หน้าเว็บ

ท่านเจ้าคุณนรฯ2


ท่านจึงได้มาขอบวชที่วัดเทพศิรินทราวาส ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ มีอายุครบ ๒๘ ปี
โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถระ) เป็นอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า ธมฺมวิตกโกภิกขุ
ท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นผู้สุขุมละเอียดอ่อนมากในการจะตัดสินใจทำอะไร
โดยมากท่านจะคิดวางโครงการเป็นขั้นเป็นตอนว่า จะทำอะไรและทำให้ได้เพียงใดก่อนเสมอ

ส่วนเรื่องที่ท่านไม่ได้คิดบวชจนตลอดชีวิตมาแต่แรก เพราะตามโครงการของท่านนั้น
ท่านได้วางไว้ว่า จะบวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา

แล้วหลังจากนั้น ท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป
แต่เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา เพราะได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้ว
คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้สอน เรื่องอริยสัจสี่แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข
จนกล่าวได้ว่าไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาส ที่จะไม่มีความทุกข์ซ้อนอยู่ในความสุขนั้น
และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมาท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า
ชีวิตเป็นทุกข์อย่างแท้จริงและอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์

อย่างไรก็ดี ท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอดชีวิต แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่านนั้นไม่ได้บวชอย่างขอไปที
หรือบวชอย่างคนที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลาสิกขาหรือไม่ ซึ่งการบวชดังกล่าวนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด
นอกจากจะอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไปวันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์
ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวดในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น
และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจ ทำให้ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง หลังจากบวชแล้วประมาณ ๖ ปี

ขณะนั้น ท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว
และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไปใช้ชีวิตดังเดิมได้
ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมอีก
ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไมเล่า
เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น

ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจนคิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งสมาคมเจ้า
และท่านปรีดี พนมยงค์ ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน
เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้โดยไม่รู้ว่าต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ
ก่อนที่ท่านธมฺมวิตกฺโกจะบวชนั้น ท่านมีทรัพย์สินมากพอจะเป็นเศรษฐีในสมัยนั้นได้ เมื่อท่านบวชแล้ว
ท่านก็ได้บริจาคทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ ให้เป็นสมบัติแก่พระศาสนา โดยท่านได้บริจาค

๑.ที่ดินที่จังหวัดนครปฐม จำนวน ๗ ไร่ ได้ถวายให้แก่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๐

๒.ที่ดินที่ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต นครหลวงฯ (พระนคร) จำนวนเนื้อที่ดิน ๕ ไร่ ๖๗ ตารางวา
ได้ถวายให้แก่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕

..ในด้านคู่ครองท่านก็มีคู่หมั้นอยู่ก่อนที่จะบวชคือ คุณชุบ มานะเศวต นับว่าชีวิตของท่านในทางฆราวาสไม่ขาดตกบกพร่อง
หากท่านไม่บวช ท่านก็สามารถใช้ชีวิตของฆราวาสได้อย่างสบายไม่เดือดร้อน และไม่อดตายอย่างที่ใคร ๆ เขาว่าท่าน
แต่ท่านกลับสละทรัพย์สมบัติ และคนรักจนหมดสิ้น ท่านบอกว่าคุณหญิงซึ่งเป็นพี่สาวคุณชุบบอกว่า คุณชุบหมั้นกับใครก็ไม่หมั้น
มาหมั้นกับพระยานรรัตนฯ บ้า ๆ หมั้นเขาแล้วกลับบวชไม่สึก ท่านเลือกคุณชุบ เพราะคุณชุบไม่สวยและดื้อเหมือนกับท่าน

 และอีกอย่างหนึ่งคุณชุบเป็นลูกคุณหลวง ท่านบอกว่าท่านรักและเคารพคุณพ่อของท่าน ไม่ต้องการแต่งงานกับผู้หญิง
ที่บิดามีฐานะเหนือกว่าคุณพ่อของท่าน ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ เพราะท่านเกรงว่าจะไม่ให้ความเคารพคุณพ่อของท่าน

