผู้รู้นี่ เขาจะรู้ได้ชัดเจนเลยว่า คนตายนั้นไม่มีอะไรเลย เพียงแต่จิตนี่เคลื่อนทีไปเท่านั้นเอง นิ่งอยู่เฉย ๆ ถ้านานไปก็ผุพังเน่าเปื่อยกลายเป็นดิน เป็นน้ำลมไฟไปตามเรื่องของมัน เพราะสังขารร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยงไม่แน่นอน ท่านให้พิจารณาให้รู้ว่า กายกับจิต จิตกับกายนั้นอาศัยซึ่งกันและกันอยู่เพียงชั่วคราว ชั่วชีวิตหนึ่งเท่านั้น ให้เรารู้ก่อนตายอย่างนี้ เมื่อเราปฏิบัติรู้ก่อนตายอย่างนี้ได้นั่นแหละ เราก็ไม่ต้องกลัวตาย ไม่ต้องกลัวแล้ว ตายก็ตายไม่ต้องกลัว ตายวันไหนก็ได้ ให้เรารู้ เราจะรู้ว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นญาติโยมต้องฝึกให้รู้ตายก่อนตาย ว่าตายเป็นอย่างไร ไม่ต้องกลัวตาย อย่าไปกลัวตาย ถ้ากลัวตาย มันก็ไม่รู้จัก ปล่อยให้ตายไปเลย เหมือนกับเรานั่งสมาธิ เวลาเจ็บปวดนิดหน่อย กลัวจะตาย ไม่ต้องกลัว เอ้า! เจ็บไปเลย ปล่อยให้เจ็บ ให้มึน ให้ชาไปเลย เจ็บไปเลย ปวดไปเลย ถ้าเรากำหนดจิตอยู่อย่างนี้ได้ มีขันติบารมีมีความดทนในจิตของตน หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว มีความเพียรอยู่สม่ำเสมอ มีสัจจะความจริงใจในจิตของตนว่าจิตของเราฝึกจริง มีสติระลึกได้จริง มีความรู้จริง มีความอดทนจริง เมื่อสัจจบารมีปรากฏที่จิต จริง ๆ แล้วนี่ไม่กลัว เมื่อความไม่กลัวมีที่จิต ความกล้ามันก็เกิดขึ้นที่จิตอย่างนี้ เมื่อความกล้าหาญองอาจเกิดขึ้นที่จิตแล้วนี่ ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวปวด ไม่กลัวตาย ไม่กลัวอะไรทั้งหมด ตายก็ยอมตาย ถ้าญาติโยมฝึกได้อย่างนี้น่ะ ได้เร็ว แต่ถ้าเรามัวแต่กลัวนั่นกลัวนี่ กลัวเจ็บกลัวปวด กลัวมึนกลัวชา ไม่ยอม อันนั้นแหละได้ยาก ฉะนั้นลองฝึกอดทนหน่อย เจ็บก็เอาเจ็บไปเลย เพราะไม่ใช่เราเจ็บ ใครเจ็บ ธาตุขันธ์มันเจ็บ ทีนี้ทำไมจิตเราไปหลงยึดมันเล่า เราต้องกำหนดรู้เท่าทันให้ชัดเจน ปล่อยมันไป จิตผู้รู้ก็อยู่กับผู้รู้ ไม่ไปยึดกับขันธ์อันนี้ เมื่อไรโยมแยกออกได้ทันทีแล้ว จิตใจเราจะไม่เป็นทุกข์ลองกำหนดดู เวลาเรานั่งสมาธิ ไม่ต้องกระดุกกระดิก วางมือวางเท้าอย่างไร วางอย่างนั้น วางอย่างนั้น แล้วก็ตานี่มองไปข้างไหน ถ้าเรามองไปข้างใน กำหนดรู้อยู่เวลาลมเข้าลมออกให้รู้อยู่จุด ๆ เดียว ถึงเราจะลืมตา ก็มองไปข้างไหนได้ คือลืมแต่ตา แต่ไม่ส่งกระแสจิตไปข้างนอก ให้รู้อยู่ตรงนี้ที่จุดรูปลายจมูกตรงนั้น เหมือนตานี่ เหมือนอาตมามองอยู่ แต่กำหนดรู้อย่างนี้ หรือโยมจะมองอาตมา หรือมองใครก็ได้ ให้เรากำหนดรู้ที่ตัวเรา ใช้ได้ ให้เรากำหนดภายใน ถ้าเราทำอย่างนี้เรื่อย ๆ บ่อย ๆ จิตเราจะไม่ห่างจากตัว แต่ถ้าญาติโยมมัวแต่จะส่งไปดูทางโน้น ดูที่นี่ ดูที่นั่น อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตมันส่งไปตามอารมณ์จิตมันไปจับอยู่กับอารมณ์ข้างนอก