ท่านเจ้าคุณนรฯ3


หลังจากที่ท่านธมฺมวิตกฺโกอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ผ่านไปเพียง ๑ พรรษา จึงได้เขียน หนังสือวิธีปฏิบัติทางโยคะศาสตร์
ถวายแด่อุปัชฌาย์ท่านเจ้าคุณพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ โดยมีใจความดังต่อไปนี้
__________________
๒๕ มิถุนายน ๒๔๖๙
ขอประทานกราบเรียน พระคุณเกล้าฯ
ขอประทานถวายวิธีบริหารร่างกายประจำวัน ซึ่งเกล้าฯ มั่นใจว่า ถ้าไม่มีอดีตกรรมตามสนองแล้ว
การบริหารร่างกายที่ถูกต้องตามกฎของธรรมดาโดยสม่ำเสมอจริง ๆ จะช่วยส่งเสริมให้รูปขันธ์นี้เป็นเรือนอันแข็งแรงมั่นคงและทนทาน
เป็นที่อาศัยของนามขันธ์ได้อย่างวัฒนาถาวร ห่างจากโรคาพยาธิ มีโอกาสใช้ชีวิตช่วยยังประโยชน์ให้แก่โลกได้ยืดยาวจนสุดเขตขัยแห่งอายุ

เกล้าฯ เป็นเด็กขี้โรคมาแต่เดิม โยมผู้หญิงผู้ชายขี้โรค ทั้งเกล้าฯ ได้เคยกรากกรำอดหลับอดนอน
จนร่างกายทรุดโทรมมาครั้งหนึ่งแล้วในระหว่างรับราชการ ถึงกับเป็นโรคเส้นประสาทอ่อน (Neurasthenia)
มีร่างกายผอมซีดสามวันดีสี่วันไข้ จนสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้ารัชกาลที่ ๖ ทรงออกพระโอษฐ์ว่า
"เกรงจะเป็นฝีในท้อง Consumption เสียแล้ว"
เกล้าฯ ต้องถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่การรักษาด้วยวิธีแลยาต่าง ๆ หลายอย่างหลายชนิดไม่เป็นผลเลย
เกล้าฯ ได้พยาบาลบริหารร่างกายด้วยหันเข้าหากฎของธรรมดา ตามวิธีที่กราบเรียนถวายมานี้โดยสม่ำเสมออย่างที่เรียกว่า
“เมื่อจะทำอะไรต้องทำกันจริง ๆ”
จนได้รับผลดี มีร่างกายสงบสบายเรื่อยมาจนบัดนี้ไม่ต้องใช้ยา ไม่ต้องไต่ถาม หรือปรึกษาหมอในเรื่องโรคภัยส่วนตัวอีกเลยฯ

กำหนดบริหารร่างกายประจำวัน

๑. ตอนตื่นลุกขึ้นจากที่นอน ดัดตน ๔ ท่าดังนี้
๑.๑ ยืด (stretch)
๑.๒ แขม่วท้อง (Pumping)
๑.๓ เตะขึ้น (Kick up)
๑.๔ บดท้อง (Ehuming)

๒. ลุกขึ้นจากที่นอนแล้ว ไปยืนที่หน้าต่างที่เปิดตรงช่องลม หายใจยาวสุดอากาศสด ๆ (Fresh Air) เข้าปอดให้เต็มที่ ๔ ท่าดังนี้
๒.๑ อัดลม (Paching)
๒.๒ หายใจยาวสูดลมเข้าปอดตอนบน (Upper Chest Breathing)
๒.๓ หายใจยาวอัดลมดันให้ท้องโป่งพอง (Abdominal Breathing)
๒.๔ หายใจยาวสูดลมเข้าอกให้ซี่โครงกาง (Bostal Breathing)

ในขณะที่ทำท่าเหล่านี้ควรหลับตา และตั้งใจเป็นสมาธิอยู่ในท่าที่กำลังกระทำอยู่นั้น
เมื่อจบท่าแล้วจึงลืมตา เวลาลืมตานั้นต้องลืมจริง ๆ คือเพ่งมองไป
แล้วค่อย ๆ หลับกลอกไปกลอกมา ขึ้นข้างบน ลงข้างล่าง กลอกข้างซ้ายกลอกขวา และกลอกเป็นวงกลม
นี่เป็นการบริหารลูกตาอีกส่วนหนึ่งฯ

๓. ดื่มน้ำ ๑ ถ้วยแก้วเต็ม ๆ
น้ำที่จะใช้ดื่มนี้ สำหรับผู้ที่จะมีอายุล่วงเข้าเขตปัจฉิมวัยแล้วไม่ควรดื่มน้ำเย็น
ในตอนตื่นตอนเช้า ๆ ท้องว่าง ๆ ควรดื่มน้ำต้มเดือดแล้วอุ่น ๆ
ถ้าดื่มน้ำเปล่า ๆ ไม่ได้ควรเลือกเจือชานิดหน่อยพอมีกลิ่นชวนให้ดื่มได้ แต่อย่าให้มากนัก
เพราะมีธาตุที่ให้โทษแก่ร่างกายอยู่บ้าง ไม่เหมาะสำหรับดื่มในเวลาท้องว่างตื่นนอนใหม่ ๆ ตอนเช้า

