หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อ่างสลุง-ดอยขะม้อ




  ตำนานของดอยหลวงหรือดอยอ่างสลุง (อ่านว่าสรง) กล่าวไว้ว่าในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับที่ดอยหลวงและทรงสรงน้ำในอ่างเชิงเขานี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดอยอ่างสลุง” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ดอยหลวงเชียงดาว”
ดอยหลวงเชียงดาว อ่างสลุง ถ้ำเชียงดาว ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อความเชื่อของคนในท้องถิ่น ซึ่งแสดงออกได้จากการกระทำพิธีทำบุญของคนพื้นเมืองไม่ว่าจะเป็นที่วัดถ้ำเชียงดาว วัดถ้ำปากเปียงและวัดถ้ำผาปล่อง คนท้องถิ่นมักมองดอยหลวงเชียงดาวเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณค่าทางใจ เช่นบริเวณอ่างสลุง มีน้ำฝนตกลงมาไหลรวมกัน ทุก ๆ ปีทางสำนักพระราชวัง พระราชพิธีหรือพิธีกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ก็จะเอาน้ำจากที่แห่งนี้ไปประกอบพิธีกรรม คนท้องถิ่นเชียงดาวเชื่อว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่สิงสถิตย์ของเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าแห่งภูตผีทั้งหลายที่คนล้านนานับถือ
====

ดอยขะม้อ จ.ลำพูน





บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
   เป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ อยู่ในโพรงหิน กว้างประมาณ 3 ม. ลึกมาก มีเชือกโยงและบันไดเหล็กทอดลงไปเพื่อตักน้ำภายในบริเวณรั้วล้อมห้ามผู้หญิงเข้า เชื่อกันว่าจะทำให้น้ำแห้งเหือดไป นักท่องเที่ยวเข้ามาชมได้แต่แค่บริเวณปากบ่อน้ำทิพย์เท่านั้นไม่สามารถลงไปตักน้ำได้ แต่ทางสำนักปฏิบัติธรรมดอยขะม้อมีโครงการนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากยอดดอยมาเก็บไว้ในภาชนะที่ปากทางขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้บูชาเพื่อนเป็นสิริมงคล การขึ้นยอดดอยขะม้อค่อนข้างลำบาก ต้องเดินขึ้นบันไดอย่างช้า ๆ ถึง 1,749 ขั้น ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1-2 ชม. ตลอดทางมีศาลานั่งพักเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ ประมาณ 500 ขั้น นอกจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว บนยอดดอยขะม้อยังมีเจดีย์ขนาดเล็กหนึ่งองค์ และวิหาร มีพระพุทธรูปปูนปั้นหนึ่งองค์ สร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 อยู่ในสภาพทรุดโทรม บนยอดดอยมีจุดชมวิวของเทือกเขาผีปันน้ำ และอ่างเก็บน้ำแม่ธิที่สวยงาม