จิตมันอยู่แต่ข้างนอก เข้าไม่ถึงข้างในสักที ฉะนั้นอุบายการฝึกจิตที่แน่นอน ที่ได้เร็วที่สุด ท่านจึงให้มองไปข้างใน จำเอาไว้นี่สำคัญมากเลยมองไปเหมือนหลับตามองไป ความรู้อยู่ตรงไหน เราก็ตั้งสติจดจ่ออยู่ตรงนั้น โยมจะกำหนดรู้อยู่ตรงไหนก็ได้ในกายอันนี้ ไม่จำกัดว่าต้องที่ปลายจมูกอย่างเดียว ไม่ต้องจำกัดที่สะดือหรือที่ท้อง หรือที่ตรงไหนก็แล้วแต่ เราไม่จำกัด เรากำหนดตรงไหนก็ได้ที่เราถนัด เราจับจุดตรงไหนก็ได้ที่ง่ายที่สุดสำหรับเรา เรากำหนดลงไปเลย อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติ เป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติของตัวเราเอง ไม่ใช่เราไปเอาจากคนนั้นคนนี้ เราต้องดูตัวเองในการปฏิบัติ จึงจะรู้จึงจะเห็น จึงจะเข้าใจแล้วก็ซาบซึ้งถึงรสของพระธรรมได้ ทีนี้ในขณะที่จิตอยู่รู้อยู่นี่ ไม่หลงไปยึดกับขันธ์ได้เมื่อไร นั่น แหละผลการปฏิบัติของเรา ประจักษ์แล้วเกิดที่จิต เรารู้ได้เลยว่า อ้อ! เราปฏิบัติมานี่มันดีอย่างนี้ ฉะนั้นในวันนี้ท่านกำหนดเวลาเพียง ๓๐ นาทีกว่า ความจริงก็อยากจะให้โยมได้รู้ ได้เข้าใจถึงสภาวะในการปฏิบัติ แล้วโยมจะยอมเลิกตอนนี้ไหม หรือจะเพิ่มไปอีกหน่อย ญาติโยมจะเพิ่มไปอีกไหม หรือจะให้อาตมาหยุดแค่นี้ เพิ่มอีกนะ เพิ่มอีกนิดหน่อย นี่ก็เก้าสิบเอ็ดนาที แต่ท่านมาบอกว่าโยมจะพัก ๐๙.๓๐ น. โยมเราเคยนอนมาแล้วตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งบัดนี้น่ะ ไม่มีพอหรอก โยมนอนเท่าไรก็ไม่มีหมด ไม่มีจบ ไม่มีสิ้น นอกจากเราจะฝึกอบรมจิตของเรานี้ ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามเป็นจริงให้ได้ โยมไม่ต้องนอนก็ได้ สบาย จิตเราพอรู้จักปล่อยวางอารมณ์ พักได้ พักทั้งกายทั้งจิต เวลาจิตเรารวมสงบนิ่ง อยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้นเป็นการพักจิตที่ดีที่สุด แล้วก็เป็นการพักกายไปในตัวด้วย โยมลองนั่งดู อาตมาลองนั่งดู พระอาจารย์ถาวรท่านก็เคยพูด นั่งตลอดคืน นั่งตลอดวันอย่างนี้ เคยฝึก ตอนสมัยไปอยู่อินเดีย เคยไปนั่งอยู่ด้วยกัน ตลอดคืนก็มี คือฝึกดูน่ะ ไม่ใช่อวดอ้างอะไร ฝึกดูว่าจิตของเรานั้นมีกำลังขนาดไหน มีความอดทนขนาดไหน มีความเพียรความพยายามขนาดไหนพอหรือยัง หรือยังไม่พอ เราจะได้พิสูจน์ตัวเอง ถ้ายังไม่พอก็เพิ่มอีก ๆ ไปเรื่อย จนกว่ามันพอ มันเต็มที่ของมัน มันจะสลัดของมันเอง เอ้า! โยมลองกำลังดูซิ การปฏิบัติไม่ยากเลย ถ้าว่าไม่ยาก มันก็ไม่ยากเท่าไร แต่ถ้าว่ายากมันก็ยากหน่อย เพราะเรายังไม่เข้าใจยากหน่อย แต่ถ้าเราเข้าใจนี่ง่าย สลัดนิดเดียวเหมือนหลังมือฝ่ามือ เพราะจิตผู้รู้ก็อยู่ในธาตุขันธฺอันนี้ อาศัยอยู่ด้วยกันนี่แหละ เหมือนเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ โยมลองกำหนดดู พุทโธเป็นผู้รู้ตื่นจริงหรือเปล่า รู้หรือเปล่า