วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รูปแบบการห่มจีวร

อันที่จริงแล้ว.. ไม่อยากแยกนิกายใดๆ แต่ว่าไปตามหลักการระเบียบที่ได้กระทำตามพระเถระ คือครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติกล่าวไว้ในสารานียธรรม ให้ภิกษุไม่เติม ไม่ถอน คือไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำของพระพุทธเจ้า, ให้กระทำตามโอวาทภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า หรือรัตตัญญูภิกษุ
ดังนั้นเมื่อท่านกระทำกันจนตกทอดมาถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความสามัคคีในสงฆ์ เกิดความผาสุขในการบำเพ็ญเพียรสมณะธรรม ได้เห็นผลแห่งธรรม ก็พึงกระทำตาม
การห่มจีวรในฝ่ายธรรมยุติ ก็มีลักษณะหลักๆ ตามรูป


ในรูปแรกซ้ายมือ .. เรียกว่า ห่มเฉวียงบ่า ใช้สำหรับการอยู่ในวัดทั่วๆไป เช่น ฉันอาหาร
รูป ๒ .. เรียกว่า ห่มพาดสังฆาฏิ คือ ห่มเฉวียงบ่า แล้วพาดบ่าซ้ายด้วยผ้าสังฆาฏิ ที่พับยาวเก็บชาย ใช้สำหรับร่วมพิธีสังฆกรรมในวัด หรือในอุโบสถ เช่น งานบวช พิธีกรานกฐิน ลงอุโบสถ เป็นต้น
รูป ๓ .. เรียกว่า ห่มคลุม ใช้ยามอยู่นอกวัด ตามวินัย ให้ภิกษุคลุมผ้า(ปิดบ่าทังสอง) และกลัดลูกดุมชายผ้า ยกเว้น ลงเรือสัญจรทางน้ำ
รูปสุดท้าย.. เรียก ห่มเฉวียงบ่า พันลูกบวบ ต่างจากรูปแรกคือ แบบแรก ใช้การทบจีวร พับและพาดบ่า ซึ่งนิยมในแถบ พม่า ศรีลังกา แต่ในไทย มักใช้การหมุนผ้าเป็นม้วนผ้าคล้ายลูกบวบ แล้วสะบัดพาดบ่าซ้าย ใช้ในการอยู่วัดทั่วไป เหมือนรูปแรก

.. ขอเพิ่มเติมส่วนการนุ่งสบง ห่มจีวรของสามเณรมหานิกาย แบบห่มดอง(เณรไม่มีผ้าสังฆาฏิ)

สำหรับพระเพิ่มผ้าสังฆาฏิพาดบ่าด้วย


...แบบการครองจีวรของพระสงฆ์ เดิมในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ชัดเจน มีในเสขิยวัตรว่า "ให้ทำความสำเหนียกว่า จักนุ่งจักห่มให้เป็นปริมณฑล คือเรียบร้อย ... พึงนุ่งปิดสะดือและปกหัวเข่าให้เรียบร้อย พึงทำชายทั้งสองให้เสมอกัน ห่มให้เรียบร้อย ในการแสดงเคารพหรือทำวินัยกรรม ให้ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า" ซึ่งก็คือห่มจีวรเฉวียงบ่า

ในการเข้าบ้าน กล่าวว่า "ห่มสังฆาฎิทั้งหลายทำให้มีชั้นและกลัดดุม แต่กำชับไว้ให้ปิดกายด้วยดี ห้ามไม่ให้เปิดไม่ให้เวิกผ้าขึ้น" สันนิษฐานว่าคือการห่มคลุมทั้งสองบ่า

พระภิกษุสงฆ์มหานิกายในประเทศไทยมีการครองผ้าจีวร หลายประเภทเช่น "ห่มดอง" , "ห่มลดไหล่" หรือ "ห่มเฉวียงบ่า"(เวลาลงสังฆกรรม),"ห่มคลุม"(เวลาออกนอกอาราม) และ "ห่มมังกร"



ห่มลดไหล่
การห่มผ้าลดไหล่ของภิกษุแบบธรรมยุตสีกลัก มีสังฆาฏิพาด ที่พระธรรมยุตินิกายปัจจุบันนิยมครอง

"ห่มลดไหล่" "ห่มเฉียง" หรือ "ห่มเฉวียงบ่า"ซึ่งเป็นการห่มที่ใช้ในการแสดงความเคารพ ปัจจุบันใช้ในการห่มในเขตวัด โดยนำผ้าจีวรผืนหนึ่งมาพันตัวชายจรดชายม้วนเข้าหาตัวลูกบวบวางบนบ่า

