หน้าเว็บ

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บทความพระวินัยบัญญัติของภิกษุ

พระวินัย หมายถึง กฎระเบียบข้อบังคับ หรือขนมธรรมเนียมประเพณีที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไป
ในทางเดียวกันของหมู่ภิกษุสงฆ์ เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เพื่อมีอาจาระอันงามเป็น
ระเบียบเรียบร้อย อันจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติชอบ เป็นการเอื้อเฟื้อต่อการประพฤติธรรมทางจิตต่อไป
หากจะเปรียบเทียบให้เด่นชัดขึ้นมา พระวินัยนี้ก็เปรียบกับกฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์กติกาของ
สังคมหนึ่ง ๆ ที่อยู่ร่วมกันโดยมีกติกาตกลงกันไว้ ถ้าใครฝ่าฝืน ต้องถูกลงโทษตามกติกาที่ตั้งไว้นั้น
หรือจะเปรียบเทียบกับกฏหมายบ้านเมืองของประเทศหนึ่ง ๆ ที่มีกฎหมายตราไว้สำหรับพลเมือง
ของประเทศนั้น ๆ ได้ปฏิบัติร่วมกัน ถ้าใครฝ่าฝืนก็มีความผิด
พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติพระวินัย(สิกขาบท) ไว้ เป็นกฎข้อบังคับสำหรับพระสาวกได้ปฏิบัติ
ซึ่งพระวินัยที่ทรงบัญญัตินั้นมีลักษณะใหญ่ ๆ  ๒  ประการ คือ
๑.   พุทธบัญญัติ คือ ข้อที่พระองค์บัญญัติไว้ห้ามมิให้ประพฤติ ถ้าภิกษุรูปใดฝ่าฝืนพุทธบัญญัตินี้
จะมีโทษปรับอาบัติตั้งแต่เบา ๆ จนถึงมีโทษหนักที่สุด คือ ขาดจากความเป็นภิกษุเลยทีเดียว
๒.   อภิสมาจาร คือ ข้อปฏิบัติหรือขนมธรรมเนียมที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติตามเพื่อให้มีอาจาระ
เป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เป็นระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติตน เกี่ยวกับความประพฤติเล็ก ๆ
น้อย ๆ เช่น การตัดผม การตัดเล็บ การอาบน้ำ การนุ่งห่ม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน
การฉันขบเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งพระวินัยในส่วนนี้ไม่มีการปรับอาบัติไว้โดยตรง แต่ถ้าใครไม่เอื้อเฟื้อ
ตามวิธีปฏิบัตินี้ก็ปรับโทษเพียงอาบัติเบา ๆ คือ ทุกกฏเท่านั้น
ลักษณะการบัญญัติพระวินัย หรือสิกขาบท
จากการที่มีพระภิกษุสงฆ์สาวกจำนวนมากที่มีศรัทธามาอุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนา
ซึ่งภิกษุสงฆ์เหล่านี้ต่างก็มาจากตระกูลที่ต่างกัน มีความประพฤติที่ต่างกัน และมีความเชื่อที่ต่างกัน
เมื่อมาอยู่รวมกันยากนักที่จะให้มีความเป็นระเบียบได้ การบัญญัติพระวินัยก็เพื่อวางกรอบระเบียบ
ให้พระสงฆ์สาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เพื่อป้องกันความยุ่งยากวุ่นวายอันอาจจะเกิดขึ้น
ซึ่งการบัญญัติพระวินัยนี้มีด้วยกัน ๒  ประเภทคือ
๑.  มูลบัญญัติ
๒.  อนุบัญญัติ
มูลบัญญัติ : ข้อที่ทรงบัญญัติไว้เดิม (เหตุเกิดครั้งแรก)
มูลบัญญัติ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มาติกาคือสิกขาบทที่ตั้งไว้เป็นบทแม่ การบัญญัติพระวินัยนี้
พระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ความเสียหายน่าติเตียนของภิกษุบางรูปเกิดขึ้น พระพุทธองค์จึงประชุมพระสงฆ์สาวกทั้งหมด ไต่สวนมูลความผิดที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นจริงตามนั้นหรือไม่ และชี้แจงให้เห็นโทษความเสียหายที่เกิดจากความประพฤติของภิกษุบางรูปนั้นแล้ว ทรงถือเอาข้อความผิดนั้นเป็นต้นเหตุซึ่งเรียกว่า อาทิกัมมิกะ ทรงบัญญัติห้ามภิกษุรูปอื่นประพฤติเช่นนั้นอีก ถ้าใครฝ่าฝืนประพฤติเช่นนั้นอีกจะต้องอาบัติ คือ ต้องโทษ และแม้สิกขาบทอื่น ๆ ก็ตาม พระพุทธองค์ก็ทรงอาศัยเหตุเช่นนั้นเป็นมูลบัญญัติในการบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกเช่นกัน
อนุบัญญัติ :  ข้อที่ทรงบัญญัติซ้ำเพิ่มเติมในภายหลัง
จากการที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยเป็นมูลบัญญัตินั้น อาจจะไม่ครอบคลุมความประพฤติในด้านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีภิกษุที่หลีกเลี่ยงการต้องพระวินัยเช่นนั้นหันไปประพฤติอาจาระที่ใกล้เคียงกันให้เกิดความเสียหายขึ้นอีก พระพุทธองค์ก็ทรงประชุมสงฆ์อีกครั้ง และทรงชี้แจงให้เห็นโทษของการประพฤติเช่นนั้นแล้ว จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทนั้นเพิ่มเติมขึ้นอีก หรือบางครั้งพระพุทธบัญญัติเดิมอาจมีความเคร่งตึงเกินไปก็ทรงบัญญัติเพิ่มเติมผ่อนผันลดหย่อนลงมาได้เพื่อให้ง่ายต่อการประพฤติ
ซึ่งการบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมภายหลังนี้เรียกว่า อนุบัญญัติ คือ พระบัญญัติที่ทรงบัญญัติซ้ำสิกขาบทเดิมที่เคยบัญญัติไว้ก่อนแล้ว เพื่อเพิ่มเติมให้มีผลครอบคลุมมากกว่าเดิม
อานิสงส์แห่งการบัญญัติพระวินัย  ๑๐  ประการ
พระพุทธองค์ได้ทรงชี้แจงต่อที่ประชุมพระสงฆ์สาวกว่า การบัญญัติพระวินัยนั้นมีประโยชน์ต่อพระสงฆ์จำนวนมาก ต่อพระศาสนาและต่อพระสาวกที่มีศีลเป็นที่รัก พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นประโยชน์ ๑๐ ประการ ที่เกิดจากการบัญญัติพระวินัยไว้ดังนี้
๑.   เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒.   เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
๓.   เพื่อข่มบุคคลผู้แก้ยาก
๔.   เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
๕.   พื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
๖.   เพื่อกำจัดอาสวะอันจักมีในอนาคต
๗.   เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘.   เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
๙.   เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐.  เพื่อถือเอาตามพระวินัย (ยึดหลักพระวินัยเป็นปทัฏฐาน)
อาบัติ
อาบัติ หมายถึง การต้องโทษทางพระวินัย เพราะทำความผิดต่อพระพุทธบัญญัติ หรืออภิสมาจารที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้ประพฤติ ผู้ฝ่าฝืนต้องมีโทษตามที่กำหนดไว้ในพระวินัยแต่ละสิกขาบท ซึ่งมีการกำหนดโทษไว้ลดหลั่นกันไปจากโทษ หรืออาบัติที่หนักที่สุดคือขาดจากความเป็นภิกษุ โทษอย่างกลางต้องอยู่กรรมประพฤติมานัตจึงจะพ้นได้ และโทษอย่างเบาต้องประจานตนเองต่อหน้าภิกษุอื่นจึงจะพ้นได้

ซึ่งการลงโทษในทางพระวินัยไม่มีความยุ่งยาก ไม่ต้องสอบสวนหาผู้กระทำความผิด ยกเว้นอาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส เช่น การลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นต้น

ที่มา พุทธะ.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น