ตื่นหรือเปล่า เบิกบานหรือเปล่า เราสวดทุกวัน เราแปลทุกวัน เวลาสวดแล้วก็น้อมมาที่จิตของเรา ให้รู้ว่า พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่เรามาปฏิบัติก็เพื่อให้เราเข้าถึงพุทโธ ผู้รู้ที่จิตของตน รู้แล้วก็ตื่น เบิกบานสบายไม่เป็นทุกข์ นี่แหละเราจะต้องฝึกให้ได้ นี่แหละเป็นกำไรชีวิตของเราจริง ๆ เป็นบุญกุศล ถ้าว่าบุญกุศลเป็นบุญกุศลมหาศาล ไม่มีบุญกุศลใดที่จะมหาศาลเหมือนอย่างกับเราปฏิบัตินั่งสมาธิ ภาวนา ฝึกปัญญาให้รู้รอบรู้ รู้ตามความเป็นจริงให้ได้ เพราะว่าพวกเราที่อยู่ทุกวันนี้ก็อยู่ด้วยทุกข์นั่นแหละ อยู่ด้วยทุกข์ ไปก็ไปกับทุกข์นั่นแหละ เหมือนกับเราอยู่กับธาตุขันธ์กับทุกข์ เมื่อพูดถึงทุกข์แล้ว โอ! หาประมาณไม่ได้ นั่งนานก็ทุกข์ ยืนนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ หรือไม่นอนก็ทุกข์ มันทุกข์ทั้งนั้น กินก็ทุกข์ ไม่กินก็ทุกข์ รับประทานก็ทุกข์ ไม่รับประทานก็ทุกข์ ฉันก็ทุกข์ ไม่ฉันก็ทุกข์ พูดก็ทุกข์ ไม่พูดก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ ทำอะไรก็ทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น เมื่อเรากำหนดรู้เท่าทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจจธรรม ท่านบอกแล้วว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ ควรพิจารณาให้รู้มิใช่เพียงกำหนดรู้แต่ทุกข์อย่างเดียว ให้เตลิดไปกับว่าทุกข์นี่คืออะไรทุกข์นี่เป็นผล เรานี่รับแต่ผล แต่บางท่านไม่รู้จักเหตุ ฉะนั้นท่านจึงให้สาวให้ถึงเหตุ เราได้รับผลอย่างนี้คือ ทุกข์อย่างนี้ คือเจ็บอย่างนี้ ปวดอย่างนี้ ร้อนอย่างนี้ ไม่สบายอย่างนี้ มันมาจากเหตุอะไร นี่ท่านให้พิจารณาลงไปให้เข้าถึงเหตุ ไปดูไปสาวไปดูเหตุ เพราะอะไร ธรรมทั้งหลายมาจากเหตุ เหตุคืออะไร เหตุก็คือตัวสมุทัย เรียกว่า อริยสัจจ์นั้นแหละ สมุทัยคืออะไร ก็คือกิเลสนั่นเอง พูดง่าย ๆ คือกิเลส ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา หรือ โลภ โกรธ หลง นั่นแหละ คือตัณหานั่นเอง ความอยาก ความอยากนั้นอยู่ที่ไหน กิเลสนั่นอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิต ความอยากก็อยู่ที่จิต ความโกรธก็อยู่ที่จิต ความหลงก็อยู่ที่จิต ความรักใคร่ชอบใจก็อยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มาดูที่จิต ให้รู้ว่าความอยากมันเกิดที่จิต ความรักความใคร่ ความยินดีความยึดติดอยู่ที่จิต แล้วก็ความโกรธความหลงอยู่ที่จิต เพราะอะไรจึงรัก เพราะอะไรจึงโกรธจึงชังได้ เพราะความไม่รู้ ความหลง เพราะจิตนี้ไม่รู้จริง ไม่รู้ตามจริง ไม่เห็นตามจริง เขาเรียกว่าอวิชชา หรือความหลงมันครอบงำ มันปกปิด จึงทำให้ดวงจิตดวงใจนี้ไปรักบ้าง ไปชังบ้าง ไปโกรธบ้าง ไปยินดีบ้าง ไปชอบบ้าง ไปยินดียินร้าย ยึดติดในอารมณ์ทั้งหลายในโลก