ห่มคลุม

ห่มคลุม หมายถึงการครองจีวรด้วยการม้วนผ้าชายจรดชายม้วนเข้าหาตัวลูกบวบมา วางบนบ่าคลุม 2 บ่ามิดชิดดี ใช่ในการห่มออกนอกวัด ซึ่งถ้าไม่ห่มคลุมในเวลาออกนอกเขตวัด(เขตติจีวรวิปวาโส)ต้องอาบัติทุกกฎ ปัจจุบันมักห่มดองออกนอกวัดโดยถือเป็นเรื่องธรรมดาว่าถูกต้อง โดยเฉพาะภาคเหนือ ทั้งๆที่ผิดวินัย

ห่มดอง
การห่มดองหรือการครองผ้าของภิกษุที่มีผ้าประคดอกและสังฆาฏิพาดไหล่ สีเหลืองแสดที่พระสงฆ์มหานิกายนิยมครองในปัจจุบัน

การห่มดอง หมายถึง การครองผ้าลดไหล่ของภิกษุแบบธรรมยุต มีสังฆาฏิพาด คือการครองผ้าจีวรอันเป็นปริมณฑล (ห่มครบไตรจีวร) ที่เรียกว่า "ห่มดอง" กระทำโดยมีการพับจีวรเป็นทบแล้วคลี่ทาบมาที่บ่าชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงนำผ้าสังฆาฎิซึ่ง พับเป็นผืนยาวมาพาดไหล่ด้านซ้ายของผู้ห่มก่อนที่จะนำ "ผ้ารัดอก" มารัดบริเวณอกอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเป็นการห่มที่เป็นที่นิยมทั่วไปของพระสงฆ์มหานิกาย ซึ่งดูเรียบร้อยและทะมัดทะแมงแน่นหนา เนื่องจากมีผ้ารัดอก ข้อเสียคือเปิดสีข้างดูไม่งาม อีกทั้งไม่ใช่การครองจีวรที่มีมาตามพระบรมพุทธานุญาติ เนื่องจากผ้ารัดอกไม่มีในอัฏฐบริขาร

ห่มมังกร
ห่มมังกร หมายถึงการครองผ้าที่หมุนผ้าลูกบวบไปทางขวา เมื่ออยู่ในวัดจะห่มเฉวียงบ่า และห่มคลุมในเวลาออกนอกวัด เป็นการห่มตามธรรมเนียมของพระมหานิกาย (ปัจจุบันยังมีบางวัดนิยมการห่มแบบนี้อยู่ โดยมากจะเป็นวัดมหานิกายในกรุงเทพมหานครเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูง)  ที่ถือว่าถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาติ คือ "ชายจรดชายม้วนขวาหรืออีกนัยหนึ่งแปลว่าข้างนอก(พาหันตะ)คือม้วนออกข้างนอกตัวซึ่งก็เข้ากันได้กับการม้วนขวา[14]วางบนแขน" การที่ม้วนขวาเนื่องจากในสมัยพุทธกาลถือว่าการม้วนขวานั้นเป็นมงคล(ประทักษิณ)ถ้าห่ม"บิดขวา" เป็นการห่มแบบมหานิกายแท้ เป็นวัตรปฏิบัติในการครองจีวรของพระสงฆ์มหานิกาย หรือพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในประเทศไทยก่อนที่จะมีคำสั่งของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้พระภิกษุทั่วสังฆมณฑลห่มผ้าตามแบบของธรรมยุติกนิกายทั้งหมดนั้น (ปัจจุบันพระฝ่ายมหานิกายส่วนมากนิยมหมุนซ้ายแบบธรรมยุตหรือพระรามัญไปแทบทั้งสิ้น)

สันนิฐานว่าสมณะนอกศาสนานั้นย่อมห่มชายจรดชายม้วนขวาม้วนเข้าหาตัวลูกบวบ วางบนบ่าเช่นเดียวกันเพราะสังคมอินเดียสมัยนั้นถือว่าม้วนขวา (ประทักษิณ) เป็นมงคล ม้วยซ้ายเป็นกาลกิณี แต่ว่าน่าจะวางไว้ที่บ่าขวาเมื่อห่ม เฉวียงบ่าจะเปิดไหล่ซ้าย เช่นเดียวกับนักบวชของศาสนาฮินดูหรือนอกศาสนาพุทธในประเทศอินเดียที่นิยม เปิดบ่าซ้าย (สังเกตได้แม้ในปัจจุบันนี้) ดังนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนาจึงวางไว้ที่บ่าซ้ายและเปิดบ่าขวาเพื่อเเสดงถึง ความแตกต่าง 
   ขอเพิ่มข้อมูลการห่มจีวร ในแต่ละนิกายของประเทศต่างๆที่น่าสนใจ
 ข้อมูลการห่มจีวรของชาติต่างๆ