 ปัจจุบันนี้คุณชุบก็ยังมีชีวิตอยู่และเป็นหญิงใจเดียว คุณชุบ มานะเศวต ครองตัวเป็นโสดตลอดมา โดยไม่ได้แต่งงานกับใคร
นับว่าเป็นยอดหญิงที่หาได้ยากยิ่ง เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกมรณภาพ
คุณชุบก็มาเคารพศพอยู่เสมอ และทำบุญอุทิศให้แก่ท่านตามกำลังความสามารถ
หลังจากท่านบวชแล้วคุณชุบก็บวชบ้าง โดยไปเป็นอุบาสิกาถือศีลอยู่ที่วัดโสมนัส
ตลอดเวลาที่ท่านบวชท่านห้ามมิให้คุณชุบมาเยี่ยมเยียนท่าน เว้นแต่มีธุระจำเป็น ท่านเกรงจะเป็นที่ครหาของผู้อื่น

คุณชุบถือศีลอยู่หลายปี จึงมาหาท่านบอกว่าจะขอลาสึก เพราะเห็นว่าชีวิตของอุบาสิกาไม่สู้จะทำประโยชน์ให้แก่ใครมากนัก
หากสึกแล้วไปเป็นครูสอนหนังสือดูจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งท่านก็อนุญาต ท่านธมฺมวิตกฺโกเคยพูดถึงคุณชุบตอนนี้ว่าเขาเก่งเหมือนกัน

ท่านธมฺมวิตกฺโกท่านชอบพูดอะไรตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ท่านบอกว่า
"อาตมาพูดจาไม่ค่อยอ่อนหวาน เป็นคนขวานผ่าซาก"

แม้เมื่อรับราชการอยู่ในวังท่านก็พูดตรงจุดตรงเป้าเสมอ หากประสงค์จะให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
ท่านสอนเสมอว่าเมื่อทำผิดแล้วไม่ต้องเสียใจ แต่ให้พยายามจำไว้เป็นบทเรียนว่าจะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก
และท่านจะยกคำกลอนในอุทานธรรมมาสอนว่า


ปิ้งปลาหมองอแล้วกลับนี่คำขำ
เจ็บแล้วจำใส่กระบาลนี่ขานไข
ผิดแล้วแก้กลับตัวเปลี่ยนหัวใจ
จะหาใครมาวอนไม่สอนตน

คำกลอนในอุทานธรรมนี้ ท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านจำได้หมดและมักจะยกมาพูดเมื่อเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านพูดถึง
ผู้แต่งอุทานธรรม คือ ท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล ) ได้เอาคำกลอนนี้มาให้ท่านระหว่างสงคราม และท่านก็ท่องจำได้แต่นั้นมา
ใครก็ตามที่เคยพบท่านจะต้องเคยได้ยินท่านให้พรว่า

"จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ"

ซึ่งก็มีที่มาจากอุทานธรรมเช่นกัน โดยมีบทเต็มว่า

รักษาตัวกลัวกรรมอย่าทำชั่ว
จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี
จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ
จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย

คำให้พรของท่านที่ว่า จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นั้น โดยปกติแล้วคนใจแข็งต้องเว้นจากกรรมชั่วเลือกทำแต่กรรมดีได้
และท่านได้เมตตาบอกถึงลักษณะของคนใจแข็งว่าจะต้องประกอบด้วย

๑.ไม่บ่น
๒.ไม่ร้องทุกข์
๓.ไม่อยากรู้ความลับของใคร
๔.ไม่บอกความลับของตนแก่ใคร
๕.ไม่สนใจใครว่าจะเห็นตนเป็นอย่างไร
๖.ไม่กลัวความทุกข์ยาก
๗.รู้จักเอาความทุกข์ยากมาเป็นประโยชน์สร้างความก้าวหน้าในชีวิต
__________________
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้คนในกรุงเทพฯ ได้อพยพออกไปอยู่บ้านนอกกันเป็นส่วนมาก
ไม่ยกเว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า พระในวัดเทพศิรินทราวาสก็อพยพ แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกไม่ได้ไปไหนเลย
ท่านอยู่ที่กุฎิของท่านตลอดระยะเวลาสงครามครั้งนี้ ท่านได้เล่าเหตุการณ์ว่า