นี่จึงทำให้เกิดทุกข์อยู่ทุกระยะ เพราะจิตหลงนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ผู้รู้ทั้งหลายท่านจึงให้เรามาฝึกหัดปฏิบัติอบรมจติของตน เพื่อต้องการชำระล้างตัวกิเลส หรือตัวที่เป็นสมุทัย ตัวเหตุนี้ออกจากจิตของตน เมื่อเราทำความรู้จักมัน รู้จักกิเลสคือความหลงยึดติดอยู่ในรูปขันธ์อันนี้ ทำความรู้เท่าทันโดยอาศัยสติ อาศัยสมาธิ อาศัยปัญญา อาศัยทาน อาศัยศีล หรืออาศัยกำลังห้า คือ อาศัยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาอย่างนี้ ก็รวมแล้วอยู่ที่หลักศาสนานั้นแหละ เหมือนญาติโยม เรียกว่า ทาน ศีล ภาวนา ก็อยู่ที่เราฝึกให้เกิดสติปัญญาขึ้นที่จิต เมื่อเราฝึกให้เกิดสติปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงตามความจริงในจิตของตน จิตของเราก็ปลดปล่อยละวาง ความโง่ ความหลง ความไม่รู้จริงนั้น มันก็ค่อยจางไป ๆ ดับไป ๆ ในที่สุดหมดไป เมื่อหมดความไม่รู้จริงมันค่อยหมดไป ความรู้แจ้งประจักษ์มันปรากฏขึ้นมาแทนที่ที่จิต นี่เรียกว่าตัวสติ ตัวปัญญาเกิดขึ้นก็เป็นการปราบตัวความหลง ความไม่รู้จริงหรือวิชชา มันปราบไปมันดับไป ๆ ตัวรู้แจ้งปรากฏขึ้น ตัวนั้นมันดับไป เมื่อตัวหลงดับไป ตัวโกรธดับไป ตัวโลภก็ดับไปอย่างนี้ ฉะนั้นกิเลสทั้งหลายแหล่มันอยู่ที่จิต มันหลงที่จิต เราหลงอยู่ไปยึดนี่จึงทำให้เกิดทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ฉะนั้นญาติโยมต้องดูจิต ตัวเราไม่รู้จักจุดที่ว่าจิตของเราตอนนั้น เราควรแก้ตรงไหน ถ้าเราแก้ไม่ถูกจุด เราก็แก้ไม่ได้ ท่านจึงให้กำหนดรู้ ให้พิจารณาใช้การฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกปัญญา พิจารณารู้เท่าเหตุของมัน ตัวปฏิบัติ ตัวฝึกสติ ตัวฝึกปัญญา พิจารณาคลี่คลายเยอะแยะนี่ เรียกว่าตัวมรรค เราเจริญมรรค เราปฏิบัติอยู่ เมื่อมีความรู้แจ้งเห็นจริงตามแล้ว รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งต้นเหตุหรือตัวกิเลสนั่นเอง แจ้งกระจ่างจิต เราก็ปล่อยละวางไป ทุกข์มันก็หมดไปเอง นี่อยู่ในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ถ้าพูดตามหลักก็มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าเราพูดในแง่ปฏิบัติก็ต้องว่ามรรค แล้วก็นิโรธ แล้วก็มรรค ตัวสติปัญญารู้แจ้ง เรามาฝึกให้เจริญมรรค เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงในจิต รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งตัวสมุทัย ตัวเหตุหรือกิเลสแล้วก็ปล่อยละวางไป เรียกว่าตัวนิโรธหรือปล่อยละวาง ไม่ยึดไม่ติดไม่ผูกพัน ตัวทุกข์มันก็ดับไปเองอย่างนี้ ทีนี้ลองโยมกำหนดดู อันนี้เป็นกิริยา ที่อาตมาอธิบายพูดนี่เป็นกิริยา ชี้แนะให้ญาติโยมแล้วโยมก็เอาไปฝึกไปหัดไปปฏิบัติ ไปกำหนดู ไปพิจารณาดู ไปแก้ไขที่จิตของเราเอง เมื่อเราแก้ได้แล้วก็เป็นสมบัติของเราเอง