   ดอยนี้แต่เดิมเรียกขานกันว่าดอยคว่ำหม้อ เพราะลักษณะรูปทรงสัณฐานดูแล้วเหมือนหม้อที่คว่ำอยู่ และภายหลังเพี้ยนมาเป็นดอยขะม้อ ทุกวันนี้เรียกกันว่า “ดอยขะม้อบ่อน้ำทิพย์” ที่เรียกดอยนี้ว่าดอยขะม้อบ่อน้ำทิพย์ก็เพราะว่าบนยอดดอยที่สูงและชันมากนั้นกลับมีบ่อน้ำอยู่ มีลักษณะเป็นโพรงหินลึกลงไปบนยอดเขา เห็นเป็นอัศจรรย์ ถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ หรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธ์ ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลกได้กล่าวถึงดอยขะม้อไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธองค์ ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้เสด็จจาริกโปรดเวไนยสัตว์ในที่ต่างๆ และได้มาแวะฉันอาหารบนยอดดอยขะม้อนี้ ก่อนที่จะฉันอาหารพระพุทธองค์ได้เสด็จออกบิณฑบาต และได้เสด็จขึ้นไปจัดแจงแต่งดาบาตรบนยอดดอยแห่งหนึ่งอยู่ทิศเหนือของดอยขะม้อ จัดแจงแต่งดาบาตรนี้ คำเมืองเรียก “ห้างบาตร” ดอยลูกนั้นจึงเรียกขานกันมาแต่โบราณว่า “ดอยห้างบาตร” ดอยห้างบาตรอยู่ในตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ บนยอดดอยห้างบาตรนี้มีพระธาตุเก่าแก่ และรอยบาตรประทับบนแผ่นหิน
    เมื่อพระพุทธองค์ห้างบาตรเสร็จก็เสด็จออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านต่างๆ แล้ว ไปแวะพักฉันอาหารบนยอดดอยขะม้อ เมื่อฉันอาหารเสร็จไม่มีน้ำจะเสวย จึงโปรดให้พระอานนท์ไปตักน้ำยังลำห้วยแห่งหนึ่งทางทิศเหนือของดอยขะม้อ พระอานนท์ไปถึงลำห้วยนั้น ลำห้วยก็ตีบตันไปหมด ไม่สามารถตักน้ำได้จึงกลับมากราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ต่อไปภายภาคหน้าคนทั้งหลายจะเรียกห้วยแห่งนี้ว่า แม่ตีบ” ปัจจุบันเรียกกันมาว่า ห้วยแม่ตีบ ปัจจุบันได้สร้างอ่างเก็บน้ำตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระอานนท์ไปยังลำธารแห่งหนึ่งอยู่ทิศใต้ของดอยนี้ไม่ไกลนัก เมื่อพระอานนท์ไปถึงน้ำในลำธารที่ใสสะอาดบังเอิญมีเกวียนผ่านไปเล่มหนึ่ง ทำให้น้ำในลำธารขุ่นข้นไปหมด พระอานนท์นั่งรอท่าอยู่เป็นเวลานานน้ำก็ไม่ใสสักที จึงกลับไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ต่อไปภายภาคหน้าคนทั้งหลายจะเรียกลำธารแห่งนี้ว่า แม่ท่า” ภายหลังเพี้ยนไปเป็น “แม่ทา” พระอานนท์จึงไปยังหนองน้ำอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยนี้ เมื่อพระอานนท์ไปถึง พญานาคที่รักษาหนองน้ำนั้นก็บันดาลให้น้ำในหนองแห้งไปหมด พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ต่อไปนี้ภายภาคหน้าคนทั้งหลายจะเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า หนองแล้ง” ปัจจุบันก็คือหนองแล้ง อยู่ในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เมื่อเป็นดังนี้ พระพุทธองค์จึงอธิฐานแล้วใช้หัวพระหัตถ์ (หัวแม่มือ) กดลงบนแผ่นหินบนดอยขะม้อที่ประทับนั้น ฉับพลันก็กลายเป็นบ่อน้ำ มีน้ำพุ่งขึ้นให้เสวยได้สมพระทัย พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์เมื่อตถาคตดับขันธ์ปรินิพานไปแล้ว ธาตุของตถาคตจะไปตั้งอยู่ใจกลางเมืองหริภุญไชย ในเดือนแปดเป็ง คนทั้งหลายจะพากันมาเอาน้ำในบ่อนี้ไปสรงธาตุของตถาคต” ดังนั้นตามตำนานจึงเกิดประเพณีตักน้ำทิพย์จากดอยขะม้อเพื่อนำไปสรงพระธาตุเจ้าหริภุญไชย สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน 