ทางด้านหลังวัดซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณสุสานหลวง ได้มีทหารญี่ปุ่นมาพักเต็มไปหมด
และอาบน้ำในสระของวัดซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสระเต่า ที่หน้ากุฏิของท่านเดิมเป็นศาลาใหญ่
ปัจจุบันได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นโรงเรียนปริยัติธรรม

..ที่ศาลานี้ในระหว่างสงครามโลก ได้มีญี่ปุ่นเอาเครื่องรับวิทยุมาตั้ง
โดยเห็นว่าเป็นวัดไม่เป็นที่สงสัย และมีเจ้าหน้าที่มาคอยควบคุมเครื่องส่งวิทยุนี้
วันหนึ่งมีผู้มาบอกท่านว่า จะมีเครื่องบินเอาระเบิดมาทิ้งเครื่องวิทยุที่ตั้งอยู่ที่ศาลา
ให้ท่านหลบไปเสีย ท่านเล่าว่าท่านไม่ยอมหลบแต่กลับนั่งรอคอยอย่างสงบ
เวลาประมาณหลังเที่ยงวันมีเสียงเครื่องบินผ่านมา ท่านก็เปิดหน้าต่างออกมาดูเห็นเครื่องบินวนอยู่หลายรอบ
และที่สุดก็ทิ้งระเบิดลงมา ท่านได้ร้องถามในใจว่า "Do you kill me, my friend?"

..แล้วก็มองดูลูกระเบิด ปรากฏว่าลูกระเบิดได้ผ่านศาลาและกุฏิท่านไป ลูกแรกไปตกข้างโบสถ์
ถัดจากนั้นก็ไปตกถูกตึกโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และตึกที่ทำการของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ผลปรากฏว่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ คือ ตึกแม้นนฤมิต และตึกของการรถไฟฟังพินาศ

ส่วนลูกที่ตกข้างโบสถ์นั้นไม่ระเบิด ภายหลังได้ติดต่อเจ้าหน้าที่มาขุดเอาไป
ท่านบอกว่าพระเชียงแสนและพระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์
ถ้าลูกระเบิดที่ตกนั้นระเบิดขึ้นมา โบสถ์ก็คงพังเสียหายมาก

..สำหรับท่านเองท่านไม่กลัวความตาย จึงไม่อพยพหนีไปไหน ท่านบอกว่าความตายคือมิตรที่ดีที่สุด นำความสงบมาให้
และเป็นมิตรที่ซื่อตรง จะมาถึงทุกคนอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมั่งมียากจนดีหรือชั่ว จะต่างกันก็แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น
นอกจากนี้การระลึกถึงความตายเป็นอนุสติอีกด้วย ถึงตอนนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกก็ยกเอากลอนในอุทานธรรมมากล่าวว่า

ระลึกถึงความตายสบายนัก
มันหักรักหักหลงในสงสาร
ทั้งมืดมนโมหันต์อันธกาล
ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ

ท่านธมฺมวิตกฺโกอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาสตลอดระยะสงครามโดยปลอดภัย
เวลากลางคืนท่านก็ลงจำวัดในหีบศพที่โยมพ่อต่อเอามาให้ แล้วใช้จีวรคลุมบนหีบศพต่างมุ้ง

ท่านบอกว่าหากพลาดพลั้งระเบิดตกลงมา เวลาคนมาเก็บศพก็ไม่ลำบาก ท่านไม่ยอมออกจากวัดจริง ๆ
การไม่ยอมออกจากวัดนี้ เป็นความตั้งใจเด็ดขาดของท่านเอง แม้เมื่อโยมพ่อและโยมแม่เสียชีวิตท่านก็ไม่ยอมออกไปเยี่ยมศพ
เพียงแต่สั่งการให้ใครทำอะไร และทำอย่างไรเท่านั้น นอกจากนี้ท่านบอกว่าท่านได้นั่งสวดอุทิศส่วนกุศลไปให้

