วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รวมธรรมะจาก facebook

สัมมาอาชีโว... เลี้ยงชีพชอบ!
การทำมาหากินคือ ๑ ใน องค์ ๘ ของอริยมรรค
อันว่า สัมมากัมมันโต คือการกระทำชอบนั้น ในคำจำกัดความ ที่พระพุทธบัญญัติ ตรัสว่า มี การไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์ และไม่ประพฤติผิดในกามเป็นพื้นฐาน

ดังนั้น การเลี้ยงชีพนั้นจึงหมายถึงการกระทำที่เป็นการอุปโภค บริโภคเลี้ยงชีวิต เมื่อพระภิกษุ บวชมาในศาสนานี้แล้ว ก็จะต้องบิณฑบาต เลี้ยงชีพ ไม่ควรไปทำอาชีพอื่นเพื่อหารายได้ ก็น่าจะพอเพียงแก่การเลี้ยงชีพของตนไปได้ทั้งชีวิตแล้ว เมื่อพระภิกษุรูปใด เชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า กระทำตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็ย่อมเห็นกิเลสภายในจิตของตนที่ดิ้นรนอยากออกนอกกรอบไปจากคำสอน เมื่อได้เห็นจิตตนแล้วก็พยายามฝึกหัดดัดนิสัย ฝืนนิสัย ต่อสู้พญามารด้วยความเชื่อมั่นในพระพุทธองค์เจ้า และพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติจนผ่านพ้นไปก่อนแล้ว ก็คงจะได้พบธรรมะอันรุ่งโรจน์ในจิตของตนอย่างแน่นอน.. สักวันหนึ่ง!
:::::::
เราพิจารณาแล้วจึงใช้สอยเสนาสนะ...
เพราะ เสนาสนะเป็นปัจจัยในการดำรงชีพของสมณะ และบุคคลทั่วไป
แต่ผู้ต้องการละกิเลสแล้ว ต้องพิจารณาให้ละเอียดในการใช้สอย...
ด้วยว่า ที่อยู่อาศัยมักเป็นเครื่องมือของกิเลสได้หลายอย่าง เช่น เป็นเครื่องวัดฐานะ, สร้างความสุข,สะดวกสบายต่างๆ โดยละเลยความเป็นคุณค่าที่แท้จริงไป ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงจำกัดความให้ภิกษุพึงพิจารณาว่า
....
 ปะฏิสังขา   โยนิโส   เสนาสนะ   ปะฏิเสวามิ , 
- เราย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ใช้สอยเสนาสนะ

ยาวะเทวะ   สีตัสสะ   ปะฏิคาตายะ , 
- เพียงเพื่อบำบัดความหนาว

อุณหัสสะ   ปฏิคาตายะ , 
- เพื่อบำบัดความร้อน

ฑังสะมะกะสะวาตาตะปะสิริงสะปะสัมผัสสานัง   ปะฏิฆาตายะ , 
- เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจากเหลือบ   ยุง   ลม   แดด   และสัตว์ เลื้อยคลานทั้งหลาย