ก็รู้ในจิตของตนเอง ฉะนั้นในวันนี้ก็จะไม่พูดอะไรมากเท่าใดหรอก เพียงแต่เพิ่มไปนิดหน่อยฉะนั้นก่อนที่อาตมาจะหยุดการอธิบาย ก็ขอให้ญาติโยมกำหนดจิตไปสักพักหนึ่ง ให้สำรวมจิตดูจริง ๆ เวลาฝึกดู ให้โยมหลับตา ไม่ต้องดูมาที่อาตมา ไม่ต้องดูไปที่อื่น เรากำหนดรู้อยู่ไปข้างใน หลับตาแล้วมองไปดูซิว่า ลมหายใจเข้าหายใจออกนั้น มันเข้าตรงไหนออกตรงไหนแล้วตั้งสติจดจ่อตรงไหนที่ว่ารู้ แล้วก็เห็นชัดในจิตของตนได้จริง ๆ ปล่อยวางอารมณ์อื่นให้หมด กำหนดรู้อยู่กับพุทโธ ผู้รู้อยู่ภายในอยู่จุดเดียวเท่านั้น ตั้งสติจดจ่อ เพ่งไปที่จุดผู้รู้อยู่ผู้เดียว อยู่กับพุทโธผู้รู้ผู้เดียว ปล่อยวางอารมณ์อื่นให้หมด อันนั้นแหละเราจะเข้าถึงจิตเราได้ จิตนั้นก็ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่คิดไม่พัวพันกับอะไร จิตว่างเปล่า ไม่เอาอะไร ไม่ยินดียินร้ายกับอะไร จิตดวงนั้นจะไม่เป็นทุกข์ จิตดวงนี้จะเป็นจิตที่ไม่เป็นทุกข์ไม่เดือดร้อน ให้โยมรู้และสังเกตที่จิตของเราว่าจิตของเราที่ปล่อยวางอารมณ์ได้นั้น เป็นดวงจิตที่สะอาดผ่องใสขนาดไหน ว่างเปล่าไม่มีอะไรไม่มีตัวไม่มีตนไม่มีเราไม่มีเขา ไม่มีผู้หญิงผู้ชายไม่มีอะไรทั้งสิ้น รู้อยู่อย่างนั้น ปล่อยวางอารมณ์อื่นให้หมด ไม่สำคัญอย่างนั้น สำคัญอย่างนี้ ปล่อยละวางความสำคัญมั่นหมายในจิตให้หมด ให้รู้อยู่จุดเดียว เอ้า! กำหนดดูซิ ญาติโยมกำหนดดูทุกคนปล่อยวางดูสิ ปล่อยวางได้นานขนาดไหนวางได้นิดหน่อยก็ยังดี ยังดีกว่าไม่เคยปล่อยวางเลย กำหนดดูสิความว่างเปล่า คำที่ว่าความว่าง ความว่าง ถ้าเราไม่ปล่อย ไม่ละไม่วาง ฉะนั้นท่านต้องฝึกปล่อยวางอารมณ์ภายนอกให้หมด แล้วกำหนดรู้กับอารมณ์ภายในอย่างเดียว อยู่กับผู้รู้ รู้วาง รู้ละ ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น นี่แหละเป็นการฝึกจิตอยู่บนไม่มีอะไรทั้งสิ้น กำหนดรู้อยู่กับพุทโธ ผู้รู้สักพักหนึ่ง วางมือวางเท้าปกติ ไม่ต้องกระดุกกระดิกวางไว้เฉย ๆ คือเราฝึกปล่อยวางทั้งกาย ทั้งวาจาและจิตใจ ปล่อยวางกาย ปล่อยวางวาจาและจิตใจ ที่ปล่อยวางจิต คือปล่อยวางความคิดนั่นเองไม่ให้จิตคิดอะไร ให้กำหนดรู้อย่างเดียว ไม่ต้องคิดอะไร ให้วางไว้สักพักหนึ่ง แล้วโยมจะดูดดื่มรสของพระธรรมในจิตของตนได้อย่างแนบสนิท เอ้า ! ลองกำหนดดูประมาณสัก ๓ นาที ต่อไปก็ญาติโยมคนไหน อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถก็เปลี่ยนได้ แต่ถ้าญาติโยมคนไนยังนั่งติดอยู่หรือนั่งกำลังเป็นอยู่กำลังสบายอยู่ หรือกำลังพิจารณาได้ดีอยู่ก็นั่งต่อไปก็ได้ อันนี้ไม่มีใครบังคับ นั่งต่อไปก็ได้ แต่สำหรับวันนี้อาตมาก็ขอเพียงแค่นี้ ถ้าญาติโยมมีอะไรสงสัยจะถามปัญหาอีกก็ได้ ---------------------------- คัดลอกจาก:ธรรมกถา หน้า ๒๖๑ - ๒๗๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น