๔. ไปถ่ายอุจจาระ ถ้าเราเกรงจะเสียเวลาช้าไป ควรเอาหนังสือติดมือไปอ่านด้วย ต่อไปนี้ลงมือทำงาน (Work) ได้

๕ เมื่อหยุดงานแล้ว ก่อนรับประทานอาหารควรดัดตน ๓ ท่าดังนี้
๕.๑ ยืนกางแขนบิดตัว เอามือแตะปลายเท้าทีละข้าง (Tickle toe)
๕.๒ เขย่าตัว (Pep hop)
๕.๓ จ้องดาวและบิดคอ (Star Gazer และ Hen peck)

แล้วดื่มน้ำ ๑ ถ้วยแก้ว ก่อนรับประทานอาหารสัก ๑๕ นาที
เมื่อรับประทานอาหารแล้วใหม่ ๆ ไม่ควรอ่านหนังสือหรือใช้สมองคิดเลย ควรคุยหรือเดิน หยิบโน่นหยิบนี่นิด ๆ หน่อย ๆ เป็นดี
และไม่ควรดื่มน้ำ รอไว้จนกว่าอาหารย่อยเรียบร้อยจนเบาท้อง แล้วจึงดื่มน้ำให้มาก ๆ

๖. ก่อนจะอาบน้ำเข้านอนตอนกลางคืน ควรดัดตนอีกครั้งหนึ่ง ๗ ท่า ดังนี้
๖.๑ ยืด (Stretch)
๖.๒ แขม่วท้อง (Pumping)
๖.๓ เตะขึ้น (Kick up)
๖.๔ บดท้อง (Ehuming)
๖.๕ ยืดกางแขนบิดตัวเอามือแตะปลายเท้าทีละข้าง (Tickle toe)
๖.๖ เขย่าตัว (Pep Hop)
๖.๗ จ้องดาวและบิดคอ (Star gazer และ Hen Peck)

ท่าดัดตนเหล่านี้ ถ้าทำให้มากเกินไปก็ให้โทษหรือไม่ให้คุณ ที่จะให้คุณจริง ๆ คือพอควรอยู่ระหว่างกลาง
ไม่ไปทางที่สุดโด่งทั้งสองข้าง ควรมิควรประการใดสุดแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
ธมฺมวิตกฺโก
เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ได้รับจดหมายรายงานการปฏิบัติแบบโยคะศาสตร์ของท่านธมฺมวิตกฺโกแล้วก็ได้นำไปปฏิบัติ
เมื่อสงสัยในข้อหนึ่งข้อใดแล้ว ก็ทรงเรียกท่านธมฺมวิตกฺโกเข้าไปสอบถามเป็นส่วนตัว
และฝึกหัดตามท่านธมฺมวิตกฺโกไปด้วย

ผลที่สุดท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ก็เห็นผลปรากฏจากหลักวิธีโยคะศาสตร์
ที่สามารถช่วยขจัดโรคภัยต่าง ๆ ได้จริง ๆ ถ้าทำให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ

ถือสันโดษ
ท่านธมฺมวิตกฺโกตัดกิเลสหมดทุกอย่าง แม้แต่เงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนตามกฏหมาย ก็มิเคยเห็นและแตะต้อง
เครื่องตกแต่งเพื่อประดับบารมีภายในกุฏิก็หามีสิ่งมีค่ามาตั้งโชว์ให้รกหูรกตาแม้แต่สิ่งเดียวไม่
สิ่งที่ประดับบารมีของท่าน ก็คือตำรับตำราและหนังสือธรรมวินัยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ส่วนที่เป็นที่จำวัดนั้น ก็เป็นที่เฉพาะองค์ท่านเท่านั้น โดยมีผ้าจีวรเก่า ๆ ปูกับพื้นเพียง ๒-๓ ผืน และมีมุ้งหลังเล็ก ๆ อยู่หลังเดียวเท่านั้น
สิ่งที่สะดุดตาและเตือนใจแก่ผู้พบเห็น คือโครงกระดูกและหีบศพ ๑ หีบ ที่วางไว้ให้เป็นเครื่องขบคิด
โครงกระดูกที่ท่านนำเข้าไปไว้ในกุฏิของท่าน ก็เพื่อไว้นั่งพิจารณาและปลงอนิจจัง ว่าสังขารของมนุษย์เรานั้นมันไม่เที่ยงแท้
มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ผลที่สุดก็เหลือแต่โครงกระดูก แล้วก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปในที่สุด

ส่วนหีบศพนั้นเล่า ท่านธมฺมวิตกฺโกได้สั่งให้ญาติซื้อมาไว้เมื่อบวชได้พรรษา ๒
และท่านได้บอกกับญาติโยมให้ทราบว่า การที่สั่งให้ต่อหีบศพมาไว้นั้นก็เพื่อที่จะไว้ใส่ตัวท่านเอง เมื่อเวลาดับขันธ์
จะมิต้องทำความยุ่งยากลำบากให้แก่ผู้อยู่ข้างหลัง และหีบศพใบนี้ท่านเคยลงไปทำวิปัสสนากรรมฐานบ่อยครั้งนัก
นับเป็นสถานที่ที่สงบแห่งหนึ่งที่ท่านปฏิบัติธรรม