ยาวะเทวะ   อุตุปะริสสะยะวิโนทะนัง   ปะฏิสัลลานารามัตถัง , 
- เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายอันจะพึงมีจากดินฟ้าอากาศ,   และเพื่อ ความเป็นผู้ยินดีอยู่ได้ในที่หลีกเร้นสำหรับภาวนา
....
เมื่อภิกษุได้พิจารณาอย่างนี้ทุกวันๆ จิตย่อมคลายความมักใหญ่ใฝ่สูงในสถานที่ที่ได้เข้ามาพักอาศัย และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฆารวาสในการจัดหา,จัดทำไป แต่มิใช่ปล่อยให้ทำไปตามใจเขา
แม้ในครั้งพุทธกาล นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ถวายวัดบุพผาราม พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้พระโมคคัลลานะเป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นไปตามประโยชน์ที่สมควรแก่ศาสนา
แต่มิใช่ว่า พระโมคคัลลานะ จะเที่ยวไปหาเจ้าภาพมาช่วยสร้างเสียเมื่อไร?
การสร้าง ควรให้ญาติโยมเขาเห็นธรรมะก่อน แล้วเขาจึงเกิดศรัทธา จากนั้นก็ให้เขาใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งที่ตนจะเสียสละได้ แล้วจึงสละออกเพื่อการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เป็นวิหารทาน บุคคลผู้เสียสละเช่นนี้จึงจะได้รับผลบุญอย่างเต็มที่
ไม่ใช่พระอยากจะสร้าง ก็พากันประกาศบอกบุญ เรี่ยไรกันจนศรัทธาหด หมดปัญญาที่จะหนี ทำก็ทำอย่างเสียมิได้ การเสียสละอย่างนี้ ทั้งพระทั้งโยมก็จะพากันทุนหายกำไรหดในทางบุญ แต่ทางวัตถุก็ได้สวยงาม หน้าก็บาน ยศตำแหน่ง ลาภสักการะก็เยอะขึ้นๆ
แต่ไม่ใช่ว่าจะเหมารวมว่า ใครทำอย่างนี้แล้วจะไม่ได้บุญทั้งหมด ยังมีพระบางท่านที่กำลังสะสมบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ต้องมาเก็บบริวารให้รู้จักเสียสละทานก็มี สิ่งที่เป็นเจตนานั้นดูภายนอกไม่ได้ว่าบริสุทธิ์หรือไม่ ถ้าไปเหมาหมด อาตมาเองแหละจะตกนรกก่อนใคร เพราะนำเอามิจฉาทิฎฐิไปเผยแพร่ให้ญาติโยมเห็นผิด!

สรุปว่า การทำบุญอะไรๆก็ควรดูที่เจตนาของตนเองเอาแล้วกัน ทำไปด้วยเจตนาดี บริสุทธิ์ใจ เขารับทรัพย์เราไปแล้ว เขาจะนำไปทำอะไรต่อ บุญบาปก็เขาเองที่ต้องรับเองทั้งหมด...
:::::::
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทำให้มนุษย์ได้รับความเสียหายทั้งทรัพย์สิน และชีวิต..
สิ่งแรกที่ควรกระทำคือ ความเมตตา ย่อมเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติธรรมก่อนใดอื่น เมื่อจิตมีความเมตตาแล้ว จึงจะคิดหาวิธีให้ความกรุณาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ หากแม้ว่าผู้ประสพภัยได้รับความช่วยเหลือจนปลอดภัยแล้ว ก็มีจิตมุทิตา ยินดีพอใจที่เขาได้พ้นทุกข์ แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากที่อื่นที่ไม่ใช่เรา หากแม้นว่าการช่วยเหลือของเราที่อุตส่าห์ทำอย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถทำให้ใครคนใดคนหนึ่งเกิดความพอใจได้ หากเขาขัดแย้ง ด่าว่าเราจนอาจพาให้เกือบหมดกำลังใจแล้ว ให้ใคร่ครวญว่า ที่เรากระทำหน้าที่ช่วยเหลือเขามาอย่างเต็มที่แล้ว(ทบทวนตามที่ได้อธิบายมาด้วยความเมตตา, กรุณา และมุทิตาแล้ว) สิ่งที่ควรกระทำไว้ในจิตใจเราคือ อุเบกขา...
เราอย่าไปทำอย่างผิดขั้นตอน เช่น ยังไม่ทำอะไรๆ ก็อุเบกขาๆ 