ท่านธมฺมวิตกฺโกมีหนังสือไว้สำหรับแจกผู้ที่ไปหาท่าน ชื่อหนังสือ สันติวรบท โดยมีคำสอนของท่าน ๙ ข้อ
นอกจากนั้นก็เป็นบทสวดมนต์และอื่น ๆ

มีคำสอนหนึ่งท่านให้ชื่อว่าดอกมะลิ ตอนนั้นยังไม่พิมพ์รวมในเล่มเดียวกัน
แต่ท่านพิมพ์ในแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยม พร้อมกับกระดาษอีกแผ่นหนึ่ง

เป็นรูปดอกบัวมีแปดกลีบ และมีรูปเพชร ๓ เม็ดอยู่บนดอกบัวนั้น
ท่านได้อธิบายให้ฟังว่า ดอกบัวที่มีแปดกลีบหมายถึงอริยมรรคอันมีองค์แปด
และเพชรหมายถึงพระรัตนตรัย
นอกจากนี้ดอกบัวเป็นดอกไม้อันเกิดมาแต่โคลนตมแต่น้ำ แต่ดอกบัวก็ไม่ติดโคลนติดน้ำ
เพชรเกิดมาแต่หิน แต่เพชรก็ไม่ติดหิน
ฉันใดก็ดี คนเราที่เกิดมาในโลกก็ไม่ควรติดโลกฉันนั้น

ส่วนคำสอนที่มีชื่อว่าดอกมะลิ ต่อมาท่านได้พิมพ์รวมในหนังสือสันติวรบท
ท่านพลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ได้พิมพ์ถวาย และคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นคนตรวจแก้ถวาย
ขอให้เก็บให้ดีเอาไว้ที่หัวนอนเวลานอนจะได้อ่าน จะได้เอาธรรมะเป็นเพื่อนนอน เวลาท่านจะให้ใคร
ถ้าเป็นผู้ชายท่านจะเอาใส่กระเป๋าเสื้อให้ ถ้าเป็นผู้หญิงท่านจะวางให้บนศีรษะ
ถ้าเสื้อใครไม่มีกระเป๋าบางครั้งท่านก็ไม่ให้โดยบอกว่าวันหลังค่อยมาเอา

ท่านจะสั่งว่าให้ไปทำปกให้ดีอย่าปล่อยให้ชำรุดเสียหาย
ถ้านิยมความศักดิ์สิทธิ์ก็ให้ถือเอารูปพระที่หน้าปกหนังสือ
ถ้ามีศรัทธาในเรื่องกรรมก็ให้ถือเอาคำสั่งสอนในหนังสือนั้นไปประพฤติปฏิบัติ
เพราะผู้ใดปฏิบัติธรรมแล้วธรรมจะรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติไว้
ไม่ให้ตกต่ำเป็นของแน่นอนยิ่งกว่าความศักดิ์สิทธิ์ใดในโลกนี้
การทำสมาธิของท่านธมฺมวิตกฺโก
ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไปโดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้อง

นั่งเพ่งจนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิตเป็นภาพนิมิต
และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์
หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้

การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น
ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฏที่หมุนเวียนอยู่เสมอ

ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่าท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่าน
โดยเอาหัวกะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ ๔ หัว ข้างที่นอนของท่าน เมื่อเตรียมการเสร็จแล้วก็รวบรวมอำนาจจิต
นั่งสมาธิอยู่หน้าหัวกะโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน

เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิตปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิศดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน
ลอยเข้ามาหาท่านบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านี้ผ่านเลยไปแล้ว
ท่านก็ได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป
ซึ่งยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น นี่เป็นเพียงการทดลองอำนาจจิตที่ฝึกไว้ของท่านเท่านั้น
ท่านธมฺมวิตกฺโกศึกษาปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
หลังจากบวชในพรรษาแรก ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ไปตามท้องถนนเยี่ยงพระนวกะทั่วไปจนครบหนึ่งพรรษา
ครั้นย่างเข้าพรรษา ๒ ท่านธมฺมวิตกฺโก จึงงดบิณฑบาตโปรดสัตว์แต่นั้นเป็นต้นมา
และเริ่มฉันจังหันเพียงมื้อเดียวเท่านั้น โดยมีญาติเป็นผู้นำปิ่นโตมาถวาย
อาหารที่ท่านธมฺมวิตกฺโก ฉันนั้น ก็ล้วนเป็นอาหารเจทั้งสิ้น คือไม่มีเนื้อสัตว์ และสิ่งที่ขาดเสียมิได้ก็คือ
มะขามเปียกกับกล้วยน้ำว้า

ครั้นพรรษาต่อไปท่านธมฺมวิตกฺโกจึงได้งดฉันจังหันในวันพระทุกวันพระอีกด้วย
ซึ่งท่านปฏิบัติเรื่อยมาเป็นประจำจนกระทั่งได้มรณภาพลง

กิจวัตรที่ท่านธมฺมวิตกฺโกจะขาดเสียมิได้ นั่นก็คือการลงอุโบสถทำวัตร เช้า-เย็นเป็นประจำ
ท่านบอกกับภิกษุสงฆ์ในวัดเสมอว่า

“ถ้าท่านขาดทำวัตรครั้งใด นั่นก็หมายความว่า ท่านต้องอาพาธหนัก หรือได้มรณภาพไปแล้ว”

และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ท่านธมฺมวิตกฺโกได้ขาดลงอุโบสถ เพราะท่านเดินมาลงโบสถ์และเหยียบถูกงูเห่า
งูจึงกัดที่เท้าท่าน แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกก็ยังลงโบสถ์ทำวัตรต่อไป โดยมิยินดียินร้ายต่อเขี้ยวของอสรพิษแต่อย่างใด
ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็จะต้องรีบเข้าสถานเสาวภาอย่างไม่มีปัญหา
แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกกลับเห็นเป็นเรื่องธรรมดา โดยมิต้องวิ่งไปหาหมอหรือหาหยูกหายามาฉันเลยแม้แต่อย่างเดียว
กระแสจิตอันแก่กล้าของท่านเท่านั้น ที่ดับพิษร้ายของงูเห่าไม่ให้ทำอันตรายต่อองค์ท่านได้
แต่ถึงกระนั้น ก็เล่นเอาท่านแทบแย่เหมือนกัน เท้าข้างที่ถูกงูกัดบวมเต่งตึง จะนั่งจะลุกก็แสนจะลำบาก

เมื่อเวลาทำวัตรสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ทรงเห็นเข้า จึงได้ขอร้องให้งดลงทำวัตรจนกว่าเท้าจะหายบวม
ด้วยความเกรงใจและระลึกเคารพต่อผู้มีพระคุณฝังจิตใจอยู่นั้น ท่านธมฺมวิตกฺโกจึงได้งดลงโบสถ์ ๑ วัน

รุ่งขึ้นเท้าข้างที่บวมเต่งตึงก็อันตรธานหายไปอย่างปลิดทิ้ง เกิดความมหัศจรรย์แก่ผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
เสียงโจษจันเล่าลือจึงระบือไปทั่วว่า ท่านธมฺมวิตกฺโกมีกระแสจิตแก่กล้า
สามารถระงับพิษให้เหือดหายไปเอง โดยไม่ต้องไปหาหมอและฉันยาแต่อย่างใดเลย

และเคล็ดลับการปฏิวัติร่างกายให้แข็งแรง ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บนั้นก็ได้มีผู้ทราบว่าท่านธมฺมวิตกฺโก เมื่อครั้งเป็นฆราวาส
ได้ปฏิบัติทางโยคะศาสตร์ จนสามารถระงับโรคภัยไข้เจ็บมิให้เกิดขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น