     การกล่าวถึงดอยขะม้อตามหลักฐานที่สามารถเชื่อถือได้ และสืบค้นได้ในปัจจุบันนั้นคือบันทึกของ หลวงพ่อลี ธมฺมธโร (พ่อท่านลี วัดอโศการาม) ซึ่งได้ติดตามหลวงปู่มั่นมาพำนักอยู่วัดเจดีย์หลวง ราวปี พ.ศ. 2472-2474 ร่วมสมัยกับครูบาศรีวิชัย ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่วัดสวนดอก ได้กล่าวถึงดอยขะม้อในชื่อว่า ดอยค่อม่อ หรือดอยหัวแม่มือ ไว้ดังนี้ “อยู่ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้วได้ ๒ วัน ท่าน (หลวงปู่มั่น) ได้สั่งให้เราไปวิเวกบนหลังดอยจังหวัดลำพูน ซึ่งเคยเป็นที่พักของท่านมาแต่ก่อน ได้พักอยู่ที่ตีนเขาประมาณ ๑๐ กว่าวัน ต่อมาเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงได้ปรากฏเหตุการณ์คล้ายๆ กับว่ามีคนมาบอก ได้ยินทางหูขณะกำลังนั่งสมาธิว่า ท่านต้องขึ้นไปอยู่บนยอดเขาในวันพรุ่งนี้ พอรุ่งขึ้น ก่อนเดินทางถึงยอดเขาได้ไปพักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งเป็นวัดร้างเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วันใดที่ตรงกับวันพระมักจะปรากฏมีแสงสว่างเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ป่านั้นเป็นป่าลึก มีเสือและช้างชุม เดินทางไปคนเดียว กลัวก็กลัว กล้าก็กล้า แต่เชื่อมั่นในอำนาจธรรมและพระอาจารย์ ได้ค้างนอนอยู่ ๒ คืน ๆ แรกสงบสบายดี คืนที่สองเวลาประมาณ ๑ หรือ ๒ น. ได้มีสัตว์ป่าคือเสือมารบกวน คืนนั้นเป็นอันไม่ได้นอน นั่งสมาธิตัวแข็ง เสือก็เดินวนเวียนอยู่รอบๆ กลด รู้สึกว่าตัวแข็งและมึนชา สวดมนต์ก็คล่องแคล่วเหมือนน้ำไหล ที่ลืมแล้วก็นึกได้ ด้วยอำนาจแห่งการสำรวมจิตและคิดกลัว นั่งอยู่อย่างนี้ตั้งแต่เวลา ๒ น. ถึง ๕ น. เสือตัวนั้นจึงได้หนีไปรุ่งขึ้นได้เดินไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีบ้านเพียง ๒ หลังคา เจ้าของบ้านออกไปทำสวนชั่วคราว เมื่อพบกับเขา ๆ เล่าว่าเมื่อคืนนี้มีเสือมากินวัว เราก็นึกกลัวมากขึ้น ในที่สุดเมื่อฉันอาหารแล้วได้เดินทางขึ้นไปบนยอดดอย เมื่อขึ้นไปยอดดอยแล้วมองลงไปเบื้องล่างจะแลเห็นพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ดอยลูกนี้เขาเรียกกันว่า ดอยค่อม่อ (ดอยหัวแม่มือ) บนหลังดอยมีบ่อน้ำลึกแห่งหนึ่ง หยั่งไม่ถึง มีน้ำในสะอาด มีเศียรพระพุทธรูปตั้งอยู่รอบบ่อเดินลงจากพื้นราบ เหยียบหินลึกลงไปประมาณ ๒ เมตรก็ถึงน้ำ
      เขาเล่ากันว่าเวลามีคนตกลงไปในบ่อไม่จมน้ำ จะดำน้ำก็ดำไม่ได้ ถ้าเป็นผู้หญิงลงไม่ได้เด็ดขาด ขืนลงไปจะต้องมีอาการชัก ดอยนี้ชาวบ้านถือกันว่าเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์” (ดังนั้นคำว่าขะม้อน่าจะมาจากคำว่า ค่อม่อ ซึ่งอาจเป็นคำในภาษาโบราณ มากกว่าที่จะแผลงมาจากคำว่า คว่ำหม้อ –ผู้เขียน-) น้ำทิพย์จากดอยขะม้อมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวจังหวัดลำพูน เนื่องจากถูกกำหนดให้เป็นน้ำสำหรับสรงพระบรมธาตุหริภุญชัย ซึ่งชาวลำพูนให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง เป็นมิ่งขวัญ และเป็นจอมเจดีย์ที่สำคัญที่สุดของอาณาจักรล้านนาโบราณ ตามตำนานความเชื่อที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับพิธีการตักน้ำทิพย์บนยอดดอยวันเวลาในการตักน้ำทิพย์ ตามธรรมเนียมพื้นเมือง จะตักในวันขึ้น 12 ค่ำ ก่อนวันสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย 3 วัน จะนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป ขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์ ณ บริเวณยอดดอยขะม้อ เวลาค่ำมีการทำพิธีบวชพราหมณ์ จำนวน 4 ตน ซึ่งจะต้องนอนค้างคืน 1 คืน และประมาณ เวลา 05.00 น. ของเช้าวันขึ้น 12 ค่ำพราหมณ์ ทั้ง 4 ตน จะได้ลงตักน้ำทิพย์ใส่หม้อน้ำทิพย์ขึ้นเสลี่ยงแบกหามลงมาทำพิธีสมโภช หลังจากนั้นจะจัดขบวนอัญเชิญน้ำทิพย์ดอยขะม้อเข้าเมืองหริภุญชัย เพื่อตั้งสมโภชที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นเวลา 3 วัน
   ก่อนนำขึ้นสรงพระบรมธาตุเจ้า ร่วมกับน้ำสรงพระราชทาน น้ำทิพย์ดอยขะม้อ เป็นน้ำศักดิ์สิทธ์ ทางราชการจังหวัดลำพูนได้นำเอาน้ำจากบ่อน้ำทิพย์นี้เข้าร่วม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เมื่อปีพุทธศักราช 2454 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นจะมีการพลีกรรมตักน้ำจากแม่น้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ ที่ถือว่าสำคัญ และเป็นสิริมงคลในมหานครโบราณทั่วทั้งพระราชอาณาจักร มาตั้งทำน้ำพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ณ มหาเจดียสถานที่เป็นหลักของหานครโบราณนั้นๆ แล้วนำขึ้นถวายเป็นน้ำสรงมูรธาภิเษกแด่องค์พระมหากษัตริย์
    ซึ่งมีแม่น้ำ และแหล่งน้ำทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ 
 1. แม่น้ำป่าสัก ตำบลท่าราบ เมืองสระบุรี
 2. ทะเลแก้ว และสระแก้ว เมืองพิษณุโลก
 3. น้ำกระพังทอง น้ำพระพังเงิน น้ำกระพังโพยสี น้ำโซกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว และน้ำบ่อทอง เมืองสวรรคโลก
 4. แม่น้ำนครชัยศรี เมืองนครปฐม
 5. บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสาชัย บ่อวัดเสมาเมือง ห้วยเขามหาชัย ห้วยปากนาคราช เมือง นครศรีธรรมราช
 6. บ่อน้ำทิพย์ดอยขะม้อ เมืองลำพูน
 7. บ่อวัดพระธาตุพนม เมืองนครพนม

ข้อมูลเพิ่มเติม..

ข้อมูลของดอยขะม้อ
ดอยขะม้อมีบ่อน้ำทิพย์ตั้งอยู่บนยอดดอยที่สูงและชันมาก ต้องเดินขึ้นบันไดได้ทางเดียว มีบันไดทั้งหมด ๑,๗๔๙ ขั้น บ่อน้ำทิพย์มีลักษณะเป็นโพรงหินลึกลงไปบนยอดเขา เห็นเป็นอัศจรรย์ ถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ หรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธ์ ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลกและตำนานท้องถิ่น ได้กล่าวถึงดอยขะม้อไว้ว่าเมื่อครั้งพระพุทธองค์ ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้เสด็จจาริกโปรดเวไนยสัตว์ในที่ต่างๆ และได้มาแวะฉันอาหารบนยอดดอยขะม้อนี้ ก่อนที่จะฉันอาหารพระพุทธองค์ได้เสด็จออกบิณฑบาต และได้เสด็จขึ้นไปจัดแจงแต่งดาบาตรบนยอดดอยแห่งหนึ่งอยู่ทิศเหนือของดอยขะม้อ  จัดแจงแต่งดาบาตรนี้ ภาษาเหนือ เรียก “ห้างบาตร” ดอยลูกนั้นจึงเรียกขานกันมาแต่โบราณว่า “ดอยห้างบาตร” เมื่อพระพุทธองค์ห้างบาตรเสร็จก็เสด็จออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านต่างๆ แล้ว ไปแวะพักฉันอาหารบนยอดดอยขะม้อ เมื่อฉันอาหารเสร็จไม่มีน้ำจะเสวย จึงโปรดให้พระอานนท์ไปตักน้ำยังลำห้วยแห่งหนึ่งทางทิศเหนือของดอยขะม้อ พระอานนท์ไปถึงลำห้วยนั้น ลำห้วยก็ตีบตันไปหมด ไม่สามารถตักน้ำได้จึงกลับมากราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ต่อไปภายภาคหน้าคนทั้งหลายจะเรียกห้วยแห่งนี้ว่า แม่ตีบ” พระอานนท์จึงไปยังลำธารแห่งหนึ่งอยู่ทิศใต้ของดอยนี้ไม่ไกลนัก เมื่อพระอานนท์ไปถึงน้ำในลำธารที่ใสสะอาดบังเอิญมีเกวียนผ่านไปเล่มหนึ่ง ทำให้น้ำในลำธารขุ่นข้นไปหมด พระอานนท์นั่งรอท่าอยู่เป็นเวลานานน้ำก็ไม่ใสสักที จึงกลับไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ต่อไปภายภาคหน้าคนทั้งหลายจะเรียกลำธารแห่งนี้ว่า แม่ท่า” ภายหลังเพี้ยนไปเป็น “แม่ทา” พระอานนท์จึงไปยังหนองน้ำอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยนี้ เมื่อพระอานนท์ไปถึง พญานาคที่รักษาหนองน้ำนั้นก็บันดาลให้น้ำในหนองแห้งไปหมด  พระอานนท์จึงไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ต่อไปนี้ภายภาคหน้าคนทั้งหลายจะเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า หนองแล้ง” เพราะน้ำได้แห้งไปและได้ตรัสกับพระอานนท์ว่าทุกๆแห่งที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะบุพกรรมเมื่อปางก่อนที่พระองค์เคยเกิดมาเป็นพ่อค้าเกวียน ได้แกล้งโคไม่ให้กินน้ำกินหญ้าอันวิบากกรรมนั้นจึงทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้
เมื่อพระองค์ชดใช้และอโหสิกรรมแล้วจึงอธิฐานเอานิ้วพระหัตถ์กดลงไปในดิน เป็นเหตุให้พญานาค ผู้คอยดูแลรักษาบนยอดดอยนี้ ดันน้ำขึ้นมาได้ใช้เสวย  ขณะนั้นมีพญายักษ์ตนหนึ่งคอยแอบติดตามหวังจะจับพระองค์กินเป็นอาหารเมื่อเห็นพุทธานุภาพจึงกลัว คลานเข้ามาน้อมเกล้าขอรับศีล ๕ เขี้ยวอันใหญ่จึงหลุดกระเด็นออกจากปากแตกกระจัดกระจายไป พระพุทธองค์ให้ศีล ๕ แล้วลูบพระเศียรประทานพระเกศา ๑เส้น ให้บรรจุไว้ในถ้ำบนดอยขะม้อ ให้ร่มขาว ๑ คัน ประทับรอยพระพุทธบาทบนยอดดอย ๑ รอย ที่เชิงดอยอีก ๑ รอย  รับสั่งให้พญานาคและพญายักษ์ร่มขาวดูแลรักษารอยพระพุทธบาท   พระเกศาธาตุ ซึ่งจะทำให้บ่อน้ำนี้ศักดิ์สิทธิ์ตลอดกาล พร้อมทั้งพยากรณ์ไว้ว่า น้ำบ่อนี้จะใช้สรงพระธาตุกลางเมืองหริภุญชัยและพญายักษ์ร่มขาวจะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในภายภาคหน้าแล้วจึงเสด็จต่อไป  ดังนั้นตามตำนานจึงเกิดประเพณีตักน้ำทิพย์จากดอยขะม้อเพื่อนำไปสรงพระธาตุเจ้าหริภุญไชย สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น