ปล่อยวาง ก็วางด้วยจิต มือก็ทำ กายก็ช่วย แต่ใจไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องได้รับทั้งคำชม และคำด่า... ขอเป็นกำลังใจแก่ทั้งผู้ประสพภัย และ ผู้ให้ความช่วยเหลือทั้งหมด.. สาธุ
:::::::
เกิด แก่ เจ็บ ตาย...
เราสามารถพบได้ในที่แห่งนี้
สัจจะธรรมของชีวิต มีที่นี่สามารถแสดงให้เราได้รู้ ได้เห็นด้วยตนเอง ถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะพบ"ธรรมะ"
....
โลกนี้ล้วนมีสิ่งนี้เป็นธรรมดา ไม่สามารถพ้นไปได้ คือ "ทุกข์"
ความเกิด แก่ ตาย เป็นทุกข์
ความโศก ระทมใจ คิดถึง ห่วงใย เจ็บไข้ได้ป่วย เสียใจ เศร้าใจ หงอยเหงา น้อยใจ กังวลกับสิ่งทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์
ได้รับสิ่งที่ไม่ต้องการ ก็เป็นทุกข์
ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ก็เป็นทุกข์
คิดหวังอะไรไม่เป็นอย่างที่คิด ก็เป็นทุกข์
ว่าโดยย่อ การยึดสิ่งที่ประกอบว่าเป็นตัวเราทั้ง ๕ อย่างนั่นแหละ เป็นความทุกข์
พระพุทธเจ้าทรงสอนปัญจวัคคีย์ไว้เช่นนี้ แล้วกล่าวต่อไปว่า
เหตุที่ทำให้เราทุกข์ก็เพราะตัณหาคือความอยากที่อยู่ภายในจิตใจเรานั้น ทำให้จิตมันเพลิดเพลินไปกับอารมณ์ต่างๆอย่างไม่มีเวลาหยุด ก็ได้แก่ 
ความอยากได้ในสิ่งที่ยังไม่ได้
ความอยากครอบครองในสิ่งที่มีอยู่แล้ว
และความอยากทำให้สิ่งไม่ชอบหมดไป
หากแต่สิ่งที่ดับทุกข์ต่างๆลงได้ยังมีอยู่ ด้วยจิตที่สำรอกตัณหาภายในออกไปทั้งหมดไม่มีเหลือ ด้วยการสละออกไป ไม่ยุ่งไม่เกี่ยว ไม่ติดข้องพัวพันอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง
และทางดำเนินไปให้ถึงได้มีอยู่ คือ การปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องทั้ง ความเห็น ความคิด คำพูด การกระทำ การทำมาหากิน ความเพียร สติ และ สมาธิ
....
สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นพระสูตรในธรรมจักรฯ
....
ย้อนมาที่เรื่องที่แชร์นี้ ถ้าเราสังเกตุจะเห็นว่า แม้แต่ รพ.ที่ช่วยแก้ทุกข์ให้คนอื่น แต่ตนก็ยังมีทุกข์อยู่อย่างชัดเจน
เพราะ หมอ ก็ยังอยากให้คนไข้หายป่วย ได้รับการบริการที่ดีๆ
(นี่แหละ ทุกข์เพราะตัณหาคิดหวังแม้ในทางที่ดี เมื่อได้รับผลไม่เป็นดังใจหวัง จึงเกิดทุกข์)
แต่ในทางโลกแล้ว ก็ต้องกระทำเช่นนี้ แม้แต่ทางธรรมก็ต้องทำเช่นนี้
แต่ต่างกันอยู่นิดเดียว ที่ทำให้ผลลัพธ์ต่างกันราวฟ้ากับดินคือ
ทางธรรม "ทำไปอย่างดีที่สุดด้วยความเป็นหน้าที่เท่านั้น" นี่คือ "ปล่อยวาง"
นี่แหละน่าเสียดายที่คนเรียนธรรมะมักไม่ถึงแก่นแท้ของความปล่อยวาง ชอบไปเอา "ปล่อยปละละเลย"มาใช้กันจนใครๆเข้าใจว่าธรรมะสอนให้ปล่อยวางๆ
ถ้าใครดูเรื่องนี้แล้ว ต้องปล่อยวางแบบช่วยนะ อย่าไปปล่อยแบบช่าง!ล่ะ!