ในกุฏิของท่านจะหาไฟฟ้าใช้แม้แต่ดวงเดียวก็ไม่มี แม้แต่น้ำที่ท่านใช้ดื่มฉันอยู่ทุกวันก็เป็นแต่น้ำฝนทั้งสิ้น
ภาชนะที่ท่านใช้ก็เป็นกะลามะพร้าวขัด ท่านชี้แจงว่าของสิ่งนี้เป็นของสูง ไม่มีมลทินอะไรติดอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว

ท่านได้ให้เหตุผลว่า
“ธรรมชาติได้สร้างให้มนุษย์เราเป็นที่พอเพียงอยู่แล้ว จะวุ่นวายกันไปทำไม
ยิ่งเป็นภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติอยู่ในธรรมวินัยก็ยิ่งลำบาก น้ำฝนเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ดื่มฉันก็เกิดอาบัติน้อยมาก
ยิ่งไฟฟ้าด้วยแล้วก็ถือว่าไม่เป็นที่สำคัญเลย เพราะดวงอาทิตย์ได้ให้แสงสว่างแก่โลกมุนษย์เราตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น
เราจะทำอะไรก็ควรรีบ ๆ ทำเสีย เมื่อพระอาทิตย์สิ้นแสงแล้วก็หมดเวลาที่เราจะทำอย่างอื่น
นอกเสียจากทำสมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐานแต่อย่างเดียวเท่านั้น”

ด้วยเหตุนี้เอง กุฏิของท่านจึงปิดเงียบมืดมิดผิดกว่ากุฏิพระภิกษุสงฆ์องค์อื่น ๆ
ท่านภิกษุผู้เคร่งครัดต่อธรรมวินัยรูปนี้ได้มีประชาชนจำนวนมาก เลื่อมใสศรัทธาใคร่อยากจะพบปะสนทนาด้วย
ท่านธมฺมวิตกฺโกก็มิได้รังเกียจ เปิดโอกาสให้ญาติโยมพบปะสนทนาเป็นอย่างดี
เฉพาะตอนที่ท่านลงทำวัตรเช้าและเย็นเสมอชั่วระยะเวลาหนึ่ง
จะไม่ยอมให้ใครเข้าพบเป็นอันขาดที่กุฏิของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หรือกระยาจกยากจนเข็ญใจคนใดทั้งสิ้น
ท่านท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ออกนอกวัดเพื่อไปในงานหรือกิจการใด
ไม่พบปะพูดคุยกับผู้ใดนัก นอกจากการสนทนาธรรม ซึ่งท่านยินดีจะให้คำตอบและอธิบายอย่างเต็มใจเท่าที่สามารถกระทำได้
และเนื่องจากท่านเป็นสมณะที่เคร่งครัด อุดมไปด้วยศีลาจารวัตรที่งดงาม จึงมีผู้คนไปขอพรท่านเป็นจำนวนมาก
จนท่านได้เขียนโอวาทไว้ว่า "ทำดี ดีกว่าขอพร"
คือให้ทุกคนตั้งใจพยายามทำแต่กรรมดี โดยไม่มีความเกรงกลัวหวั่นไหวต่ออุปสรรคใด ๆ
เลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ก็จะทำให้บุคคลนั้นมีความสุขและมีความเจริญสำเร็จสมประสงค์

ตลอดระยะเวลาที่ท่านอยู่ในสมณเพศเป็นระยะเวลา ๔๖ ปีเต็ม นับได้กว่า ๑๕,๐๐๐ วัน
ไม่มีวันใดเลยที่ท่านจะว่างเว้นจากการกรวดน้ำ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

และในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ท่านธมฺมวิตกฺโก จะงดเว้นการฉันอาหาร ๑ วัน และนั่งกระทำสมาธิตลอดคืน
เพื่อน้อมจิตอุทิศถวายกุศลผลบุญที่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอดแด่พระองค์ท่าน
และได้บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เพื่อน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลอีกเป็นอเนกประการ

ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์นั้น ท่านธมฺมวิตกฺโกมีความเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง
เพราะท่านเป็นพระเถระที่สงบเคร่งครัดต่อการประพฤติปฏิบัติ และมีเมตตาสูง
ท่านธมฺมวิตกฺโกได้เพียรพยายามประพฤติปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนอย่างเคร่งครัด และรับใช้ใกล้ชิดในสิ่งที่พึงปฏิบัติได้

ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถึงแก่มรณภาพ
งานบำเพ็ญกุศลวันคล้ายวันมรณภาพวันที่ ๘ มิถุนายน เวียนมาถึงแต่ละปี
ตอนเช้าท่านธมฺมวิตกฺโก จะเดินส่งอัฐิที่อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด
และรับเป็นเจ้าภาพเครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระสวดมนต์และพระเทศน์เป็นประจำตลอดชีวิต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น