สาธุ
:::::::::
สิ่งที่ในหลวงทรงค้นพบแล้วด้วยดวงพระหฤทัยอันเต็มเปี่ยมด้วยธรรมะที่ลึกซึ้งและสูงส่งนี้
หากว่าพระองค์ปราถนาจะพ้นทุกข์ไปเฉพาะตนผู้เดียวแล้ว ย่อมเป็นเรื่องไม่ยากลำบากอะไรเลย!
แต่เพราะความปราถนาอันแรงกล้า ที่พระองค์ทรงสั่งสมมาอย่างยาวนานในอดีตกาล ที่จะนำพาเอาผู้ที่พอจะช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ไปด้วยกันได้ มาฝึกหัดสะสมบารมีให้เต็มแล้วไปบรรลุธรรมในพุทธกาลเดียวกัน

พระองค์จึงยอมเสียสละ เพื่อจะทนทุกข์ยากลำบาก ที่จะมาเกิด-ตาย ๆ ๆ ๆ ๆ... จนนับชาติไม่ได้ เพื่อช่วยเหลือสั่งสอนบรรดาบริวารทั้งหลายของท่านให้มีบารมีแก่กล้า ให้เต็มที่ และบรรลุธรรมอันสูงสุดพร้อมกับพระองค์ในที่สุด... คงอีกไม่กี่ชั่วพุทธันดร!!!
::::
#แม่
คือผู้ให้กำเนิด
#มนุษย์ คือสัตวโลกที่เกิดในครรภ์
แม่เป็นผู้ที่เราได้ร่างกาย ได้ชีวิต ได้ที่กิน ได้ที่นอน ได้ที่ขับถ่าย ได้ที่หลบร้อน,หลบหนาว,หลบฝน
เวลาลูกหิว แม่ก็กินแล้วย่อยอาหารผ่านสายรกเข้าสะดือลูก
เวลาลูกถ่าย ก็ถ่ายออกสายรก ให้แม่เอาออกไปทิ้ง
อยู่อย่างนั้นมาตลอดประมาณ ๙ เดือน จนร่างกายเจริญเติบโต สมบูรณ์แข็งแรงแล้วจึงจะได้ลืมตาออกมาดูโลก
......
วันนี้ ประเทศชาติไทยเรายกย่องผู้มีความกตัญญูกตเวที จึงจัดงานส่งเสริมให้ลูกๆทั้งหลายได้หันกลับไปดูแลพ่อแม่ผู้เปรียบได้กับพระอรหันต์ของบุตร
แม้ตัวอาตมาเอง ก็มีแม่ให้กำเนิดมามีชีวิตเช่นกัน
มิได้กลับไปกราบไหว้ใกล้ชิดอะไรๆทั้งนั้น
มีแต่กระทำหน้าที่ของตนในการรักษาพระธรรมวินัย ทำข้อวัตรต่างๆตามหน้าที่ เจริญภาวนา นั่งสมาธิ ตรึกคิดถึงพระคุณที่เราได้ชีวิตมาเพราะพ่อให้ดิน แม่ให้น้ำ เมื่อผสมกันแล้ว ก็อาศัย ลมจากแม่ ไฟจากแม่ รักษาให้รูปนามนี้เจริญวัยขึ้น ได้คลอดออกมาดูโลก แม่ก็เอานมให้ดื่ม พ่อก็หารายได้มาให้แม่กิน,ใช้ เพื่อดูแลรักษาเราจนนอนคว่ำได้ นอนหงายได้ คลานได้ เดินได้ วิ่งได้ พูดได้ หากินเลี้ยงชีพได้เป็นเบื้องต้น จนเติบโตมาถึงทุกวันนี้
พิจารณาตามธรรมแล้ว เรานี้ได้เจริญอยู่ในศีล ในธรรม ในพระวินัย มุ่งกระทำความบริสุทธิแห่งใจให้ปรากฎ ตามหลักแห่งพุทธศาสนานี้แล้ว
บุญบารมีของเราก็สามารถจะทดแทน ข้าวป้อนน้ำนม ตลอดจนถึงบุญคุณแห่งแผ่นดินนี้ได้ทั้งหมด
เพราะอะไร?
เพราะพระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า ในหมู่แห่งสัตว์ทั้งหมดในจักรวาล จะหาผู้รู้แจ้งในธรรมนั้นแสนยาก เปรียบดังเขาโคกับขนโค
เมื่อมีผู้สามารถรู้แจ้ง หรือพยายามทำความรู้แจ้งให้ปรากฎสักหนึ่งเดียวเกิดขึ้นมาในโลก เขาผู้นั้นย่อมเป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ทั้งหลายให้สามารถพ้นทุกข์ตามมาได้อีกหลายชีวิต
ก็เช่นนั้น ผู้นั้นก็ย่อมเป็นหลักให้พ่อแม่ของตนได้พึ่งพิงทางจิตใจได้อย่างแท้จริง เช่นนี้แล้ว เมื่อพ่อแม่ให้ที่พึ่งทางกาย เราก็ตอบแทนโดยให้ที่พึ่งทางใจ ก็แม้แต่แผ่นดินที่เราเกิด ท่านให้การปกครองทางกายให้เราเป็นสุข เราก็ตอบแทนคือเป็นที่พึ่งปกครองจิตใจแก่ผู้เห็นประโยชน์ในธรรมนี้กลับคืนไปเช่นกัน
.....
เท่านี้ ก็เป็นอันสามารถตอบแทนให้แล้ว แต่มิใช่จะปล่อยวางให้ท่านดำเนินชีวิตไปตามยะถากรรมอะไร..

เมื่อโอกาสตามเหตุตามปัจจัยจะต้องเกื้อกูล ก็จะพิจารณาตามความเหมาะแก่เหตุ สาธุฯ...
::::::::::
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
หมดลาภ ไร้ยศ นินทา ทุกข์
สิ่งเหล่านี้เป็นของประจำโลก
เราเกิดมาก็ต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น
หลีกไม่ได้ เลี่ยงไม่พ้น
.........
แล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร? ให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้หรือไม่?
อาตมาตอบได้เลยว่า "ไม่ใช่"
หากเราพากัน สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา หาเลข หาโชค หาลาภ เพื่อให้หมดทุกข์หมดโศก หมดโรค หมดภัย  ได้ตำแหน่งหน้าที่ แคล้วคลาดปลอดภัย ได้ลาภลอย ฯลฯ ที่ว่ามานี้ไม่ใช่คำสอนของพุทธศาสนา
.....
ก็ธรรมดาคนเกิดมาย่อมต้องการความสุขสมหวังกันทั้งนั้น ถ้าพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ได้รับสุขจากสิ่งเหล่านี้ แล้วเราจะนับถือ หรือเข้ามาศึกษาปฏิบัติกันไปทำไม?
คำตอบที่ยากจะตอบเช่นกัน ในความรู้ของตัวอาตมาเอง แต่จะพยายามจะอธิบายให้พอเห็นทางได้บ้าง แต่อาจจะไม่สามารถทำให้เห็นเป้าหมายได้ชัดเจนนัก
.... ตอบตามความเข้าใจว่า....
ความสุขที่เราได้รับอยู่ทุกขณะนี้ เป็นสุขที่ไม่เที่ยงแท้ มันจะสลับกับทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราสังเกตุให้ดี
เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เย็นสบายก็แค่ชั่วครู่เดียว เดี๋ยวก็เปลี่ยน
หิวข้าว หิวน้ำ หิวสารพัด พอได้กิน ก็อิ่มอร่อยได้ไม่นาน ก็อยากกินอีก
นอนมากไป นอนน้อยไปก็แย่ นอนพอเต็มตื่นก็ค่อยยังชั่ว
มีเงินน้อยก็ไม่พอใช้ มีเงินมากก็คิดเรื่องค่าใช้จ่ายเอย! เรื่องการเก็บรักษา เรื่องความปลอดภัยต่างๆ มีพอกินพอใช้คงจะดี
เป็นลูกน้องก็อึดอัด เป็นหัวหน้าก็ปวดหัว ไม่มีหน้าที่ก็ไม่มีรายได้อีก
ไม่มีคนรู้จักก็อยากจะดัง พอดังก็อยากจะหลบ
สารพัดเรื่อง เขียนไม่หมด
สุขที่เราต้องการจะให้มี ให้เกิดขึ้นแก่เรา คือ เวทนาขันธ์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแยกไว้ว่า เวทนาคือกองหนึ่ง หรือหมวดหนึ่ง ใน ๕ หมวดที่จิตใจเรายึดถือเอาไว้ ประกอบเป็นตัวเรา จึงคิดว่า 'เราคือตัวเรา' หรือ 'ตัวเราคือเรา'
เพราะอยากได้รับสุขเวทนา เราดิ้นรนหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
แต่ระหว่างการดิ้นรนนั้น สิ่งตรงข้ามกันย่อมเกิดขึ้นแบบไม่อยากให้เกิด
พระพุทธเจ้าจึงเรียก คู่แห่งสิ่งเหล่านี้ว่า 'โลกธรรม ๘' คือสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นประจำโลก
และทรงสอนต่อไปว่า การคลายความยึดมั่นที่จะดิ้นรนเอาแต่สุขเวทนานั้นเสียเถิด แล้วยอมรับความจริงที่มันย่อมจะเกิดทั้งหมด ไม่ว่าจะดีจะร้าย จะสุขจะทุกข์ต่างๆให้หมด
ตั้งใจทำทุกสิ่งด้วยสติพิจารณาว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล แล้วให้ละอกุศลทั้งปวง ให้ทำแต่กุศลทั้งปวง ส่วนผลก็ทำใจเอา ไม่ต้องคิดว่าจะต้องได้ดี
.....
สรุปว่า ไม่ต้องไปสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาอะไรๆก็ได้ เพราะใครไปทำแล้วต้องถูกแนะนำให้ไปถวายสังฆทาน ปล่อยนก ปล่อยปลา แล้วแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวร ฯลฯ ที่เป็นกุศลเกือบทั้งนั้น อาจเป็นกุศโลบายของท่านเจ้าพิธีที่ต้องการให้เสียสละทำทาน ทำบุญทางหนึ่งก็ได้
แต่หากเรามีปัญญาตามพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ ก็ทำบุญไว้เสมอๆ แผ่เมตตาเป็นประจำ ศึกษาวิธีปฏิบัติเจริญภาวนาในมรรค ทำให้เห็นอริยสัจจ์
ความสุข ที่เกิดขึ้น ก็มิใช่เวทนาที่เป็นสุข
เช่นทั้งๆที่ทำงานอยู่ร้อนๆ หน้าเตาอบ ก็สุขได้
ไม่มีเงิน ไม่มีทองอะไร ขอบิณฑบาตรเขากินเขาใช้ ไม่มีอะไรที่เป็นเจ้าของ ก็สุขอยู่ด้วยปัญญาที่มองเห็นแล้วทำจิตให้อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์
ใครจะด่า ใครจะว่า ใครจะชม ใครจะนินทา ก็เป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของโลก เป็นธรรมดาของโลก

รับรู้แล้วก็มิได้ยึดถืออะไรไว้ ปล่อยทิ้งหมดในอารมณ์ต่าง มีสติพิจารณาว่าอะไรควรไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ก็ละก็ทำมันไปอย่างนั้น เท่านี้แหละที่พออธิบายให้เห็นทางได้ ส่วนเป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายก็แล้วแต่ว่าใครจะเข้าใจเอาเองแล้วกันเน้อ!!!! หมดภูมิจะอธิบายแล้ว... สาธุฯ